เปิด พิพิธภัณฑ์เครื่องทอง ที่ดีที่สุดในไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
Arts & Culture

เปิด พิพิธภัณฑ์เครื่องทอง ที่ดีที่สุดในไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิด อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑ์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2565
  • อาคารเครื่องทองอยุธยา จัดแสดงเครื่องทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยามากถึง 2,244 รายการที่ขุดพบจากกรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ  (กรุหลวงพระงั่ว) รวมทั้งกรุวัดพระราม (กรุพระราเมศวร) วัดพระศรีสรรเพชญ์  และเจดีย์ศรีสุริโยทัย

เปิดแล้ว อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑ์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จัดแสดงเครื่องทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยามากถึง 2,244 รายการที่ขุดพบจากกรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ  (กรุหลวงพระงั่ว) รวมทั้งกรุวัดพระราม (กรุพระราเมศวร) วัดพระศรีสรรเพชญ์  และเจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่สำคัญการเปิดห้องจัดแสดงเครื่องทองครั้งนี้ไม่ใช่แค่การปรับปรุงห้องจัดแสดงแล้วจัดวางสิ่งของใหม่ แต่การสร้าง อาคารเครื่องทองอยุธยา หลังใหม่ยังมาพร้อมการศึกษาวิจัยเครื่องทองอยุธยาใหม่ยกชุดโดยใช้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ร่วมกับเทคนิควิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพื่อศึกษาเนื้อโลหะ องค์ประกอบของเนื้อทอง อัญมณีที่แตกต่างกันไปของแต่ละกรุ พร้อมกับการตามหาชุดเครื่องทองอยุธยาที่กระจายอยู่ตามคลังของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ให้กลับคืนมาจัดแสดงยังกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนั่นหมายความว่าทองคำหลายรายการเพิ่งได้เปิดตัวจัดเสดงเป็นครั้งแรก ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา โฉมใหม่หลังนี้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2500 วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏชื่อในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจากข่าว “กรุเครื่องทองวัดราชบูรณะแตก” เมื่อมีการจับกุมโจรลักลอบขุดทองกรุพระปรางค์ประธานได้เครื่องทองคำหนักถึง 19.67 กิโลกรัม (ไม่นับรวมทองที่ถูกลักลอบขายไป) ซึ่งหากใครยังนึกภาพไม่ออกว่าความมลังเมลืองของทองคำมากมายขนาดนี้ที่ถูกบรรจุอยู่ในกรุแคบๆ ที่เป็นเหมือนคลังสมบัติโบราณเป็นอย่างไร หรือนึกไม่ออกว่าที่เขาเล่าลือว่าอโยธยานั้นคือแผ่นดินการค้าที่ร่ำรวยนั้นจะร่ำรวยได้ขนาดไหน แนะนำให้ตรงมาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ทำการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อจัดแสดง “ทองคำอยุธยา” โดยเฉพาะจากเดิมที่ห้องทองคำเป็นเพียงห้องจัดแสดงเล็กๆ ส่วนหนึ่งของห้องนิทรรศการย่อยในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พระแสงขรรค์ชัยศรี

เปิดประตูเข้าสู่อาคารเครื่องทองอยุธยาด้วย พระแสงขรรค์ชัยศรี ทำจากหินเขี้ยวหนุมานและทองคำประดับแก้วสีที่เป็นสีเพราะของช่างอยุธยา โดยห้องจัดแสดงส่วนที่ 1 นี้เรืองรองด้วยเครื่องทองจากวัดราชบูรณะประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภค และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ บนผนังซ้ายขวาถอดลวดลายจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุมจากผนังกรุวัดราชบูรณะมาเป็นลวดลายดิจิทัลอาร์ตย้อนถึงที่มาของเครื่องทองหลายร้อยชิ้นที่จัดวางอยู่ในห้องแสดงนี้ ก่อนจะพาเดินลึกสู่ความลับของพระปรางค์วัดราชบูรณะที่ซ่อนกรุเก็บทองคำเหล่าวังหลวงเอาไว้ โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองบรรยากาศ จิตรกรรมฝาผนังภายในกรุซึ่งปัจจุบันได้ปิดถาวร ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้แล้ว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เดิมทีนิทรรศการเครื่องทองอยุธยาจัดแสดงเฉพาะเครื่องทองของกรุวัดราชบูรณะ ทว่าในอาคารใหม่ได้เปิดกรุวัดมหาธาตุ  (กรุหลวงพระงั่ว) รวมทั้งกรุวัดพระราม (กรุพระราเมศวร) วัดพระศรีสรรเพชญ์  รวมทั้งกรุเจดีย์ศรีสุริโยทัยให้ได้ชม ซึ่งแต่ละกรุก็มีรายละเอียดของเครื่องทองที่แตกต่างกันไปตามรัชสมัยของกษัตริย์หรือบุคคลสำคัญที่ได้ถวายเครื่องทองเหล่านั้นซึ่งไม่ได้มีแค่ข้าวของเครื่องใช้กษัตริย์ แต่ยังมีหมวดพระเครื่อง ของใช้เครื่องประดับสตรี พระพุทธรูป พระพิมพ์ แผ่นทองรูปสัตว์ต่างๆ พระปรางค์จำลอง สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น

อาคารเครื่องทองอยุธยา
อาคารเครื่องทองอยุธยา
อาคารเครื่องทองอยุธยา

 แม้ พิพิธภัณฑ์เครื่องทองหลังนี้จะเป็นเพียงอาคารย่อยของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่แบ่งห้องนิทรรศการเป็น 3 โซนหลักคือ  ส่วนที่ 1 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ส่วนที่ 2 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องพุทธบูชา เครื่องอุทิศ และพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะ ส่วนที่ 3 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทว่าแนะนำให้เตรียมเวลาการเข้าชมไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เพราะนี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เนื้อหาแน่นมากและจัดแสดงได้สนุกมากๆ แค่เฉพาะเรื่องลวดลายของทองอยุธยาที่มีทั้งอิทธิพลจีนและมุสลิมก็มีให้ได้เลือกชมเยอะมาก หรือจะเป็นเรื่องเครื่องประดับเฉพาะแหวนก็มีไม่ต่ำกว่า 600 วง หรือใครที่สนใจเรื่องโครงสร้างการซ่อนกรุสมบัติไว้ในพระปรางค์ทางพิพิธภัณฑ์ก็ผ่าโครงสร้างพระปรางค์มาให้ชมอย่างละเอียด รวมทั้งคติการถวายทองคำเป็นพุทธบูชาก็มีให้ได้ศึกษาเช่นกัน เรียกได้ว่าสามารถถอดประกอบทองคำหนึ่งชิ้นได้เป็นองค์ความรู้ต่างๆ อย่างแน่นมาก

อาคารเครื่องทองอยุธยา

และหนึ่งสิ่งที่รู้อย่างแน่ชัดก็คือ กรุงเก่าอยุธยามั่งคั่งสมกับคำเล่าลือในหมู่นักเดินเรือสมัยโบราณไม่ว่าจะเป็นคลังมหาสมบัติของกษัตริย์ สำเภาจีนนับ 1,000 ลำที่แวะมาค้าขายที่อยุธยา ช้าง 300-400 เชือกต่อปีที่อยุธยาส่งไปขายทำกำไรกับอินเดีย นักเล่นแร่แปรธาตุปรอทที่มีอยู่มากมายเพราะต้องทำทอง แม้แต่สามัญชนก็ยังมีตลาดค้าขายทองอยู่ในเกาะเมือง มีย่านป่าทองที่ขายตั้งแต่ทองคำเปลว ทองคำ นาก เงิน ซึ่งความรุ่งเรืองเฟื่องฟูเหล่านี้มีให้ได้ชมที่อาคารเครื่องทองอยุธยาแห่งนี้

Fact File

  • อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.
  • ค่าเข้าชมชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท
  • FB: chaosamphraya  โทร. 035-241-587

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์