300 ปี เหยือกเงินกะไหล่ทอง ราชบรรณาการจากพระนารายณ์แด่พระเจ้าหลุยส์ที่14
Arts & Culture

300 ปี เหยือกเงินกะไหล่ทอง ราชบรรณาการจากพระนารายณ์แด่พระเจ้าหลุยส์ที่14

Focus
  • เหยือกเงินกะไหล่ทอง เครื่องราชบรรณาการประเภทเครื่องเงินเครื่องทองของสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่ส่งไปถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เริ่มจากการเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสและรอดพ้นจากการถูกปล้นสะดมครั้งใหญ่และการถูกหลอมเป็นเหรียญ แต่ภายหลังตกอยู่ในวงจรการค้างานศิลปะ
  • 12 กรกฎาคม พ.ศ.2559 กระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสได้จัดให้เหยือกเงินใบนี้เป็นทรัพย์สมบัติแห่งชาติที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และด้านศิลปะ รวมถึงกำหนดราคาของเหยือกใบนี้ไว้ที่ 1,000,000 ยูโร

นับเป็นเวลา 300 กว่าปีที่ เหยือกเงินกะไหล่ทอง สลักลวดลายดอกไม้และนกที่ผลิตขึ้นในประเทศจีนซึ่งมีน้ำหนัก 533 กรัม หนึ่งในบรรดาเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยาถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้กลับคืนสู่ พระราชวังแวร์ซาย ในฐานะมรดกของชาติด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ ภายหลังรอดพ้นจากการถูกปล้นสะดมครั้งใหญ่และการถูกนำมาหลอมเป็นเหรียญรวมถึงการวนเวียนในตลาดซื้อขายศิลปะอยู่นานหลายปี 

 เหยือกเงินกะไหล่ทอง
เหยือกเงินกะไหล่ทอง ก่อนและหลังได้รับการอนุรักษ์
ภาพ : © EPV/Christophe Fouin

การเดินทางของเหยือกเงินกะไหล่ทองเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 เมื่อคณะทูตจากสยาม นำโดยพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินแห่งฝรั่งเศสในขณะนั้น คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เหยือกเงินใบนี้ถูกนำมาวางไว้ที่บริเวณท้องพระโรงที่เป็นสถานที่ทางฝรั่งเศสได้จัดให้มีการต้อนรับคณะทูตจากสยาม (ปัจจุบันคือห้องกระจกของพระราชวังแวร์ซาย) 

 เหยือกเงินกะไหล่ทอง

ต่อมาในปีพ.ศ.2240 เหยือกเงินใบนี้ถูกประทับตรา “หมายเลข 65” ที่ด้านใต้ของฐานอันหมายถึงหมายเลขประจำตัวของข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกระบุไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินของราชสำนักฝรั่งเศส จนล่วงเข้าปีพ.ศ. 2272 ได้มีการจัดระเบียบรายการทรัพย์สินดังกล่าวใหม่ เหยือกได้ถูกเรียกขานใหม่ว่า“เครื่องเงินหมายเลข 314” แทน และเพิ่มเติมด้วยการสลักตราประจำราชสำนักฝรั่งเศสที่เรียกว่า ลา เฟลอร์ เดอ ลี(La Fleur de Lys) และเครื่องหมายที่เป็นมงกุฎ 3 องค์เพิ่มเข้าไปซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นเครื่องเงินและเครื่องทองของราชสำนักในสมัยนั้น 

 เหยือกเงินกะไหล่ทอง
ภาพ: Bibliothèquenationale de France (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)

จนกระทั่ง พ.ศ.2334 เหยือกใบนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากพระราชวังแวร์ซายไปเก็บไว้ที่ โอเต็ล ดู การด์ เมอบัล (L’Hôtel du Garde-Meuble) ซึ่งเป็นแมนชั่นสำหรับเก็บบรรดาทรัพย์สินส่วนของราชสำนักทั้งหมด ที่ตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Place Louis XV) หรือในปัจจุบันคือจัตุรัสกงกอร์ด (Place de la Concorde) ในมหานครปารีส ณ ที่แห่งนี้เครื่องราชบรรณาการชิ้นนี้ได้เปลี่ยนกลับมาเป็น หมายเลข65 เช่นเดิมและถูกจัดให้อยู่ในหมวดของกาน้ำชา เหยือกเงินอันแสนงดงามใบนี้ถูกตั้งนิ่งๆเงียบๆอยู่บนชั้นที่ 3 ของตู้เก็บของหมายเลข 8 ในห้องเครื่องประดับและอัญมณีในแมนชั่นแห่งนี้ 

พระราชวังแวร์ซาย
ภาพ: Bibliothèquenationale de France (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)

เหยือกล้ำค่าใบนี้สามารถรอดพ้นจากการปล้นสะดมเครื่องเพชรของราชสำนักครั้งใหญ่ในเดือนกันยายนปีต่อมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ มิหนำซ้ำในปีถัดมาคือพ.ศ. 2336 ที่มีการจัดลำดับสิ่งของเครื่องเงินเครื่องทองของราชสำนักเพื่อนำกลับไปหลอมเป็นเหรียญตราขึ้นมาใช้ใหม่ในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส เหยือกใบนี้ก็ยังไม่ถูกจัดให้อยู่ในลิสต์ดังกล่าวอีกด้วย

แต่ 4 ปีต่อมา เหยือกเงินนี้ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากการประมูลขายข้าวของเครื่องใช้ในราชสำนักที่จัดขึ้นที่ โอเต็ล เดอ บุยยง (L’Hôtel de Bullion) นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการวนเวียนเข้าสู่เส้นทางของการซื้อ-ขายในตลาดศิลปะปีแล้วปีเล่า ท้ายที่สุดในช่วงของยุคจักรววรดิที่ 2 ของบรรณาการจากสยามชิ้นนี้อยู่ในการถือครองของตระกูล แตร์เครย์ เดอ มอร์คแดล-เว็งเด (Terray de Mordel-Vindé) ที่เป็นสายตรงของปิแอร์ แตร์เครย์ (Pierre Terray) น้องชายของผู้ตรวจการทรัพย์สินแผ่นดินในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ระหว่างปี พ.ศ. 2312-2317 และที่นี่เองเหยือกใบงามถูกตั้งโชว์เงียบๆอยู่ในตู้เก็บของของตระกูลและถูกลืมเลือนอีกครั้ง 

พระราชวังแวร์ซาย
ภาพ: Bibliothèquenationale de France (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)

ด้วยวิถีของตระกูลใหญ่อันแสนจะมั่งคั่งทั้งหลายที่มักจะมีเรื่องของความวุ่นวายไม่ลงรอยกับการแบ่งทรัพย์สินและมรดก ตระกูลแตร์เครย์เองก็หลีกไม่พ้นเช่นกันเมื่อถึงเวลาของการแบ่งมรดก บรรดาตู้เก็บของที่ถูกลืมก็ถูกเปิดออกมาอีกครั้ง ทนายความผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดการของทรัพย์สินของตระกูลคือ เอคริค โบซ็อง (Eric Beaussant) และ ปิแอร์-อีฟ เลอแฟร์ฟ (Pierre-Yves Lefèvre) ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินราคาทรัพย์สินและผลงานทางศิลปะชื่อดังในกรุงปารีส ทั้งคู่สังเกตว่าการสลักตราประทับและศิลปะลวดลายรวมถึงการตกแต่งของเหยือกที่มีออกซิไดซ์และสนิมขึ้นเกรอะใบนี้มันช่างไม่สอดคล้องเข้ายุคเข้าสมัยกันเลย

พระราชวังแวร์ซาย
ภาพ: Bibliothèque national de France (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)

ทั้งสองจึงได้ปรึกษาและทำการตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องเงินเครื่องทองของปารีสนามว่า เอเมอร์คริก ป๊อกติเย่ร์ (Emeric Portier) ร่วมกับฟิลิปป์ ปาลาสซี่ (Philippe Palassi) ผู้เชี่ยวชาญด้านตราประจำตระกูลของฝรั่งเศสให้ทำการศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติมว่าของชิ้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่า เหยือกเงินกะไหล่ทองใบนี้คือของขวัญที่พระเจ้าแผ่นดินสยามถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเมื่อครั้งกว่า300 ปีที่ผ่านมา 

พระราชวังแวร์ซาย
ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย

เมื่อพิสูจน์ได้ดังนี้แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสจึงระงับการออกใบอนุญาตการซื้อขายอย่างอิสระเหยือกใบนี้ และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2559 กระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสได้จัดให้เหยือกเงินใบนี้เป็นทรัพย์สมบัติแห่งชาติที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และด้านศิลปะ รวมถึงกำหนดราคาของเหยือกใบนี้ไว้ที่ 1,000,000 ยูโร ด้วยความอนุเคราะห์และสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทในเครือแอลวีเอ็มเอช (LVMH) เหยือกเงินกะไหล่ทองใบนี้จึงได้กลับมาอยู่ที่ห้องกระจกของพระราชวังแวร์ซายที่เรียกได้ว่าเป็นสถานที่แรกที่เหยือกใบนี้ได้มาปรากฏตัวที่ฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

หากเป็นไปตามกำหนดเดิมตามที่ประกาศในเว็บไซต์ของพระราชวังแวร์ซาย เหยือกเงินกะไหล่ทองใบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการชื่อ“La Chine et Versailles” (ลา ซีน เอ แวร์ซาย)ที่จะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 12เมษายน-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ภาพ: Château de Versailles/Christophe Fouin (พระราชวังแวร์ซาย/คริสตอฟ ฟูแอ็ง) และ Bibliothèque national de France (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส) 

Fact File 

  • คณะทูตจากสยามที่มีออกพระวิสุทธสุนทร หรือ โกษาปาน เป็นราชทูตนั้น เป็นทูตคณะที่ 2 จากสยามที่สามารถเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศส แต่เป็นทูตคณะแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมด้วยนักเรียนนอกของสยามชุดแรกจำนวน 12 คน
  • คณะทูตของโกษาปานเป็นคณะที่ 3 ที่สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์ที่จะส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสและเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปะปาที่กรุงโรม โดยคณะทูตชุดแรกเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2224 โดยมี ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นราชทูต แต่เรืออัปปางก่อนถึงฝรั่งเศส
  • ครั้งที่ 2 เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2227 คณะทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม นำโดยบาทหลวง เบนิญ วาเชต์ (BénignVachet)เป็นหัวหน้าและมีออกขุนพิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรี ติดตามไปด้วย วัตถุประสงค์หลักเพื่่อสืบข่าวของทูตคณะแรกที่หายไปและเพื่อแจ้งกับทางฝรั่งเศสถึงเรื่องการเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีด้วย โดยได้ถือหนังสือมาถึงเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้เป็นการอัญเชิญพระราชสาสน์มาเหมือนครั้งแรก จึงไม่ได้เข้าเผ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
  • ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2228 มีเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือออกพระวิสุทธสุนทรเป็นราชทูต เรือเข้าเทียบฝั่งเมืองแบร็ตส์ (Brest) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 เป็นคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดให้มีการจัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และเป็นทางการ 
  • ครั้งที่ 4 ออกขุนชำนาญเป็นทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่14 และสมเด็จพระสันตะปะปาที่กรุงโรมอีกครั้งหนึ่ง ถึงฝรั่งเศสเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2231 และคณะทูตก็ได้พำนักอยู่ที่ฝรั่งเศสเกือบปี เมื่อทางฝรั่งเศสได้รับแจ้งข่าวการสวรรคตของพระนารายณ์และทางกรุงศรีอยุธยาไม่ต้อนรับและขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากสยาม เมื่อพ.ศ. 2232 ราชสำนักฝรั่งเศสจึงส่งคณะทูตและเด็กนักเรียนไทยฝรั่งเศสกลับมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริดที่เป็นเมืองท่าของสยาม ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีในรัชสมัยของกษัตริย์ของทั้งสองแผ่นดินเพียงเท่านี้ 

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง