ยกเลิกระบบชนชั้น หนึ่งในหัวใจ ปฏิวัติเมจิ สู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่
Arts & Culture

ยกเลิกระบบชนชั้น หนึ่งในหัวใจ ปฏิวัติเมจิ สู่ญี่ปุ่นสมัยใหม่

Focus
  • โทกุงาวะ โยชิโนบุ คือโชกุนลำดับที่ 15 และเป็นโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น ก่อนที่จะคืนอำนาจให้พระจักรพรรดิ เริ่มต้นยุคเมจิ (Meiji) อย่างเป็นทางการ
  • 2 สิงหาคม ค.ศ.1868 เป็นวันที่ญี่ปุ่นประกาศยกเลิกระบบชนชั้น ที่เรียกว่า ชิโนโกโช พร้อมจัดตั้งสภาบริหารราชการตามหลักประชาธิปไตย ปรับประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม

สิงหาคมถือได้ว่าเป็นเดือนที่สำคัญของญี่ปุ่น เพราะหากย้อนไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1868 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของการ ปฏิวัติเมจิ เป็นวันที่ญี่ปุ่นประกาศยกเลิกระบบชนชั้น ที่เรียกว่า ชิโนโกโช (shinokosho) ประกอบด้วย 4 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง (ซามูไร) เกษตรกร (ชาวนา) ช่างฝีมือ (ศิลปิน) และพ่อค้า (นักธุรกิจ) พร้อมจัดตั้งสภาบริหารราชการตามหลักประชาธิปไตย เป็นจุดเริ่มของญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ปรับประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม 

ปฏิวัติเมจิ
จักรพรรดิเมจิ (ภาพ: Library of Congress)

เค้าลางของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การ ปฏิวัติเมจิ เริ่มต้น ใน ค.ศ.1853 จากการที่กองทัพเรืออเมริกานำเรือมาเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจากรค้า จนทำให้เริ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างในหมู่โชกุนและขุนนางในประเด็นเรื่องที่จะเปิดหรือปิดประเทศ

ยุคเมจิ (Meiji) เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1868 หลังจากเหตุการณ์ ปฏิวัติเมจิ ที่มาพร้อมกับการคืนพระราชอำนาจของจักรพรรดิให้กลับมา หลังจากที่ก่อนหน้ายุคเมจิอำนาจการปกครองตกไปอยู่ในมือของโชกุน (ผู้บัญชาการสูงสุดฝั่งทหาร) มานานกว่า 250 ปี ส่วนจักรพรรดินั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการปกครองที่แทบจะไม่มีอำนาจใดมือ

ผลพวงของการปฏิวัติเมจิ หรือที่บ้างก็เรียกว่า ยุคฟื้นฟูเมจิ หรือ การปฏิรูปเมจิ มาจากเหล่าซามูไรรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของโชกุนตระกูล โทกุงาวะ (ต้นตระกูลคือ โทกุงาวะ เออิยาสุ) หนุนหลังด้วยกลุ่มพ่อค้าที่ต้องการให้เปิดประเทศ และเปิดเสรีด้านการค้าขาย

ปฏิวัติเมจิ

ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1868 กลุ่มซามูไรรุ่นใหม่ได้รวมตัวกันเข้าบุกยึดวังที่เกียวโตของ โทกุงาวะ โยชิโนบุ  โชกุนลำดับที่ 15 และเป็นโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น จากนั้นได้มีการเจรจาคืนพระราชอำนาจแด่ พระจักรพรรดิซึ่งทรงมีพระชนมายุเพียง 14 ปี หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงจาก “เกียวโต” มาที่ “โตเกียว”  (ในสมัยเอโดะ ค.ศ.1603-1867 เมืองหลวงญี่ปุ่นอยู่ที่เกียวโต ) และได้มีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ” ตามอย่างประเทศในฝั่งตะวันตก

ยุคสมัยเมจิเริ่มต้นขึ้นในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือ จักรพรรดิเมจิ ยุคสมัยเมจินี้กินเวลานาน 44 ปีถึง ค.ศ. 1912 ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของญี่ปุ่น โดยคำว่าเมจิ แปลได้ว่า กฎอันรู้แจ้ง (Enlightened rule)

ปฏิวัติเมจิ ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ยกเลิกระบบชนชั้นเท่านั้น แต่ยังยกเลิกระบบศักดินาทำให้เกิดการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินครั้งใหญ่ มีการก่อตั้งกองทัพแห่งชาติ ปฏิรูปกระจายการศึกษาทั่วประเทศและเน้นการศึกษาตามแบบอย่างตะวันตก และ 5 ปีให้หลังได้มีการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีผลผลิตและการเกษตร

นอกจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้ว ในยุคสมัยเมจิญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรตะวันตกมามากขึ้นรวมถึงวิธีการแต่งกาย สร้างการรถไฟ วิถีชีวิตแบบตะวันตกพร้อมค่อยๆ สร้างรากฐานของความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น จากประเทศเกาะโดดเดี่ยว ให้เติบโตเป็นจักรวรรดิเรืองอำนาจ จนกระทั่งประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945

อ้างอิง

Fact File

  • รัชกาลของจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือ จักรพรรดิเมจิ ตรงกับ ค.ศ.1868–1912 และเข้าสู่ยุคไทโช ครองราชย์โดยพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ
  • ปัจจุบันญี่ปุ่นเข้าสู่ ยุคเรวะ (Reiwa) เริ่มต้นใน วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ตรงกับวันที่สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่