หอศิลป์แห่งชาติ แห่งใหม่ เปิดให้ชมแล้ว (บางส่วน) กับงานสะสมประจำปี 65
Arts & Culture

หอศิลป์แห่งชาติ แห่งใหม่ เปิดให้ชมแล้ว (บางส่วน) กับงานสะสมประจำปี 65

Focus
  • หอศิลป์แห่งชาติ แห่งใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดพื้นที่จัดแสดงงานบางส่วนให้ผู้สนใจได้เข้าชมเป็นครั้งแรกกับนิทรรศการนำเสนอผลงานสะสมประจำปีงบประมาณ 2565 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • ผลงานสะสมประจำปี 2565 ประกอบด้วยงาน 97 ชิ้น จาก 20 ชุด ผลงานของ 16 ศิลปินไทยด้วยงบประมาณจัดซื้อราว 17 ล้านบาท
  • ตัวอย่างผลงานสะสม อาทิ “ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย” โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล “Yellow Simple No.1” โดยสาครินทร์ เครืออ่อน และ “My Father’s Pillow (Nightmare)” โดยอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

หลังจากดำเนินการจัดสร้างมาตั้งแต่ ปี 2560 ในที่สุด หอศิลป์แห่งชาติ แห่งใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดพื้นที่จัดแสดงงานบางส่วนให้ผู้สนใจได้เข้าชมเป็นครั้งแรก กับนิทรรศการนำร่องที่นำเสนอผลงานสะสมประจำปีงบประมาณ 2565 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จำนวน 97 ชิ้นจาก 20 ชุดผลงานของ 16 ศิลปินไทยร่วมสมัย

หอศิลป์แห่งชาติ

ตัวอาคาร 3 ชั้นซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในย่านรัชดา กรุงเทพฯ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 19,000 ตารางเมตร โดดเด่นด้วยประติมากรรมขนาดใหญ่รูปสุนัข “ไอ้จุด” โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ตั้งอยู่บริเวณลานสนามหญ้าด้านหลังอาคารซึ่งเป็นหนึ่งในงานสะสมของ สศร. ในงบประมาณปี 2564 แม้ภายนอกตัวอาคารมีความเสร็จสมบูรณ์พร้อมแต่คาดหมายว่าจะมีการเปิดใช้งานจริงแบบเต็มพื้นที่ได้ภายในปี 2566

ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดลองระบบและการปฏิบัติการ ในเบื้องต้นทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้เปิดห้องจัดแสดงหมายเลข 4 บริเวณชั้น 1 เพื่อนำเสนอผลงานสะสมของ สศร. ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่ได้งบจัดซื้อผลงานศิลปะราว 17 ล้านบาทให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นระยะเวลา 1 เดือนระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 25 ธันวาคม 2565

หอศิลป์แห่งชาติ

ผลงานสะสมสร้างสรรค์จากหลากหลายเทคนิคทั้งภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง วิดีโอ สื่อผสม จิตรกรรม และประติมากรรมและส่วนใหญ่เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2554-2565 โดยศิลปินร่วมสมัยของไทย เช่น ผลงานศิลปะจัดวางของ สาครินทร์ เครืออ่อน งานวิดีโอและสื่อผสมของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ภาพชุดสีน้ำมันบนผ้าใบและวิดีโอจัดวางของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง และชุดภาพถ่ายของ เล็ก เกียรติศิริขจร

“ในการคัดเลือกผลงานนั้นงานต้องเป็นตัวแทนของยุคศิลปะร่วมสมัยของไทยโดยในครั้งนี้ได้กำหนดพีเรียดนับตั้งแต่ ค.ศ.1980 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ส่งเสริมและสอดคล้องกับบทบาทของ สศร. แต่อย่างไรก็ตามควรมีการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องช่วงเวลาในครั้งต่อไป ในการคัดเลือกทางคณะกรรมการขอดูคอลเลกชันสะสมเก่าเพื่อวิเคราะห์ว่ามีจิ๊กซอว์อะไรที่ควรเติมเต็มเพื่อให้ภาพไทม์ไลน์ของศิลปะร่วมสมัยไทยสมบูรณ์ขึ้น” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกประจำปี 2565 และอดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูล

หอศิลป์แห่งชาติ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ทาง สศร. ได้สะสมผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์โดยศิลปินไทยกว่า 500 ชิ้นงาน สำหรับปี 2565 มีคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบไปด้วย ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง, ปรมพร ศิริกุลชยานนท์, ปราณีนุช นิยมศิลป์ และ แมรี่ ปานสง่า ในการสรรหาศิลปินและผลงานและทำข้อมูลประกอบเช่น ศิลปินคนไหนมีความสำคัญอย่างไร ผลงานชิ้นไหนมีความสำคัญ สภาพของชิ้นงาน และการเปรียบเทียบราคา ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกนอกจากลักขณาแล้วยังประกอบไปด้วย ปัญญา วิจินธนสาร, เยาวณี นิรันดร, อรรฆย์ ฟองสมุทร, ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ และ วรพันธ์ เย็นทรัพย์

“คณะกรรมการคัดเลือกต้องมาพิจารณาว่าศิลปินคนไหนและงานชิ้นหรือชุดไหนที่ควรเก็บสะสมและเราจัดซื้อได้ไหมตามงบประมาณที่ได้ เลือกงานที่เป็นไอโคนิกซึ่งบางชิ้นช่วยเติมเต็มในคอลเลกชันเดิมที่มีอยู่หรือเติมเต็ม archive ให้สมบูรณ์ขึ้น และต้องมองด้วยว่าจะนำงานสะสมไปใช้ต่อได้อย่างไรบ้าง โชคดีว่าปีนี้ในระเบียบการจัดซื้อนั้นเราสามารถซื้อจากแกลเลอรีที่เป็นตัวแทนศิลปินได้ทำให้การซื้องานเปิดกว้างมากขึ้น เราอยากให้มีการวางนโยบายที่ชัดเจน 1-2-3-4-5 ในการคัดเลือกผลงานเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้สอดคล้องกันสำหรับคณะกรรมการในปีต่อๆ ไป” ลักขณาให้ความเห็น

เมื่อเข้าสู่ห้องจัดแสดงงานผลงานที่โดดเด่นสะดุดตาคือประติมากรรมสื่อผสมแบบศิลปะจัดวางเฉพาะที่ (site specific installation) เป็นรูปศีรษะมนุษย์ขนาดราว 2 เมตรทำจากไฟเบอร์กลาสที่มีลักษณะคล้ายเศียรพระพุทธรูปและเคลือบด้วยผงสีเหลืองและผงขมิ้นในชื่อ “Yellow Simple No.1” โดย สาครินทร์ เครืออ่อน งานชิ้นนี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของสาครินทร์ในชื่อ “Yellow Simple” เมื่อ พ.ศ. 2544  ณ Open Art Space กรุงเทพฯ โดยเล่นกับตัวพื้นที่แกลเลอรีซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงในการค้าขายวัตถุโบราณและเป็นการตั้งคำถามเรื่องความเชื่อแบบสังคมพุทธที่สะท้อนผ่านชิ้นงาน

“งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานไอโคนิกของสาครินทร์ เขาเป็นศิลปินที่ศึกษางานไทยประเพณีแต่งานของเขามาไกลกว่าการทำตามแพตเทิร์นแบบไทยประเพณีและมองไปถึงแก่นของพุทธศาสนา เขากล้าแตะเรื่องต้องห้ามต่างๆ อย่างงานชิ้นนี้เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระพุทธรูปต้องตั้งบูชาอยู่บนที่สูง แต่หากถูกจับวางในแนวราบบนพื้นแล้วจะเป็นอย่างไร ศรัทธาที่เรามีนั้นเป็นการยึดติดกับรูปแบบหรือไม่” ลักขณากล่าว

หอศิลป์แห่งชาติ
“Space Shift” โดย มิติ เรืองกฤตยา

บนผนังยังจัดแสดงผลงานชุดภาพถ่ายของหลายศิลปิน เช่น ภาพถ่าย 4 ชิ้นในชุด “หลงสวรรค์” (Lost in Paradise) ของ เล็ก เกียรติศิริขจร ที่บันทึกซากสิ่งก่อสร้างและสถานที่รกร้างในกรุงเทพฯที่สะท้อนถึงการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ล้มเหลวกับเรื่องราวของคนงานต่างจังหวัดที่จำต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อเข้ามาหางานทำในเมืองกรุง 

ถัดมาเป็นชุดภาพถ่าย 5 ชิ้นของ มิติ เรืองกฤตยา ในชื่อ “Space Shift” ซึ่งบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ใกล้กับทางด่วนมอเตอร์เวย์ และผู้ประสบภัยต้องย้ายมาอาศัยชั่วคราวในโครงสร้างคอนกรีตก่อสร้าง ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นการตั้งคำถามถึงวิธีการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนของภาครัฐ

“ปีนี้เราเก็บสะสมงานที่เป็นภาพถ่ายมากขึ้นเพราะเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่ใช้กันเยอะขึ้น นอกจากนี้เราจะไม่ซื้องานแบบสะเปะสะปะ แต่พยายามให้ได้งานที่สมบูรณ์ทั้งเซตเพื่อส่งอิมแพกของงานได้ชัดเจน เช่น ชุดผลงานภาพถ่ายของอำพรรณี สะเตาะ เราสะสม 2 ชุดเพราะเป็นศิลปินหญิงมุสลิมที่ทำงานภาพถ่ายได้อิมแพกมากที่พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการอพยพถิ่นฐาน ซึ่งไม่ค่อยเห็นคนที่ทำงานในฟอร์มแบบนี้เท่าไรนัก”

หอศิลป์แห่งชาติ
“Burqa01” โดย อำพรรณี สะเตาะ

ภาพถ่าย 3 ชิ้นในชื่อชุด “Burqa01” ของ อำพรรณี สะเตาะ แสดงภาพถ่ายตนเองสวมชุดคลุมร่างกายแบบมิดชิดของชาวอิสลามหรือชุดบุรกาที่สั่งตัดจากบ้านเกิดของเธอ ณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในโทนสีน้ำเงิน ขาว และแดงตามสีของธงชาติประเทศฝรั่งเศสกับฉากหลังที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของฝรั่งเศสคือประตูชัยและหอไอเฟล เพื่อต่อต้านที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศใช้กฎหมายห้ามผู้หญิงสวมผ้าคลุมหน้าและศีรษะในที่สาธารณะใน ค.ศ.2010 อันขัดกับหลักการเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นปณิธานแสดงความเป็นประชาธิปไตยของฝรั่งเศส ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นภาพถ่าย 7 ชิ้นในชื่อ “Lost Motherland” แสดงภาพกลุ่มผู้หญิงสวมชุดบุรกาสีขาวยืนสวดภาวนาบนเกาะและชายหาดเวิ้งว้างเพื่อสื่อให้เห็นถึงการอพยพพลัดถิ่นและความแปลกแยกบนผืนดินที่ไม่ใช่มาตุภูมิ 

หอศิลป์แห่งชาติ
“My Father’s Pillow (Nightmare)” โดย อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

เป็นเวลากว่า 15 ปีที่ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ใช้เส้นผมที่หลุดร่วงตามธรรมชาติทั้งของตัวเอง ของบุคคลในครอบครัวและคนอื่นๆ มาสร้างสรรค์งานศิลปะที่โดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคการถักโครเชต์จนกลายเป็นซิกเนเจอร์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเสื่อมสลาย วัฏจักรของชีวิตและปัญหาของสังคม หนึ่งในผลงานสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างศิลปะเฉพาะตัวโดยใช้เส้นผมเป็นวัสดุหลักคืองานที่ชื่อว่า “My Father’s Pillow (Nightmare)” ในปี 2551 

เส้นผมสำหรับอิ่มหทัยหมายถึงเลือดเนื้อและชีวิต โดยมีจุดเริ่มต้นจากพ่อของเธอที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งเมื่อ พ.ศ. 2546 จากนั้นพ่อจึงเริ่มไว้ผมยาวและเมื่อยาวจนถึงระดับเอวเขาได้ถักผมเปียเป็น 4 เส้นและแบ่งให้ลูกสาวทั้ง 4 คน เพื่อเป็นตัวแทนเลือดเนื้อของพ่อยามเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ในนิทรรศการชื่อ DNA เมื่อ พ.ศ. 2550 ที่ White Space Gallery เธอได้จัดแสดงหมอนที่พ่อใช้หนุนขณะรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลและใช้เส้นผมที่ร่วงของตัวศิลปินเองมาถักเป็นปลอกหมอนเพื่อสื่อถึงสายใยในครอบครัว การพลัดพราก และการระลึกถึง

“ผลงานหมอนของพ่อของอิ่มหทัยถือเป็นสารตั้งต้นการทำงานในรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปินที่ควรต้องจัดหามาสะสมให้ได้ โชคดีว่าทางศิลปินเขายินยอมที่จะแชร์สมบัติส่วนตัวชิ้นนี้ให้กับทาง สศร.”

“ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาค 1&2” โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ส่วนศิลปินที่ลักขณาเน้นว่า “ชื่อนี้ต้องมีในงานสะสม” คือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยเฉพาะผลงานชุด “ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาค 1&2” ซึ่งเป็นผลงานวิดีโอจัดวางในช่วงปี 2564-2565 ที่อภิชาติพงศ์บันทึกบทสัมภาษณ์ ภาพถ่าย และมุมมองต่าง ๆ ที่เขาค้นพบระหว่างเดินทางเลียบแม่น้ำโขง เริ่มต้นจากขอนแก่นบ้านเกิด ไปจนถึงหนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร และอุบลราชธานี ระหว่างการล็อกดาวน์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2564  

“ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยคือประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาโดยเฉพาะคนในภาคอีสานที่โดนกดทับจากส่วนกลาง ความไม่เท่าเทียมและไม่มีโอกาสพบความรุ่งเรืองเช่นคนในเมืองใหญ่รวมไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองที่ทับซ้อนอยู่” ลักขณากล่าว

ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยภาคแรกนำเสนอวิดีโอจัดวาง 3 จอ ฉายภาพโรงภาพยนตร์ร้างที่เหลือแต่โครงผุพังในจังหวัดกาฬสินธุ์และนำเสนอเทียบเคียงกับภาพลำน้ำโขงยามค่ำคืนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาโดยมีฉากหมอลำอยู่เบื้องหลัง ส่วนภาค 2 ในชื่อว่า Beautiful Things (สิ่งสวยงาม) นำเสนอผ่านวิดีโอและภาพถ่ายสองมิติประกอบด้วยฉากภายในห้องพักโรงแรม ซากโรงภาพยนตร์ และฉากหมอลําที่วาดและลงสีเป็นภาพท้องพระโรงอันว่างเปล่าสะท้อนความทรงจำของสถานที่ที่เคยรุ่งโรจน์

“Missing Person” โดย ตะวัน วัตุยา

นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพวาดสีน้ำชุด “Missing Person” จำนวน 16 ชิ้นโดย ตะวัน วัตุยา ที่บันทึกภาพอันเลือนรางของใบหน้าบุคคลผู้สูญหายไปจากสังคมในสภาวการณ์ต่างๆ เพื่อสะท้อนเรื่องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมทั้งยังสอดรับกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ

“งานของตะวันเป็นการวิพากษ์เชิงสังคม ประวัติศาสตร์และการเมือง และถือว่าทางกระทรวงวัฒนธรรมใจกว้างที่ให้มีงานพูดเรื่องนี้ได้ซึ่งถือว่าเป็นงานที่บันทึกประวัติศาสตร์ระดับหนึ่ง งานสีน้ำของตะวันมีความพิเศษเฉพาะตัว สีน้ำที่ซึมลงบนกระดาษให้ภาพที่เลือนหายไม่ชัดเจนเป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับเรื่องราวที่นำเสนออย่างมาก”

“And then there were none… Tomorrow we will become Thailand” โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง

ผลงานที่สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองอีกชิ้นหนึ่งคือชุดสีน้ำมันบนผ้าใบและวิดีโอจัดวางชื่อ “And then there were none… Tomorrow we will become Thailand” โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งที่ศิลปินได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย documenta ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2560 ซึ่งในครั้งนั้นจัดแสดง 2 แห่งคือที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี และกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ อริญชย์จึงมีโอกาสได้ไปเยือนอนุสรณ์ต่อต้านเผด็จการ (Anti-dictatorial Memorial) ที่รำลึกถึงการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารของนักศึกษาสถาบันโปลีเทคนิคในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1973 ซึ่งการประท้วงครั้งนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินขบวนของนักศึกษาไทยขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516)

ในหอจดหมายเหตุยังมีหนังสือพิมพ์กรีกที่นำเหตุการณ์เดินขบวนทั้ง 2 เหตุการณ์จากไทยและกรีซมาเปรียบเทียบกันแล้วพาดหัวข่าวว่า “Tomorrow we will become Thailand” (วันพรุ่งนี้เราจะกลายเป็นแบบประเทศไทย) อริญชย์จึงหยิบยกภาพจากหนังสือพิมพ์กรีกนั้นมานำเสนอใหม่ผ่านสื่อสีน้ำมันบนผ้าใบ 17 ชิ้น ร่วมกับวิดีโอที่นำเสนอความทรงจำส่วนตัวของป้าบุญช่วง เด่นดวง นักร้องหมอลำ สลับกับความทรงจำของชายสูงวัยชาวกรีกซึ่งทั้งสองเคยเข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศของตนในช่วงสงครามเย็น

ลักขณา คุณาวิชยานนท์

ศิลปินอื่นที่มีผลงานในคอลเลกชันสะสมปี 2565 ประกอบด้วย จักรพันธ์ วิลาสินีกุล, ดุษฎี ฮันตระกูล, ทัศนัย เศรษฐเสรี, ประทีป สุธาทองไทย, แพร พู่พิทยาสถาพร, มิตร ใจอินทร์, ฤทัยรัตน์ คำศรีจันทร์ และ อธิษว์ ศรสงคราม

“งานชุดสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยที่ยังขาดและไม่สามารถหาซื้อได้คืองานศิลปะจัดวางของอาจารย์มณเฑียร บุญมา ในคอลเลกชันมีแต่ภาพสเกตช์ซึ่งถือว่าจิ๊กซอว์ตรงส่วนนี้ยังไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงงานวิดีโอจัดวางของอาจารย์อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เป็นต้น” ลักขณากล่าว

Fact File

• หอศิลป์แห่งชาติ เปิดพื้นที่ให้ชมเพียงบางส่วน โดยนิทรรศการล่าสุดเปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) โดยไม่มีค่าเข้าชม ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 25 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00- 18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ 4 ชั้น 1 อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ (ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) 


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ