#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มาพร้อมกับการ saveวัฒนธรรมศาลเจ้า
Arts & Culture

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มาพร้อมกับการ saveวัฒนธรรมศาลเจ้า

Focus
  • สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขีดเส้นตายให้ลูกหลานผู้รับช่วงดูแล ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ย้ายศาลเจ้าออกจากพื้นที่ภายใน 15 มิถุนายน 2563 เพื่อเตรียมปรับพื้นที่ทำการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ตามโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอน 33
  • แม้ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง มีอายุประมาณ 50 ปี แต่องค์เจ้าแม่ทับทิมแกะจากไม้ที่เป็นองค์เทพประธานของศาล ประดิษฐานอยู่ในบ้านของชาวชุมชนสะพานเหลืองมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนซึ่งนับรวมอายุได้ประมาณร้อย
  • ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นสถาปัตยกรรมแต้จิ๋ว และเพราะมีศาลเจ้า ย่านสามย่านสะพานเหลืองจึงเป็นชุมชนของชาวงิ้วด้วยเช่นกัน

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม แฮชแท็กนี้ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขีดเส้นตายให้ลูกหลานผู้รับช่วงดูแล ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ย้ายศาลเจ้าออกจากพื้นที่ภายใน 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมปรับพื้นที่ทำการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ตามโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอน 33 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยทางจุฬาฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่ใหม่สำหรับการสร้าง ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ไว้ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ 

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

#saveวัฒนธรรมศาลเจ้า

หลายฝ่ายตั้งคำถามด้วยความห่วงใยว่าการ #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ไม่ได้จบแค่การย้าย รื้อ สร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ แต่ #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ยังต้องคำนึงไปถึงการ save วัฒนธรรมศาลเจ้า ที่ย้อนไปไกลถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ก่อนที่จะประกอบร่างเป็นชุมชนจีนเล็กๆ ตั้งศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางศรัทธา และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่คอยขับเคลื่อน วิถีวัฒนธรรมของลูกหลานจีนบนแผ่นดินไทยให้สืบสานมาถึงปัจจุบัน

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
การจุดธูปยังเป็นอีกประเพณีที่อยู่คู่กับศาลเจ้า
#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
ยังคงมีการถวายผ้าสีแดง ชมพู เป็นเครื่องแต่งองค์เจ้าแม่ทับทิม

แม้ทางจุฬาฯ จะออกมาให้คำตอบของเรื่องนี้โดยย้ำว่าการย้ายและสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองแห่งใหม่ได้มีการออกแบบตาม  “หลักฮวงจุ้ย” จากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ด้วยความที่ศาลแห่งนี้คือศาลเจ้าจีนสถาปัตยกรรมแบบเต้จิ๋วจากช่างในยุคก่อน การรื้อถอนที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากแบบเดิมให้เหมาะสมกับพื้นที่ใหม่จึงเป็นความกังวลจากหลายฝ่ายว่าจะทำลายเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบเต้จิ๋วหรือไม่มากกว่านั้นคือกลิ่นควันธูป การจุดกระดาษ เสียงตีกลอง เสียงประทัด งิ้ว การประชันหนังกลางแปลง งานเสี่ยซิ้ง รวมแล้วเรียกวัฒนธรรมศาลเจ้าที่อาจจะหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
ภาพเก่าของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

“หากอยู่ที่เดิมแล้ววันหนึ่งทางจุฬาฯ พัฒนาสร้างคอนโดหรือหอพักล้อมรอบศาลเจ้า คำถามคืองิ้วจะเล่นได้ไหม ธูปจุดได้ไหม เมื่อก่อนที่นี่เล่นงิ้วประชันกัน 2 โรง วัฒนธรรมโรงงิ้วอยู่คู่กับศาลเจ้า คนที่มีศรัทธาเข้ามาไหว้อาม่าได้ปกติไหม ส่วนคำถามของการย้ายไปที่ใหม่คือการรักษาสถาปัตยกรรมแบบแต้จิ๋วไว้แบบเดิม แม้ศาลเจ้าที่นี่จะอายุไม่ถึงร้อยปี แต่ก็มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมเฉพาะแบบแต้จิ๋ว ที่มีเหลือไม่มากนัก”

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

“หากต้องรื้อและสร้างใหม่ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ตามแบบที่จุฬาฯ วาดให้ใหม่ก็อาจจะไม่ใช่สถาปัตยกรรมแต้จิ๋วอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องฮวงจุ้ย แต่ต้องดูถึงการอนุรักษ์รูปแบบทั้งหมดแม้แต่วิธีการเข้าเดือยไม้ หลังคา ตุ๊กตาบนหลังตา รูปเซียนบนผนัง สัญลักษณ์ ความหมายต่างๆ ที่ซ่อนไว้ในเสาแต่ละต้น”

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
บริเวณขื่อคานที่ยังมองเห็นการเขียนสีอยู่

ภานุวัฒน์ ยศภิญโญพงศ์ หนึ่งในผู้ที่มีความผูกพันกับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองมานาน และเป็นหนึ่งคนที่มาร่วม #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม คัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองและปลูกสร้างใหม่ ให้ความเห็น

ในมุมมองของภานุวัฒน์คำว่า #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม มันได้โยงไปถึงวัฒนธรรมศาลเจ้าที่ผูกติดมาด้วย การอยู่ที่เดิมโดยมีคอนโดล้อมรอบในระยะประชิดอาจทำให้พิธีกรรม การไหว้เจ้าแม่ทับทิมแบบเดิมก็อาจจะไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการแสดงงิ้วในงานเสี่ยซิ้งซึ่งแต่เดิมมีการประชันงิ้วไม่ต่ำกว่า 2 โรง บริเวณหน้าศาล หรือหากมีการรื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ในสัดส่วนที่ผิดไปจากเดิมก็ย่อมได้ “ศาลเจ้าทรงไทยสำเนียงจีน” ไม่ใช่ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วในแบบเดิมแต่อย่างใด

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
กระถางธูปพระราชทานสลัก จปร.

ทำไมใครๆ ถึงต้อง #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

สำหรับประวัติ ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองแม้ตัวอาคารจะมีอายุไม่ถึงร้อยปี (ประมาณ 50 ปี) ไม่ถูกนับรวมเป็นโบราณสถาน แต่องค์เจ้าแม่ทับทิมแกะจากไม้ที่เป็นองค์เทพประธานของศาลนั้นประดิษฐานอยู่ในบ้านของชาวชุมชนสะพานเหลืองมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนสะพานเหลือง สามย่าน ซึ่งก็ร่วมร้อยปีได้

เป็นเหมือนธรรมเนียมของชาวจีนโพ้นทะเลที่เมื่อลงเรือโยกย้ายถิ่นฐานก็จะมีการอัญเชิญองค์เทพ องค์เจ้าแม่ และขี้เถ้าในกระถางธูปที่ใช้บูชาเทพองค์นั้นๆ ลงเรือมายังถิ่นที่อยู่ใหม่ด้วย ต่อเมื่อสร้างชุมชน สร้างตัวได้จึงเริ่มมีการสร้างศาลเจ้า ดังนั้นศาลเจ้าหลายแห่งในไทยจึงมีเอกชน มีบ้าน ตระกูลต่างๆ เป็นผู้ดูแล รวมทั้ง ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของทายาทรุ่นที่ 4

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

นอกจากสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หลังคา รูปปั้นตุ๊กตากระเบื้องต่างๆ แบบแต้จิ๋วแล้ว สิ่งที่ย้ำความสำคัญของศาลเจ้าแห่งนี้ที่มีมาแต่อดีตคือ กระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับทางศาลเจ้า เป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2454 บนกระถางธูปมีพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” พร้อมด้วยอักษรภาษาจีน สลักไว้ชัดเจน

อีกสิ่งที่มีคุณค่าไม่แพ้งานด้านสถาปัตยกรรม คือ คุณค่าทางศิลปะกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคงานแกะสลักปิดทองร่องชาดบนบัลลังก์ไม้ เสามังกร ความหมายของบทกวีตามเสา ตุ๊กตากระเบื้องนับสิบตัวที่ประดับอยู่บนหลังคา รวมไปถึงการแกะสลักองค์เทพต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานของช่างจีนมากฝีมือในยุคนั้นที่ชื่อ “เปียะบ้วย”

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
ผลงานของช่างจีน “เปียะบ้วย”
#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

ลายเซ็นต์อย่างหนึ่งของงานเปียะบ้วย คือ มีอักษรมงคลภาษาจีนเขียนไว้ด้านหลังบัลลังก์องค์เทพ พร้อมงานผ้าประดับบัลลังก์ที่พริ้วไหว และการเขียนใบหน้า การแกะใบหน้าที่เหล่าคนที่ศึกษางานศิลปะจีนจะบอกได้เลยว่าเป็นงานของช่างท่านนี้ ซึ่งตอนนี้องค์เทพที่เป็นไม้สลักก็เริ่มมีการชำรุด แตกหักไปตามกาลเวลาบ้างแล้ว

#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
ตุ๊กตาประดับหลังคาทำจากกระเบื้อง
#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม

ครั้งแรกตอนที่เปิดห้างสามย่านมิตรทาวน์ใหม่ๆ เราบังเอิญได้เห็นนิทรรศการหนึ่งที่โครงใหม่ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากการโยกย้ายชุมชนเก่าออกไปจัดขึ้น เป็นนิทรรศการเรื่องวัฒนธรรมและตำนานสามย่าน แน่นอนว่าในนิทรรศการนั้นมีเรื่องราวของ ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง รวมทั้งความรุ่งเรืองของงิ้วสามย่านในอดีตที่ผูกเข้ากับวิถีชีวิตชุมชนไทยจีนในย่านนี้

ความเจ็บจี๊ดคือการได้เห็นการพัฒนาที่เพิ่มมูลค่ามักจะมาคู่กับการทุบทิ้งคุณค่าเก่าๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้เสมอ และสุดท้ายคุณค่าเหล่านั้นก็จะถูกจัดเก็บกับอยู่ในบอร์ดนิทรรศการและบอกว่า เมื่อก่อนเราเคยเป็นอย่างนี้นะ การ #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่จะย้ายหรือไม่ย้าย แต่วัฒนธรรมที่มาพร้อมกับศาลเจ้าควรจะถูกหยิบไปวางตรงไหนในการรื้อ ย้าย ไม่ย้าย ในครั้งนี้

Fact File

  • เจ้าแม่ทับทิม คือ เทพนารีแห่งท้องทะเล (เทียงโห่วเซี้ยบ้อ) มีหลายชื่อเรียก บ้างเรียก อาม่า บ้างเรียก หมาโจ้ว โกวโบ้
  • อึ่งเกี่ยวม่า สะพานเหลือง คือชื่อที่คนจีนดั้งเดิมในชุมชนสามย่าน สะพานเหลืองเรียก ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์