5 ภาพเขียน สร้างพลังบวก พร้อมเรื่องเบื้องหลังที่ส่งต่อความหวังและปลอบประโลมใจ
Arts & Culture

5 ภาพเขียน สร้างพลังบวก พร้อมเรื่องเบื้องหลังที่ส่งต่อความหวังและปลอบประโลมใจ

Focus
  • Sarakadee Lite ขอส่งต่อพลังบวกพร้อมก้าวรับปีใหม่นี้ไปด้วยกันกับ 5 ภาพเขียน ทั้งจากศิลปินชื่อก้องโลกและศิลปินไทยที่ทำงานแนวพุทธศิลป์ให้เข้าถึงง่ายและปรากฏตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ท้ายรถบรรทุกจนถึงวัดวาอาราม
  • การเรียนรู้ถึงแรงบันดาลใจในภาพวาดภาพหนึ่งและประวัติชีวิตของศิลปินผู้สร้างสรรค์อาจช่วยปลอบประโลมจิตใจของผู้เสพงานศิลป์ให้ก้าวผ่านความยากลำบากที่เราต่างเผชิญกับบททดสอบหนักหนาสาหัสในปี 2020

“And in a picture I want to say something comforting as music is comforting.” 

“ในภาพเขียน พี่ต้องการสื่อถึงบางสิ่งบางอย่างที่ปลอบประโลมใจในวิถีทางเดียวกับดนตรีที่กล่อมเกลาจิตใจ”

นี่คือประโยคหนึ่งจากจดหมายกว่า 800 ฉบับที่ศิลปินชื่อดัง วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) เขียนถึง เธโอ แวนโก๊ะ (Theo van Gogh) น้องชายที่รักผู้เห็นแววศิลปินในตัวพี่ชายและผลักดันให้แวนโก๊ะทำงานศิลปะ ตลอดจนเป็นผู้อุปถัมภ์พี่ชายตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

แวนโก๊ะ เขียนจดหมายฉบับนี้ลงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1888 ในช่วงเวลาที่เขาเบื่อหน่ายความวุ่นวายของมหานครอย่างปารีส บวกด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่จากการติดยาสูบและเหล้า เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยังตอนใต้ของฝรั่งเศสและทิวทัศน์ของเมืองอาร์ล (Arles) ยามเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิทำให้เขาประทับใจและตัดสินใจพำนักอยู่ที่นั่น (ค.ศ.1888-1889) และเป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมามากมาย เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, The Langlois Bridge, The Bedroom และ The Yellow House 

นอกจากภาพเขียนจะเป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติของศิลปินแล้ว ในยามที่เราอ่อนล้า หมดแรง ท้อแท้โดยเฉพาะในช่วงปีค.ศ.2020 ที่เราต่างเผชิญกับบททดสอบอันหนักหนาสาหัสรอบด้าน การเรียนรู้ถึงแรงบันดาลใจในภาพวาดภาพหนึ่งและประวัติชีวิตของศิลปินผู้สร้างสรรค์อาจช่วยปลอบประโลมจิตใจเหมือนดั่งที่แวนโก๊ะปรารถนาให้ผู้เสพงานของเขาได้รับ แม้ชีวิตของตัวศิลปินเองจะย่ำแย่เพียงใดก็ตาม

นี่คือ 5 ภาพศิลปะที่เราอยากส่งต่อให้เป็นพลังบวกพร้อมก้าวรับปีใหม่นี้ไปด้วยกัน

ภาพเขียน

ภาพ : Almond Blossoms (1890)

ศิลปิน : วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh)

ชีวิตของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh, ค.ศ.1853-1890) อาจเป็นภาพฉายของศิลปินไส้แห้งผู้อาภัพรัก ผู้มีอารมณ์รุนแรงราวกับฝีแปรงพู่กันที่เขาวาด ผู้มีอาการทางจิตจนตัดหูซ้ายของตัวเองและต้องเข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวช และจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปีอย่างเป็นปริศนาว่าเขาฆ่าตัวตายเพื่ออยากจบความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยหรือถูกฆาตกรรมโดยเด็กวัยรุ่นที่มองเขาเป็นศิลปินวิกลจริต แต่แวนโก๊ะนับเป็นตัวอย่างของศิลปินผู้อุทิศตนสร้างสรรค์งานศิลปะตามแนวทางที่เขามุ่งมั่น

จิตรกรชาวดัชต์ผู้นี้สร้างสรรค์ผลงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับศิลปะแบบโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) เขาเริ่มวาดรูปจริงจังในวัย 27 ปี ตลอดเวลาเพียง 10 ปีแวนโก๊ะวาดภาพสีน้ำมันมากกว่า 800 ภาพ ภาพดรอว์อิงราว 900 ภาพ ไม่นับภาพที่ตกหล่นถูกโยนทิ้งเพราะโดนมองว่าไร้ค่าหรือเลหลังขายแบบเศษผ้าใบ ในจำนวนผลงานมากมายนี้มีเพียงภาพชื่อ The Red Vineyard ที่ขายได้เพียงรูปเดียวในราคาเพียง 400 ฟรังก์ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่

ภาพต้นไซเปรสสีดำรูปร่างดั่งเปลวเพลิงตัดท้องฟ้าสีเข้มลากวนเป็นก้นหอยบิดเบี้ยวในภาพ “The Starry Night” และภาพดอกทานตะวันอยู่ในแจกันในภาพ “Sunflowers” เป็นผลงานที่โด่งดังของแวนโก๊ะ แต่ภาพที่เราอยากหยิบยกมาส่งต่อแรงใจในการก้าวสู่ศักราชใหม่คือภาพที่มีชื่อว่า “Almond Blossoms” ที่เขาวาดเป็นของขวัญให้เธโอ น้องชายที่รักยิ่งของเขาและ โจ น้องสะใภ้เมื่อคราวให้กำเนิดลูกชาย ทั้งคู่ตั้งชื่อลูกชายว่าวินเซนต์ตามชื่อลุงดังเช่นเธโอเขียนในจดหมายถึงพี่ชายของเขาว่า “เราตั้งชื่อลูกคนนี้ตามชื่อของพี่ เพราะเราปรารถนาให้เขาเป็นคนที่มุ่งมั่นและกล้าหาญเหมือนพี่”

ภาพต้นอัลมอนด์ออกดอกผลิบานในฤดูใบไม้ผลิกับพื้นหลังสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่แวนโก๊ะตั้งใจวาดเพื่อรับขวัญหลานชายซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1890 แม้ในขณะนั้นตัวเขาเองจะเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็ง-เรมี ประเทศฝรั่งเศส เขาเขียนจดหมายตอบกลับน้องชายว่า “นี่เป็นเรื่องน่ายินดีมากเสียจนไม่อาจกล่าวเป็นคำพูดได้”

ภาพเขียนชิ้นนี้นับว่าเป็นภาพที่สร้างความอิ่มเอมใจให้คนในครอบครัวแวนโก๊ะอย่างมาก เธโอได้นำไปแขวนไว้เหนือเปียโนในห้องนั่งเล่นที่บ้านของเขา ภายหลังที่แวนโก๊ะและเธโอเสียชีวิต ภาพเขียนของแวนโก๊ะอยู่ในความครอบครองของโจ ภรรยาของเธโอ และถึงแม้จะมีการขายภาพของแวนโก๊ะไปหลายชิ้นในช่วงเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่ แต่ภาพนี้มีคุณค่าทางจิตใจสูงจนเธอไม่เคยคิดจะขายและปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Van Gogh Museum กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

เครดิตภาพ : Van Gogh Museum

ภาพเขียน

ภาพ : The Sun (1910-1911)

ศิลปิน : เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch)

ภาพเขียนที่สร้างชื่อให้ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) จิตรกรชาวนอร์เวย์ โด่งดังไปทั่วโลกคือภาพชื่อ “The Scream” แสดงภาพคนใบหน้าบิดเบี้ยว มือสองข้างปิดหู ยืนกรีดร้องโหยหวนอยู่บนสะพานท่ามกลางท้องฟ้าสีแดงเพลิง

มุงค์ (ค.ศ.1863-1944) เป็นหนึ่งในศิลปินยุคเอกซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) และซิมโบลิซึม (Symbolism) ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ของเขามักแสดงออกถึงความสูญเสีย ความเจ็บปวด ความกลัว ความเศร้า และการพลัดพราก ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์วัยเด็กที่เขามีสุขภาพไม่แข็งแรง และการตายของแม่ตั้งแต่เขาอายุเพียง 5 ขวบทำให้เขาเติบโตมากับพ่อซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาและเจ้าอารมณ์

ในช่วงค.ศ.1908 ตัวเขาเองมีปัญหาสุขภาพจิตจนต้องเข้ารับการบำบัดร่วมปี หลังจากหายดีและกลับมาอยู่นอร์เวย์บ้านเกิด สไตล์งานของมุงค์เปลี่ยนไปเพราะเขาหันไปสนใจเรื่องธรรมชาติมากขึ้นและงานมีสีสันสดใสขึ้น แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่างานในช่วงหลังนี้ขาดชีวิตชีวา แต่เขายังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

ผลงานเด่นคือภาพชื่อ The Sun ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 ภาพเขียนขนาดใหญ่ที่เขาสร้างสรรค์ให้สำหรับประดับตกแต่งห้องโถงของมหาวิทยาลัยออสโลเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีของมหาวิทยาลัยในปีค.ศ.1911 มุงค์วาดภาพลำแสงพระอาทิตย์สาดส่องรอบด้านตัดกับชายฝั่งและเทือกเขาซึ่งสะท้อนความสนใจในธรรมชาติและทฤษฎีชีวิตนิยม (Vitalism) ของมุงค์ที่ว่าพระอาทิตย์คือแหล่งพลังงานชีวิต จากงานที่เคยสะท้อนแต่ความสิ้นหวังโดดเดี่ยวและความหวาดกลัว งานในช่วงบั้นปลายของเขากลับต่อเติมความหวังและการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย

เครดิตภาพ : https://www.munchmuseet.no/

ภาพเขียน

ภาพ : The Big Tree in Autumn (30 October 2020)

ศิลปิน : เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney)

เมื่อประเทศฝรั่งเศสประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 หลังการระบาดหนักของโควิด-19 เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษวัย 83 ปีซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่นอร์มังดีต้องเก็บตัวอยู่ภายในบ้านพักและในช่วงเวลานี้เองเขาได้ใช้ไอแพดวาดภาพต้นไม้ที่เริ่มออกดอกผลิบานภายหลังฤดูหนาวที่ยาวนานและแสนทรมาน

“ผมเริ่มวาดภาพต้นไม้ในฤดูหนาวที่เริ่มผลิใบเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน ในขณะเดียวกันไวรัสกำลังระบาดหนัก หลายคนบอกผมว่าภาพวาดเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาผ่อนคลายในภาวะเลวร้ายที่กำลังเผชิญอยู่” ฮอกนีย์ให้สัมภาษณ์กับ BBC ซึ่งตีพิมพ์บทความในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020

เขาได้ส่งภาพเหล่านี้ให้เพื่อน ๆ และต่อมาได้นำหนึ่งในรูปภาพชุดดอกแดฟโฟดิล (Daffodil) ชื่อว่า “Do remember they can’t cancel the spring” เผยแพร่สู่สาธารณชน

จากฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและประเทศฝรั่งเศสประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ฮอกนีย์ได้สร้างสรรค์งานชุดใหม่ที่วาดในไอแพดอีกครั้ง เขาวาดภาพชื่อ The Big Tree in Autumn (30 October 2020) เป็นภาพต้นไม้ใหญ่ยืนโดดเด่นกลางพื้นหญ้าเขียวขจีแม้ใบบางส่วนเริ่มร่วงโรย และภาพชื่อ The Pond in Autumn (1 November 2020) เป็นภาพบ่อน้ำที่ยังคงมีใบบัวและรายล้อมด้วยต้นไม้และหญ้าเขียวชอุ่ม เขาตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า “Remember they can’t cancel the autumn either” เพื่อเป็นสารแห่งความหวังและกำลังใจถึงผู้คนทั่วโลกในภาวะวิกฤตนี้

เครดิตภาพ : David Hockney

ภาพ : Thirty-six Views of Mount Fuji (1830-1832)

ศิลปิน : คัตสึชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai)

การไปเยือนประเทศญี่ปุ่นและมีโอกาสเห็นวิวภูเขาฟูจิเต็มตาแบบพาโนรามานับเป็นประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ปรารถนา แต่ในช่วงเวลานี้ที่น่านฟ้าระหว่างประเทศยังไม่เปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ชุด “36 วิวของภูเขาฟูจิ” (Thirty-six Views of Mount Fuji) ของคัตสึชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai,ค.ศ.1760-1849) ศิลปินญี่ปุ่นระดับตำนานยุคเอโดะ อาจช่วยให้เราผ่อนคลายและย้อนรอยการเดินทางร่วมไปกับศิลปินผู้วาดภาพฟูจิซังจากสถานที่ต่างๆในประเทศญี่ปุ่นและในช่วงฤดูกาลที่แตกต่างกัน

โฮะคุไซสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ในช่วงเวลาที่เขาอายุ 70 ปี และผลงานชิ้นเอกอย่างภาพ “The Great Wave” และภาพภูเขาไฟฟูจิสีแดงที่รู้จักกันในชื่อ “Red Fuji” อันโด่งดังเป็นงานที่อยู่ในภาพชุดดังกล่าวนี้ด้วย

เรื่องราวชีวิตของโฮะคุไซยังสะท้อนถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการทำงานศิลปะของเขา โฮะคุไซเสียชีวิตในวัย 89 ปี ว่ากันว่าตลอดการทำงาน 70 ปี เขาสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า 30,000 ชิ้น ย้ายบ้าน 93 ครั้ง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า อุทิศชีวิตให้แก่การวาดรูป กระนั้นก็ตามเขาไม่เคยหยุดพยายามที่จะสร้างผลงานให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาเคยกล่าวว่า ถ้าสวรรค์ให้เขาได้อยู่ต่ออีกสัก 5 ปี หรือ 10 ปี เขาจะเป็นจิตรกรที่แท้จริง

นอกเหนือภาพพิมพ์แกะไม้ชุด Thirty-six Views of Mount Fuji ผลงานรวมเล่มที่ประสบความสำเร็จอีกชุดคือ “โฮะคุไซ มังงะ” (Hokusai Manga) ที่รวบรวมภาพสเก็ตช์มากกว่า 4,000 ภาพที่โฮะคุไซได้วาดไว้ในวัย 55 ปี เขายังเป็นคนแรกๆที่ใช้คำว่า “มังงะ” ที่แปลตรงตัวว่าภาพวาดตามใจ ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่งานชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นและยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินญี่ปุ่นร่วมสมัยอีกมากมาย งานภาพพิมพ์แกะไม้ของเขายังสร้างแรงบันดาลใจศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสฝั่งตะวันตกอย่างแวนโก๊ะ โมเนต์ และเดอการ์

เครดิตภาพ : Katsushika Hokusai

ภาพ : อย่าเห็นแก่ตัว (1975)

ศิลปิน : เจริญ กุลสุวรรณ

เราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิที่สร้างจากข้อความว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ซึ่งมีผู้นิยมนำมาทำเป็นสติกเกอร์ติดท้ายรถหรือโปสเตอร์ติดในสำนักงาน ในบ้าน หรือในวัด ผลงานวรรณรูป ชิ้นนี้เป็นงานที่ผสมผสานงานทัศนศิลป์ (ภาพ) เข้ากับวรรณศิลป์ (ภาษา) ได้อย่างลงตัว และสร้างสรรค์โดย เจริญ กุลสุวรรณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518

เจริญ กุลสุวรรณ ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบันในวัย 72 ปี ชื่นชอบการเขียนภาพและเขียนหนังสือมาตั้งแต่เยาว์วัย เขาเคยบวชยาวนานถึง 11 พรรษาและศึกษาพระธรรมภายใต้การชี้แนะของท่านพุทธทาสภิกขุ จึงส่งผลถึงการทำงานสร้างสรรค์เฉพาะตัวโดยการนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์เป็นวรรณรูปเชิงพุทธศิลป์ นอกจากวรรณรูปคำว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ที่คุ้นเคยกันดีแล้ว เขายังสร้างวรรณรูปคำอื่น ๆ อีกมากกว่า 200 ชิ้น เช่นคำว่า “มีสติอย่าเผลอ” “ตั้งสติแก้ปัญหา” และ “รู้รักสามัคคีคือวิถีความสงบ”

“ส่วนตัวพอวาดรูปเป็นและจับดินสอวาดรูป ก็ได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะเรื่อง ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะความเห็นแก่ตัวคือบิดาของความชั่วทั้งปวง ความเห็นแก่ตัวมันรุนแรงและวิกฤตมากขึ้น จึงคิดอยากจะนำหลักธรรมคำสอนมาแปลงเป็นคำพูดที่ง่ายและให้คนเข้าถึงได้เร็วขึ้น จึงทำให้อยากเขียนวรรณรูปภาพนี้” เจริญให้สัมภาษณ์กับเฟซบุ๊กเพจ “นักเขียนอีสาน” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2558

เจริญใช้นามปากว่า “ทยาลุ” (หมายถึง มีความเอ็นดู มีความสงสาร) และเรียกตัวเองว่า “ศิลปินสิ้นชาติ” (หมายถึง ศิลปินผู้อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา) ดังที่ปรากฏบนหน้าปกหนังสือ “ปริศนาธรรม นำจิตสู่อิสรา” (พ.ศ.2554) ซึ่งรวบรวมภาพจิตรกรรมและข้อเขียนไขปริศนาธรรมของเขา ผลงานวรรณรูปของเจริญยังได้นำมารวบรวมอยู่ในหนังสือหลายเล่ม อาทิ “กิเลสที่รัก” (พ.ศ.2540) “กระท่อมเนรเทศทุกข์” (พ.ศ.2547) “เพ่งภาพ พบนิพาน” (พ.ศ.2549) “แสงธรรมในดวงตา” (พ.ศ.2550) และ “มองตน” (พ.ศ.2541 : เล่มนี้ใช้ในนามปากกาว่า เราส์ มหาราษฎร์)

นอกจากงานสร้างสรรค์ด้านวรรณรูปแล้ว เขายังแต่งเพลงแนวธรรมะกว่า 200 บทเพลง เช่น เพลงเกิดมาทำไม ที่ขับร้องโดยจินตหรา พูนลาภ และยังได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทบทกวี (วรรณรูป) ประจำปีพ.ศ.2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เครดิตภาพ : เจริญ กุลสุวรรณ

อ้างอิง


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ