สไตล์คืนสู่อียิปต์ กระแสที่มาแรงในปารีส จากนโปเลียนสู่สถาปัตย์และการตกแต่งอย่างอียิปต์โบราณ
Arts & Culture

สไตล์คืนสู่อียิปต์ กระแสที่มาแรงในปารีส จากนโปเลียนสู่สถาปัตย์และการตกแต่งอย่างอียิปต์โบราณ

Focus
  • แม้การยกทัพไปบุกยึดอียิปต์ในช่วง ค.ศ.1798-1801 ภายใต้การนำของ นโปเลียน โบนาปาร์ต จะพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่เขานำกลับมายังประเทศฝรั่งเศสคือความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมและอารยธรรมอียิปต์โบราณจนนำไปสู่กระแส “สไตล์คืนสู่อียิปต์”
  • สไตล์คืนสู่อียิปต์ มีอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งในประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และยังคงปรากฏร่องรอยอยู่จนทุกวันนี้
  • นิทรรศการเกี่ยวกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 มหาราช จัดแสดงที่กรุงปารีสตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

แม้การยกทัพไปบุกยึดอียิปต์ในช่วง ค.ศ.1798-1801 ภายใต้การนำของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte ภาษาฝรั่งเศสออกเสียงว่า “นโปเล-อง”) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายพลและเป็นผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสที่เรียกขานกันว่า ลาร์เม เดอ ลอรีย็อง (L’armé de l’Orient) หรือ กองทัพแห่งตะวันออก จะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่ทางกองทัพของนโปเลียนนำกลับมายังประเทศฝรั่งเศสคือ อารยธรรมแบบอียิปต์โบราณ และนำไปสู่ความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนเกิดกระแสที่เรียกว่า Le Style Retour d’Egypte หรือแปลเป็นไทยได้ว่า สไตล์คืนสู่อียิปต์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งที่ยังคงปรากฏร่องรอยในฝรั่งเศสโดยเฉพาะในปารีสจนถึงทุกวันนี้

สไตล์คืนสู่อียิปต์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือของ สไตล์คืนสู่อียิปต์ คือ ทางเข้า พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ที่ออกแบบเป็นรูปทรงพีระมิดแก้วและทางปีกทางทิศตะวันตก La Cour Carré ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ยังประดับตกแต่งด้วยรูปแกะสลักผู้คนแห่งลุ่มน้ำไนล์ เทพีไอซิสและรูปปั้นพระนางคลีโอพัตรา รวมไปถึงการตั้งชื่อถนนบางสายตามชื่อเมืองของอียิปต์ การสร้างทางเข้าอาคารบางแห่งเลียนแบบทางเข้าวิหารอียิปต์และประดับทางเดินเชื่อมอาคารด้วยรูปเทพีและภาพแกะสลักอักษรเฮียโรกลิฟิก

นอกจากนี้หนึ่งในแลนด์มาร์กของปารีสที่โดดเด่นด้วย สไตล์คืนสู่อียิปต์ คือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัส ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) มาจากเมืองลักซอร์ (Luxor) ซึ่งทางการอียิปต์ได้มอบเป็นของขวัญให้แก่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสและ ฌ็อง-ฟร็องซัว ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) บุคคลสำคัญผู้เป็นคนแรกที่แปลอักษรเฮียโรกลิฟิกเป็นภาษาฝรั่งเศส

สไตล์คืนสู่อียิปต์

พ่ายแพ้ทางทหาร แต่ได้ชัยชนะในการสำรวจอารยธรรมอียิปต์โบราณ

กองทัพแห่งตะวันออกของนโปเลียนมีภารกิจเพื่อครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกและตัดเส้นทางการค้าของอังกฤษที่จะไปยังดินแดนแถบนั้น เพราะในขณะนั้นอังกฤษมีอิทธิพลเหนืออินเดีย หนึ่งในเคมเปญที่สำคัญคือ L’Expédition d’Egypte (ค.ศ. 1798-1801) เพื่อเป้าหมายทางทหารและทางการค้าและมุ่งหวังสำรวจความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมของอียิปต์โบราณไปในตัวด้วย

ในการเดินทัพครั้งนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา พฤกษศาสตร์ โบราณคดี และจิตรกรรม ร่วมเดินทางไปด้วยกว่า ร้อยคน ซึ่งคนฝรั่งเศสเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า เลส์ ซาฟว็องต์ (Les savants) แม้ว่าโดยหลักๆ แล้วเคมเปญทางทหารจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถ้าเป็นการรบทางบกกองทัพของนโปเลียนจะเป็นผู้กำชัย แต่เมื่อไรที่เป็นการสู้รบทางเรือชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายกองทัพอังกฤษโดยเฉพาะการรบทางเรือที่เมืองอะบูกีร์ (Aboukir) ที่เรียกกันว่าสงครามแห่งลุ่มน้ำไนล์ (La bataille du Nil)  เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1798 ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง

แม้ว่าจะเป็นผู้แพ้ทางการทหาร แต่นโปเลียนถือได้ว่าได้รับชัยชนะในการสำรวจและศึกษาอารยธรรมอียิปต์โบราณซึ่งฝรั่งเศสได้มีการค้นพบศิลปวัตถุและศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ของอารยธรรมอียิปต์เป็นอย่างมาก จนก่อให้เกิดคำว่า อียิปต์วิทยา (L’égyptologie) ที่มุ่งเน้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และอารยธรรม จนเรียกได้ว่าในช่วงของนโปเลียนนั้นเป็นต้นกำเนิดของอียิปต์วิทยาและเกิดเป็นกระแสของ อียิปต์มาเนีย (L’égyptomanie) ซึ่งเป็นความนิยมหลงใหลในทุกอย่างที่เป็นอียิปต์ โดยเฉพาะในด้านแฟชั่น สถาปัตยกรรม การออกแบบตกแต่งประดับประดาที่เฟื่องฟูสุดๆ จนเรียกขานกันว่าเป็นยุคทองของ สไตล์คืนสู่อียิปต์  ( Le Style Retour d’Egypte) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18

สไตล์คืนสู่อียิปต์

สไตล์คืนสู่อียิปต์ คืออะไร

สถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งแบบอียิปต์โบราณมักมีการประดับประดาอาคารทั้งภายในและภายนอกด้วยรูปปั้นของเทพเจ้าหรือเทพีของชาวอียิปต์โบราณ มีการสร้างทางเข้าอาคารเลียนแบบทางเข้าวิหารอียิปต์ ตกแต่งด้วยลวดลายแบบพีระมิด สฟิงซ์ หรืออักษรเฮียโรกลิฟิก เป็นต้น ส่วนสีที่ใช้ในการตกแต่งลวดลายต่างๆ นิยมใช้สีทองเป็นหลัก

สไตล์คืนสู่อียิปต์
ชื่อถนนในปารีสที่ตั้งตามชื่อเมืองในอียิปต์

ทุกอย่างเกี่ยวกับอียิปต์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกรุงปารีสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18  ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตกแต่งอาคารสถานที่หรืออนุสรณ์สถานสำคัญๆ หลายแห่งก็ได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมอียิปต์โบราณ แม้แต่ชื่อถนนก็ยังมีการตั้งชื่อตามเมืองของอียิปต์ด้วย อาทิ Rue du Caire, Rue Aboukir, Rue Alexandrie, Rue du Nil ที่อยู่ในเขต 2

Sarakadee Lite ขอแปะพิกัดสถานที่ที่น่าสนใจซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลอารยธรรมอียิปต์โบราณในเมืองปารีสพร้อมกับพาไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 มหาราชผู้สร้างพระราชวังและอนุสรณ์สถานมากมายซึ่งจัดแสดงที่ La Grande Halle de La Villette ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566  

สไตล์คืนสู่อียิปต์
Passage du Caire

01 Passage du Caire 

คำว่า ปาสซาส (passage) ถ้าจะแปลตรงๆแล้วก็คือ ทางเดินที่เชื่อมติดกันสามารถเดินทะลุจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้ ไม่ใช่ทางตัน แต่มีทางเข้าออกได้หลายทาง และถ้าหากด้านบนมีหลังคาซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วยกระจกหรือแก้วจะเรียกว่า ปาสซาส กูฟร์แวต์ (passage couvert) แต่ถ้าไม่มีหลังคาจะเรียกว่า ปาสซาส

ปาสซาส ดู แกร์ (Passage du Caire) เป็นปาสซาส กูฟร์แวต์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งสร้างเมื่อ ค.ศ. 1798 และยาวถึง 370 เมตร นับว่าเป็นปาสซาส กูฟร์แวต์ที่ยาวที่สุดในปารีส ในอดีตที่นี่เป็นศูนย์รวมของโรงพิมพ์และร้านปักสกรีนลงบนวัสดุต่างๆ รวมทั้งลงบนแผ่นหิน ปัจจุบันเป็นแหล่งรวมร้านขายส่งเสื้อผ้าและร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บ แม้ว่าจะยังมีร้านปักสกรีนหรือโรงพิมพ์บางแห่งยังคงเปิดดำเนินกิจการอยู่ แต่ก็ไม่คึกคักและมีจำนวนไม่มากเหมือนเช่นในอดีต  ชื่อ “ปาสซาส ดู แกร์” นี้ถูกตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะของทัพนโปเลียนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1798 ที่เมืองไคโรซึ่งภาษาฝรั่งเศสออกเสียงเมืองนี้ว่า “แกร์” (Caire)  ซุ้มด้านหน้าของอาคารทางเข้าตกแต่งด้วยรูปจำลองของเทพี Hathor ที่เป็นเทพีแห่งความรัก ความงาม และความสุข และยังมีภาพแกะสลักอักษรเฮียโรกลิฟิกบริเวณทางเข้าด้านจัตุรัส Place du Caire ที่แกะสลักไว้เมื่อ ค.ศ. 1828

พิกัด :  2 Place du Caire, 16 rue du Caire, 239 rue Saint-Denis 75002 Paris

สไตล์คืนสู่อียิปต์
Fontaine de Fellah 

02 Fontaine du Fellah 

น้ำพุเฟลล่าห์ (Fontaine du Fellah) ออกแบบโดย ฟร็องซัวส์ ฌ็อง บราล (François Jean Bralle) และแกะสลักโดย ปิแยร์นิโกล่าส์ โบวาเล่ต์ (Pierre-Nicolas Beauvalet) ใน ค.ศ. 1806  โครงสร้างของน้ำพุแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวิหารสไตล์อียิปต์และตกแต่งด้วยรูปปั้นของชายหนุ่มที่มีทรงผมแบบชาวอียิปต์กำลังยืนรินน้ำจากเหยือกอยู่บนฐานหิน กล่าวกันว่ารูปปั้นนี้จำลองมาจากรูปปั้นของอันติโนส (Antinoos) ชายหนุ่มผู้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิแฮเดรียน (Hadrian) แห่งจักรวรรดิโรมันในช่วงประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 ส่วนบนของน้ำพุแทนที่จะเป็นรูปวงกลมพระอาทิตย์แบบมีปีกสองข้างเหมือนวิหารในอียิปต์ แต่กลับประดับด้วยรูปของนกอินทรีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนโปเลียน ปัจจุบันน้ำพุแห่งนี้เป็นน้ำพุแค่ชื่อเท่านั้น เพราะไม่มีน้ำไหลออกมาจากเหยือกอีกแล้ว

พิกัด :  42 rue de Sèvre 75007 Paris

Fontaine de Palmier หรือ Fontaine de Châtelet

03 Fontaine du Palmier/Fontaine du Châtelet

น้ำพุปาล์มมิเย่ร์ หรืออีกชื่อคือ น้ำพุชาเตอเล่ต์ (Fontaine du Palmier/Fontaine du Châtelet) สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1808 โดยมี ฟร็องซัวส์ ฌ็อง บราล (François Jean Bralle) เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ส่วน หลุยส์ซิมง บัวโซต์ (Louis-Simon Boizot) เป็นผู้แกะสลัก วัตถุประสงค์หลักในการสร้างเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคฟรีสำหรับชาวปารีสในสมัยนั้น และเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะทางสงครามของนโปเลียนด้วย ตัวของน้ำพุจะเป็นเสาหินสูง 22 เมตร ตกแต่งประดับด้วยใบไม้ และมีการสลักชื่อสถานที่ที่นโปเลียนยกทัพไปทำสงครามและได้รับชัยชนะทั้งในอิตาลี อียิปต์ และที่อื่นๆ เช่น  Lodi, Pyramides Marengo, Ulm และ Dantzick เป็นต้น ด้านบนยอดเสาเป็นรูปเทพีแห่งชัยชนะสีทองมีปีกสองข้าง ในมือถือมงกุฎที่ทำจากใบกระวานที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ รูปปั้นเทพีแห่งชัยชนะนี้เป็นรูปปั้นที่ทำขึ้นมาใหม่ ส่วนของจริงนั้นปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเล่ต์ (Musée Carnavalet) ตรงบริเวณฐานของน้ำพุมีรูปปั้นของสฟิงซ์อารักขาแอ่งน้ำอยู่ทั้ง 4 ทิศ

พิกัด : Place du Chatelet 75001 Paris

ภาพแกะสลักรูปชายหนุ่มแห่งลุ่มน้ำไนล์

04 La Cour Carré

ปีกทางทิศตะวันตกของ ลานกา (La Cour Carré) ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ปรากฏให้เห็นร่องรอยของอารยธรรมอียิปต์โบราณด้วยเช่นกัน เมื่อมองขึ้นไปด้านบนจะเห็นว่ามีรูปแกะสลักของผู้คนแห่งลุ่มน้ำไนล์ที่เป็นรูปชายหนุ่มผมยาวยืนเหยียบบนหัวจระเข้และในมือถือเหยือกที่มีน้ำไหลออกซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ฟิลิปป์-โลคร็องต์ โครล็องด์ (Philippe-Laurent Roland) ใน ค.ศ. 1806

รูปสลักเทพีไอซิส
รูปปั้นพระนางคลีโอพัตรา

ถัดไปทางด้านซ้ายมือมีรูปสลักของเทพีไอซิสที่สวมมงกุฎเขาวัวและมีวงกลมที่เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ที่มีดอกบัวผุดขึ้นมาตรงกลาง แต่งกายด้วยผ้านุ่งสไตล์อียิปต์ ในมือถือเครื่องดนตรีของอียิปต์มีลักษณะคล้ายพิณ ที่บริเวณไหล่ซ้ายมีเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าฮอรัส (Horus) ที่เป็นบุตรของพระนางเกาะอยู่ รูปแกะสลักนี้เป็นผลงานของ ฌ็อง-กิโยม มวตต์ (Jean-Guillaume Moitte) และใกล้ๆ กันมีรูปปั้นของพระนางคลีโอพัตราที่ในมือถืองูเห่า บนศีรษะสวมมงกุฎที่มีงูเห่าพันอยู่รอบอันเป็นผลงานของ แฟร์ดิน็องด์ แฟฟเวอร์ (Ferdinand Faivre) ตกแต่งเพิ่มเติมขึ้นมาใน ค.ศ. 1902

พิกัด : Cour Carrée, Musée du Louvre 75001 Paris

Obélisque de Louxor

05 Obélisque de Louxor 

เสาหินโอเบลิสต์ (Obélisque de Louxor) เป็นเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสปลาส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) มีความสูง 23 เมตร และหนักถึง 222 ตัน ตามประวัติกล่าวว่าเสาหินแท่งนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวิหารเทพอามุน (หรืออามงในภาษาฝรั่งเศส) ในเมืองลักซอร์ (หรือลุกซอร์ตามการออกเสียงแบบฝรั่งเศส) ซึ่งทางรัฐบาลอียิปต์ในขณะนั้นโดยสุลต่านและผู้สำเร็จราชการ เมเฮเม่ต์ อาลี (Méhémet Ali) ได้มอบเป็นของขวัญเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ให้ความช่วยเหลือแก่อียิปต์ในด้านต่างๆ และเพื่อแสดงความขอบคุณ ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) ที่สามารถแปลอักษรเฮียโรกลิฟิกเป็นภาษาฝรั่งเศสได้คนแรก

เสาหินนี้มีน้ำหนักมากถึง 230 ตัน และมีความสูง 22 เมตร ทำให้ฝรั่งเศสต้องต่อเรือขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะและตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า ลุกซอร์ (Louxor) การขนย้ายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีและอีก 9 เดือน กว่าจะสามารถนำเสาหินแท่งนี้กลับมาที่ปารีส หลังจากนั้นอีก 3 ปีถึงจะมีการนำเสาหินนี้มาตั้งไว้ที่ Place de la Concorde ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1836 ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 1 (Louis-Philippe 1er)

แม้ว่าทางอียิปต์จะมอบเสาหินทั้งสองต้นที่ตั้งอยู่หน้าวิหาร แต่ด้วยความยากลำบากในการขนย้ายทำให้ทางการฝรั่งเศสได้มอบเสาหินต้นที่เหลืออยู่คืนให้กับทางการอียิปต์ไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1981 อย่างเป็นทางการในสมัยของประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตเตคร็องด์ (François Mitterrand) และเสาหินที่เป็นคู่แฝดของเสาหินสีชมพูที่ปารีสนี้ปัจจุบันก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิมในประเทศอียิปต์

พิกัด : Place de la Concorde 75008 Paris

Monument des droits de l’Homme
หรือ Jardin du Champ-de-Mars

06 Monument des droits de l’Homme du jardin du Champ-de-Mars 

อนุสาวรีย์สิทธิมนุษยชน สวนฌ็อง เดอ มาร์ส (Monument des droits de l’Homme du jardin du Champ-de-Mars) สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 200 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1989 ทางกรุงปารีสได้มอบหมายให้ อิว็องต์ เตเมอร์ (Ivan Theimer) สถาปนิกชาวเช็กเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนขึ้นที่บริเวณถนนชาร์ล-รีส์เลอ (L’avenue Charles-Risler) ที่มีการออกแบบคล้ายๆ กับวิหารขนาดเล็กของอียิปต์ที่มีบันไดทางขึ้นสองด้านของฝั่งถนน แต่ละด้านของตัววิหารยังมีการสลักชื่อและสัญลักษณ์ของเมืองหลวงของประเทศในสหภาพยุโรปในสมัยนั้น รวมถึงข้อความที่แสดงถึงสิทธิมนุษยชนไว้อีกด้วย

พิกัด : Avenue Charles Risler 75007 Paris

Cinéma Louxor 

07 Le cinéma Louxor 

โรงภาพยนตร์ลุกซอร์  (Le cinéma Louxor) สร้างขึ้นใน ค.ศ.1920-1921 โดยมี อองครี ซิปซี่ (Henri Zipcy) เป็นผู้ออกแบบ บริเวณด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ตกแต่งสไตล์นีโออียิปต์และประดับด้วยโมเสกหลากสีหลากลวดลายทั้งลายดอกไม้ ลายแมลงทับ ลายงู และลวดลายวงกลมขนาดใหญ่มีปีกสองข้างที่แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์ บริเวณด้านหน้าและตัวหลังคาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1986-1988 โรงภาพยนตร์ลุกซอร์ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นดิสโกเทก  และ ค.ศ. 2003 ทางกรุงปารีสได้ซื้อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้และทำการปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 2013

พิกัด : 170 boulevard de Magenta 75010 Paris

Pyramide du Louvre

08 Pyramide du Louvre

เมื่อ ค.ศ. 1981 ประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตเตคร็องด์ (François Mitterrand) เป็นผู้เริ่มเมกะโปรเจ็คที่เรียกว่า Le Grand Louvre เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนโฉม และปรับทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ให้มีความทันสมัยพร้อมทั้งเป็นการขยายขนาดพื้นที่ในการจัดแสดงศิลปวัตถุในคอลเลกชันถาวรให้มีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่รองรับผู้เข้าชมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นอะไรที่ผู้คนสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดและเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของตัวคอมเพล็กซ์ที่ต้องยิ่งใหญ่และสวยงาม

สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง คือ เอียวหมิงเป่ย (Ieoh Ming Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งได้รับการมอบหมายงานอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีมิเตอร์ครองเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1983 เขาได้วางแปลนของทางเข้าหลักของลูฟวร์ที่อยู่บริเวณชั้นใต้ดินโซนของลานนโปเล-อง (Cour Napoléon) ให้เป็นจุดเชื่อมและเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางที่ให้ผู้ที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วสามารถเข้าตัวอาคารทั้งสามฝั่งอันได้แก่ Denon, Sully และ Richelieu ได้โดยตรง

เอีย หมิงเป่ย ได้ให้ความสำคัญกับทุกแกน ทุกมุม เรียกได้ว่าเคารพหลักเรขาคณิตของตัวอาคารอย่างมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดเขาได้ออกแบบให้มีโครงสร้างที่โปร่งแสงซึ่งจะทำให้ตัวอาคารด้านล่างมีแสงสว่างส่องเข้าไปด้านในและให้ความรู้สึกโปร่งสบายให้มากที่สุด  ในที่สุดแบบของทางเข้านี้ก็ออกมาในรูปของพีระมิดแก้วแบบอียิปต์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีมิตเตครองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ในวันรุ่งขึ้น

ปัจจุบันพีระมิดนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปมากเป็นอันดับที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์รองจากภาพโมนาลิซา และรูปปั้นวีนัส เดอ มิโล พีระมิดแก้วนี้มีทั้งหมดห้าพีระมิดด้วยกัน แต่หากมองจากด้านบนหรือด้านนอกของตัวอาคารคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าสถาปนิกได้สร้างแค่สี่พีระมิด อย่างไรก็ตามหากคุณลงไปภายในตัวอาคารด้านล่างของ Cour Napoléon คุณจะพบพีระมิดที่ 5 ที่วางแบบกลับหัวกลับหางอยู่

สำหรับผู้ที่สนใจและหลงใหลในอารยธรรมอียิปต์โบราณสามารถต่อยอดความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, Aile Sully ชั้น 0 และ 1 โซน Antiquité Égypte 

พิกัด : Musée du Louvre 75001 Paris

09 นิทรรศการย้อนรอยฟาโรห์รามเสสที่ 2

จากกระแส สไตล์คืนสู่อียิปต์ ตอนนี้วัฒนธรรมอียิปต์โบราณได้เดินทางสู่ปารีสตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ ลา กรองด์ อาลล์ เดอ ลาวิลแลต (La Grande Halle de La Villette) มีการจัดแสดงนิทรรศการ “RAMSES & L’OR DES PHARAONS” (ครามเสส & ลอร์ เดส์ ฟาครา-องส์) ซึ่งจะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติของฟาโรห์รามเสสที่ 2 หรือรามเสสมหาราช ( Ramsès Le Grand)  ที่มิใช่แค่นักรบผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นนักการทูตผู้เจรจาสันติภาพของสนธิสัญญาสันติภาพฉบับแรกของโลกระหว่างอียิปต์กับฮิตไตท์ (Hittite) และยังเป็นมหาราชผู้สร้างพระราชวังและอนุสรณ์สถานมากมาย อาทิ วิหารเทพเจ้าเมืองลักซอร์ (Temple de Louxor) บางส่วนของวิหารที่เมืองคาร์นัก (Temple de Karnak) และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือวิหารอะบูซิมเบล (Temple d’Abou Simbel)

รูปปั้นขนาดยักษ์ของฟาโรห์รามเสสที่ 2

นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่ชีวิตของพระองค์ เหตุการณ์สำคัญในช่วงรัชสมัย รวมถึงผู้สืบทอดรุ่นต่อๆ มาผ่านข้าวของเครื่องใช้และหลักฐานทางศิลปวัตนธรรม อาทิ หีบศพ มัมมีสัตว์ต่างๆ หน้ากากทองคำ เครื่องประดับ รูปปั้น รูปแกะสลัก และเครื่องรางของขลังต่างๆ จำนวนถึง 180 ชิ้น รวมถึงจัดโซนเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและต้องการสัมผัสกับประสบการณ์ในการเยี่ยมชมวิหารอะบูซิมเบลและหลุมศพของพระนางเนเฟอร์ตารี (Néfertari) มเหสีคนโปรด

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ค่าเข้าชมเริ่มต้นที่ 20 ยูโร และเด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบเข้าชมฟรี หากเข้าชมในโซน Virtual Reality จ่ายเพิ่มอีก 15 ยูโร สามารถสำรองบัตรล่วงหน้าได้ที่ https://www.ticketmaster.fr/en/liste/ramses/idtier/33206473  และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ https://www.expo-ramses.com/lexposition/ (ภาษาฝรั่งเศส)

พิกัด : La Grande Halle de la Villette, Parc de la Villette 211 Avenue Jean Jaurès 75019 Paris  เมโทรสาย 5 สถานี Porte de Pantin

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง