5 อาคารประวัติศาสตร์ ที่ต้องเก็บเข้าลิสต์ Bangkok Design Week 2022
Arts & Culture

5 อาคารประวัติศาสตร์ ที่ต้องเก็บเข้าลิสต์ Bangkok Design Week 2022

Focus
  • เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 จัดขึ้นตั้งแต่ 5-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด”
  • นอกจากแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์แล้ว ครั้งนี้ทางผู้จัดงานยังได้ชวนสำรวจพื้นที่อาคารเก่าแก่หลายอาคารที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนสู่พื้นที่สร้างสรรค์

ในเทศกาล เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นั้นนอกจากจะมีการขยายพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ให้กว้างขวางขึ้นรวมเป็น 5 ย่าน ครอบคลุมมายังเขตพระนครแล้ว ไฮไลต์ในปีนี้ยังเป็นการเปิดตัวอาคารเก่า อาคารประวัติศาสตร์ ในฐานะสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ หลายอาคารเปิดให้ได้เข้าเฉพาะกิจ บ้างก็เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมงานเทศกาล และบางอาคารก็เพิ่งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในงาน Bangkok Design Week 2022 นี้ ส่วนจะมีอาคารอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น Sarakadee Lite ชวนไปปักหมุดเก็บเข้าเช็คลิสต์ อาคารประวัติศาสตร์ ที่ต้องห้ามพลาดชมอย่างเด็ดขาด เพราะอาคารบางหลังก็เปิดให้เข้าชมเฉพาะงานนี้เท่านั้น

อาคารประวัติศาสตร์

01 “นิวเวิลด์” อดีตห้างดังแห่งบางลำพู

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2563 New World x OldTown คือชื่อกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งสามารถเปิดประตูที่ถูกปิดตายมานานหลายปีของอดีตห้างดังย่านบางลำพูอย่าง นิวเวิลด์ ให้เปิดต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง แต่ครั้งนั้นเป็นการเริ่มต้นชวนให้คนในย่านค้าขายเก่าแก่ของเกาะรัตนโกสินทร์อย่างบางลำพู มาร่วมทบทวนข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน และขยายกลับกลายเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่ดึงเอาผู้คนนับร้อยนับพันมาให้เข้ามารู้จัก อาคารประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ กำหนดเทรนด์ใหม่ๆ ด้านไลฟ์สไตล์ของเมืองไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น คอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ลิฟต์แก้ว เซเลบริตี้คนดังของเมืองกรุงต่างก็มารวมตัวกันที่ห้างนิวเวิลด์กันทั้งนั้น และนั่นก็ทำให้ย่านค้าขายโบราณอย่างบางลำพู กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

อาคารประวัติศาสตร์
หลังคาที่เปิดโล่งทำให้มีน้ำขังอยู่เต็มชั้นล่างของอาคาร

นิวเวิลด์เริ่มต้นประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2526 แต่กลับร่วงอย่างรวดเร็วเพราะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แอบต่อเติ่มอาคารอย่างผิดกฎหมาย จนในที่สุดต้องมีการรื้อถอนในพื้นที่ชั้น 5-11 ทว่าในระหว่างที่มีการรื้อ บริเวณชั้น 1-4 ก็ยังคงเปิดให้บริการค้าขายกันตามปกติ จนเป็นเหตุที่มาของโศกนาฏกรรมและปิดตำนานห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุคคงเหลือเพียงโครงสร้างอาคารที่หลังคาตรงกลางเปิดโล่ง ทำให้พื้นที่ชั้นล่างรองรับน้ำฝนที่ตกมาทั้งปีจนสร้างตำนานบทใหม่คือ “วังมัจฉา”

อาคารประวัติศาสตร์
อาคารประวัติศาสตร์

สำหรับใน พ.ศ.2565 นิวเวิลด์ กลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้คนอีกครั้งในนิทรรศการ New World x Old Town Part 2The Reflection From the Light Source” อันเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ประชาคมบางลำพู และ เกสรลำพู เสน่ห์บางลำพู, HUI Team Design, Saturate, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่มแสงปลากบ, L&E Lighting & Equipment PCL – Thailand, Lightspace-TH, Mosaic Eins และ สนใจ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนที่คนนอกพื้นที่รับรู้เกี่ยวกับนิวเวิลด์และย่านบางลำพู ไม่ว่าจะเป็นสินค้าดังจากย่านบางลำพู เสียงที่สะท้อนชีวิตของย่านบางลำพู ความหลากหลายทางเชื้อชาติของย่านบางลำพู การเปิดบางลำพูสู่การท่องเที่ยวระดับโลกผ่านถนนข้าวสาร รวมทั้งกลับไปดูในจุดที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของนิวเวิลด์ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

อาคารประวัติศาสตร์

02 “โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจโรงพิมพ์เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5

ที่นี่คืออาคารโรงพิมพ์เก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังร้านสังฆภัณฑ์ในย่านเสาชิงช้าโดยประวัติศาสตร์ของ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะโรงพิมพ์ที่รับทั้งงานราชการและงานเอกชนของคนทั่วไป เป็นโรงพิมพ์มาตรฐานขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีพนักงานการพิมพ์เกือบร้อยชีวิต ผลงานพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นหนังสืองานศพ หนังสือแบบเรียน รวมทั้งหนังสือของหลวง เช่น ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น และผลงานที่สำคัญสุด คือ การพิมพ์หนังสือโดยเสด็จพระราชกุศลในงานต่างๆ รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์

หนังสือเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นำมาจัดแสดง

การหลงเหลืออยู่ของอาคารโรงพิมพ์ขนาดใหญ่อย่าง โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ บอกเล่าความรุ่งเรืองของวงการสิ่งพิมพ์ของสยามช่วงรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเติบโตของโรงพิมพ์มาพร้อมกับการเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทยที่เข้าสู่ความสากล และเป็นยุคเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์รายวัน ในช่วงนั้นมีการเกิดขึ้นของโรงพิมพ์ทั้งของราชการ เอกชน ของคนไทย คนจีน ฝรั่ง มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงพิมพ์มหันตโทษ โรงพิมพ์กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม โรงพิมพ์สกุลพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงพิมพ์ศุภมิตรบำรุง โรงพิมพ์สารนคร โรงพิมพ์บ้านนายสิน โรงพิมพ์นายเทพ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ โรงพิมพ์แมกฟาแลนด์ รวมทั้งโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ซึ่งปัจจุบันตัวโครงสร้างอาคารสีเหลืองมัสตาร์ดยังคงความสมบูรณ์มาก

ในแง่มุมความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนโครงสร้างอาคารเป็นแบบผนังรับน้ำหนักผสมโครงสร้างเหล็กและไม้ หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว สันนิษฐานว่าออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยช่างชาวยุโรป ทั้งนี้รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารเป็นแบบผสมผสาน (Eclectic style) ระหว่างสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน ประดับลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง มีการใช้ลายหินอ่อนชนิดฉาบปูนผสมสีฝุ่น และงานไม้ฉลุลายที่ใช้ประดับตกแต่งภายนอกอาคาร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2542

นิทรรศการ Future Paradise

สำหรับ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของป๊อปอัพคาเฟ่ Craftsman ซึ่งจะเปิดให้บริการถึงเดือนกันยายนปีนี้ และในงาน Bangkok Design Week ก็มีนิทรรศการขนาดย่อม “หนังสือจากโรงพิมพ์ : Publishing and the Published” บอกเล่าประวัติศาสตร์โรงพิมพ์ผ่านหนังสือเก่าอายุนับร้อยปีที่เคยตีพิมพ์จากโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมาร่วมจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัย ศิลปากร ส่วนยามค่ำคืนมีการจัดไลต์ติ้งภายนอกอาคาร ออกแบบแสง โดย Fos Lighting Design Studio ที่บอกเล่าที่มาแสงว่า “เราจะหยุดนิ่ง และปล่อยให้ …งานสถาปัตยกรรมนำแสงไฟ”

อีกนิทรรศการไฮไลต์ที่ห้ามพลาดคือ Future Paradise โดยนักออกแบบชาวไทยจากกลุ่ม The Design and Objects Association (D&O) ซึ่งได้ชวนกันมาขบคิดถึงเฟอร์นิเจอร์ในยุคอนาคต ซึ่งภาพแรกหลายคนอาจจะมองภาพความล้ำของเทคโนโลยีและวัสดุ ทว่าเมื่อแต่ละแบรนด์ได้ตกตะกอนความคิด อนาคตของพวกเขาแม้จะมีดีไซน์ล้ำขนาดไหนก็ยังโหยหาอดีตและรากเหง้าตัวตน นั่นจึงทำให้ผู้ชมได้เห็นการผสมผสานระหว่างวัสดุร่วมสมัยและเทคนิคหัตถกรรมท้องถิ่น และวัสดุในท้องถิ่นที่สวยเท่ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งนี่ก็คือลายซ็นต์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทย

03 “ไปรษณียาคาร” ย้อนรอยที่ทำการไปรษณีย์ไทยแห่งแรก

หลายคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทยอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางในปัจจุบัน แต่ความจริงแล้วที่ทำการไปรษณีย์ไทยแห่งแรกได้แก่ ไปรษณียาคาร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก เจ้าหมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เทวะหนึ่ง ศิริวงศ์) ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมีที่ทำการไปรษณีย์ขึ้น เหตุเพราะการติดต่อค้าขายเริ่มมากขึ้น การสื่อสารมีความจำเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในที่สุดจึงได้เลือกตึกใหญ่ทรงยุโรปริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเดิมทีเป็นของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี (ภายหลังอาคารตกเป็นของหลวง) เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทยและใช้ชื่อ ไปรษณียาคาร ประกาศเปิดทำการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นที่ทำการของทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข กระทั่งเมื่อทางการมีแผนสร้างสะพานพระปกเกล้าและจำต้องใช้พื้นที่บริเวณอาคารไปรษณียาคาร จึงต้องมีการรื้อถอนเปิดทางให้การสร้างสะพาน ส่วน ไปรษณียาคาร หลังปัจจุบันที่เห็นอยู่คืออาคารสร้างใหม่ตามแบบเดิม ซึ่งในยามปกติก็ไม่ค่อยได้มีการเปิดพื้นที่ให้เข้าชมบ่อยนัก

สำหรับ Bangkok Design Week 2022 นี้ทาง Urban Ally ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเส้นทางสร้างสรรค์ย่านพระนครได้ร่วมกับ APLD The Lighting Company และ Studio Visual Assembly จัดแสดงการออกแบบส่องสว่างสะท้อนความสำคัญของ อาคารประวัติศาสตร์ และเล่าเรื่องผ่านกาลเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงช่วงของยุคสมัยของพื้นที่บริเวณนี้ที่แปรเปลี่ยนจนมาถึงยุคปัจจุบัน ผ่านการแสดง 3 ฉาก 3 จุดรอบไปรณียาคาร เริ่มจาก ฉากยุคปัจจุบัน เล่าผ่านสีของแสงขาวกระจ่าง เป็นที่นั่งบริเวณริมรั้วเชื่อมต่อสะพานลอยฟ้า ต่อด้วย ฉากสอง เน้นแสงเงาที่ส่องผ่านต้นไม้ให้รู้สึกราวกับตกอยู่ในภวังค์ และ ฉากสาม เป็นฉากหน้าของไปรษณียาคารเล่าถึงอัตลักษณ์ของอาคารตัวแทนที่ทำการโทรเลขหลังเก่าที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์

นอกจากนี้ในทุกคืนยังมีการแสดง Projection mapping ฉายภาพลงบนตัวอาคารผ่านคาร์แรกเตอร์แนว POP ART ในธีม Hello 2022 เล่าถึงการกลับมามีชีวิตชีวาของสถานที่ เป็นการเชื้อเชิญให้อาคารไปรษณียาคารกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งไม่ใช่ในฐานะอาคารที่ถูกทิ้งร้างอย่างที่ผ่านมา ซึ่งแม้อาคารหลังนี้เป็น อาคารประวัติศาสตร์ สร้างใหม่ ทว่าก็ทำให้ได้ย้อนถึงต้นกำเนิดการสื่อสารในไทยได้อย่างชัดเจน

04 “อาคารชัยพัฒนสิน” อดีตโกดังเก็บรองเท้าอายุกว่า 100 ปี

อาคารสีส้มหัวมุมถนนเจริญกรุงหลังนี้ กลับมาเป็นที่รู้จักของชาวกรุงเทพฯ อีกครั้งพร้อมการเปิดตัว จัมพ์มาสเตอร์ สเก็ตเฮ้าส์ บนชั้น 3 ของอาคารชัยพัฒนสิน อาคารประวัติศาสตร์ เก่าแก่กว่าร้อยปีที่เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของแบรนด์รองเท้า “Jump Master ” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 จากนั้นทายาทรุ่นต่อมาซึ่งยังไม่อยากให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความรุ่งเรืองของย่านการค้าเจริญกรุงตายลงไป จึงได้พัฒนาพื้นที่เปิดเป็น Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตในร่มที่ฮ็อตฮิตมาก

Jump Master Skate Haus

ต่อเนื่องในงาน Bangkok Design Week 2022 อาคารชัยพัฒนสิน ก็ได้รับเลือกให้เป็นจุดจัดแสดงงานศิลปะโดย ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon) ศิลปินชาวสเปนผู้ออกแบบโรงแรม The Standard, Bangkok Mahanakhon ได้มาร่วมจัดแสดงผลงานในรูปแบบ Shadow Theatre รวบรวมผลงานภาพวาดที่เคยสร้างสรรค์ในช่วงก่อนหน้ามานำเสนอในรูปแบบ 3 มิติ ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงละครสัตว์ ผสมผสานกลิ่นอายวัฒนธรรมแบบไทย ผลลัพธ์จึงเป็น Installation Art ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังตะลุงวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้

ผลงานของ ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon) 

ภาพรวมของ Shadow Theatre เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมล้อไปกับดีไซน์และ Culture เฉพาะตัวแบบของ The Standard อย่างโทนสีขาวแดง บรรยากาศไนท์ไลฟ์และความเป็นแฟชั่นผสานกับเสียงดนตรี ซึ่งถือว่าเป็นชิ้นงานที่เปิดตัวอาคารแห่งนี้ในฐานะสถานที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ได้เป็นอย่างดี และก็หวังว่าเมื่องาน Bangkok Design Week 2022 จบลง เราจะยังได้เห็นความสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องในพื้นที่แห่งนี้

อาคารประวัติศาสตร์

05 “Charoen43 Art & Eatery” ประวัติศาสตร์ชิ้นเล็กๆ บนเจริญกรุง

สิ่งที่แตกต่างในงาน Bangkok Design Week 2022 ครั้งนี้คือการได้เห็นพื้นที่ห้องแถวเก่าแก่ถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดงานศิลปะ หรือใส่ไอเดียสร้างสรรค์ลงไป ซึ่งนั่นเป็นอีกวิธีในการโชว์ศักยภาพให้นักลงทุนและหน่วยงานรัฐได้พอเห็นบ้างว่าการพัฒนาเมืองไม่จำเป็นต้องพัฒนาในรูปแบบของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตและไล่รื้ออาคารเดิมเสมอไป เช่นดียวกับการพัฒนาพื้นที่ Charoen43 Art & Eatery ห้องแถวราว 10 คูหาบนถนนเจริญกรุงที่อายุอานามไม่มากนัก อาจไม่ใช่ อาคารประวัติศาสตร์ เก่าแก่แต่เพิ่งผ่านร้อนผ่านฝนมาประมาณ 60 ปีเศษ ทว่าก็เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์เล็กๆ บนหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้ได้เห็นว่าชาวบ้านร้านช่องบนถนนเจริญกรุงแห่งนี้เขาอยู่กันอย่างไร

การปรับปรุงตึกแถวที่ยังคงเอกลักษณ์ตึกแถวของย่านเจริญกรุง

หลังจากใช้เวลาปรับปรุงโครงสร้างอาคารห้องแถวอยู่นานร่วมปี Charoen43 Art & Eatery ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมๆ กับ Bangkok Design Week 2022 ด้านในประกอบด้วยร้านรวงที่หลากลาย ไม่ว่าจะเป็น Chutie is baking ร้านขนมอบเล็กๆ เจ้าของเดียวกับ Sweet Pista, Bangkok MOJO คอมมิวนิตี้ของคนรักดนตรีและเสียงเพลง และที่ฮ็อตสุดอะไรสุดและเปิดก่อนใครเพื่อนต้องยกให้กับ Madi Café คาเฟ่ที่เปิดชั้นสองเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ใครอยากจะใส่ไอเดียอะไรใหม่ๆ ก็มาร่วมแบ่งปันกันได้ที่คาเฟ่สีขาวครีมแห่งนี้

นิทรรศการ Translucent โดย ID CHULA

ในส่วนของ Bangkok Design Week 2022 ทาง Charoen43 Art & Eatery ก็มีงานสร้างสรรค์ให้ได้ชม ได้แก่ What’s The Hex นำเสนอ 6 มุมมองสร้างสรรค์จาก 6 นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการออกแบบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ชีวิตใหม่ที่จะนำพาธุรกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปข้างหน้า สร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับเมืองและผู้คน และอีกชิ้นงานคือ นิทรรศการ Translucent โดย ID CHULA จัดขึ้นบน Creator Hub ของ Madi Café และแน่นอนว่าเมื่องาน Bangkok Design Week 2022 จบลง ความสนุกใส่ไอเดียสร้างสรรค์ที่ Charoen43 Art & Eatery ยังไม่จบ และกำลังจะมีร้านรวงต่างๆ เข้ามาเติมจนเต็มพื้นที่อย่างแน่นอน

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว