โรงภาษีร้อยชักสาม กับการตามรอยช่างชาวอิตาลี เสียงนาฬิกาจากมิลาน และงานเต้นรำหรู
Arts & Culture

โรงภาษีร้อยชักสาม กับการตามรอยช่างชาวอิตาลี เสียงนาฬิกาจากมิลาน และงานเต้นรำหรู

Focus
  • โรงภาษีร้อยชักสาม ชื่อนี้เคยเป็นทั้ง ศุลกสถาน สถานที่เต้นรำของชาวต่างชาติ และสถานที่จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งต้อนรับคราวเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก
  • Bangkok Design Week 2020 ครั้งนี้พิเศษด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้าชม โรงภาษีร้อยชักสาม เป็นครั้งแรกผ่านนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

โรงภาษีร้อยชักสาม ชื่อนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวกรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่อย่าง บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน ได้ประกาศเตรียมแผน 4,600 ล้าน เตรียมพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ให้กลับมามีชีวิตในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังจากที่ถูกปิดใช้งานมานาน

กุมภาพันธ์ 2563 โรงภาษีร้อยชักสาม ติดอันดับทุกการค้นหาด้วยการเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design Week 2020 ที่พิเศษด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกผ่านนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ซึ่งได้หยิบจับบางตอนของพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาเล่าใหม่ในอาคารเก่า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน สถานที่ที่ถูกบันทึกไว้ว่ามีแก้วโคมระย้า ประดับประดาภายในด้วยกระจกบานใหญ่ และเคยใช้เป็นสถานที่เต้นรำของชาวต่างชาติ เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงอันหรูหรา รวมทั้งจัดงานในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคราวเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

โรงภาษีร้อยชักสาม
ภาพเก่าเมื่อครั้งยังเป็นที่พัก ที่ทำการของพนักงานดับเพลิงบางรัก

ตามเสียงนาฬิกาในห้องใต้หลังคาไปยังตรอกโรงภาษี

หากคุณเป็นคนในย่านสี่พระยาหรือฝั่งธนที่อยู่ตรงข้ามย่านนี้เพียงเจ้าพระยากั้น ในช่วงหนึ่งที่นานมากอาจจะยังเคยได้ยินเสียงนาฬิกาโบราณ ตีบอกเวลาดังกังวาลมาจากอาคารเก่าที่ไม่รู้แน่ชัดว่า อาคารขนาดใหญ่ที่ซ่อนนาฬิกาไว้ใต้หลังคาหลังนี้ชื่ออะไร แต่ที่รู้แน่ๆ อาคารแห่งนี้เป็นที่อยู่ของครอบครัวนักดับเพลิงบางรัก และจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นอาคารถูกทิ้งร้าง ปิดการใช้งานไปพร้อมกับเสียงเงียบหายของนาฬิกา ซึ่งถ้าย้อนไปในหนังสือประวัติศาสตร์จะพบว่าอาคารหลังใหญ่ดีไซน์ยุโรปจ๋าที่ตั้งอยู่ใน ตรอกโรงภาษี ซอยเจริญกรุง 36 หลังนี้ ครั้งหนึ่งถูกใช้เป็น โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน (Custom House) หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิด ที่นี่ก็คือ กรมศุลกากร ในสมัยเมื่อร้อยปีก่อน

โรงภาษีร้อยชักสาม
บันไดกลางของอาคารที่เผยให้เห็นความโอ่โถง

ถามว่าทำไมต้องเป็น โรงภาษีร้อยชักสาม เรื่องนี้เห็นจะต้องเล่าย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้งที่ไทยเปิดประเทศตามสนธิสัญญาเบาริงและมีการกำหนดให้ไทยเรียกเก็บภาษีจากสินค้าขาเข้าได้ในอัตราร้อยละ 3 หรือก็คือ ร้อยชักสาม และกรมศุลกากรแห่งแรกในไทย ก็ถูกสร้างขึ้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือสินค้าจากนานาประเทศแล่นเข้าออกไม่ได้ขาด

ทางเข้าตรอกโรงภาษี

ศุลกสถานประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เด่นสะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นอาคารหลังกลางขนาด 3 ชั้น เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีกรอบประตูหน้าต่างทรงโค้ง (Arch) ทำจากไม้สักตกแต่งลายฉลุ แซมด้วยงานปูนปั้นสวยงามมาก กลางอาคารเป็นโถงขนาดใหญ่ ด้านในสุดคือบันไดไม้สักขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้ มีลูกมะหวดราวบันไดที่เผยให้เห็นความหรูหราของอาคารที่สร้างโดยนายช่างใหญ่ชาวอิตาลี กราซี (Grassi) ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่วางผังโครงการขุดคลองรังสิต

แม้อาคารนี้จะมี 3 ชั้น ทว่าด้านบนสุดมีบันไดขึ้นชั้น 4 ที่เป็นเหมือนห้องใต้หลังคาอยู่บริเวณหน้าจั่วของอาคาร ที่นั่นแหละที่ซ่อนนาฬิกาเรือนใหญ่จากเมืองมิลาน ว่ากันว่าเสียงของนาฬิกานี้ดังไกลไปจนถึงฝั่งธนบุรี แต่ปัจจุบันได้หยุดเดินไปแล้ว เหนือยอดจั่วของอาคารหลังนี้ยังมีตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่เพื่อบอกให้รู้ว่าอาคารหลังนี้สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

ภาพของนาฬิกาจากมิลาน ซ่อนอยู่บริเวณหน้าจั่วของอาคาร

แม้บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของโรงภาษี แต่เมื่อครั้งที่สร้างเสร็จใหม่ๆ นั้นตึกกลางหลังใหญ่ถูกใช้เป็นที่ทำการของพนักงานเกษตร ส่วนตึกซ้ายด้านทิศใต้ เป็นที่อยู่ของเจ้าพนักงานและกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร ขยับมาที่ตึกด้านขวาทางทิศเหนือ ถูกใช้เป็นที่ทำการภาษีขาเข้า ขาออก ปัจจุบันยังมีตัวอักษร Import and Export Department อยู่ที่หน้าบันตึกหลังนี้

เมื่อก่อนที่นี่ถือว่าเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่สะดวกและทันสมัยมาก แม้เรือขนาดใหญ่กินน้ำลึกก็สามารถเข้ามาเทียบท่าได้ พร้อมสรรพด้วยโรงพักสินค้า รถรางขนาดเบาที่ใช้ในการขนส่งสินค้า และบรรทุกน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจ่ายตามเรือนที่พักของพนักงาน หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือทุกความเจริญพร้อมอวดโฉมชาวต่างชาติ รวมไว้ที่ตรอกโรงภาษีแห่งนี้ กระทั่ง พ.ศ. 2492 ท่าเรือคลองเตยเปิดทำการ ตึกทั้ง 3 หลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ หลังจากนั้นใน พ.ศ.2502 จึงเปลี่ยนมาเป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ที่พักของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมครอบครัว และถูกปิดลงในที่สุด

การทับซ้อนของอดีต ปัจจุบัน ใน Hundred Years Between

นอกจากเป็นจุดเริ่มของความทันสมัยเมื่อร้อยปีผ่านมาแล้ว โรงภาษีร้อยชักสามยังถือได้ว่าเป็นที่สุดของความหรูหราในย่านริมน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอาคารหลังกลางนั้น บริเวณชั้น 3 มีการติดโคมแก้วระย้า พร้อมด้วยฉากเขียนสีน้ำขนาดใหญ่ และด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ ชั้น 3 ของตึกโรงภาษีร้อยชักสามจึงคล้ายกับเป็นศูนย์กลางของงานเฉลิมฉลอง ทั้งเคยใช้เป็นสถานที่จัดงานเต้นรำของชาวต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคราวฉลองการเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก อันเป็นที่มาของการจัด Hundred Years Between ขึ้นในอาคาร และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเฉพาะงาน Bangkok Design Week 2020 เท่านั้นก่อนจะปิดปรับปรุงยาวร่วม 6 ปี

“สารภาพว่าตอนที่ถ่ายภาพชุดนี้ที่นอร์เวย์ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะจัดแสดงงานในศุลกสถานแบบนี้ ความตั้งใจแรกคือการตามรอยเสด็จจากพระราชนิพนธ์ไกลบ้านไปยังนอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้เป็นการตามไปเพียงแค่สถานที่ แต่เป็นการดึงสิ่งที่ได้เห็นจากจดหมายที่พระองค์เขียนมาเล่าในมุมมองของรุ่นโหลน ในช่วงเวลาที่ห่างกันร้อยกว่าปี ส่วนสถานที่ตรงนี้ที่ใช้จัดงานแสดงก็มีความบังเอิญที่เราได้รู้ในภายหลังว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก มีการจัดงานเลี้ยงฉลองรับเสด็จที่อาคารหลังนี้ ก็ถือเป็นความบังเอิญที่พิเศษมาก”

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ Hundred Years Between ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพถ่ายผสมกับจดหมายที่ดึงมาจากบางช่วงใน “ไกลบ้าน” ผสมผสานไปกับจดหมายที่ผู้เป็นโหลนคือ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้เขียนบอกเล่าว่าท่านเองได้ไปพบเห็นอะไรมาบ้างจากการตามรอยเสด็จในครั้งนี้

“ในไกลบ้าน พระองค์ไม่ได้ทรงพูดถึงแต่เพียงสถานที่ว่าพระองค์เสด็จไปที่ใดบ้างในนอร์เวย์ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือพระองค์ทรงกล่าวถึงธรรมชาติ และมนุษย์ ชาวนอร์เวย์เป็นคนที่ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติได้ดีมาก ไม่ใช่ธรรมชาติที่สวยงามอย่างเดียว แต่เป็นธรรชาติที่มีความยิ่งใหญ่ โหดร้ายอย่างที่ธรรมชาติควรจะเป็น ในนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการดึงความรู้สึกนั้นออกมา เข้าไปห้องโถงแรก ผู้ชมจะเจอภาพที่ใหญ่ ให้ความรู้สึกว่ามนุษย์นี้ตัวเล็กนิดเดียว และกำลังถูกห้อมล้อมไว้ด้วยธรรมชาติ เน้นโทนสีไปในโทนคูลคือเทา เขียว ฟ้า ซึ่งเป็นสีของอารมณ์ในตึกนี้ และให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติไปด้วย ค่อยๆ ไล่เรียงความรู้สึกนี้ขึ้นไปที่ชั้น 2 และ 3 ซึ่งก็จะพูดถึงมนุษย์เยอะขึ้น”

โรงภาษีร้อยชักสาม
โรงภาษีร้อยชักสาม
นิทรรศการด้านในอาคาร

นอกจากเรื่องราวของมนุษย์ และธรรมชาติในประเทศนอร์เวย์แล้ว อีกสิ่งที่จะได้เห็นในการเปิด โรงภาษีร้อยสักสาม ครั้งแรก และครั้งเดียวให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในครั้งนี้ก็คือ จิตวิญญาณของสถานที่

“การทำงานกับสถานที่ประวัติศาสตร์ อย่างศุลกสถาน คือ การทำให้จิตวิญญาณของสถานที่ยังคงอยู่ ไม่ใช่การเอาอะไรก็ได้ไปวางไว้ในของเก่า แต่การทำให้สิ่งที่เข้ามาใหม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นี้ นั่นคือสิ่งที่ยากที่สุดของนิทรรศการครั้งนี้ ประวัติศาสตร์ คือ เลเยอร์ของเวลา อดีตไม่เคยหายไปไหน แต่เป็นสิ่งที่ทับซ้อนกันกับปัจจุบัน อดีตไม่ได้ตาย แต่มันยังมีชีวิต จิตวิญญาณของสถานที่นั้นๆ ยังคงอยู่”

บางส่วนของนิทรรศการใช้เพียงแสงธรรมชาติ
โรงภาษีร้อยชักสาม ในปัจจุบัน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างนิทรรศการภาพถ่ายใหม่กับอาคารเก่าที่ขนานกันด้วยเวลาร้อยกว่าปีเศษ และนั่นจึงทำให้บางช่วงบางตอนของนิทรรศการยอมถอยออกมาให้ประวัติศาสตร์ของอาคารได้แสดงตัวโดดเด่น แต่ในบางจังหวะอย่างชั้นสองของอาคาร ก็กลับมาเด่นชัดด้วยมุมมองจากภาพฟิล์ม กล้องมีเดียมฟอร์แมต Hasselblad โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

บางมุมเหมาะสำหรับแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน และบางส่วนของนิทรรศการก็เหมาะที่จะมาชมในเวลากลางคืน ปิดท้ายชั้น 3 ด้วย พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 จากพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน พร้อมด้วยจดหมายที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เขียนถึงรัชกาลที่ 5 แนบภาพถ่ายนอร์เวย์ในปัจจุบันสลับกับภาพนอร์เวย์เมื่อร้อยปีก่อน เป็นเหมือนการผจญภัยของ 2 คน 2 ยุค ที่ขนานกันด้วยเงื่อนไขของเวลากว่าร้อยปี

อ้างอิง

  • นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤศจิกายน 2544

Fact File

  • นิทรรศการ Hundred Years Between เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ รอบละ 30 นาที รองรับได้ 20 คนต่อหนึ่งรอบ ถึง 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เวลา เวลา 11.00 – 21.30 น. สำรองที่นั่ง  www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between (มาก่อนเวลาเข้าชม 15 นาที)

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"