ปลุกชีวิต เจริญกรุง หลังโควิด กับ 30 ผลงาน Colour of Charoenkrung
Arts & Culture

ปลุกชีวิต เจริญกรุง หลังโควิด กับ 30 ผลงาน Colour of Charoenkrung

Focus
  • Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง โปรเจคต์แต่งแต้มสีสันให้ เจริญกรุง ด้วย 30 ผลงานจาก 30 ศิลปินและนักออกแบบ ที่มาร่วมตีความย่านนี้ผ่านผลงานศิลปะหลากเทคนิคตั้งแต่จิตรกรรม กราฟิก การปะติด งานสานเส้นพลาสติกไปจนถึงภาพปัก
  • Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง จัดแสดงแล้ววันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563

เจริญกรุง ถือเป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหล ทั้งด้วยเสน่ห์ของความเป็นชุมชนย่านเมืองเก่า และการเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทย จีน พุทธ คริสต์และอิสลาม ทั้งร้านค้า ตึกราม สถาปัตยกรรมเก่าผสมใหม่ที่เชิญชวนให้ผู้คนแวะเวียนไปเยือนกันอยู่เสมอ สำหรับใครที่มีแพลนจะไปช่วงนี้อยากบอกว่าเขากำลังมีโปรเจคต์ Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง กับงานศิลปะกว่า 30 ชิ้นอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วย่านให้ได้ไปเดินถ่ายภาพ ดูงานศิลปะ ปลุกย่านเจริญกรุงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Colour of Charoenkrung

จุดนี้ไม่ต้องห่วงเลยว่าผลงานใด ตั้งอยู่จุดไหนบ้าง เพราะเขาปักหมุดในแผนที่ไว้ให้หมดแล้ว หากตั้งต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสะพานตากสินมา จุดแรกจะอยู่ในซอยเจริญกรุง 44 กับผลงาน สีสันเจริญกรุง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์หนึ่งของโปรเจคต์นี้ที่ศิลปิน 2choey หรือเชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก หยิบเรื่องราวของวิถีริมน้ำมาเป็นแรงบันดาลใจ โลเคชันคือผนังข้างโรงแรม Bangkok check in ติดกับ Sarnies Bangkok ร้านกาแฟส่งตรงจากสิงคโปร์ ใครที่ไปช่วงเช้าแวะเติมพลังก่อนเดินทางต่อกันได้เลย

Colour of Charoenkrung

หากเดินตรงตามถนนใหญ่มายังฝั่งตรงข้ามวัดม่วงแค บริเวณต้นซอยเจริญกรุง 47 จะพบกับความจัดจ้านของสีสันที่มาจากผลงานของศิลปินสายกราฟิก Tnop Design ที่เลือกใช้ตัวอักษรมาเป็นภาพแทน ชวนมองย้อนกลับไปถึงโครงสร้างและเสน่ห์ความท้องถิ่นของย่านเจริญกรุง ผ่านผลงาน Localism ซึ่งอยู่คู่กับ Monopoly ผลงานของศิลปิน Bunjerd.Boy ที่มีคีย์หลักคืออาการประหลาดใจ เพราะความหลากหลายของสิ่งต่าง ๆ หล่อหลอมให้เจริญกรุงเป็นเสมือนย่านที่มอบอาการลุ้น และประหลาดใจให้ผู้คนอยู่ตลอดเวลา

Colour of Charoenkrung
Colour of Charoenkrung

นอกจากจะมีผลงานที่เข้ารอบจากโครงการ CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์…ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มาให้ได้ชมถึง 30 ชิ้นแล้ว ศิลปินแต่ละคนก็สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคที่แตกต่างกันด้วย ตั้งแต่จิตรกรรม กราฟิก การปะติด จนถึงศิลปะจัดวาง เช่น ผลงานของ ease studio ที่มุ่งเชิดชูความหลากหลายของผู้คน ด้วยงานภาพปักจากวัสดุหัตถอุตสาหกรรม (Industrial-Craft) ออกมาเป็นผลงาน We’re Human. ซึ่งจัดแสดงอยู่ในซอยวัดม่วงแค ย่านชุมชนที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนา

Colour of Charoenkrung

แวะเดินภายในอาคาร TCDC บางรัก จุดเดียวก็สามารถเก็บผลงานตามหมุดที่ปักไว้ได้ถึง 5 ชิ้น ซึ่งจัดเรียงไปตั้งแต่ชั้น M จนถึงชั้น 5 แต่จะมีชิ้นงาน Different shade of Charoenkrung ที่จัดอยู่บริเวณทางเดิน Rooftop Garden ชั้น 5 ที่จะเข้าชมได้เฉพาะสมาชิกของ TCDC เท่านั้น เป็นผลงานที่เน้นบอกเล่าถึงสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผ่านการตีความตามเฉดสีจากขาว-ดำถึงสีสันสดใสที่เปรียบเสมือนความรุ่งเรืองที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง สร้างสรรค์โดย การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระเจ้าของผลงานวาดเมืองนับไม่ถ้วน ที่ได้เห็นกันในเพจ Z i l l u S t a t i o n . ชิว

Colour of Charoenkrung
Colour of Charoenkrung

หากการเดินไกลทำให้ท้องบ่นหิว แวะรองท้องด้วยขนมโตเกียวที่ร้าน Tokyo Hot ระหว่างเดินไปชมชิ้นงานไฮไลต์อย่าง Bird’s Eye View ของ WISHULADA หรือ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ที่กำแพงด้านข้างร้านได้เลย

ผลงานชิ้นนี้ วิชชุลดา ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ ตามหลักการของ Circular Economy เช่นเคย ซึ่งคราวนี้ขอนำเสนอภาพมุมสูงของแผนที่บริเวณย่านเจริญกรุง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการบริโภคทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณและเกิดประโยชน์สูงสุด บริเวณข้างกันนั้นยังมีผลงาน Mirror Of Aged โดย เขมพงศ์ รุ่งสว่าง ที่มุ่งสื่อถึงความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเป็นไปของปัจจุบันผ่านภาพโครงสร้างกระจกแตกให้ได้ชมกันด้วย

แต่ละจุดที่จัดแสดงผลงานอยู่ไม่ไกลกันมากนัก เรียกได้ว่ามีให้หยุดดูกันเป็นระยะ ๆ แต่สำหรับสายถ่ายภาพหลาย ๆ จุดเป็นซอยแคบอาจจะต้องหามุมและระวังรถรากันสักนิด และบางชิ้น เช่น ความเบ่งบานแห่งวัฒนธรรม The blossoming of culture โดย  ไกรพล กิตติสิโรตม์ อาจจะต้องสังเกตกันสักหน่อย เพราะอยู่บริเวณผนังด้านบนของร้าน Old maps & prints แต่หากมองจากฝั่งตรงข้าม (ซอยเจริญกรุง 37) ก็จะมองเห็นความสดชื่นแจ่มใสของภาพจิตรกรรมดอกไม้นี้ได้ชัดเจน

บริเวณผนังโรงน้ำแข็งในซอย เจริญกรุง 24 ก็มีผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่สำคัญซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าคริสตชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อยในระแวกนั้นอย่าง วัดแม่พระลูกประคํา (โบสถ์กาลหว่าร์) เช่น ผลงานของศิลปิน Mukae ที่ตั้งชื่อว่า Rosary โดยในภาษาไทยมีความหมายว่า ดอกกุหลาบ หรือ ลูกประคํา ซึ่งดอกกุหลาบเปรียบเสมือนตัวแทนของวัดแม่พระลูกประคําที่ได้รับการดูแลรักษาให้เติบโตและมีชีวิตชีวาจากชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย

มาถึงบริเวณโซนตลาดน้อยกันบ้าง หากลัดเลาะไปตามเส้นทางศาลเจ้าโรงเกือกจะเป็นผลงานที่เน้นบอกเล่าถึงวัฒนธรรมไทยจีนที่ผสมผสานกันตามวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณพื้นที่จัดแสดง เช่น Gooses Job บริเวณผนังร้านอุไรห่านพะโล้ ถนนทรงวาด ที่ สุชา จามาศ ศิลปินเจ้าของผลงานได้หยิบยกศิลปะการวาดลายเส้นของจีนมาเป็นแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับความร่วมสมัย บอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งเรื่องการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสะท้อนภาพความสัมพันธ์ของคนไทยเชื้อสายจีนในย่าน เจริญกรุง ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

จากจุดนี้ใครยังไหวสามารถไปตลาดเยาวราชต่อยาว ๆ ได้เลย ใครยังไม่มีแพลนเดินทางไปเที่ยวไกลๆ นอกกรุงเทพฯ เราขอชวนเพื่อน ๆ ให้สวมผ้าใบ ใส่หน้ากาก ถือกล้องออกไปตามหาสีสันของ เจริญกรุง กัน 

Fact File

  • Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง จัดแสดงแล้ววันนี้ – 30 กันยายน พ.ศ.2563
  • แผนที่จุดแสดงงาน : https://bit.ly/2ZusfNn 
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Charoenkrung Creative District

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว