มอง กรุงเทพฯ ผ่านเลนส์ศิลปินในเมืองกรุงแบบ ญ. กัญชา และ ฝ. เจ๊ไฝ
Arts & Culture

มอง กรุงเทพฯ ผ่านเลนส์ศิลปินในเมืองกรุงแบบ ญ. กัญชา และ ฝ. เจ๊ไฝ

Focus
  • นิทรรศการ กรุงเทพฯ ๒๔๒ นำเสนองานศิลปะหลายรูปแบบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และหนังสั้น ผ่านสายตาของศิลปิน นักสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขา
  • กรุงเทพฯ ในปี 2567 มีอายุ 242 ปี ผลงานจึงมองการเติบโตของเมืองหลวงทั้งแบบวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เสียดสี และประชดประชันแฝงอารมณ์ขัน

กรุงเทพฯ ในสายตาของคุณเป็นอย่างไร รถติด ฝุ่น ควันพิษ ประชากรแออัด ตึกสูง แผงลอย แหล่งช็อปปิง หรือ “กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆที่ลงตัว” ตามสโลแกนเพื่อประชาสัมพันธ์เมืองหลวงแห่งนี้ โดยกรุงเทพฯ ในวัย 242 ปี ใน พ.ศ. 2567 เป็นอย่างไรในสายตาของศิลปิน นักสร้างสรรค์ นักกิจกรรม และนักวิจัยจากหลากหลายสาขาในฐานะพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้สะท้อนผ่านนิทรรศการชื่อ กรุงเทพฯ ๒๔๒ ที่นำเสนองานศิลปะหลายรูปแบบ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง หนังสั้น

กรุงเทพฯ ๒๔๒

ภาพถ่าย และดนตรี ทั้งเป็นการมองผ่านเลนส์ที่วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เสียดสี และประชดประชันแฝงอารมณ์ขันแบบหัวเราะร่าน้ำตาริน โดยนิทรรศการ กรุงเทพฯ ๒๔๒ จัดแสดงระหว่าง วันที่ 23 มกราคม-19 พฤษภาคม 2567 เต็มพื้นที่ของห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  และ Sarakadee Lite ขอนำผลงานบางส่วนมาให้ชมกัน กับเมืองกรุงแบบ ญ. คือ กัญชา และ ฝ. คือ เจ๊ไฝ

กรุงเทพฯ ๒๔๒

-ฮ: เมื่อ ก=กรุงเทพฯ และ อ=อำนาจละมุน

ศิลปิน: SATHU x Thaipologic

เมื่อเห็นพยัญชนะไทยแต่ละตัวแล้วคุณคิดถึงอะไร จากแบบเรียนภาษาไทยในวัยเด็กที่ว่าด้วย ก ไก่ ข ไข่ ค ควาย และ ง งู นักออกแบบตัวอักษร จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย แห่งThaipologic ที่มีผลงานโดดเด่นจากการออกแบบตัวอักษรที่เขียนด้วยปากกาหมึกหัวตัดได้รีดีไซน์พยัญชนะไทยและเชื่อมความหมายใหม่ในบริบทสังคมร่วมสมัย เช่น ก = กรุงเทพมหานคร, ข = ขสมก, ค = คาเฟ่, ญ = กัญชา, ด =  ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ และ ฝ = เจ๊ไฝ

จิรวัฒน์นำพยัญชนะเหล่านั้นมาจัดเรียงในรูปแบบโปสเตอร์คล้ายกับโปสเตอร์แบบเรียน ก-ฮ ในสมัยก่อนโดยพื้นหลังเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านั้น เช่น ฒ = วิวัฒน์ เป็นรูปสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์, , ถ = ถูกหวย เป็นรูปใบตรวจล็อตเตอรี่ และ และ ฝ = เจ๊ไฝ เป็นรูปแว่นสีดำอันโตที่เจ๊ไฝใส่เพื่อช่วยกันความร้อนและน้ำมันขณะทำอาหารจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้เขายังได้ร่วมงานกับแบรนด์ SATHU ซึ่งเป็นแบรนด์ที่นิยมออกแบบเครื่องประดับในธีม 12 นักษัตร ด้วยการนำพยัญชนะทั้ง 44 ตัวมาทำเป็นจี้ทองเหลืองชุบทอง 14k และอีก 1 ตัวพิเศษเป็นคำว่า “รัก”

กรุงเทพฯ ๒๔๒

บันไดงู: กทมฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ศิลปิน: กรณ์ นียะพันธ์ โกศล ขจีไกรลาส และ ณัฐทพงศ์ รัตนโชคสิริกูล

3 ศิลปินสายอาร์ตทอย ประกอบด้วย กรณ์ นียะพันธ์ เจ้าของผลงานตุ๊กตาใส่ชุดตำรวจแบบจ่าเฉยที่ชื่อว่า Korn Doll โกศล ขจีไกรลาส ผู้สร้างสรรค์อาร์ตทอยรูปแมวในชุดวินมอเตอร์ไซต์นามว่า Orathaiและ ณัฐทพงศ์ รัตนโชคสิริกูล กับผลงานอาร์ตทอยรูปช้างน้อยแต่งกายด้วยชุดออกกำลังกายสีดำชื่อว่า Elfie ได้ร่วมกันออกแบบเกมกระดานบันไดงูขนาด 410 x 410 เซนติเมตร และลูกเต๋าที่ใช้ทอยเป็นลูกบอลเป่าลมที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถทอยลูกเต๋าและเดินตามช่องของเกมกระดานตามคะแนนที่ได้

ในแต่ละช่องเป็นภาพวาดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้คนที่อาศัยในเมืองนี้ต่างพบเจอ เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด ระบบของรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง หรือเหตุการณ์สะพานถล่มบริเวณถนนพระราม 2 ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาเล่าด้วยภาพวาดแนวน่ารักสดใสแต่จิกกัดแบบแสบๆคันๆในรูปแบบของเกมในความทรงจำวัยเด็กของใครหลายคน

คลองแห่งขุมทรัพย์: สวนดอกไม้พลาสติก

ศิลปิน: วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์งานจากของเหลือใช้และขยะ ได้นำเสนองานในรูปแบบศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่จำลองให้เป็น “สวนมนุษยชาติ” เต็มไปด้วยดอกไม้ที่ทำจากพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงขนม รวมถึงเศษผ้าและแผ่นซีดีซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นขยะที่เก็บได้จากคลองต่างๆของกรุงเทพฯ รวมไปถึงประติมากรรมหุ่นคนที่ห่อหุ้มด้วยเสื้อผ้าที่ทำจากขวดพลาสติก

ผลงานไฮไลต์สำคัญ 2 ชิ้น คือ งานประติมากรรมรูปปอด ขนาด 80 x 100 เซนติเมตร และแผนที่คลองในกรุงเทพฯ จาก 50 เขต ขนาด 80 x 100 เซนติเมตร ซึ่งสร้างสรรค์จากหลอดกาแฟที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว และเก็บได้จากพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกและโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ

City Players: อำนาจมืดในห้องประชุม

ศิลปิน: สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นผ่านไทม์ไลน์กันอยู่เสมอๆ สำหรับผลงานภาพสามมิติที่จิกกัดเหตุการณ์ประจำวันอย่างแสบสันทั้งประเด็นการเมืองและสังคมผ่านเพจ Uninspired by Current Events โดย สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ ในครั้งนี้แม้เขาจะยอมรับว่าอาจไม่แสบสันหรือแซะหนักเหมือนกับงานในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการสะท้อนถึงอำนาจมืดที่ทำให้ปัญหาเรื้อรังต่างๆในกรุงเทพฯไม่ได้รับการแก้ไขแม้จะมีกลุ่มคนที่มีความตั้งใจอยากแก้ปัญหาก็ตาม อาทิ ปัญหาการเผาป่า ปัญหาส่วยรถบรรทุก หรือ ปัญหาการโกงกินการก่อสร้างระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ

เขายังออกแบบให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมผ่านการจำลองห้องประชุมที่ผู้ชมสามารถใช้เมาส์คลิกและในจอเป็นภาพปัญหาต่างๆในกรุงเทพฯในรูปแบบสามมิติ เช่น ฝนตกที่มาพร้อมกับรถติด และเมืองที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันพิษ เพื่อสะท้อนว่าแม้เราอยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแค่ไหน แต่อำนาจมืดของผู้มีอิทธิพลยังสิงสถิตอยู่ในห้องประชุม

กรุงเทพฯ ๒๔๒

Noisy Bangkok: จากเสียงเรือคลองแสนแสบถึงรถไฟฟ้าบีทีเอส

ศิลปิน: ESIC Lab

มลภาวะทางเสียงของกรุงเทพฯ ที่เกิดจากการจราจร การก่อสร้าง การค้าขาย และกิจกรรมต่างๆ ได้นำมาจัดแสดงให้เห็นเป็นภาพวิชวลในรูปแบบศิลปะจัดวางแบบสื่อผสม (Media Art Installation) โดยกลุ่ม Edutainment & Socio-interaction Computing Lab หรือ ESIC Lab

บนจอแอลซีดีเป็นผลงานในรูปแบบ Generative Art ที่นำข้อมูลตัวเลขระดับเดซิเบลใน 8 ย่านของกรุงเทพฯ คือ วังทองหลาง ห้วยขวาง ธนบุรี ดินแดง คลองจั่น ยานนาวา โชคชัย และพาหุรัด ที่เก็บสถิติโดยสถานีตรวจวัดระดับความดังของเสียงของกรมควบคุมมลพิษในระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ.2564-2565) มาใส่โปรแกรมให้เจนเนอเรตเป็นคล้ายเส้นกราฟขึ้นลงแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับความดังของเสียงที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

ถัดมาเป็นแท่นที่วางลำโพง 5 เครื่องและภายในแต่ละเครื่องมีลูกทรงกลมสีขาวทำจากโฟมมีขนาดประมาณลูกปิงปองที่เคลื่อนไหวไปมาตามเสียงที่ส่งผ่านมาจากลำโพง ทางทีมงานได้เก็บเสียงต่างๆในกรุงเทพฯ เช่น เสียงรถไฟฟ้าบีทีเอส เสียงเรือแล่นในคลองแสนแสบ เสียงไฟข้ามทางม้าลาย เสียงรถซาเล้ง และเสียงพ่อค้าแม่ค้าตะโกนขายของ และนำเสียงเหล่านี้มามิกซ์รวมกันให้มีไดนามิกและซีเควนซ์ความยาวประมาณ 4 นาที

U-Scape: เมืองในฝัน (ที่ได้แต่ฝัน)

ศิลปิน: ขวัญชัย ลิไชยกุล

ขวัญชัย ลิไชยกุล ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ 12 รูปบนแผ่นพลาสวูดเป็นภาพลายเส้นภูมิสถาปัตยกรรมภายในกรุงเทพฯผ่านแนวคิดที่ว่าพลเมืองมักไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับวาระสำคัญ และหนึ่งในนั้นคือ การร่วมพัฒนาหรือออกแบบเมืองที่ตนกำลังอาศัยอยู่ ศิลปินจึงสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มาร่วมกันสร้างเมืองด้วยการวางแผ่นภาพที่ประกอบด้วยภาพโบราณสถาน พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะมาวางเรียงกันเพื่อให้ออกมาเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบและกลายเป็นเมืองในฝันของใครหลายคน ภาพเมืองที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างกันทุกครั้งที่ผู้ชมเปลี่ยนตำแหน่งของ 12 ภาพดังกล่าวทำให้กลายเป็นภาพศิลปะที่ไม่ซ้ำกัน

Fact File

  • นิทรรศการ กรุงเทพฯ ๒๔๒ จัดแสดงระหว่างวันที่ 23 มกราคม-19 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเวลา 10.00-20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
  • รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก www.bacc.or.th และ Facebook: baccpage

Author

สิรินดา เชื้อจักร
จะเดินทางไปยังสถานที่ที่งดงามอลังการ แหล่งอาหารอร่อยไม่ซ้ำใคร นั่งชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่น่าประทับใจ และร้อยเรียงประสบการณ์แปลกใหม่มาเล่าสู่กันฟัง

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ