เปิดลิสต์ศิลปิน และพิกัด บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 “โกลาหล : สงบสุข”
Arts & Culture

เปิดลิสต์ศิลปิน และพิกัด บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 “โกลาหล : สงบสุข”

Focus
  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ธีม CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566
  • ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022

เดินหน้าจัดงานอย่างต่อเนื่องสำหรับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ธีม CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 และล่าสุดทางผู้จัดงานก็ได้ประกาศรายชื่อ 20 ศิลปินกลุ่มแรกจากทั่วโลกที่จะมาร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยบนพื้นที่ทั้งหมด7 แห่ง ซึ่งนอกจากวัด หอศิลป์ ที่เป็นไอโคนิคด้านการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ แล้ว บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ยังเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดลิสต์สถานที่ใหม่ในการจัดแสดงงาน ได้แก่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังจากปิดปรับปรุง

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022
ผลงานของ อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ

สำหรับรายชื่อ 20 ศิลปิน กลุ่มแรกจากไทยและต่างประเทศ ได้แก่ มารีน่า อบราโมวิช (เซอร์เบีย สหรัฐอเมริกา) เจค และ ดิโนส แชปแมน (สหราชอาณาจักร)   เคนเนดี ยานโค (สหรัฐอเมริกา) ทิฟฟานี ชุง (เวียดนาม สหรัฐอเมริกา) จิติช กัลลัต (อินเดีย) คิมซูจา (สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา) เรเชล นีโบน (สหราชอาณาจักร) โรเบิร์ต แมปเปิลทอร์ป (สหรัฐอเมริกา) ชิฮารุ ชิโอตะ (ญี่ปุ่น) อัลวิน รีอามิลโล (ฟิลิปปินส์) มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ (ฝรั่งเศส) อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ (ประเทศไทย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา) ซู เจิน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) นวิน หนูทอง (ประเทศไทย) เถกิง พัฒโนภาษ (ประเทศไทย) อริญชย์ รุ่งแจ้ง (ประเทศไทย) พินรี สัณฑ์พิทักษ์ (ประเทศไทย) วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร (ประเทศไทย) จรัสพร ชุมศรี (ประเทศไทย) และที่ถือว่าเซอร์ไพรส์จริงๆ คือ Uninspired by Current Events ศิลปินดิจิทัลอาร์ตของไทยที่โด่งดังมาจากงานเสียดสี ส่งเสียง และสะท้อนมุมมองด้านการเมืองอย่างเจ็บๆ คันๆ ตลอดสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022
ผลงานของ Uninspired by Current Events

สำหรับคอนเซ็ปต์ CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข มาจากเหตุการณ์ตลอดปี พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คับขันอันเนื่องมาจากภัยคุกคามต่าง ๆ ที่ทบทวีขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการกับความไร้ระเบียบของโลกใหม่  หลายปัญหาฝังรากลึกทั้งความแตกแยกด้วยความแตกต่างทางการเมือง การเหยียดเชื้อชาติและอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง มวลมนุษยชาติได้ประสบกับความสิ้นหวัง ความโดดเดี่ยว ความกลัวและความตาย 

ผลงานของ นวิน หนูทอง 

โดยคำว่าคาวส์ (Chaos) ในจักรวาลวิทยากรีกหมายถึงสภาวะว่างเปล่าก่อนการก่อกำเนิดของเอกภพหรือจักรวาล  คาวส์มาก่อนเยอา (Gaea) และเอรอส (Eros) หรือโลกและความปรารถนา  ในสภาวะที่วุ่นวายโกลาหลและไร้ระเบียบเราต้องอยู่กับการคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้และความกลัวเนื่องจากเราไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติรุนแรงที่มีผลกระทบติดตามมาแบบระลอกคลื่นเช่นนี้ 

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022
ผลงานของ เจค และ ดิโนส แชปแมน 

“CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุขการค้นพบความสงบสุขท่ามกลางความวุ่นวาย สามารถนำไปสู่ความรู้และโอกาสต่าง ๆ แม้ว่าเราจะเผชิญอยู่กับยุคหลังการแพร่ระบาดที่ทุกอย่างยังมีความโกลาหลก็ตาม ประสบการณ์แห่งความนิ่งและความสงบนั้นก็ยังมีอยู่ ในครั้งนี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัย จึงได้เชิญศิลปินร่วมกันเสนอมุมมองและตีความคำว่า โกลาหล : สงบสุข สองคำที่แม้จะดูขัดแย้งกันด้วยความหมายของมันเอง แต่กลับปรากฎอยู่ในชีวิตของเราทุกคน”

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวถึงความหมายของ CHAOS : CALM ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ศิลปินจะนำไปสร้างสรรค์ผลงาน

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022
มารีน่า อบราโมวิช 

อีกความพิเศษของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 คือทีมภัณฑารักษ์และที่ปรึกษา ผู้มากประสบการณ์จากทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ ดร. อเล็กซานดรา มันโร ภัณฑารักษ์อาวุโส สาขาศิลปะจากเอเชีย และที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ Global Arts พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิ The Solomon R. Guggenheim สหรัฐอเมริกา มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น และประธานกรรมการ International Committee for Museums and Collections of Modern Art (CiMAM) หวัง เฉิน รองผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ The China Arts and Entertainment Group และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการมูลนิธิศิลปะแห่งชาติจีน ดร.ยงวู ลี อาจารย์ Shanghai University และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกวางจู เบียนนาเล่  ดร.ยูจีน ตัน  ผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ และผู้อำนวยการ Singapore Art Museum นเจล เฮิร์สท์ ภัณฑารักษ์และที่ปรึกษาศิลปะ และผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการ เครือบริษัทIMG ลอนดอน โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี นักวิชาการและภัณฑารักษ์ อิสระผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะเอเชียอาคเนย์ จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ผู้อำนวยการ Gallery VER และ  ดร.ชมวรรณ วีรวรวิทย์ ที่ปรึกษาด้านแบรนด์และศิลปะ ผู้ก่อตั้ง Mysterious Ordinary เป็นต้น

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดงานแห่งใหม่

อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 อันเป็นผลพวงมาจากการปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการศิลปะท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดก็คือ เพิ่มพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Space จัดแสดงผลงาน Digital Art แบบเต็มรูปแบบบนโลกออนไลน์ ขนานไปกับพื้นที่จัดงานจริง

Fact File

  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ธีม CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุขตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566
  • ติดตามตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 Bangkok Art Biennale 2022 (BAB 2022) เพิ่มเติมได้ทาง  Facebook : Bkkartbiennale

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite