ปักหมุดชมงาน BAB 2020 กับ 2 โลเคชันใจกลางเมืองเดินทางง่ายไปสะดวก
Arts & Culture

ปักหมุดชมงาน BAB 2020 กับ 2 โลเคชันใจกลางเมืองเดินทางง่ายไปสะดวก

Focus
  • Bangkok Art Biennale 2020 เป็นงานเทศกาลศิลปะระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในไทยซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีตามความหมายของ Biennale
  • สำหรับ Bangkok Art Biennale 2020 มาในคอนเซ็ปต์ Escape Routes หรือ ศิลป์สร้างทางสุข มีชิ้นงานศิลปะจาก 82 ศิลปิน ประเทศไทย 31 คนและศิลปินระดับโลกจากนานาชาติอีก 51 คนจาก 35 ประเทศ

Bangkok Art Biennale หรือ BAB 2020 เทศกาลศิลปะระดับโลกกลับมาแล้ว หลังพาโลกแห่งศิลปะมาให้เราได้อิ่มเอมกันไปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ซึ่งปีนี้เขามากับคอนเซ็ปต์ Escape Routes หรือ ศิลป์สร้างทางสุข ชวนผู้ชมค้นหาความหมายของการหาทางออกในมิติต่าง ๆ ผ่านชิ้นงานของ 82 ศิลปินที่มีทั้งศิลปินไทย 31 คนและศิลปินระดับโลกจากนานาชาติอีก 51 คนจาก 35 ประเทศ ที่จะมาร่วมสะท้อน Escape Routes ในแบบของตนเอง และทางสร้างสุขที่เราได้เห็นไม่ได้มีแต่โลกที่สวยงาม ความน่าสนใจที่เราอยากชวนคุณไปดูคือ ชุดผลงานที่บอกเล่าเส้นทางสร้างสุขผ่านบริบทของสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ศาสนา ไปจนถึงการหาทางออกจากสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเอง เริ่มจากสองหมุดแรกที่เดินทางง่ายใกล้รถไฟฟ้าอย่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และโครงการมิกซ์ยูส The Parq ฝั่งย่านพระราม 4 ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 นี้

bab 2020

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

เริ่มจากผลงานที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ก่อนเลยกับ Untitled 2020 ผลงานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เขาวงกตไม้ไผ่ที่นำไปสู่พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเปิดให้เราได้เข้าไปปลีกวิเวกอยู่ในห้องพร้อมปากกาล่องหนและกระดานใส เสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งการเยียวยา ประนีประนอมหรือบางทีก็อาจเต็มไปด้วยขัดแย้ง ข้างกันมี DO A TO MII ผลงานประติมากรรมสูง 4 เมตรของ โลเล ทวีศักดิ์ ที่ต้องการนำเสนออาการแสดงออกที่มาจากผลกระทบของเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านกายวิภาคของตุ๊กตา

bab 2020

ลุยขึ้นไปที่ชั้น 9 จะพบกับหนึ่งในไฮไลต์ของปีนี้ผลงานของ อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ศิลปินชาวจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น ขบถการเมือง และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีน อ้าย เวยเวยทำงานศิลปะไปพร้อมกับการขับเคลื่อนปัญหาสังคมและการเมือง สำหรับงาน BAB 2020 เขาเลือกจัดแสดงชุดผลงานที่บอกเล่าปัญหาของผู้พลัดถิ่นในหลากหลายเทคนิคทั้งภาพถ่าย วิดีโอ ลายปรินต์กราฟิกและผลงานชิ้นหลักคือ Law of the Journey เรือเป่าลมสีดำบรรทุกร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้าซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่กลางห้อง ผลงานซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งใน 20 ประเทศ

bab 2020

ถัดไปอีกฟากเป็นผลงานของ เสมอ พีระชัย ศิลปินที่ได้รับความสนใจอย่างมากอีกคนหนึ่งภาพรหัสต่าง ๆ ที่ถูกวาดลงบนกล่องกระดาษแข็งด้วยปากกาสักหลาดจัดแสดงอยู่เต็มผนัง นำเสนออีกรูปแบบของการหาทางออกจากกับดักภายในตนเองที่ต้องอาศัยการถอดรหัสสัญลักษณ์ ค้นหาความหมายและความลับที่ซ่อนอยู่เพื่อทำความเข้าใจ งานชิ้นนี้กระทบใจหลายคนมากๆ และสารหนึ่งที่กระทบใจเราคือ พี่เสมอทำให้เราได้เห็นคุณค่าของศิลปะในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นแง่มุมที่ศิลปะสามารถทำให้ชายไร้บ้านคนหนึ่งมีตัวตันในสังคม และได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน

bab 2020

ด้วยความที่ Bangkok Art Biennale ไม่ได้จำกัดรูปแบบการสร้างสรรค์ เราเลยได้เห็นการนำเสนอผลงานผ่านเทคนิคที่หลากหลาย อย่างการดึงเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะในบรรยากาศห้องทดลองไบโอเทคของ ฟรองซัวส์ โครช ที่เขาบอกว่าเนื้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติและการทำนายโชคชะตา ผลงาน Pathetic Fallacy ของ อเลนา น็อกซ์ (Elena Knox) ดูแล้วแอบนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Hers ที่เล่าความสัมพันธ์และบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับ AI แต่ในบริบทของอเลนาเลือกหยิบความสาวและความชรามาเป็นสัญญะขั้วตรงข้ามของวัยและความเชื่อ

bab 2020

ขยับลงมาที่ชั้น 8 เข้มข้นในประเด็นทางสังคมและการเมือง เริ่มจากภาพสีน้ำมัน I Feel It Coming โดย ลำพู กันเสนาะ ศิลปินสาวชาวไทยที่โดดเด่นด้านงานจิตรกรรมที่มีลายเซ็นเป็นคาแรกเตอร์ของตัวละคร ซึ่งทำให้ภาพเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกผ่านความหนักแน่นของฝีแปรง ผลงานชุดนี้ลำพูได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่รายล้อมทั้งแง่มุมทางสังคม การเมืองและโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น โดยยังมีผลงานอีกชุดหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ The Parq

สุลิยา ภูมิวงศ์ ศิลปินชาวลาวหยิบเรื่องของความรู้ตัวและไม่รู้ตัวมานำเสนอผ่านชิ้นงาน Flows ศิลปะจัดวางของฝูงสัตว์สามมิติสีจัดจ้านประกอบกับวิดีโอ ที่ดูแล้วเสมือนชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงการไหลตามกระแสที่ไหลเวียนอยู่มากมายในปัจจุบัน ห้องถัดกันไปศิลปินชาวอเมริกันที่ช่ำชองในวงการภาพถ่ายเสมือน แอนเดรส เซอร์ราโน (Andres Serrano) ก็มากับชุดภาพถ่ายโดนัลด์ ทรัมป์ขนาบข้างด้วยภาพหญิงชาวจีน วางตรงข้ามด้วยภาพคิวปิดและไซคีแสดงถึงความสัมพันธ์ที่พัวพันของสองขั้วอำนาจอย่างอเมริกากับจีน ลืมบอกว่าใครสนใจศิลปะการเมือง ผลงานที่จัดแสดงใน BACC นั้นมีอีกหลายชิ้นที่เนื้อหาเข้มข้นมาก ๆ

ใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง เดินไปถึงสุดทางของชั้น 8 จะพบกับ Two Little Soldiers เรื่องราวของทหารสองนายที่ไม่ได้ถูกเลือกไปปฏิบัติงานในเมืองหลวงและหญิงสาวคนหนึ่งในชนบทห่างไกลชุดผลงานนี้เริ่มต้นมาจากสคริปต์ของหนังไฮบริดที่เป็นเอกยังไม่รู้ปลายทางว่าจะออกมาเป็นแบบไหน เลยทดลองทำออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดซีนย่อย ๆ ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ที่ถูกแขวนอยู่โดยรอบห้องฉายหนังขนาดย่อม ข้างกันมี QR Code ซึ่งสแกนแล้วจะแสดงคลิปสั้น ๆ เบื้องหลังการทำงานในซีนนั้น ๆ ระหว่างตัวผู้กำกับกับนักแสดง

Dragonerpanzer (รถถังดรากูน) ประติมากรรมรถถังจากวัสดุพอร์ซเลนที่อยู่ติดกันเป็นผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในศตวรรษที่ 18 การแลกเปลี่ยนของจักรพรรดิเฟรดเดอริค ออกัสตัสที่ 1 แห่งแซกโซนีที่นำทหารม้า 600 นายไปแลกกับแจกันเครื่องลายคราม 151 ชิ้นของจักรพรรดิเฟรดเดอริค วิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซีย ซึ่งทำให้เกิดการตีความ ตั้งคำถามถึงอำนาจ ความเชื่อ ความศรัทธาไปจนถึงคุณค่าของศิลปะที่อาจเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง

ใครที่ชอบความแฟนตาซี หลงใหลในมังงะและอนิเมะ เราอยากชวนไปดู The Great Adventure of Material World ที่ ลู่หยาง (Lu Yang) ศิลปินชาวจีนแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา มิติของสวรรค์-นรก การผจญภัยและการบรรลุถึงอะไรบางอย่างไว้กับรูปแบบสนุก ๆ ของวิดีโอเกมที่เชื้อเชิญให้เราเข้าไปเล่นและข้ามมิติไปกับเธอ

P7 หรือ พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มสตรีตอาร์ตและกราฟิตี้มากับแก๊งหุ่น Ventriloquist ซึ่งปรับคาแรกเตอร์ใหม่ตามสไตล์และจินตนาการส่วนตัว หุ่นพากย์เสียงที่เขาจดจำในฐานะตัวร้ายในหนังสยองขวัญซึ่งแฝงไว้ด้วยความน่ารักและน่ากลัว เป็นสารปลายเปิดที่ศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมได้คิดจินตนาการกับงานของเขาอย่างอิสระ

ลงมาที่ชั้น 7 ชฤต ภู่ศิริ นำเอาความอยากรู้อยากเห็นซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเป็นพื้นฐานมาเป็นกิมมิกเชื้อเชิญผู้ชมให้มีส่วนร่วมกับชิ้นงานผ่านการแอบมอง ซึ่ง พีค! (Peek!) เป็นผลงานภาพถ่ายที่เขานำไปใส่ไว้ในกล่องโดยผู้ชมจะเห็นได้เพียงเสี้ยวหนึ่งจากรูกุญแจเท่านั้น พร้อมกับการโยนคำถามว่าผู้ชมเห็นเรื่องราวนี้เป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนการมองเห็นในโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่อาจบิดเบือนขึ้นอยู่กับการตีความของผู้เห็น

bab 2020

ภาพธนบัตรนานาชาติไซซ์ยักษ์เรียงรายอยู่เต็มผนังด้านหนึ่งของชั้น 7 ผลงานจิตรกรรมสีน้ำของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินชาวไทยที่รักการเดินทางและชื่นชอบในธนบัตร ซึ่งไม่ได้มีแค่มิติของค่าเงิน แต่ยังทับซ้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผูกพันความเชื่อและศิลปะเอาไว้ด้วยกัน

The Parq

ใครแวะไปแถวย่านพระราม 4 The Parq เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่มีผลงานน่าสนใจอยู่เพียบ กดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 15 จากฝั่งขวาสุดจะพบกับตุ๊กตาของเล่นในแบบฉบับของ ณรงค์ ยศทองอยู่ ศิลปินชาวสงขลาที่พบเจอปัญหาขยะล้นชายหาดในบ้านเกิด เขาเริ่มเก็บขยะมาสะสม คัดแยกประเภทและจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบจากการมองเห็นว่าวัสดุบางชิ้นที่ทะเลพัดมามีมิติของเวลาและการเดินทางของวัสดุที่บางชิ้นอาจไม่ได้ถูกผลิตในประเทศไทย พร้อมกับการสร้างสรรค์ตุ๊กตาของเล่นจากวัสดุเหล่านั้นออกมาในชุด A Child’s World in the Days of Adults เพื่อย้อนไปสู่ความทรงจำในวัยเด็ก

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ เป็นศิลปินอีกคนที่ในครั้งนี้นำสิ่งของเหลือทิ้งมาสร้างเป็นงานศิลปะสื่อเนื้อหาในประเด็นสิ่งแวดล้อม เขาจัดวางผลงานชุดนี้เป็นสองฝั่งของห้องจัดแสดง โดยใช้สำนวนหนีเสือปะจระเข้เป็นตัวเชื่อมในเชิงล้อเลียน เสียดสี กระตุ้นให้เห็นถึงภาวะของโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ

อีกหนึ่งผลงานที่ถือว่าห้ามพลาดคือ BLEU BLANC ROUGE ของ ยุรี เกนสาคู ซึ่งไปเป็น Artist Residencyที่ประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลา 2 เดือน ในงานจิตรกรรมเธอหยิบยืมภาพ Liberty Leading the People ผลงานชิ้นสำคัญของ Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศสมาสร้างสรรค์ใหม่ในสไตล์ของตัวเองด้วยสีสันที่สดใส ไปจนถึงเลือกแทนองค์ประกอบต่าง ๆ จากความสนใจที่สะสมมาไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์ การ์ตูน วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ที่เคยดู

วิดีทัศน์ Tightrope ของ ตาอุส มัคฮาเซวา ศิลปินหญิงชาวรัสเซียเป็นอีกชิ้นที่สอดแทรกเรื่องราวทางสังคมที่เธอเผชิญได้อย่างน่าสนใจ นโยบายของรัฐที่ไม่ให้ค่างานศิลปะ เกิดเป็นงานชิ้นนี้ที่เธอร่วมสร้างสรรค์กับนักไต่ลวดซึ่งต้องขนส่งภาพงานศิลปะจากภูเขาลูกหนึ่งสู่อีกลูกหนึ่งบนเส้นทางของลวดเส้นเดียว ที่นอกจากความหวาดเสียวยังมีสัญญะในเรื่องความสมดุลทั้งในแง่วัฒนธรรม คุณค่าของศิลปินและการถูกลืม

แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ เล่าถึงการเผชิญหน้าและการดิ้นรนอยู่ในปรากฏการณ์ที่โลกปัจจุบันกำลังเผชิญผ่านตัวละครผู้หญิงที่กำลังอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ในชุดภาพถ่าย A Tale of Dystopia หรือ สวรรค์อันตรธาน ซึ่งเคยจัดแสดงมาแล้วเมื่อปี 2018 นอกจากนั้นผลงานชุดนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงผลงานชุด Winged ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ล้ง 1919 ด้วย

bab 2020

ในปัจจุบันที่เราโยงใยถึงกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รีนา ไซนี คาลัต ศิลปินซึ่งพำนักอยู่ที่มุมไบเลือกนำเสนอปัญหา Global Crisis ความไร้พรมแดนที่พัวพันทับซ้อนกันอย่างวุ่นวาย ผ่านผลงาน Woven Chronicle ภาพแผนที่โลกที่ถูกดึงทึ้ง ระโยงระยางด้วยสายไฟ จัดแสดงประกอบเสียงอย่างเสียงจราจร เสียงเรือ เสียงไซเรน ที่ผลัดกันส่งเสียงอยู่ตลอด ซึ่งผลงานชิ้นนี้เองก็เกิดขึ้นจากการสื่อสารไร้พรมแดน เป็นการแก้ปัญหาโดยให้ทีม BAB เป็นฝ่ายประกอบชิ้นงานจากโครงสร้างที่ศิลปินส่งมา โดยอาศัยการสื่อสารผ่านโปรแกรม Zoom เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ศิลปินไม่สามารถส่งผลงานมาจัดแสดงเองได้

อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) ศิลปินชาวอินเดีย เป็นอีกหนึ่งศิลปินไฮไลต์ของปีนี้ ผลงานชุด Sphere ที่เขาเลือกนำมาจัดแสดงที่ The Parq ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมคลาสสิก อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ การมองเข้าไปในผลงานของอนิชจึงเปรียบเสมือนการหลุดออกจากห้วงเวลาไปในอีกมิติหนึ่ง เหมือนกับตัวละครอลิซที่คลานเข้าไปในโพรงกระต่าย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องดินแดนมหัศจรรย์ นอกจากนี้อนิชยังมีผลงานชิ้นไฮไลต์อย่าง Push Pull ll อยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์และ Sky Mirror ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณฯ อีกด้วย

Fact File

  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่31 มกราคม พ.ศ. 2564 ใน 10 สถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : BkkArtBiennale
  • เว็บไซต์ : www.bkkartbiennale.com/
  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
  • The Parq เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00-20.00 น.

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม