การค้นพบภาพเขียนต้นแบบของ กาลิเลโอ คินี และโจทย์ที่ท้าทายของนักอนุรักษ์
Arts & Culture

การค้นพบภาพเขียนต้นแบบของ กาลิเลโอ คินี และโจทย์ที่ท้าทายของนักอนุรักษ์

Focus
  • การค้นพบภาพเขียนของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาพร่างต้นแบบของภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่และเป็นงานที่ท้าทายของนักอนุรักษ์
  • ภาพเขียนสีฝุ่นบนผ้าใบขนาด 10 เมตร อายุกว่า 100 ปีชิ้นนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมแซมมาตั้งแต่ พ.ศ.2562

การค้นพบภาพเขียนสีฝุ่นบนผ้าใบขนาดใหญ่ของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินชาวอิตาลี ผู้เขียนภาพพระราชกรณียกิจของบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมภายในคลังของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อครั้งมีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2555 ไม่เพียงเป็นการค้นพบงานศิลปะทรงคุณค่าของศิลปินชื่อดัง แต่ยังเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่และเป็นงานที่ท้าทายของ นักอนุรักษ์ ในการบูรณะภาพเขียนขนาดใหญ่เกือบ 10 เมตรและอายุกว่า 100 ปีชิ้นนี้

กาลิเลโอ คินี
กาลิเลโอ คินี

ภาพเขียนชิ้นนี้บันทึกเหตุการณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454 ขณะเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และคาดว่าเขียนขึ้นในช่วง พ.ศ.2454-2456 โดยมีขนาดและรูปแบบใกล้เคียงกับภาพเขียนสีปูนแห้งรูปพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6 บนเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงสันนิษฐานว่าภาพนี้เป็นภาพร่างต้นแบบของภาพในพระที่นั่งอนันตสมาคม

ทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์ภาพชิ้นนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2562 ปัจจุบันภาพนี้ยังอยู่ในขั้นตอนอนุรักษ์เพื่อนำมาจัดแสดงในอาคารนิทรรศการถาวร ที่กำลังปรับปรุงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ซึ่งคาดหมายว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ทางทีมนักอนุรักษ์ได้ซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาด ผนึกชั้นสีให้แข็งแรง เสริมผ้าซัปพอร์ตด้านหลัง และกำลังพิจารณาว่าจะมีการเติมสีใหม่หรือไม่ รวมไปถึงการพิจารณาเลือกวิธีการเข้ากรอบที่เหมาะสมและวิธีการติดตั้งเพื่อจัดแสดง นอกจากนี้ทางหอศิลปยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมการอนุรักษ์ได้ ณ ห้องอเนกประสงค์ ในวันที่นักอนุรักษ์เข้าทำงาน โดยสอบถามวันและเวลาล่วงหน้าได้ที่หอศิลป

กาลิเลโอ คินี
พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
กาลิเลโอ คินี
รายละเอียดพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 6 ในผลงานของ กาลิเลโอ คินี

“เมื่อ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นปีที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ทางกรมศิลปากรอยากให้ทางหน่วยงานร่วมเฉลิมฉลอง ดิฉันซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในครั้งนั้นจึงได้ประสานงานไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และภัณฑารักษ์คือคุณยุทธนาวรากร แสงอร่าม แจ้งว่ามีการค้นพบภาพเขียนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6 ในคลังโบราณวัตถุที่ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ระหว่างโครงการปรับปรุงวังหน้า โดยคาดว่าภาพนี้น่าจะมาจากหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร ภายในพระบรมมหาราชวังและภายหลังเก็บอยู่ในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์อย่างมากกับทางหอศิลป ทางเราจึงรับมาเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ โดยในเบื้องต้นคาดหมายว่าจะเสร็จและจัดแสดงทันในช่วงที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562”

พูลศรี จีบแก้ว ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘การอนุรักษ์ภาพร่างจิตรกรรมของ กาลิเลโอ คินี: ความท้าทายใหม่ของนักอนุรักษ์’ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2565

ภาพเขียนเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่

จากที่คาดหมายว่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือนในการอนุรักษ์ แต่เมื่อได้คลี่ม้วนภาพออกมาแล้วพบว่าเป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผ้าใบขนาดใหญ่โดยมีความยาว 9.37 เมตร และความกว้าง 5.10 เมตร และมีความเสียหายค่อนข้างมาก การอนุรักษ์จึงต้องใช้เวลาเพื่อให้ขั้นตอนต่างๆเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีการเก็บบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2562 ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้จัดแสดงนิทรรศการชื่อ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในความทรงจำของ กาลิเลโอ คินี และปรับให้การอนุรักษ์งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการโดยผู้สนใจสามารถชมการอนุรักษ์ได้ที่ห้องจิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งเป็นห้องที่กลุ่มงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ใช้ทำงาน

กาลิเลโอ คินี
ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบของ กาลิเลโอ คินี ในคอลเล็กชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

แม้ว่าภาพชิ้นนี้จะไม่ปรากฏชื่อศิลปินผู้เขียนภาพ แต่จากรูปแบบและการจัดองค์ประกอบภาพที่ใกล้เคียงมากกับภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 60×102 เซนติเมตร ของคินีที่บันทึกเหตุการณ์เดียวกันและเขียนใน พ.ศ.2454 เช่นกัน ในคอลเล็กชันสะสมของหอศิลป ทำให้สันนิษฐานได้ว่าคินีเป็นผู้วาดภาพนี้

“เราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญคือ อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาช่วยวิเคราะห์ด้วย อาจารย์อำมฤทธิ์ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลและติดต่อไปยังคุณเปาล่า (Paola Poidori Chini) ซึ่งเป็นหลานสาวของคินีและอายุ 80 กว่าปีแล้วโดยส่งภาพถ่ายงานชิ้นนี้ไปให้ดู และทางคุณเปาล่ายืนยันว่าเป็นภาพของปู่เธอแน่นอน” พูลศรีกล่าว

กาลิเลโอ คินี

จากฟลอเรนซ์สู่บางกอก

กาลิเลโอ คินี (พ.ศ. 2416-2499) เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และโชคชะตาที่ทำให้เขาได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานที่สยามเริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรงานเวนิสเบียนนาเล (La Biennale di Venezia) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2450 พระองค์โปรดฝีมือของคินีที่จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะครั้งนั้นอย่างมาก ต่อมาจึงให้ทางกรมโยธาธิการทำสัญญาว่าจ้างคินีเป็นเวลา 30 เดือน เพื่อมาเขียนภาพในพระที่นั่งองค์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ณ พระราชวังดุสิต แต่เมื่อคินีในวัย 38 ปี เดินทางมาถึงสยามใน พ.ศ.2454 ก็เป็นช่วงที่มีการผลัดแผ่นดินเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 6 แล้ว

“ตามสัญญาว่าจ้างคินีให้วาดภาพพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1-5 เพื่อประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมจำนวน 5 ภาพ แต่เมื่อเขามาถึงและมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงเห็นสมควรที่จะเพิ่มรัชกาลใหม่เข้ามาด้วยจึงมีการปรับภาพเขียนใหม่ คือ ภาพแรกเป็นพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 1 ส่วนภาพที่ 2 เป็นการรวมพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 2 และ 3 ในภาพเดียว ภาพที่ 3 และ 4 เป็นเรื่องราวของรัชกาลที่ 4 และ 5 ตามลำดับส่วนภาพสุดท้ายเป็นภาพในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6” พูลศรีกล่าว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในรัชกาลที่ 6

คินีได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในรัชกาลที่ 6 จึงถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของศิลปิน ซึ่งแตกต่างจากภาพพระราชกรณียกิจของรัชกาลอื่นที่ศึกษาข้อมูลผ่านเอกสาร จดหมายเหตุ และคำบอกเล่าจากบุคคลต่างๆ แล้วจึงตีความเหตุการณ์ออกมาเป็นงานจิตรกรรม ในภาพเขียนของคินีที่ค้นพบนี้จะเห็นได้ว่าทางฝั่งขวาของภาพ ศิลปินได้วาดภาพบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีตัวตนจริงและได้เข้าร่วมพระราชพิธีในครั้งนั้นจริงๆ อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นต้น

ภาพพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูตจากต่างประเทศ

อีกทั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.2454 ยังเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกที่ราชสำนักสยามเชิญพระราชวงศ์และทูตานุทูตจากต่างประเทศเข้าร่วมในพระราชพิธี ซึ่งปรากฏภาพกลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่บริเวณด้านขวาสุดของภาพด้วย อาทิ แกรนด์ดยุก บอริส วลาดิมีโรวิช แห่งรัสเซีย (Grand Duke Boris Vladimirovich of Russia) ผู้แทนองค์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ รัสเซีย และเจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก (Prince Valdemar of Denmark) พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอลิกที่ 8 แห่งเดนมาร์ก (Frederik VIII, King of Denmark)

กาลิเลโอ คินี

ภาพบันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ใช้งานจริง

ภาพเขียนของ กาลิเลโอ คินี ชิ้นนี้แสดงรายละเอียดของรูปบุคคลตามหลักกายวิภาค จัดวางองค์ประกอบภาพในลักษณะสมมาตร โดยเขียนเส้นรอบนอกของวัตถุด้วยเส้นสีดำหนา การจัดวางองค์ประกอบมีการวางตำแหน่งของรัชกาลที่ 6 ไว้ด้านบนสุดกึ่งกลางของภาพ และมีกลุ่มบุคคลยืนเข้าเฝ้าฯ อยู่เบื้องหน้าของพระที่นั่งทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ตรงกลางระหว่างกลุ่มบุคคลยืนเป็นเจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก และเจ้าพนักงานสังข์แตรนั่งอยู่บนพื้นโดยแต่งกายด้วยชุดสีแดงตามโบราณราชประเพณี

อย่างไรก็ตามภาพบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ปรากฏในภาพเขียนจริงบนเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งด้านบนสุดกึ่งกลางของภาพเป็นภาพของรัชกาลที่ 6 ออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนด้านล่างเป็นภาพของเจ้าพนักงานในพระราชพิธี

ภาพจริงในพระที่นั่งอนันตสมาคม

“การเขียนของชาวยุโรปคือการบันทึกเหตุการณ์ แต่ด้วยขนบแบบไทยแล้วภาพของพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด องค์ประกอบอื่นอาจดูชัดเจนเกินไปจึงได้มีการแก้ไขในภายหลัง” ปัทมา ก่อทอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ให้ความเห็น

ในการทำงานนั้นคินีมีผู้ช่วยอีก 2 คนคือ คาร์โล ริโกลิ (Carlo Rigoli) และ โจวานนี สกวานชิ (Giovanni Sguanci) ซึ่งหลังจากที่คินีได้ศึกษาและทดลองร่างแบบจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

“สันนิษฐานว่าภาพร่างชิ้นนี้อาจยังไม่ได้ให้ทอดพระเนตร เพราะภรรยาของคินีเสียชีวิตและเขาต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมื่อ พ.ศ.2456 โดยให้ผู้ช่วยของเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อ และต่อมาจึงมีการแก้ไขภาพภายหลังตามพระบรมราชวินิจฉัย ในบรรดา 5 ภาพที่วาดประดับโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เราไม่พบภาพร่างขนาดเท่างานจริงของทั้ง 5 ภาพเลย เพราะในการวาดภาพนั้นจะมีการปรุภาพร่างก่อนวาดที่ผนังโดมทำให้ภาพร่างฉีกขาด เราจึงไม่พบภาพร่างที่ใช้งานจริงเลย ส่วนภาพนี้หลงเหลืออยู่เพราะไม่ได้นำไปใช้งานจริง” พูลศรีแสดงความเห็น

กาลิเลโอ คินี

การผนวกของวิทยาศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์

ทีมนักอนุรักษ์ต้องบันทึกข้อมูลของชิ้นงานอย่างละเอียดโดยการตีตารางด้วยด้ายไร้กรดที่จะไม่ทำปฏิกิริยากับชิ้นงานและบันทึกภาพไว้ทุกตารางเซนติเมตร รวมถึงจดรายละเอียดทุกจุดที่เสียหาย ส่วนนักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของผลงานชิ้นนี้อย่างละเอียดทั้งชั้นรองพื้น ผงสีและชนิดของธาตุ ผ้าซัปพอร์ต และกาวที่ใช้

“ผ้าที่ใช้ประเมินว่าเป็นผ้าใบจากเส้นใยลินิน 20% และฝ้าย 80% และกาวที่ใช้มาจากโปรตีนสัตว์ รองพื้นเป็นเกสโซ่ (Gesso) ส่วนสีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีเดี่ยวไม่มีการผสมสี สีที่หลุดร่อนส่วนใหญ่หลุดจากชั้นรองพื้นเลย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสีขาวและสีน้ำเงิน เพราะแต่ละสีมีโครงสร้างผลึกต่างกันเมื่อยึดติดด้วยกาวและกาวเสื่อมสภาพทำให้เม็ดสีแยกมากน้อยต่างกัน เราก็ต้องเติมกาวลงไปใหม่เพื่อให้เม็ดสียึดเกาะโดยใช้กาวหนังสัตว์ตามวัสดุเดิมโดยมีความเข้มข้นหลากหลายตั้งแต่ 2-7% ขึ้นอยู่กับอนุภาคของเม็ดสี เนื่องจากเวลานำไปจัดแสดงต้องวางภาพในแนวตั้งดังนั้นแรงยึดระหว่างเม็ดสีต้องมีมากพอ” เสน่ห์ มหาผล นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญกล่าว

กาลิเลโอ คินี

เมื่อได้ผลวิเคราะห์โครงสร้างขององค์ประกอบต่างๆ แล้ว ทางทีมนักอนุรักษ์ต้องเลือกใช้กาวที่มีความเข้มข้นที่เหมาะสมในแต่ละจุดที่ชำรุดของภาพและเสริมความแข็งแรงของสี รองพื้น และเส้นใยด้วยเทคนิคที่เรียกว่า เฟสซิง (Facing)

“ผลงานมีความเปราะบาง เราจะไม่ให้กาวผ่านสู่ชิ้นงานโดยตรงแต่จะใช้กระดาษสาเพื่อปกป้องชิ้นงานเราจะสร้างงานจำลองขึ้นมาก่อนคือวาดภาพให้เหมือนกับภาพจริงและวางกระดาษสาลงไปบนพื้นผิว จากนั้นลองทากาวลงไปเพื่อทดสอบว่ากาวในความเข้มข้นที่ใช้ติดแล้วเหมาะสม สีไม่หลุด และกาวต้องไม่ทำปฏิกิริยาเคมีจนทำให้สีเปลี่ยนไป จากนั้นจึงค่อยนำไปใช้กับงานจริง เริ่มจากการให้ความชื้นก่อนเริ่มผนึกสีด้วยการใช้กระดาษทิชชูชุบน้ำซับเบาๆ ซึ่งเป็นการทำความสะอาดชิ้นงานไปในตัว จากนั้นผนึกกระดาษสาบนชิ้นงานและทากาวให้ซึมลงไปเพื่อผนึกสีให้ยึดเกาะ เมื่อแห้งแล้วจึงลอกกระดาษสาออก” โสภิต ปัญญาขันธ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษอธิบาย

กาลิเลโอ คินี

ความท้าทายการอนุรักษ์ชิ้นงานขนาดใหญ่

ในการซ่อมแซมผลงานที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ทางทีมนักอนุรักษ์ต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมาใหม่ คือ ทำโครงเหล็กเหนือตัวชิ้นงานและติดไม้กระดานที่มีล้อเลื่อนที่นักอนุรักษ์สามารถนั่งและเลื่อนเพื่อไปซ่อมแซมยังจุดต่างๆของภาพได้

“เราไม่เคยซ่อมงานศิลปะบนผ้าใบที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากเท่านี้มาก่อน ที่ใหญ่สุดที่เคยทำคือประมาณ 2 เมตร ทำให้การทำงานมีอุปสรรคพอสมควร ต้องออกแบบและดัดแปลงเครื่องมือใหม่เพื่องานชิ้นนี้โดยเฉพาะแต่เป็นงานที่ท้าทายมาก” โสภิตกล่าว

กาลิเลโอ คินี

นักอนุรักษ์เลือกซ่อมแซมเฉพาะจุดที่มีรอยฉีกขาดโดยใช้ผ้าฝ้ายที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นมาย้อมสีให้เข้ากับเฉดสีของชิ้นงานมากที่สุดจากนั้นทาด้วย กาวลาสโกซ์ (Lascaux) ที่ผสมน้ำเพื่อยึดติดและสามารถเอาออกได้ในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังทำซัปพอร์ตด้านหลังด้วยผ้าฝ้ายดิบซึ่งจะช่วยปกป้องชิ้นงานจากการเคลื่อนย้ายหรือจัดแสดงเพราะสามารถดึงเฉพาะผ้าซัปพอร์ตเท่านั้นทำให้ไม่กระทบผลงาน

“หลักในการอนุรักษ์คือให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด ใช้วัสดุใกล้เคียงกับของเดิมและวัสดุที่ซ่อมต้องเอาออกมาแก้ไขได้ในอนาคต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะมีการเติมสีหรือไม่เพราะต้องใคร่ครวญให้ดีรวมไปถึงการเข้ากรอบและวิธีการจัดแสดงด้วย” โสภิตกล่าว

เครดิตภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม ของ กาลิเลโอ คินี ในวันทำการ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-15.00 น. (เฉพาะวันที่มีการอนุรักษ์) ณ ห้องอเนกประสงค์
  • สอบถามวันที่มีการอนุรักษ์ได้ทางโทรศัพท์ : 02-281-2224
  • รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก Facebook.com/TheNationalGalleryThailand

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ