เปิด ห้องลพบุรี เล่าเรื่องศิลปะเขมรในไทย ต้อนรับการปรับโฉม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อย่างสมบูรณ์
Arts & Culture

เปิด ห้องลพบุรี เล่าเรื่องศิลปะเขมรในไทย ต้อนรับการปรับโฉม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อย่างสมบูรณ์

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทยอยปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรครั้งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2555 และปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้วทุกห้อง
  • ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้องสุดท้ายที่ได้รับการปรับโฉมใหม่เสร็จเรียบร้อยคือ ห้องลพบุรีที่เล่าเรื่องศิลปะเขมรในประเทศไทย
  • ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีโครงการเปิดเส้นทางนำชมสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุจำนวน 5 เส้นทางโดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปีพ.ศ.2565

เสร็จสมบูรณ์แล้วสำหรับการปรับปรุงอาคารรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรและภูมิสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งทยอยดำเนินการมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้องสุดท้ายที่ได้รับการปรับโฉมใหม่เสร็จเรียบร้อยและเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 คือ ห้องลพบุรี ที่เล่าเรื่องศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18

ห้องลพบุรี เป็นหนึ่งในห้องจัดแสดงใน อาคารมหาสุรสิงหนาท ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนใน ห้องลพบุรี นั้นจัดแสดงศิลปวัตถุแบบลพบุรีหรือศิลปะแบบเขมรในประเทศไทยโดยเล่าเรื่องตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ที่เริ่มรับวัฒนธรรมจากอาณาจักรเขมรโบราณ เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีลพบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเมืองสำคัญที่มีเครือข่ายและสายสัมพันธ์กับเขมร และต่อเนื่องในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่อาณาจักรเขมรเริ่มเสื่อมอิทธิพลและศิลปะแบบเขมรเริ่มคลี่คลายและผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น

ส่วนจัดแสดงแรกของ ห้องลพบุรี เริ่มตามไทม์ไลน์การแบ่งยุคสมัยของศิลปะแบบลพบุรีตามนักวิชาการโดยเริ่มจาก สมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-14) ซึ่งหมายถึงช่วงที่อาณาจักรเขมรโบราณยังไม่ได้มีการตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองพระนครหรืออังกอร์

“ในสมัยก่อนเมืองพระนครมีอาณาจักรเจนละและกษัตริย์องค์สำคัญคือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน และเริ่มแผ่ขยายอำนาจเข้ามาตามภูมิภาคต่างๆของไทยโดยพบร่องรอยทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรนี้ เช่น การพบกลุ่มประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัยที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรกับแบบทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จารึกบ้านวังไผ่และจารึกจันทบูรซึ่งมีการกล่าวถึงกษัตริย์แห่งเจนละที่ค้นพบในภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย” อรรณพ แจ้งสว่าง ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการกล่าว

พระโพธิสัตว์สำริด ซึ่งค้นพบที่บ้านโตนด

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ เศียรพระโพธิสัตว์สำริด (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14) ซึ่งค้นพบที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมาเมื่อ พ.ศ.2504 ร่วมกับชิ้นส่วนที่แตกหักอื่นรวม 7 ชิ้นในสภาพชำรุดแต่ต่อมาได้รับการอนุรักษ์จนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เศียรพระโพธิสัตว์นี้นับเป็นศิลปะชิ้นเอกอีกหนึ่งชิ้นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครมาเป็นเวลานานจนกระทั่งเมื่อกลางปี พ.ศ. 2564 ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนครจึงได้มีการนำชิ้นส่วนประติมากรรมทั้ง 7 ชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันบนหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงตามรูปแบบการสันนิษฐานและการบูรณาการทางด้านวิชาการระหว่างนักวิชาการหลายแขนงว่าน่าจะมีความสูงประมาณ 310-340 เซนติเมตร จึงนับว่าเป็นประติมากรรมสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย

ประติมากรรมรูปเคารพชิ้นนี้จัดอยู่ในกลุ่มศิลปะประโคนชัยคือรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากเขมรและพบมากบริเวณที่ราบสูงโคราช เช่นเดียวกับกลุ่มประติมากรรมจากบ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และประติมากรรมสำริดจากเขาปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนามหายานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและขนาดที่ใหญ่โตของพระโพธิสัตว์องค์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญการหล่อสำริดขนาดใหญ่ของกลุ่มคนบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อพันปีที่แล้ว

พระโพธิสัตว์สำริด พบที่บ้านฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์

“รูปแบบสันนิษฐานของพระโพธิสัตว์องค์นี้สร้างขึ้นโดยอิงจากพระโพธิสัตว์ 4 กร ที่พบที่บ้านฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครเช่นเดียวกันที่เรียกว่าศิลปะแบบไพรกเมง-กำพงพระ เราจึงได้นำพระโพธิสัตว์ 2 องค์นี้มาจัดแสดงเคียงข้างกัน” อรรณพกล่าว

แม้สิ่งปลูกสร้างที่เป็นปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนครนั้นแทบไม่หลงเหลือร่องรอยเนื่องจากส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยอิฐ แต่ยังมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้ศึกษาโดยมีชิ้นสำคัญคือ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่พบที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทับหลังหรือหน้าบันโดยแกะสลักเป็นลวดลายมกรหรือสัตว์ที่มีส่วนผสมระหว่างจระเข้ ปลาและช้าง โดยมกรหันหน้าเข้าและคายวงโค้งออกมา ส่วนตรงกลางวงโค้งมีครุฑยุดนาคและด้านล่างสลักเป็นลายอุบะดอกไม้ซึ่งเป็นศิลปะแบบถาลาบริวัตช่วงต้นสมัยก่อนเมืองพระนครจึงนับว่าเป็นศิลปวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทย

ส่วนจัดแสดงต่อมาเป็นศิลปะลพบุรีที่เรียกว่า สมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 15-18) ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรเขมรสร้างเมืองหลวงที่พระนครหรืออังกอร์แล้ว ในช่วงนี้วัฒนธรรมเขมรแผ่อิทธิพลมายังประเทศไทยในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 และขยายไปถึงภาคเหนือและภาคกลางในกลางพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ มีการสร้างปราสาทหินเพื่อจำลองวิมานของเทพเจ้ามาสถิตบนโลกมนุษย์โดยมีระเบียบแบบแผนเดียวกับปราสาทในเขมรเพื่อเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ประจำเมือง เช่น ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นศิลปะลพบุรีแบบนครวัด และพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรีสร้างในรูปแบบศิลปะบายน

“ช่วงนี้อาณาจักรเขมรเป็นปึกแผ่นและมีการตั้งลัทธิเทวราชโดยมีการสร้างปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทวราชและมีกษัตริย์เป็นอวตารจากสวรรค์ซึ่งคติการเมืองการปกครองนี้ส่งต่อมาถึงประเทศไทยในเรื่องที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ

“ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่14-15 อิทธิพลของเขมรเข้ามาทางอีสาน เช่นที่บุรีรัมย์และศรีสะเกษ และกระจายมากขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไปยังนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และลพบุรี ต่อมามีการหยุดชะงักในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากความไม่มั่นคงในการเมืองการปกครองภายในเขมรและกลับมาแผ่อิทธิพลอีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานจึงมีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพแบบมหายานมากมาย อิทธิพลของศิลปะแบบเขมรขยายไปถึงกาญจนบุรีและสุโขทัยซึ่งมีหลักฐานสำคัญคือโบราณสถานวัดพระพายหลวง” อรุณี แซ่เล้า ภัณฑารักษ์ชำนาญการกล่าว

ประติมากรรมพระตรีมูรติ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู 3 องค์

ในห้องจัดแสดงจึงมีประติมากรรมรูปเคารพที่สร้างตามคติความเชื่อทั้งแบบพราหมณ์-ฮินดูและแบบพุทธมหายาน ในส่วนของพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีการสร้างศิวลึงค์โดยมีลึงค์ตั้งบนฐานโยนีเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะและพระอุมา พระชายา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมี ประติมากรรมพระตรีมูรติ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู 3 องค์ได้แก่ พระพรหม (พระผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้ปกป้องรักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลาย)

เมื่อทางฝั่งพราหมณ์-ฮินดูมีพระตรีมูรติ ทางพุทธมหายานก็มี ประติมากรรมรูปพระรัตนตรัยมหายาน จำนวน 3 องค์เช่นกันโดยตำแหน่งตรงกลางเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรกประทับเหนือขนดนาคซ้อน 3 ชั้น และด้านหลังมีพระเศียรพญานาคแผ่พังพอน 7 เศียร ส่วนด้านซ้ายเป็นนางปรัชญาปารมิตาซึ่งเป็นตัวแทนแห่งปัญญาโดยพระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์และพระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ส่วนด้านขวาเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร

ห้องลพบุรี
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์

โบราณวัตถุชิ้นประวัติศาสตร์สำคัญอีกชิ้นคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แห่งปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกโจรกรรมออกนอกประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2507 และตกอยู่ในมือนักสะสมชาวต่างชาติ ต่อมาทางการไทยได้มีการทวงคืนและสามารถนำคืนกลับมาได้ใน พ.ศ.2513 นับว่าเป็นทับหลังชิ้นแรกที่ทางไทยทวงคืนมาได้จากต่างประเทศได้สำเร็จ

ห้องลพบุรี
พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี

นอกจากนี้ยังมี พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี องค์ยืน 1 เศียร 8 กร ซึ่งพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเป็นองค์ที่สร้างจากหินทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งที่พบในประเทศไทยจากทั้งหมด 5 องค์ บนมวยผมมีพระพุทธรูปปางสมาธิหมายถึงพระอมิตาภะประดิษฐานอยู่ พระวรกายท่อนบนมีพระพุทธรูปปางสมาธิองค์เล็ก ๆ ประดับอยู่โดยรอบตามคติความเชื่อที่ว่าทุกเส้นพระโลมาหรือรูขุมขนของพระองค์คือจักรวาลหนึ่งจักรวาล

ถัดมามีการจำลองรูปแบบสถาปัตยกรรมการสร้างปราสาทโดยติดตั้งชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมบางชิ้น เช่น บันแถลง กลีบขนุน และเสาลูกมะหวด เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นประดับตกแต่งที่ตำแหน่งใดของตัวปราสาท นอกจากนี้ยังมีจอทัชสกรีนภาษาไทยและอังกฤษให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคติความเชื่อและรูปแบบการสร้างปราสาท ธรรมศาลา และอโรคยศาลา อีกด้วย

“ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมอย่างทับหลังที่พบประดับตกแต่งปราสาทในไทยมีการผสมผสานความเป็นพื้นถิ่นเข้าไปด้วยเช่น บางแห่งมีแกะสลักรูปนกแก้วซึ่งเราจะไม่พบประเพณีนิยมแบบนี้ในเขมร” อรุณีกล่าว

ห้องลพบุรี
ชุดแผ่นเงินแผ่นทอง
ห้องลพบุรี

ชิ้นงานไฮไลต์ที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อนคือ ชุดแผ่นเงินแผ่นทอง ซึ่งค้นพบที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมาโดยดุนลายเป็นลายมงคล เช่น ดอกบัว 8 กลีบ หอยสังข์ หม้อน้ำ และสายฟ้า สันนิษฐานว่าแผ่นเงินแผ่นทองคำเหล่านี้เป็นของที่บรรจุไว้เพื่อความเป็นมงคลซึ่งจะฝังอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของอาคารคล้ายการวางศิลาฤกษ์ในปัจจุบัน

ห้องลพบุรี
ชุดเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี จากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์
ห้องลพบุรี
ห้องลพบุรี

คอลเล็กชันที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมากคือเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะ ชุดเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี จากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เพิ่งได้รับมอบเพื่อให้เป็นสมบัติของชาติจากนายโยธิน และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ จำนวนมากถึง 164 รายการโดยมีทั้งภาชนะที่ออกแบบพิเศษเพื่อใช้ในพิธีกรรม เช่น คนโทเคลือบสีเขียวรูปพระคเณศ และไหเคลือบสีน้ำตาลรูปนก รวมไปถึงภาชนะปั้นเป็นรูปทรงสัตว์ต่างๆมากมาย เช่น นก กวาง กระต่าย สิงห์ หมูป่า ตัวนิ่ม แมว ม้า หมี ช้าง ปลา และกบ

“ในสมัยก่อนเมืองพระนคร เครื่องปั้นดินเผาสร้างมาเพื่อใช้ในพิธีกรรมมากกว่าใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อมาในยุคเมืองพระนครรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผามีความหลากหลายมากขึ้นทั้งปั้นเป็นรูปบุคคลและรูปสัตว์ต่างๆ และมีการเคลือบสี จนถึงช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18-19 เข้าสู่ยุคเสื่อมถอยทำให้เนื้อดินไม่ดี รูปทรงหนาและเคลือบไม่สม่ำเสมอและในที่สุดเตาเผาถูกทิ้งร้างไป” อรุณีกล่าว

เนื่องจาก ห้องลพบุรี เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้องสุดท้ายที่ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว แนวทางการดำเนินงานต่อไปคือการขับเคลื่อนให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และเป็นต้นแบบการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆของกรมศิลปากรเพื่อลบภาพจำว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องน่าเบื่อ

“โครงการนี้ที่ใช้เวลาร่วม 10 ปีเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานให้ยืนยาวควบคู่ไปกับการปรับปรุงการจัดนิทรรศการถาวรครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 50 ปี มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น จอทัชสกรีน (Touch Screen) คิวอาร์โค้ด (QR-Code) เออาร์ (Augmented Reality: AR) วิดีโอสารคดี รวมถึงการเข้าชมแบบเสมือนจริง (Virtual Museum) ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Museum เราเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ทำให้คนไทยรักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้” นิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าว

ห้องลพบุรี
นิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สำหรับแผนงานต่อไปคือการเปิดเส้นทางนำชมในพิพิธภัณฑ์จำนวน 5 เส้นทางซึ่งผู้อำนวยการเชื่อว่าสามารถตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวและครอบคลุมความสำคัญของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 โดยเส้นทางแรกเน้นเรื่องความงามทางสถาปัตยกรรมของวังหน้า เส้นทางที่ 2 นำชมความงดงามของงานประณีตศิลป์ในหมู่พระวิมานและโรงราชรถ ต่อด้วยเส้นทางที่ 3 เป็นการนำชมหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในอาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ส่วนเส้นทางที่ 4 สำหรับผู้ที่สนใจศิลปกรรมแบบไทย-จีน-ตะวันตก และเส้นทางสุดท้าย เส้นทางที่ 5 เป็นการนำชมพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑ์ซึ่งน่าจะถูกใจสายมูโดยเฉพาะ

“ขณะนี้เรามีการนำร่องนำชมบางเส้นทางบ้างแล้วในวันอาทิตย์ แต่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Night Museum ช่วงปลายปีนี้” นิภากล่าวถึงแผนงานในอนาคตพร้อมกับเน้นย้ำว่าพิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบเป็นแบบ อารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์