เจาะลึก คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คลังเพื่อการศึกษา กับโบราณวัตถุกว่า 1 แสนรายการ
Arts & Culture

เจาะลึก คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คลังเพื่อการศึกษา กับโบราณวัตถุกว่า 1 แสนรายการ

Focus
  • คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ได้รับการออกแบบให้เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุของชาติกว่า 1 แสนรายการ ตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล
  • พื้นที่ชั้นในจัดเก็บโบราณวัตถุตามประเภทวัสดุในห้องคลังต่างๆ จำนวน 10 ห้อง ในรูปแบบห้องกระจกที่มองเห็นได้จากภายนอก หรือ Visible Storage
  • บุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการห้องสมุดและห้องสืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุในบริเวณพื้นที่ชั้นนอก และหากต้องการศึกษาโบราณวัตถุแบบเฉพาะต้องยื่นคำร้องขอเข้าศึกษาในพื้นที่ชั้นใน

พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2566 เป็นต้นไป สำหรับอาคารหลังใหม่ของ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุของชาติกว่า 1 แสนรายการ แต่ยังให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในรูปแบบ “คลังเพื่อการศึกษา” หรือ Study Collection

ผู้สนใจสามารถใช้บริการในบริเวณพื้นที่ชั้นนอกซึ่งประกอบไปด้วย ห้องสมุด เฉพาะด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา และ ห้องสืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ทั้งที่อยู่ใน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ     

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ส่วนบริการอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาโบราณวัตถุที่เก็บใน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แบบเฉพาะเจาะจงโดยต้องการเห็นชิ้นงานจริงในระยะใกล้ ในขั้นตอนนี้ต้องเขียนใบคำร้องระบุวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการศึกษาและขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่ควบคุมชั้นใน โดยทางเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมชิ้นงานที่ระบุไว้ในห้องสำหรับค้นคว้าข้อมูลจำนวน 2 ห้องภายใต้การดูแลของผู้ช่วยภัณฑารักษ์

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่ใช่พื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ  เราไม่ได้เปิดพื้นที่ชั้นในที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ให้มาเดินชมได้หรือมีการนำชม แต่เราให้บริการศึกษาโบราณวัตถุโดยการเขียนคำร้องระบุชิ้นงาน และเมื่อได้รับอนุญาตจะได้เข้าใช้บริการในห้องศึกษาค้นคว้าในพื้นที่ควบคุมชั้นใน ห้องแรกอยู่ที่ชั้น 1 สำหรับการศึกษาโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้น และอีกหนึ่งห้องที่ชั้น 3 สำหรับวัสดุชนิดอื่น แต่หากเป็นชิ้นงานที่มีน้ำหนักมาก เช่น ตู้พระธรรม ทับหลัง ศิลาจารึก หรือประติมากรรมหินต่างๆ จะอนุญาตให้เข้าไปศึกษาในห้องคลังโบราณวัตถุได้” กัญณศมนต์ ภู่ธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ ให้ข้อมูล

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ห้องคลังโบราณวัตถุในบริเวณพื้นที่ชั้นใน (ภาพ : กรมศิลปากร)

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาโบราณวัตถุแบบเฉพาะเจาะจง ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้นสามารถรับผู้ที่ walk-in แบบรายบุคคลได้ประมาณ 5 คนต่อวัน โดยจะนำโบราณวัตถุที่เขียนคำร้องไปออกมาให้ได้ศึกษามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และไม่ได้จำกัดระยะเวลาว่าแต่ละชิ้นมีเวลาดูได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงแนะนำให้นัดหมายล่วงหน้าหรือติดต่อสอบถามหลังไมค์ที่ Central Storage O fNational Museums เพราะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต การเบิกของ และเตรียมของสำหรับให้ศึกษาในห้องค้นคว้า

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
การให้บริการศึกษาโบราณวัตถุแก่ผู้ยื่นคำร้องในบริเวณพื้นที่ควบคุมชั้นใน

ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการศึกษาสามารถสืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ https://findantique.finearts.go.th ได้ล่วงหน้า และสามารถชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง 360 องศาแบบเสมือนจริงผ่านทางแอปพลิเคชัน Virtual Smart Museum

นอกจากนี้ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังมีภาพถ่ายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจัดเก็บไว้มากกว่า 1 แสนรูป และพร้อมให้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้โดยผู้ศึกษาไม่ต้องถ่ายภาพโบราณวัตถุด้วยตนเอง

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ภาพมุมสูงของคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ภาพ : ชนินทร์ ไชยศิริ)

อาคารหลังใหม่ออกแบบตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ได้มีการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2559 ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30,000 ตารางเมตร ความสูง 4 ชั้น รูปแบบอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์และมีการนำเส้นสายฐานบัวในงานสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้เป็นกรอบด้านนอกของอาคาร

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
บริเวณพื้นที่ชั้นใน (ภาพ : กรมศิลปากร)

เดิมเรียกว่าคลังพิพิธภัณฑ์ และใช้พื้นที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมาในปี 2545 กรมศิลปากรจึงได้ย้ายโบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑ์มาจัดเก็บ ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก โดยจัดวางตามหมวดหมู่ประเภทวัสดุ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ได้รับความเสียหาย ประกอบกับแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้ในหลายโอกาสเกี่ยวกับการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณโบราณวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี พร้อมการจัดวางอย่างเป็นระบบและการเก็บรักษาตามหลักการอนุรักษ์สำหรับใช้เป็นสถานที่ศึกษาโบราณวัตถุสำหรับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย

ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทอินทรียวัตถุที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสิ่งแวดล้อม (ภาพ : กรมศิลปากร)

ตัวอาคารหลังใหม่เลือกใช้วัสดุประเภทเหล็ก คอนกรีต อะลูมิเนียม และกระจกเป็นหลัก ไม่ใช้วัสดุประเภทไม้เพื่อลดโอกาสที่จะมีแมลงเข้ามาอยู่อาศัยซึ่งอาจทำลายโบราณวัตถุที่จัดเก็บอยู่ภายใน ผนังอาคารมี 2ชั้น โดยชั้นนอกเป็นผนังกรองแสงอาทิตย์และช่วยระบายความร้อนและความชื้นออกจากตัวอาคาร

“ฐานของอาคารยกสูงจากพื้นดิน 1.5 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำท่วมสูงสุดที่เราเคยประสบในปี 2554 และสำหรับห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้นขนาด 3,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 1 ที่ต้องรองรับชิ้นงานขนาดใหญ่และน้ำหนักมากได้รับการออกแบบให้พื้นสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 3,000 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในส่วนของระบบดับเพลิงเราติดตั้งไว้3 แบบ คือ แบบน้ำสำหรับพื้นที่ชั้น 1 แบบก๊าซไนโตรเจนสำหรับชั้น 2 และบางห้องของชั้น 3 และสำหรับห้องที่เก็บอินทรียวัตถุ เช่น หนังสัตว์ ผ้า กระดาษ เราใช้ระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาด หรือ Novec 1230 ซึ่งเป็นก๊าซสังเคราะห์ที่ไม่นำไฟฟ้า ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ระเหยง่าย ไม่ทิ้งสิ่งตกค้าง และไม่ทำความเสียหายต่ออุปกรณ์และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์” กัญณศมนต์อธิบาย

โบราณวัตถุกว่า 1 แสนรายการจัดเก็บในห้องคลัง 10 ห้องในรูปแบบ Visible Storage

ปัจจุบัน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดเก็บโบราณวัตถุรวมจำนวน 113,849 รายการ ในส่วนพื้นที่ควบคุมชั้นในที่ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมเป็นห้องคลังโบราณวัตถุจำนวน 10 ห้องในรูปแบบห้องกระจกที่มองเห็นได้จากภายนอก หรือ Visible Storage ซึ่งมีระบบป้องกันอัคคีภัยและการโจรกรรมตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล

การจัดเก็บแยกตามประเภทวัสดุ ได้แก่ ห้องคลังโบราณวัตถุประเภท หินและปูนปั้น ซึ่งมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากจัดอยู่บริเวณชั้น 1, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแก้ว จำนวน 2ห้อง บริเวณชั้น 2 ฝั่งตะวันออก, ห้องคลังโบราณวัตถุประเภท โลหะ จำนวน 3 ห้อง ที่ชั้น 2 ฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณชั้น 3 ประกอบด้วยห้องคลังโบราณวัตถุประเภท ไม้ จำนวน 2 ห้อง และห้องคลังโบราณวัตถุประเภท หนังสัตว์ ผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ อีก 2  ห้อง

พระพุทธรูปทองคำเก็บรักษาในห้องมั่นคง

นอกจากนี้ยังมี ห้องมั่นคง ที่มีระบบนิรภัยแน่นหนาเพราะใช้สำหรับเก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุชิ้นเล็กที่ทำจากวัสดุมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน หยก งาช้าง เป็นต้น โดยห้องนี้จะเปิดได้ต้องใช้กุญแจและรหัสลับสำหรับผู้ดูแลห้องมั่นคงจำนวน 5 คน ที่แยกกันเก็บรักษามาเปิดในเวลาเดียวกัน

 “ในห้องคลังโบราณวัตถุจะควบคุมที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ยืดหยุ่นต่อวัสดุทั่วไป แต่ในห้องโบราณวัตถุประเภทโลหะต้องควบคุมระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่ 45% RH (Relative Humidity) เพื่อป้องกันการเกิดสนิม”

โบราณวัตถุจำนวนกว่า 1 แสนรายการใน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาจากหลายแหล่ง ประกอบด้วย จากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และการนำส่งมาเก็บรักษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ, จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร, จากการรับมอบ รับบริจาค และจัดซื้อจากหน่วยงานและภาคประชาชน, จากคดีลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย และจากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บ ให้บริการการศึกษาและดูแลรักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมให้บริการหมุนเวียนไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร หรือนิทรรศการพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เจ้าหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุเพื่อทำทะเบียนและจัดเก็บ
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

“จะมีการนำโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาเก็บรักษาไว้ที่นี่เพิ่มอีก 40,000 ชิ้น ในอนาคตเราสามารถรองรับได้ทั้งหมดประมาณ 2 แสนชิ้น นอกจากนี้ทางกรมศิลปากรมีโครงการจะย้ายกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ มาอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับคลังกลาง เพราะเราเป็นหน่วยงานที่ตรวจรับและศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุเพื่อทำทะเบียนก่อนจัดเก็บ และหากวัตถุชำรุดต้องการการอนุรักษ์จะส่งต่อไปที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ดังนั้นของที่ส่งไปอนุรักษ์จากคลังกลางจึงมีเป็นจำนวนมาก”

เปิดพื้นที่ชั้นนอกให้บุคคลทั่วไปใช้สืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ

สำหรับ ห้องสมุด บริเวณพื้นที่ชั้นนอกที่ให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป ในเบื้องต้นนี้มีหนังสือด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา ที่ส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร และยังไม่มีระบบการให้ยืมออกนอกสถานที่

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ห้องสมุด

ส่วน ห้องสืบค้นข้อมูล ที่อยู่ตรงข้ามมีการจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 8 เครื่องเพื่อให้ผู้ที่สนใจสืบค้นฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศที่จัดทำโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ https://findantique.finearts.go.th โดยสามารถระบุคำที่ต้องการค้นหา วัสดุที่ใช้ รูปแบบศิลปะ แหล่งที่มา อายุ/สมัย และสถานที่เก็บรักษาได้ในการสืบค้น ภายในห้องยังจัดแสดงสำเนาสมุดทะเบียนที่บันทึกรายการบัญชีโบราณวัตถุที่ผ่านการตรวจสอบรายการถูกต้อง

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
รูปเคารพพระนารายณ์ทำจากไม้แกะสลัก (ภาพ : กรมศิลปากร)

“ผลงานชิ้นเด่นที่เก็บรักษาใน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และไม่เคยนำไปจัดแสดงมาก่อนคือ รูปเคารพพระนารายณ์ 4 กร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นไม้แกะสลัก เครื่องทรงและพระภูษาทำด้วยโลหะปิดทองอย่างวิจิตร แต่ช่วงแขนซึ่งเป็นไม้มีความเปราะจึงอาจทำให้เสียหายได้ถ้ามีการเคลื่อนย้าย อีกชิ้นหนึ่งคือ อิฐฤกษ์สมัยทวารวดีมีจารึกคาถาเย ธัมมา ซึ่งแต่เดิมพบเพียงหลักฐานสำเนาจารึกเก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติแต่หาโบราณวัตถุชิ้นนี้ไม่เจอ จนกระทั่งมีการย้ายโบราณวัตถุมาที่คลังกลางหลังใหม่จึงเจออิฐพิเศษประเภทอิฐฤกษ์ชิ้นหนึ่งซึ่งตรงกับที่มีบันทึกไว้”

คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ตราแผ่นดินที่ผูกตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพ: กรมศิลปากร)

ชิ้นงานไฮไลต์ที่เก็บรักษาไว้ที่ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังสามารถดูได้ในมุมมอง 360 องศาแบบเสมือนจริงผ่านทางแอปพลิเคชัน Virtual Smart Museum เช่น ตราแผ่นดิน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เสวกเอกหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผูกตราประจำแผ่นดินขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 โดยอิงกับหลักการผูกตราแผ่นดิน Heraldry ของราชวงศ์กษัตริย์ในทวีปยุโรป และ เสาชิงช้าต้นที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสร้างใน พ.ศ 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อทดแทนเสาชิงช้าต้นแรกที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2327 ที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก

Fact File

  • คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
  • รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ โทร.  02-902-7835, Facebook : CentralStorageOfNationalMuseums หรืออีเมล : registraonm@gmail.com

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"