เที่ยวล้านนาผ่าน 10 งานดีไซน์จาก “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ของน่านและเชียงแสน
Arts & Culture

เที่ยวล้านนาผ่าน 10 งานดีไซน์จาก “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ของน่านและเชียงแสน

Focus
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ทำการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จำนวน 200 รายการในเขตเมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน และเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
  • ผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 30 รายการที่พัฒนาจากมรดกวัฒนธรรมของ 2 เมืองเก่าล้านนาถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ Culture Alert Nature Alive: วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • ทางโครงการยังได้จัดทำอีบุ๊ก (E-book) นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมในชุมชนต่างๆของเมืองเก่าน่านและเมืองเชียงแสนให้ดาวน์โหลดฟรี

ความเชื่อเรื่องพญานาค ตำนานช้างงูในแม่น้ำโขง การทำเกลือสินเธาว์จากบ่อเกลือธรรมชาติบนภูเขา รูปปั้นแมงหมาเต้าที่พระธาตุแช่แห้งกับตำนานพื้นบ้าน ไก หรือ สาหร่ายแม่น้ำ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่าน ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างของ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ทางนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายและเขตเมืองเก่าน่านในจังหวัดน่าน จนรวบรวมเป็นองค์ความรู้จำนวน 200 รายการใน โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืน ตามเกณฑ์ของ Global Sustainable Tourism Council

เที่ยวล้านนา

ทั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้ได้เผยแพร่ไปในวงกว้างและเป็นรูปธรรม ทางโครงการได้ร่วมมือกับนักออกแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของ 2 เมืองเก่าอย่างเชียงแสนและน่าน และได้นำผลิตภัณฑ์จำนวน 36 ชิ้นมาจัดแสดงในนิทรรศการ Culture Alert Nature Alive: วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565) ซึ่งมากกว่าความสวยงามของงานดีไซน์ นิทรรศการครั้งนี้ยังเหมือนได้พาผู้ชมออกไป เที่ยวล้านนา กันอีกครั้ง

“ปัญหาการท่องเที่ยว คือ มุ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ละเลยเรื่องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จึงได้รวบรวม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เชื่อมโยงไปสู่การปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเน้นให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญาที่ใช้ในการปกป้องรักษาความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านมีความรู้อยู่แล้วโดยเราเข้าไปช่วยจัดทำระบบสารสนเทศและเผยแพร่ รวมถึงสร้างให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วมมากขึ้น” ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงจุดประสงค์ของโครงการที่เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

เที่ยวล้านนา
ชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ

โครงการได้รวบรวม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เชียงแสนและน่านแห่งละ 100 รายการ และในเบื้องต้นได้คัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และศิลปะการแสดงแห่งละ 30 รายการ และท้ายที่สุดคัดเหลือแห่งละ 10 รายการที่มีความเป็นไปได้สูงในการผลิตได้จริง เพื่อนำไปจดทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน เช่น ลายผ้าทอที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของผลึกเกลือ เสื้อและกระเป๋าที่สานจากทักษะการทำแห-อวน ของชาวประมงริมแม่น้ำโขง ครีมบำรุงผิวจากสาหร่ายน้ำจืดไก และเครื่องสักการะล้านนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ DIY ที่ทำจากไม้

ครีมบำรุงผิวจากสาหร่ายน้ำจืดไก

“ตัวอย่างเช่น ไก หรือ สาหร่ายแม่น้ำในเขตเมืองเก่าน่าน เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำของเมืองน่าน และ 40% ของแม่น้ำน่านคือต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องเครื่องสำอางจากสาหร่ายไกของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพบว่าสาหร่ายไกมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาทำเป็นครีมบำรุงผิวได้ และขณะนี้กำลังจะดำเนินการจดแจ้ง อย. กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถ้ายังมีสาหร่ายไกก็แสดงว่าแม่น้ำยังอุดมสมบูรณ์และทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ” ผศ.ดร.พลวัฒ กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

จากซ้าย : ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา

ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทางโครงการได้ร่วมมือกับกลุ่มนักออกแบบนำโดย จิระ จิรประวัติ ณ อยุธยา แห่งบริษัท Gui & Co.

“ในการออกแบบมี 2 อย่างคือ อย่างแรกชาวบ้านมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วและเขาเก่งมาก ทางทีมดีไซเนอร์แค่ปรับนิดหน่อย ปรับสี ปรับลาย และทำให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายผ้าปักของชาวเมี่ยน หรือ เย้า มีความประณีตและพิถีพิถันโดยผืนหนึ่งใช้เวลาปักด้วยมือนานแรมปีจึงมีราคาสูงหลักหมื่นบาท เราก็เอาลายมาลดทอนเพื่อใส่กับเสื้อผ้าปัจจุบันได้ เช่น ให้มีลายปักแค่บริเวณกระเป๋า และทำเป็นเครื่องประดับคือโชกเกอร์ลายปักบนผ้าใยกัญชง

“อีกอย่างคือเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนและเราต้องนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และศิลปะการแสดง เช่น คาแรกเตอร์จากตำนานพื้นบ้านเรื่อง ช้างงู สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง และการแสดงเรื่อง นาค น้ำ น่าน และตำนานเมืองเชียงแสน ซึ่งเราออกแบบการแสดงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเชื่อและวิถีชีวิตของน่านและเชียงแสน พร้อมชุดแต่งกายซึ่งทางวัฒนธรรมจังหวัดสามารถนำไปใช้ได้เลย และเรายังได้รับเกียรติจากอาจารย์บรูซ แกสตัน ช่วยประพันธ์ดนตรีสำหรับการแสดงทั้ง 2 ชุดด้วย” จิระกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ

เที่ยวล้านนา
การแสดงชุด ตำนานเมืองเชียงแสน

ทางโครงการยังได้จัดทำอีบุ๊ก “ไปมา หาสู่ เรียนรู้ แบ่งปัน” นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมในชุมชนต่างๆของเมืองเก่าน่านและเมืองเชียงแสน โดยสามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ https://bit.ly/32R4weH นอกจากนี้โครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถปักหมุดแผนที่การเดินทางไปตามชุมชนต่างๆของน่านและเชียงแสน พร้อมชุดข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

Sarakadee Lite จึงขอหยิบยก 10 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ทางโครงการได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการเพื่อเป็นแรงบันดาลใจก่อนปักหมุดตามรอยท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนเมืองเก่าน่านและเมืองเชียงแสน

เที่ยวล้านนา

01 กระเป๋าและเสื้อตาข่ายจากลายสานแห-อวน

สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นทั้งเสื้อและกระเป๋าใส่ของได้ในชิ้นเดียวกัน สร้างสรรค์โดยการนำไหมพรมมาถักตามลวดลายต่างๆที่ชาวประมงริมแม่น้ำโขงใช้ในการสานแหและอวน เพื่อชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำด้วยทักษะงานหัตถกรรมในขณะเดียวกันยังสะท้อนปัญหาของชาวประมงริมแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันไม่สามารถจับปลาและสัตว์น้ำได้เหมือนแต่ก่อนจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนและระดับน้ำที่ผันผวนซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทำให้จำนวนและพันธุ์ปลามีปริมาณลดลงอย่างมาก

ในขณะที่ชาวประมงกำลังอ่อนแรงและทักษะศิลปหัตถกรรมกำลังสูญหาย ทางโครงการจึงมีแนวคิดในการนำทักษะฝีมือการถักแห-อวนที่กำลังสูญหายให้กลับฟื้นคืนชีวิตใหม่ในรูปแบบทันสมัยและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันเพื่อให้ชาวประมงได้นำความรู้ความชำนาญนี้ไปต่อยอดในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

เที่ยวล้านนา

02 หมวกจากลายผลึกเกลือ

“ในอดีตนั้นเกลือมีค่าดั่งทองคำ เมืองใดที่มีบ่อเกลือย่อมเป็นเมืองที่มั่งคั่งและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เกลือทำให้น่านเป็นเมืองที่มีอำนาจและเจริญมากในอาณาจักรล้านนา เพราะมีบ่อเกลือธรรมชาติบนภูเขา” ผศ.ดร.พลวัตกล่าว

อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่ชาวบ้านยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือแบบโบราณและรักษาธรรมเนียมพิธีไหว้ผีเมืองที่รักษาบ่อเกลือ อีกทั้งผู้ที่จะขึ้นไปตักน้ำเกลือได้ต้องผ่านพิธีกรรมหรือได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น สำหรับการผลิตเกลือแบบดั้งเดิมนั้นใช้วิธีการต้มในกระทะให้น้ำค่อยๆระเหยจนเกลือตกผลึก ทีมดีไซเนอร์ได้ออกแบบลายผ้าโดยนำลักษณะของผลึกเกลือมาจัดวางลายให้เป็นขนาดเล็กๆเพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชุมชน ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

03 จี้เงินรูปดาวฤกษ์ประจำเมืองน่าน

เครื่องเงินน่านขึ้นชื่อเรื่องความประณีตและลวดลายที่ละเอียด โดยเฉพาะฝีมือการทำเครื่องเงินของชาติพันธุ์เมี่ยน หรือ เย้า ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าน่านนั้นได้รับการยกย่องว่ามีเอกลักษณ์ที่สวยงามไม่เหมือนใคร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงนำภูมิปัญญางานฝีมือมาผสมผสานกับความเชื่อที่ว่า ดาวฤกษ์ประจำเมืองน่านคือ ดาวขอบด้ง ตามแผนที่ดาวล้านนา จนกลายเป็นจี้เงินรูปดาวฤกษ์ประจำเมืองน่าน

04 กระเป๋าทอลวดลายสีสันแม่น้ำกก

ชุมชนบ้านสันธาตุ อำเภอเชียงแสนเป็นชุมชนทอผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงรายโดยเป็นกลุ่มคนจากอีสานที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำกกตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และนำภูมิปัญญาการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้ามาพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งมรดกการทอผ้าที่สำคัญของภาคเหนือ ทางดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้ามาจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนผิวน้ำของแม่น้ำกกในช่วงเวลาเช้า สาย บ่าย และเย็น และนำมาพัฒนาเป็นกระเป๋าถือและหมอนอิง

05 แมงหมาเต้ากับตำนานการสร้างเมืองน่าน

มีความเชื่อว่าหากผู้ใดเสี่ยงเซียมซีที่ศาลาพระเจ้าทันใจ ในวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน แล้วได้ผลไม่เป็นดั่งที่คาดหวังหรือถูกทำนายว่าจะพบเคราะห์ร้าย สามารถนำใบเซียมซีไปใส่ไว้ในโพรงที่มีรูปปั้น “แมงหมาเต้า” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ๆกันเพื่อฝากให้แมงหมาเต้าช่วยยับยั้งเคราะห์ร้ายเหล่านั้น แมงหมาเต้าจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “แมงหมาตืด” หมายถึงปิดกั้นสิ่งที่ไม่ดี

ลักษณะของแมงหมาเต้ามีหัวคล้ายสุนัขและลำตัวคล้ายแมลงคือ มีปีก 1 คู่ และมี 6 ขาเป็นสัตว์ในตำนานการสร้างเมืองน่านว่าเป็นสัตว์ที่ได้บำเพ็ญบุญในสมัยพุทธกาลเพื่อให้มาสร้างเมือง รูปปั้นขนาดเล็กที่วัดพระธาตุแช่แห้งนั้นสร้างขึ้นตามลักษณะที่ปรากฏตามเรื่องราวพระเจ้าเลียบโลกในบันทึกตำนานอักษรล้านนาและสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับรูปหล่อพระเจ้าทันใจ แต่ไม่ปรากฏรายนามผู้สร้างและบันทึกการสร้าง

“ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปู่ม่านย่าม่าน ภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าน่าจะนำตำนานและความเชื่ออื่นที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักมาบอกเล่า และคาแรกเตอร์ของแมงหมาเต้านั้นมีลักษณะประหลาดคือเหมือนหมามีปีกและยังเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเมืองน่าน เราจึงนำมาทำเป็นคาแรกเตอร์ให้ดูน่ารักและสดใสขึ้นและพิมพ์ลายสำหรับกระเป๋า เสื้อ หมวก หมอนอิงและแก้วน้ำ” ผศ. ดร.พลวัต กล่าว

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

06 ช้างงูกับตำนานของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง

ประติมากรรมขนาดใหญ่รูป ช้างงู คือลำตัวเป็นงูและหัวเป็นช้าง 3 เศียร บริเวณวงเวียนสี่แยกบายพาสก่อนจะเข้าอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของชาวเชียงแสนที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง และทีมดีไซเนอร์ของโครงการได้นำคาแรกเตอร์นี้มาปรับให้มีความน่ารัก เต็มไปด้วยสีสัน และสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ฟิกเกอร์ กระเป๋า เสื้อ หมวก หมอนอิงและแก้วน้ำ

ตำนานช้างงูมีเรื่องเล่าอยู่ในตำนานเรื่อง พระเจ้าพรหมมหาราช แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ กล่าวถึงในสมัยอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ (บริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) ซึ่งถูกพวกขอมขับไล่จากเมืองโยนกนาคพันธุ์ไปอยู่เมืองเวียงสี่ตวง (ปัจจุบันคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) เมื่อพระเจ้าพรหมกุมารมีพระชันษาได้ 13 ปี ทรงพระสุบินว่ามีเทวดามาบอกว่าจะมีช้าง 3 ตัวล่องแม่นํ้าโขงมา และให้พระเจ้าพรหมกุมารไปล้างหน้าที่นั่น หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง 4 ทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ 2 จะมีอานุภาพได้ชมพูทวีป ถ้าจับได้ตัวที่ 3 จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้

ครั้นรุ่งเช้าเจ้าพรหมกุมารจึงพาบริวารไปยังท่านํ้า ครั้งแรกเห็นงูเหลือมลอยผ่านไป 1 ตัว ต่อมาตัวที่ 2 ก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ 3 เจ้าพรหมกุมารจึงทรงนึกถึงเรื่องในพระสุบินนั้น พระองค์พร้อมกับบริวารจึงช่วยกันจับงู เมื่อพระเจ้าพรหมกุมารขึ้นขี่ งูก็กลายเป็นช้างไปทันทีแต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนบริวารต้องเอาพางทองคำ (เครื่องดนตรี) มาตีล่อ ช้างจึงยอมขึ้นจากนํ้าและตั้งชื่อช้างว่า พางคำ

พระเจ้าพรหมกุมารทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความสามารถในการรบ ภายหลังได้ยกทัพขับไล่พวกขอมจนแตกพ่ายและยึดเมืองโยนกนาคพันธุ์คืนได้ ส่วนช้างพางคำเมื่อเสร็จสงครามก็ได้หายไปทางดอยลูกหนึ่งซึ่งต่อมาเรียกว่า ดอยช้างงู

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

07 ตุ๊กตาควาย สะท้อนวิกฤตของเวียงหนองหล่ม

เวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตของ 2 อำเภอคือเชียงแสนและแม่จัน ในจังหวัดเชียงราย และเป็นที่ตั้งของปางควายใน 3 หมู่บ้านที่มีควายร่วม 2,000 ตัว ชาวบ้านจะนำควายมากินหญ้าบริเวณหนองน้ำซึ่งเป็นการช่วยขจัดวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังมีปลักควายซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กจำนวนมากอันเป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา กบ เขียด งูและแมลงทำให้กลายเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านได้อีกด้วย

ปัจจุบันนี้เวียงหนองหล่มซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนกับควายเคยแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกันมายาวนานกำลังเผชิญปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เกิดการจับจองพื้นที่ทำกิน การแย่งการใช้น้ำ การถมพื้นที่ชุ่มน้ำให้ตื้นเขินเพื่อใช้ที่ดิน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืช ทั้งนี้เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาและหาทางร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตของเวียงหนองหล่ม ดีไซเนอร์จึงออกแบบ “ตุ๊กตาควายทูอินวัน” โดยใช้หนังเทียมมาตัดเย็บเป็นชิ้นส่วนแล้วประกอบขึ้นมาเป็นตุ๊กตารูปทรงควายพร้อมกับฟังก์ชันเป็นกบเหลาดินสอได้ในตัว

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

08 เครื่องเป่าดินเผา และ คัทธนกุมารชาดก

เครื่องเป่าดินเผาชิ้นนี้ได้นำลักษณะคาแรกเตอร์ของ คัทธนกุมาร ในคัทธนกุมารชาดกที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน มาดัดแปลงในรูปทรงที่สามารถขึ้นรูปดินให้เป็นเครื่องเป่าที่มีการเจาะรูเพื่อให้มีระดับเสียงแตกต่างกัน

การใช้เทคนิคการปั้นดินเผายังเป็นการแสดงให้เห็นถึงมรดกภูมิปัญญาการปั้นดินเผาโดยเฉพาะที่บ้านบ่อสวกซึ่งในอดีตเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่โดยมีการขุดพบเตาเผาโบราณอายุกว่า 700 ปี หลายเตากระจายอยู่รอบหมู่บ้าน ปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบบ่อสวกขึ้นมาและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการปั้น

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

09 หมวกหัวเรือและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่าน

ประเพณีการแข่งเรือจังหวัดน่านเป็นประเพณีเก่าแก่และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ผูกพันกับพญานาคโดยเชื่อว่าพญานาคจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอารามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ชาวบ้านจึงขุดเรือและตกแต่งหัวเรือ ลำเรือ และหางเรือให้มีลักษณะคล้ายพญานาค นอกจากนี้การแข่งเรือยังเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่านที่แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำยังมีปริมาณเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของชาวน่าน

ดีไซเนอร์ได้นำรายละเอียดต่างๆที่ใช้ในการประดับหัวเรือมาทำเป็นลวดลายสำหรับหมวกแฟนซีที่ทำจากไหมพรมและสักหลาดซึ่งรูปทรงของหมวกนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยวซึ่งเป็นหนึ่งในหมวกของเจ้าพนักงานในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

10 เครื่องสักการะบูชาเพื่อสืบศรัทธาเชียงแสน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน บ้านฮอมผญ๋าเชียงแสน ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวได้ทำเครื่องสักการะบูชาล้านนาด้วยตนเองเพื่อนำไปบูชาตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และโบราณสถานต่างๆในเมืองเก่าเชียงแสน ทั้งนี้เพื่อให้โบราณสถานต่างๆกลับมามีชีวิตชีวาและทำให้คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานซึ่งถูกละเลยให้กลับมาเป็นพื้นที่แห่งความศรัทธาอีกครั้ง

เครื่องสักการะที่นิยมทำกันนั้นประกอบไปด้วยของสำคัญ 5 อย่าง คือ ต้นดอก (ดอกไม้ทำด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง)ต้นเทียน (เทียนแท่งมัดรวมกัน) หมากสุ่ม (หมากแห้งที่นำมาร้อยรวมกันเป็นพุ่ม) หมากเบ็ง (ดอกไม้สานจากใบตาลหรือใบมะพร้าวและมีเกสรเป็นหมาก) และต้นผึ้ง (ดอกไม้ทำจากขี้ผึ้งนำมาประกอบกันคล้ายพานพุ่ม)

ดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องสักการะทั้ง 5 อย่าง โดยออกแบบให้เป็นรูปทรงต้นไม้ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเคารพต่อธรรมชาติและวัสดุเป็นไม้ที่ถอดประกอบเป็นชิ้นได้ที่นักท่องเที่ยวสามารถสนุกกับการประกอบชิ้นงานแบบ DIY คล้ายกับการทำเครื่องสักการะบูชาล้านนาด้วยตนเอง

Fact File

  • นิทรรศการ “Culture Alert Nature Alive: วัฒนธรรมนฤมิต ชุบชีวิตธรรมชาติ” จัดแสดงถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ
  • ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ Facebook: เชื่อม รัด มัด ร้อย

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ