หอสมุดแห่งชาติ เปิดบริการเอกสารโบราณอายุกว่า 100 ปี ฉบับออนไลน์
Arts & Culture

หอสมุดแห่งชาติ เปิดบริการเอกสารโบราณอายุกว่า 100 ปี ฉบับออนไลน์

Focus
  • กรมศิลปากร โดย หอสมุดแห่งชาติ ได้พัฒนาฐานข้อมูลเอกสารโบราณซึ่งประกอบไปด้วยฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) อัปโหลดข้อมูลสู่โลกออนไลน์
  • กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา ลงทะเบียน จัดเก็บ และให้บริการเอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป

จารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย และเอกสารโบราณต่างๆ จะไม่ใช่ข้อมูลที่เข้าถึงยากอีกต่อไป เพราะล่าสุด กรมศิลปากร โดย หอสมุดแห่งชาติ ได้พัฒนาฐานข้อมูลเอกสารโบราณซึ่งประกอบไปด้วยฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) อัปโหลดข้อมูลเข้าสู่โลกออนไลน์ พร้อมแล้วที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกใดก็สามารถใช้บริการสืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นผ่านเว็บไซต์ http://manuscript.nlt.go.th

สำหรับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรมเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา ลงทะเบียน จัดเก็บ และให้บริการเอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป

ในระยะแรก ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลจารึกในประเทศไทยได้ทั้งสิ้นจำนวน 179 รายการ และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ในรูปแบบไฟล์ pdf ส่วนข้อมูลประเภทหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน ผู้ใช้บริการสามารถจดเลขทะเบียนเอกสารเพื่อขอใช้บริการอ่านต้นฉบับหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานได้ที่ ห้องบริการเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ และฐานข้อมูลตู้พระธรรมหรือตู้ลายทอง กำลังอยู่ในขั้นตอนถ่ายภาพตู้พระธรรมและนำข้อมูลเข้าในฐานข้อมูล รวม 405 รายการ โดยในอนาคตผู้ใช้บริการยังจะสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลเอกสารโบราณจาก หอสมุดแห่งชาติ  ส่วนกลาง และ หอสมุดแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค 11 แห่งทั่วประเทศ

หอสมุดแห่งชาติ

สำหรับฐานข้อมูลเอกสารโบราณที่เปิดให้บริการทั้ง 3 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

1.จารึก คือ เอกสารประเภทที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ  ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้  รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาค เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานเงิน จารึกลานนาค เป็นต้น

2.คัมภีร์ใบลาน คือ หนังสือที่จารตัวอักษร หรือการเขียนตัวอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนใบลาน ซึ่งเป็นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ต้นลาน คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่ใช้จารคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎก นอกจากนี้ ยังจารเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมาย ตำราเวชศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ และตำราไสยาศาสตร์ เป็นต้น

หอสมุดแห่งชาติ

3.หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกข่อย เปลือกปอ เปลือกสา เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควร และเป็นแผ่นยาวๆ ติดต่อกันพับกลับไปกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนได้ทั้ง 2 ด้าน และมี 2 สี ได้แก่ หนังสือสมุดไทยดำ และหนังสือสมุดไทยขาว เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทย จะเป็นตำราเวชศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ กฎหมาย และยังไม่สมุดภาพต่างๆ เช่น สมุดภาพสัตว์หิมพานต์ สมุดภาพโคลงฤาษีดัดตน สมุดภาพปฤษณาธรรม เป็นต้น

หอสมุดแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังได้ดูแลรักษาและให้บริการตู้ไทยโบราณหรือตู้ลายทอง ซึ่งอาจเรียกว่า ตู้ลายรดน้ำ หรือตู้พระธรรม ก็ได้ ลักษณะของตู้ไทยโบราณ เป็นตู้ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีชั้นวางหนังสือเฉลี่ย 2-3 ชั้น สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา จะมีการตกแต่งตู้ด้วยลวดลายที่ประณีตงดงาม ทำให้มีการเรียกประเภทของตู้ไปตามลักษณะของการตกแต่งที่เกิดขึ้น เช่น ลายรดน้ำ เป็นต้น ลวดลายที่นิยมตกแต่ง เช่น ลายกนกเปลวเพลิง ลายกนกรวงข้าว เป็นต้น สำหรับรูปภาพที่ใช้เขียนบนตู้ลายทองก็เช่น รูปรามเกียรติ์ รูปสัตว์หิมพานต์ รูปเทวดา หรือรูปเรื่องราวจากชาดกต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากตู้ไทยโบราณแล้ว ยังดูแลหีบพระธรรม หีบหนังสือสวด หรือหีบพระมาลัย และหีบหนังสือเทศน์ เพื่อให้บริการศึกษา ค้นคว้า ทางด้านศิลปะลายไทย และการประดิษฐ์ลายรดน้ำอีกด้วย   


Author

ปาลิตา ทรงเจริญ
มนุษย์เป็ดผู้ชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ ชอบการใช้ชีวิต slow life อนาคตอยากทำงานที่ได้ท่องเที่ยวและได้เจอเรื่องราวใหม่ๆ