ตามหามรดกภูมิปัญญาผ้าทออีสาน ที่ซ่อนไว้ใน ICONCRAFT
Arts & Culture

ตามหามรดกภูมิปัญญาผ้าทออีสาน ที่ซ่อนไว้ใน ICONCRAFT

Focus
  • ICONCRAFT Thai Textile Heroes นิทรรศการที่จัดแสดงมรดกภูมิปัญญาผ้าทอของไทยจากพื้นถิ่นต่างๆ และจากฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานฟื้นฟูอนุรักษ์ผ้าไทย พร้อมเปิดมุมใหม่ของผ้าไทยว่าสามารถใส่ได้อย่างปกติในทุกวัน
  • ตำนานผ้ากาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี ผ้ายกทองบ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ ผ้าตุ้มทอง บ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ บ้านสวาย จังหวัดสุรินทร์ เป็นไฮไลต์ของผ้าทอจากถิ่นอีสานที่ห้ามพลาดชม

ICONCRAFT (ไอคอนคราฟต์) ชื่อนี้แฟนคลับสายงานคราฟต์รู้จักดีว่าเป็นศูนย์รวมงานฝีมือ งานสร้างสรรค์ของไทย ตั้งแต่งานหัตถกรรมจากชุมชน ไปจนถึงงานจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่โดยมีคีย์สำคัญเรื่องการเชิดชู “มรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น” นำเสนอผลงานของสุดยอดช่างฝีมือไทยจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 500 แบรนด์ หมุนเวียนมาจัดจำหน่ายและจัดแสดง และล่าสุดกับงาน ICONCRAFT Thai Textile Heroes

ICONCRAFT

ICONCRAFT Thai Textile Heroes นิทรรศการที่รวบรวมมรดกภูมิปัญญาผ้าทอของไทยจากพื้นถิ่นต่างๆ และจากครูผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้าไทยมาจัดแสดง พร้อมเปิดมุมใหม่ของผ้าไทยว่าสามารถใส่ได้อย่างปกติในทุกวัน

หนึ่งในไอเดียของการทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าไทยกลายเป็นวิถีปกติของคนทุกวัย คือ การจับมือกับดีไซน์เนอร์ชั้นนำ  ASAVA, Hook’s by Prapakas และ WISHARAWISH มาร่วมออกแบบคอลเลคชันพิเศษจากผ้าไทย ที่ยังคงใช้เทคนิคดั้งเดิมแต่ปรับดีไซน์ใหม่ รวมทั้งยังจัดแสดงนิทรรศการผ้าทอไทยจากชุมชนต่างๆ เปิดให้เข้่าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 30 สิงหาคม 2563 ที่ ICONCRAFT

Sarakadee Lite ได้รวบรวมผ้าทอไฮไลต์ที่ห้ามพลาดชมและช็อปจากมรดกผ้าทอถิ่นอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การทอผ้ามาช้านาน และเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการดังนี้

บ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี

ICONCRAFT
ผ้ามัดหมี่สอดไหมทองของคำปุน

เมื่อนึกถึงอุบลราชธานีต้องนึกถึง ผ้ากาบบัว และตำนานที่มาของผ้ากาบบัวก็คือโรงงานทอผ้าคำปุน ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์เถ่า หรือ มีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูด้านผ้าไทยถิ่นอีสานที่ปลุกตำนานผ้าทอโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ICONCRAFT

อาจารย์เถ่าเป็นรุ่นที่ 3 ของโรงงานทอผ้าแห่งแรกและแห่งเดียวของอุบลราชธานี นั่นก็คือ คำปุน และเป็นคนพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ผ้าลายกาบบัว ที่มีหลักฐานย้อนไปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีลักษณ์เฉพาะเป็นผ้ายกทองโบราณ และอาจารย์เถ่าก็ใช้เวลาศึกษาฟื้นฟูลายผ้ากาบบัวให้กลายเป็นลายผ้าประจำจังหวัด ที่มีลักษณะคล้ายกลับบัว สื่อถึงความหมายของอุบลราชธานี

ICONCRAFT
ผ้ากาบบัว บ้านคำปุน
ICONCRAFT

นอกจากการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการทอผ้ากาบบัวแล้ว บ้านคำปุนยังเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าขนาดย่อม อีกทั้งยังทำงานด้านการออกแบบลวดลายใหม่ๆ สร้างเทคนิคใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นลายผ้าโบราณอีกหลายลาย รวมทั้งการใช้เทคนิคโบราณในการทำงานผ้า เช่น ลายนาค ราชวัตร และต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งทอแบบสองตะกอโดยเทคนิคเกาะล้วง มาทอผสมบนผ้าทอมัดหมี เพื่อให้เกิดลวดลายพิเศษ สอดเส้นโลหะสีเงินและทองมาใส่ไว้ในเส้นยืน รวมทั้งนำเทคนิคการจกลวดลายจกดาว เอกลักษณ์ผ้าเมืองอุบลราชธานีเข้ามาผสานอีกด้วย

กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา หมู่บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์

อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย คืออีกหนึ่งฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังการพลิกฟื้นผ้าทอในภาคอีสาน โดยเฉพาะการเข้าไปต่อลมหายใจให้กับผ้ายกแห่ง หมู่บ้านท่าสว่าง ที่มีความละเอียดเป็นร้อย เป็นพันตะกอ ผ้าหนึ่งผืนของบ้านท่าสว่างต้องใช้คนทอไม่ต่ำกว่า 5 คน และต้องใช้เวลานานนับเดือนและนับปีในการผลิต และปัจจุบันก็เป็นอีกลายผ้าที่ทำยาก เสี่ยงต่อการสูญหาย

เบื้องหลังการทอที่บ้านท่าสว่าง

อาจารย์วีรธรรม เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทอง ‘จันทร์โสมา’ หมู่บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอนุรักษ์การทอผ้ายก โดยมีผ้าไหมยกทองหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ ที่ทอลายราชสำนักโบราณเป็นตำนานของกลุ่มผ้าทอจันทร์โสมา โดยหนึ่งในแรงบันดาลใจของอาจารย์วีรธรรมมาจากการตามรอยในการอนุรักษ์ผ้าอันเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กลุ่มทอผ้าตุ้มทอง บ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

 ICONCRAFT Thai Textile Heroes
ลวดลายใหม่ของ บ้านนาโพธิ์ ที่ยังคงใช้เทคนิคการทอแบบโบราณ

กลุ่มทอผ้าตุ้มทอง ก่อตั้งโดย คุณแสงเดือน จันทร์นวล ซึ่งสืบทอดงานด้านการทอผ้ามาจาก ตุ้มทอง จีนไธสง ผู้เป็นตาซึ่งมีปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้การทอผ้าไหมเป็นอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่นบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิก 900 คน กระจายไปยัง 17 หมู่บ้าน ครอบคลุมตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ผลิตสินค้าเกี่ยวกับไหมทุกชนิด และที่สำคัญที่สุดคือการทอผ้าที่ยังคงใช้เทคนิคโบราณ

 ICONCRAFT Thai Textile Heroes
จากซ้าย : แบรนด์ ASAVA และ WISHARAWISH ที่นำผ้าทอบ้านนาโพธิ์มาทำเป็นคอลเล็คชันใหม่

ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าตุ้มทอง บ้านนาโพธิ์ กำลังก้าวสู่ตลาดแฟชั่นด้วยการสร้างความต่างด้านการทอลวดลายใหม่ๆ ที่ฉีกจากขนบการสร้างลายแบบเดิม เช่น ไม่ต้องสมมาตรทั้งผืน เปลี่ยนจากการออกแบบลายเล็กๆ เป็นลายขนาดใหญ่ บ้างใส่ลายเลขาคณิตที่อาจจะไม่ต้องตีความตามขนบการคิดลายแบบเดิมๆ แต่สามารถปรับมุมมองใหม่ในแง่ของงานศิลปะที่ย้ำว่ายังใช้เทคนิคโบราณแบบเดิม

แนวทางการคิดลายใหม่ๆ ของบ้านนาโพธิ์มาจากการที่มีคนรุ่นใหม่ๆ ทายาทช่างทอเข้าไปร่วมต่อยอดงานผ้าโบราณ ส่วนในนิทรรศการ ICONCRAFT Thai Textile Heroes นี้ เราจะเห็นผ้าจาก บ้านนาโพธิ์ ในโฉมใหม่ผ่านการออกแบบเป็นคอลเล็คชันใหม่จากไทยดีไซเนอร์อย่าง ASAVA, Hook’s by Prapakas และ WISHARAWISH

กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านสวาย จังหวัดสุรินทร์ 

 ICONCRAFT Thai Textile Heroes

บ้านสวาย เป็นชุมชนที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมการทอผ้ามายาวนานหลายร้อยปี บ้านสวายมีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก ต้องใช้ความสามารถ และอาศัยทักษะความชำนาญในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมมัดหมี่ยกดอก ซึ่งทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นใส่ได้ทนทาน ทว่ายังความนุ่มพลิ้วไหวและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม กว่า 70 เปอร์เซนต์ ของคนในชุมชนนี้ ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้า และรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย เพื่อพัฒนางานแขนงนี้มิให้สูญหายต่อไป

Fact File

  • นิทรรศการ ICONCRAFT Thai Textile Heroes จัดขึ้นที่ICONCRAFT ชั้น 4 ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 3-30 สิงหาคม 2563
  • ICONCRAFT (ไอคอนคราฟต์) คือพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจและเป็นแหล่งรวมงานของช่างฝีมือไทยทั่วประเทศ ตั้งอยู่บนชั้น 4 – 5 ของไอคอนสยาม (Icon Siam)
  • อีกหนึ่งไฮไลท์ในงานICONCRAFT Thai Textile Heroes คือการเปิดตัวคอลเลคชันกระเป๋าผ้าไหมไทยแบรนด์ SirivannavariBangkok โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยทรงพระราชทานผ้าไหมไทยส่วนพระองค์ที่เป็นผ้าไหมพื้นเมืองจากกลุ่มทอผ้าต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนและสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ทอผ้า พร้อมทั้งทรงออกแบบคอลเลคชั่นพิเศษกระเป๋าแฟชั่นรูปแบบผสมที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ รูปทรงของกระเป๋าถูกพัฒนาจากกระเป๋าถือทรงตะกร้าโบราณกับกระเป๋าถัง (Bucket Bag)