Google Arts & Culture เปิดให้ชมงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซล
Arts & Culture

Google Arts & Culture เปิดให้ชมงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซล

Focus
  • หลังจากเตรียมการมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ผลงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นในคลังสะสมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดให้ชมแล้วในรูปแบบดิจิทัลบน Google Arts & Culture
  • หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นองค์กรแรกของประเทศไทยที่ทางกูเกิลได้นำ Google Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงานศิลปะด้วยความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซล
  • คลังสะสมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเก็บผลงานทรงคุณค่ากว่า 1,000 ชิ้นที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ

หลังจากเตรียมการมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ในที่สุดคนรักศิลปะสามารถชมผลงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นในคลังสะสมศิลปกรรมของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แล้วในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่แสวงผลกำไร Google Arts & Culture ในรูปแบบความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซลที่บันทึกด้วย Google Art Camera ซึ่งพัฒนาโดยกูเกิลเพื่อแสดงรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานได้อย่างคมชัดมากที่สุด

Google Arts & Culture
Google Arts & Culture

โครงการความร่วมมือระหว่าง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการเก็บรักษาคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัย กับ Google Cultural Institute เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2562 โดยทางหอศิลป์ต้องการเผยแพร่ผลงานศิลปะให้เข้าถึงผู้ที่สนใจในวงกว้าง และทางกูเกิลเล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะในคอลเลกชันของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทย อีกทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายพันธมิตรซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มGoogle Arts & Culture จัดแสดงคอลเลกชันงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมทั่วโลกกว่า 2,000 แห่ง

แม้ Google Arts & Culture ได้ทำงานร่วมกับ 15 พันธมิตรในประเทศ แต่ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นองค์กรแรกที่ทางกูเกิลได้นำ Google Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงาน และยังเป็นครั้งแรกที่งานศิลปะในคลังสะสมของมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 500 ชิ้นโดยศิลปินกว่า 300 คนซึ่งได้รับเหรียญรางวัลจากเวทีประกวดศิลปกรรมแห่งชาติและศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัลให้คนทั่วโลกได้รับชมได้ทุกที่ทุกเวลา

Google Arts & Culture
ผลงานของ ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์ ที่สามารถเลือกซูมความละเอียดได้ทุกส่วน
มหาวิทยาลัยศิลปากร

“คลังสะสมของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครอบคลุมงานศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยได้สมบูรณ์ที่สุด การทำงานร่วมกับ Google Arts & Culture เป็นการขยายขอบเขตการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด การใช้สื่อสมัยใหม่ทำให้ผู้ชมเข้าถึงงานได้ทุกที่และไม่จำกัดกลุ่มผู้ชม การบันทึกภาพด้วยความคมชัดสูงสุดนอกจากจะทำให้เห็นรายละเอียดของผลงานที่ตาเปล่ามองไม่เห็นและเปิดมุมมองกับมิติใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยในการจัดเก็บและสืบค้นงานศิลปะในฐานข้อมูลดิจิทัลควบคู่ไปกับการรักษาและอนุรักษ์ชิ้นงานจริงที่หอศิลป์” อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งแรกของ 2 องค์กรในงานเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2565

“โครงการนี้เป็นการบันทึกภาพศิลปะด้วย Google Arts Camera ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจให้องค์กรอื่นได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเผยแพร่งานศิลปะเพิ่มมากขึ้น” ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัทกูเกิล (ประเทศไทย) กล่าวเสริม

มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพ “ภิกษุสันดานกา” โดย อนุพงษ์ จันทร ที่สามารถขยายชมความละเอียดได้ชัดเจนราวกับไปชมของจริง
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Google Arts & Culture

คลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยจัดเก็บผลงานที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (นับตั้งแต่การประกวดครั้งที่ 15 เมื่อ พ.ศ.2507) การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ จำนวนกว่า 1,000 ชิ้น โดยเก็บรักษาและจัดแสดงที่หอศิลป์สนามจันทร์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

“Art Camera สามารถถ่ายได้เฉพาะผลงานที่เป็น 2 มิติ ส่วนผลงานประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และผลงานสื่อผสมที่มีลักษณะนูนต่ำนูนสูงหรือมีวัสดุแวววาวก็จะถ่ายไม่ได้ ทำให้จากผลงานสะสมกว่า 1,000 ชิ้น จึงต้องคัดเฉพาะงาน 2 มิติจากเวทีประกวดศิลปกรรมแห่งชาติและศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ที่บันทึกเข้าแพลตฟอร์มGoogle Arts & Culture และเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญดังนั้นในขั้นแรกจึงเป็นการนำเสนอเฉพาะผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของเท่านั้น” อาจารย์เต้กล่าว

ศักยภาพของภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วย Google Art Camera จะแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในเซกชันที่เรียกว่า In Painting Tour ซึ่งเป็นการนำชมรายละเอียดในจุดต่าง ๆ ของผลงานแต่ละชิ้น เช่น ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ “กลุ่ม” (2512) โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต ภาพสีอะคริลิกบนผ้าใบชื่อ “จิตรกรรม 3” (2523) โดย ปริญญา ตันติสุข และภาพสีน้ำมันชื่อ “คำสอนพระพุทธเจ้าหมายเลข 1” (2559) โดย ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์ ผู้ชมสามารถซูมเข้าซูมออกเพื่อดูรายละเอียดของฝีแปรงและเท็กเจอร์ซึ่งบางครั้งศิลปินซ่อนความนัยบางอย่างในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง โดยมีคำอธิบายในส่วนต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย

Google Arts & Culture
สำหรับงานที่เป็นวัสดุต่างๆ ก็สามารถชมรายละเอียดของวัสดุได้ชัดเจน

“เราจะเปิดตัวด้วย 10 ผลงานที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไม่ได้คัดเลือกจากชื่อเสียงศิลปิน อาทิ จิตรกรรมประเภทที่เน้นให้เห็นฝีแปรง เช่น ผลงานของ สันต์ สารากรบริรักษ์ จิตรกรรมที่เน้นการใช้วัสดุผสม เช่น งานชื่อ ภิกษุสันดานกา ของอนุพงษ์ จันทร และจิตรกรรมที่มีรายละเอียดมากมาย เช่น งานของ ประสงค์ ลือเมือง และงานเทคนิคภาพพิมพ์ที่มองเห็นรายละเอียดลายเส้นจากทำแม่พิมพ์อย่างชำนาญ เช่น ผลงานของ บุญมี แสงขำ หลังจากนี้เราวางแผนว่าจะแนะนำเพิ่มเดือนละ 2 ชิ้น” อาจารย์เต้ให้ข้อมูล

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอนิทรรศการออนไลน์ในธีมต่าง ๆ ที่เรียกว่า Stories โดยทางหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปิดตัวด้วย 20 Stories เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย การเติบโตของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยและ 5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับศิลปะไทย

“Stories ตั้งต้นที่เราเตรียมไว้มีเรื่อง ‘สรรพนามธรรม’ (Miscellaneous Abstract) พูดถึงผลงานศิลปะนามธรรมจากเวทีศิลปกรรมแห่งชาติอันเป็นเวทีประกวดระดับชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ฉายภาพศิลปะสมัยใหม่ของไทยในกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ ต่อมาเป็นเรื่อง ‘กาย-กลาย’ (KAYA) พูดถึงการคลี่คลายรูปทรงมนุษย์มาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ แต่ใน Stories จะเอามาเฉพาะงาน 2 มิติ จากนั้นเป็นเรื่อง ‘Spotlight’ ที่เน้นเรื่องของแสงและเงาที่ศิลปินใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน เราวางแผนว่าจะมี Stories ใหม่ ๆ ทุก 2-3 เดือนโดยเนื้อหาต้องมีความน่าสนใจและภาษาอังกฤษที่ใช้ต้องได้มาตรฐานผ่านการอนุมัติ (Approve) จากกูเกิล”

Google Arts & Culture

ใน Google Arts & Culture ยังมีลูกเล่นในการชมงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นของมหาวิทยาลัยศิลปากรแบ่งตามเฉดสี เช่น สีเทา สีดำ สีแดง และสีฟ้า อีกทั้งเซกชัน Meet the Artists ที่เป็นวิดีโอสัมภาษณ์ศิลปินเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์โดยในเบื้องต้นนี้มีบทสัมภาษณ์ ปริญญา ตันติสุข และ ไพโรจน์ วังบอน นอกจากนี้ยังให้ผู้ชมสนุกกับการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงในการนำภาพศิลปะ เช่น “วัด 1” โดย ปรีชา เถาทอง “ภาพเหมือน” (สุวรรณี สุคนธา) โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤตและ “กรุงเทพฯ 1975 หมายเลข 1” โดย วิโรจน์ เจียมจิราวัฒน์ ไปตกแต่งที่บ้านได้

Fact File


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ