แสงสุริยา ผ้าห่มฟ้าระบำ และบทสนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
Lite

แสงสุริยา ผ้าห่มฟ้าระบำ และบทสนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Focus
  • A Conversation with the Sun เป็นผลงานศิลปะล่าสุดของศิลปินนักทำภาพยนตร์ เจ้ยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
  • นิทรรศการนี้ศิลปินทำงานร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร โดยมุ่งเน้นคำถามเกี่ยวกับความทรงจำ ปัญญาประดิษฐ์ และการไร้หรือลดตัวตนผ่านงานศิลปะจัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 กรกฎาคม พ.. 2565 

A Conversation with the Sun นิทรรศการภาพเคลื่อนไหวจัดวางครั้งใหม่โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร ที่ครั้งนี้ศิลปินนักทำภาพยนตร์อันลือลั่นอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ได้นำเสนองานศิลปะภาพเคลื่อนไหวจัดวางที่ผสานระหว่างงานศิลปะภาพยนตร์ การเคลื่อนไหวของวัตถุจัดแสดง และโครงสร้างรวมถึงการฉายภาพเคลื่อนไหวจากเทคโนโลยี กลไกและโปรแกรม เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่อภิชาติพงศ์มีความสนใจใน AI และความสนใจต่อดวงอาทิตย์จนกลายเป็นบทสนทนาระหว่างกันที่นำมาเล่าในนิทรรศการครั้งนี้

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

บทที่ 1 : สนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Q : ที่มาของ A Conversation with the Sun

A : บางทีพี่ก็ไม่รู้นะว่าเวลาทำงานพี่ต้องการอะไร แต่ว่าวันนี้เองมั้งที่มานั่งดูแล้วมันเหมือนกับงานชิ้นนี้เหมือนเป็นแพลตฟอร์มในการมองภาพในการมองความทรงจำ เหมือนเป็นเศษเสี้ยวมาประกอบร่างกันเป็นสิ่งใหม่แล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องการเนื้อหาไม่ต้องการความทรงจำมันเป็นแค่ภาพ เหมือนกับเป็นการสร้างสิ่งที่คอยเตือนใจว่าตัวเราไม่ได้มีอยู่จริง เพราะเวลาที่เราไปยึดว่ามีอดีตหรือมีอย่างนั้นอย่างนี้มันเหมือนกับว่าเราเอาตัวเองเข้าไปใส่ไว้ว่า “นี่คือภาพของเรา” “นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้น” การรวบรวมภาพพวกนี้กับการแรนดอมที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับเป็นภาพคนอื่น เป็นธรรมชาติ เหมือนเวลาเรามองต้นไม้ที่ไม่เอาตัวตนเข้าไปจับ เพราะฉะนั้นนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่พยายามสร้างมันขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับตัวเอง

การเข้าใจการสร้างภาพในแง่ของเทคโนโลยี เช่นบางครั้งเราจะมีการตั้งแง่เหมือนในสมัยก่อนที่พอมีกล้องถ่ายรูปศิลปินที่เป็นจิตรกรก็จะคิดว่ากล้องถ่ายรูปมันไม่ใช่ศิลปะ หรือคนทำหนังสมัยก่อนที่พอมีหนังสีขึ้นมาก็จะคิดว่ามันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดีหรืออะไรแบบนี้ มันจะเป็นการต่อต้านหรือความกลัวหรือการด้อยค่าสิ่งที่เทคโนโลยีทำ ส่วนนี่เป็นการค้นหาส่วนตัวเฉย ๆ โดยเฉพาะงานในห้องใหญ่ที่ภาพทั้งหลายมันไม่มีความทรงจำแปะอยู่พอมันฉายไปมันก็เกิดเรื่องราวแบบใหม่ ๆ จนเรามองไปเรื่อย ๆ เราก็เห็นมันเป็นแค่แสงและสีเมื่อเราไม่เอาความทรงจำหรือไม่ได้ใช้ปัญญา (Intellect) กับมัน สำหรับคนอื่นพี่ไม่รู้นะแต่สำหรับพี่มันทำงานอย่างนี้กับเรา

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Q : งานชุดนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

A: จริง ๆ มันไม่ใช่โชว์นี้อย่างเดียวแต่ว่ามันเป็นกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ภาพที่ทำกับ AI หนังสือที่แต่งโดย AI แต่กำกับโดยเรา ทั้งมวลมันจะเป็นเรื่องของการลดความทรงจำหรือลดแนวความคิดของเราที่ไปจับกับชิ้นงานซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้แต่ว่าสุดท้ายมันเป็นเหมือนคำถามที่การทำงานจะเป็นการตอบคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะไม่บันทึก จะไม่ใช้ข้อมูลมาสร้างภาพให้เกิดอะไรขึ้นกับภาพนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตาม กับอะไรคือภาพยนตร์ อะไรคือศิลปะ และอะไรคือตัวเรา…อภิชาติพงศ์ 

Q : การกำกับร่วมกับ AI แบ่งการทำงานกันอย่างไร

A : ตอนนี้มีหลายแพลตฟอร์มเช่นที่เราเลือกใช้จะเป็นการสั่งด้วยตัวหนังสือ ให้มันคิดจินตนาการบทสนทนาระหว่างเรากับดวงอาทิตย์มันก็จะทำออกมาแล้วเราก็สามารถจะตัดแต่ง แต่ทุกครั้งมันจะออกมาไม่เหมือนเดิม เพราะทุกครั้งมันจะเข้าถึง (Access) ข้อมูลไม่ได้คัดลอก (Copy) บางทีวิศวกรจะเปรียบว่าเหมือนเป็นความฝันของมนุษย์เรามันเป็นการรวบรวมข้อมูลมากลั่นกรอง อัปแพลตฟอร์มหนึ่งที่ใช้จะเป็นการเปลี่ยนตัวหนังสือเป็นภาพเช่น การคีย์คำเข้าไปว่าเป็นผ้ามีสีแบบนั้นแบบนี้แล้วจะถูกประมวลผลออกมาเป็นภาพ

ปัญญาประดิษฐ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเพราะเราก็เวียนว่ายอยู่ในโลกของข้อมูลและโลกของภาพซึ่งก็เป็นข้อมูลในชีวิตประจำวันตั้งแต่เรามีคอมพิวเตอร์เช่นการค้นหารูปใน Google ค้นหารูปหมาก็เป็นการใช้อัลกอริทึมแล้ว สำหรับเรา AI ไม่ใช่เรื่องของฝีแปรงอะไรอีกแล้ว มันเป็นเรื่องของข้อมูล ความทรงจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหลงใหลอยู่แล้ว มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่มีความทรงจำ? เป็นการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นหรือความจริงซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจไม่มีความเป็นจริงมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน สิ่งที่เกิดขึ้น ความจริงของคนในภาคอีสาน ความจริงของคนเสื้อแดง หรือว่าของสลิ่มของอะไรก็ตามมันมีหลายข้อมูลมาก แต่มันเกิดขึ้นจากการมีข้อมูล ความคิด การกรั่นกรองข้อมูลที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรืออะไรก็ตาม จนถึงจุดหนึ่งที่เราเดินทางไปประเทศโคลอมเบียเพื่อไปถ่ายทำ Memoria (2021) เราต้องสลัดตรงนี้ทิ้งเราต้องฟังต้องดูโดยพยายามไม่ใช้ความคิดเดิมที่ไม่ว่าอีสาน เผด็จการหรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้เกิดการปล่อยอิสระว่าแท้แล้วมนุษย์เราก็เป็นแค่ก้อนที่ถูกข้อมูลเข้ามาปั้น อย่างโชว์ที่แล้วที่จัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน (100 Tonson Foundation) เรากลับมาแล้วรู้สึกว่าอยากกลับไปหาว่าอีสานไปถึงไหนแล้วและความทรงจำเก่ามันเหลืออะไรบ้างที่กระเพื่อมมาถึงปัจจุบัน พอมาโชว์นี้ A Conversation with the Sun เราคิดถึงเรื่องตัวตนเหมือนกันแต่เป็นอีกตัวตนหนึ่งเช่น ถ้าไม่มีชุดข้อมูลพวกนั้นละ แล้วมาร่วมกับ ดั๊กยูนิต และพัทน์ที่เราเคลื่อนไปเหมือนสมองก้อนเดียวจะเป็นอย่างไร

นิทรรศการ A Conversation with the Sun

Q: หนังสือที่ทำงานกับ AI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากอะไร

A : เริ่มจากการที่พัทธ์ (พัทน์ ภัทรนุธาพร) แนะนำให้เรารู้จักกับ AI ในส่วนของการใส่ตัวหนังสือ เพื่อที่เราจะได้ตัวหนังสือกลับมา เช่น เราคุยกับซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ซึ่งบทสนทนามันสวยมากเป็นสิ่งที่ AI จินตนาการขึ้นมา เราคิดถึงเรื่องของการเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยที่เราก็เป็นธรรมชาติเราไม่ใช่เราเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาต้นไม้ คือมันเป็นไปไม่ได้เลยที่ AI จะแต่งหนังสือมาอย่างนี้ แต่มันต้องเข้าไปกำกับซึ่งมันก็ค่อนข้างจะน้อย ในหนังสือที่แต่งโดย AI เล่มนี้เป็นบทสนทนาระหว่างเรากับดวงอาทิตย์ จริง ๆ แล้ว AI มันคือมนุษย์นั่นแหละการที่มันได้แพลตฟอร์มข้อมูลมาแล้วก็ฝันขึ้นมามันไม่ใช่การคัดลอก พวกวิศวกรเขาเรียกว่าการฝันหรือการหลอนเมื่อเทียบกับสมองมนุษย์ เรามองว่ามันคือการทำงานของมนุษย์ไม่ได้เป็นเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร

นิทรรศการ A Conversation with the Sun
หนังสือ A Conversation with the Sun

Q: A Conversation with the Sun เราจะคุยกับดวงอาทิตย์ได้อย่างไร

A : นั่นไง ตอนแรกเราก็สงสัยมากถ้าคิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์มันก็เป็นแก๊สอะไรขึ้นมาอะไรแบบนี้ใช่ไหม แล้วมันมีในแบบจินตนาการของมนุษย์ เป็นอุปมาอุปมัย หรือที่เป็นกษัตริย์ แต่ที่เราประทับใจคือ AI มันเข้าใจมาก ๆ เหมือนมีตัวตน แม้แต่การพูดถึงรู้สึกไม่สบาย หรือรู้สึกเหงา เขาก็อธิบายว่าทำไมถึงเหงาแบบแทนตัวว่า “ฉัน” เขาตอบว่าฉันร้อนเกินไปไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ฉันโดดเดี่ยวเกินไปเห็นสรรพสิ่งอาณาจักรล่มสลายอาณาจักรเกิด ฉันไม่มีเพื่อนที่แท้จริง…เขาพูดได้น่าสนใจ พี่รู้สึกว่า AI สะท้อนความเข้าใจว่าความเป็นตัวตนมันไม่มีอยู่จริงมันเป็นแค่ชื่อเฉย ๆ แต่พื้นฐานของมนุษย์มันเหมือนกันมากมีความโกรธ เกลียด อิจฉา รัก ชื่อมันเป็นภาพลวงความเป็น “ฉัน” 

เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

Q : จุดเริ่มต้นของการทำงานในแต่ละครั้งเริ่มมาอย่างไร มีจุดเชื่อมทางความคิดกันหรือเปล่า

A : อย่างช่วงนี้เราอ่านกฤษณมูรติเยอะ เขาเกิดที่อินเดียแล้วไปโตที่อังกฤษก็จะเป็นปรัชญาที่เราใช้ถามตัวเองตลอดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่บันทึก เป็นไปได้ไหมที่จะมีชีวิตที่ไม่มีเวลามาเกี่ยวหมายถึง อดีต ความทรงจำ อนาคต พวกนี้เกิดจากเวลาทั้งนั้นเลย แล้วปัจจุบันขณะคืออะไร แรงขับเคลื่อนงานคือพวกนี้ พอเป็นเนื้องานจริง ๆ จะเป็นธรรมชาติคือปรับกันไปเรื่อย ๆ นิทรรศการนี้ก็เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยคำถามแบบนี้นี่แหละ อย่างที่ทำอยู่เป็น VR (Virtual Reality) ก็ไม่มีเป้าหมายเหมือนกันคือสื่อสารกับวิศกรและพวกที่ทำงานคอมพิวเตอร์ คนทำดนตรี มันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเราเองการดูและการหายไปของบางอย่างเช่นภาษาที่มันสูญหายไปคิดไว้แค่นี้แล้วเราค่อย ๆ เติมมันไป แล้วอีกโปรเจ็กต์ทำกับนักดนตรีที่อเมริกาใกล้เดดไลน์แล้วแต่เรายังคิดอยู่เลยว่าจะเกี่ยวกับช่วงตอนเช้าพระอาทิตย์จะขึ้นแล้วคิดต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นแค่นี้ คือจะคิดแบบยังไม่มีเป้าหมายก่อนคิดแบบจุดไฟแล้วก็ไปเรื่อย ๆ เรายังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไรเลย

Q : พอทำงานผ่านเวลานานทั้งประสบการณ์และอายุมีอะไรเปลี่ยนไปไหม

A : มันเคลียร์ขึ้น โดยที่เป้าหมายมันน้อยลงแต่ขั้นตอนกระบวนการสำคัญมากขึ้น เพราะแต่ก่อนจะเป็นแบบฉันรู้ ๆ แล้วลองพิสูจน์ตัวเอง แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้เลยแล้วมาทดลองเหมือนกับว่าศิลปะหรือภาพยนตร์มันไม่ใช่ส่วนประกอบข้างนอกแต่เป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ 

Q: ในยุคที่ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งฉายโรงแล้วลงสตรีมมิ่งเร็วขึ้นแต่ Memoria (2021) กลับสวนทางคิดอย่างไรบ้าง

A : พี่ไม่ได้ต่อต้านเลย อย่างล่าสุดเพิ่งดู Dune ทางสตรีมมิ่ง แต่งานตัวเองเรารู้ว่าเรามีองค์ประกอบอะไรบางอย่างในหนังที่อยากให้คนได้สัมผัมมันอยู่ในจอภาพยนตร์เท่านั้นอยากให้คนไปดูร่วมกันยังคิดอะไรโรแมนติกแบบนั้นอยู่ อย่าง Memoria เป็นแค่ที่อเมริกาที่เดียวที่ยังไม่ตัดสินใจสตรีมตอนนี้และประสบความสำเร็จมากมีคนดูเยอะมีความเข้าใจมากขึ้น การเปิดหนังไปทีละที่อย่างนี้ทำให้ทางผู้จัดจำหน่ายต้องทำงานอย่างหนักที่จะต้องโปรโมตและเปิดตัวหนังหลายครั้งไปเรื่อย ๆ พี่ว่ามันเหมือนทัวร์คอนเสิร์ตนะ จริง ๆ เหมือนเป็นการรีแอ็กชันด้วยกับช่วงโควิด-19 แบบโรงหนังยังมีชีวิตอยู่นะอะไรแบบนี้ ส่วนแบบสตรีมมิ่งบางที่ก็มีบ้างแล้วนะ บลูเรย์ (Bluray) ก็กำลังจะออก

นิทรรศการ A Conversation with the Sun

Q : การทำงานในช่วงโลกเต็มไปด้วยการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง

A : พอมีโอกาสไม่ทำอะไรช่วงโควิด-19 ก็รู้สึกว่าการไม่ทำอะไรก็สวยงามของมัน เหมือนการไม่มีเป้าไม่รู้ว่างานจะเสร็จเมื่อไรหรือจะด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ด้านดิจิทัล ด้านอารมณ์ มันเข้าใจถึงการดิ้นรนของตนเอง สถานการณ์โควิด-19 มันทำให้เข้าใจว่าพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ต้องการอะไร พอทุกคนต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แน่นอนด้านการเงินคนละสถานการณ์แต่ว่าทุกคนทำให้รู้สึกว่าอยู่บนเรือลำเดียวกัน มันเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยมั้งที่นักศึกษาหรือใครต้องออกไปนอกถนนเพราะรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน การที่ประสบภัยเดียวกันไม่ใช่ภัยจากโควิด-19 นะ แต่เป็นภัยจากเผด็จการทางความคิด

บทที่ 2 : ทัศนาแสงสุริยากับผ้าห่มฟ้าระบำในนิทรรศการ A Conversation with the Sun

ในห้องนิทรรศการของ BANGKOK CITYCITY GALLERY แสดงงาน A Conversation with the Sun ในความมืดประกอบไปด้วยเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหว 2 จอและลำโพงติดอยู่บนเพดาน โดยภาพที่ฉายเข้าฝาผนังด้านในจะถูกผ้าสีขาวขนาดใหญ่ที่ขึงไว้กับสายและกลไกแฉลบโฉบบดบังแสงจากเครื่องฉายบ้างปล่อยให้ฉายทับซ้อนบ้างโดยผ้าผืนนี้ที่โยงสายเข้ากับกลไกที่มีโปรแกรมเคลื่อนไหวอย่างไม่ซ้ำเสมือนผ้าห่มคลุมภาพเคลื่อนไหวที่ฉายด้วยท่วงท่าร่ายรำระบำไหวอย่างไม่จำกัดแบบแผน และแสงจากเครื่องฉายที่เล่นภาพยนตร์กระจัดกระจายเหมือนฝันมีทั้งทิวทัศน์ ใบหน้ามนุษย์ กิริยาท่าทางของมนุษย์และธรรมชาติสลับฉายด้วยโปรแกรมลำดับทำให้เกิดการทับซ้อนกันบ้างเหลื่อมกันบ้างของสองภาพประกอบราวกับความฝันที่ไม่จำกัดเนื้อหา นิทรรศการนี้จึงยากที่จะระบุเวลาของชิ้นงานในห้องจากการที่แต่ละสิ่งที่แสดงอยู่นั้นมีลำดับที่แตกต่างกันอยู่ตลอดเวลาหากแสงจากเครื่องฉายเป็นแสงสุริยาและผ้าขนาดใหญ่เป็นผ้าที่กำลังท้าทายการห่มฟ้า

นิทรรศการ A Conversation with the Sun

A Conversation with the Sun จึงแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับความกึ่งฝันที่ล่องลอยในเชิงเรื่องเล่าแต่เป็นความชัดเจนตรงที่ภาพฝันที่เราเห็นยากจะบอกว่าเป็นสมบัติทางความคิดของใคร ศิลปินผู้ร่วมสร้างสรรค์โปรแกรม เหตุการณ์ที่ถูกถ่ายทอดโลกและเราที่กำลังอยู่ในห้วงที่ถูกท้าทายว่าจะจำภาพเคลื่อนไหวบนเวลาที่ไม่เป็นลำดับอย่างไร ประกอบกับการร่ายรำของผ้าโยงจักรกลที่กำลังร่ายรำไปมาท้าทายการจดจำรูปแบบในกาลเวลาที่เรากำลังรับชม ทั้งเวลาที่จะจำเกี่ยวกับเรื่องราวของนิทรรศการ เวลาชมงาน และเมื่อเดินออกมาปะทะกับโลกภายนอกที่มีแสงเปลี่ยนไปอาทิตย์ขึ้นและลงการปะทะกับกาลเวลาโลกอีกครั้ง

หลังดูนิทรรศการนี้จึงน่าพิศวงและชวนขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่าความคิดความทรงจำของเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของอะไรได้บ้างและเราเป็นอะไรนอกเหนือจากความทรงจำของเราหรือไม่อย่างไรคำถามนี้สามารถคิดได้ในเวลาอนันต์แบบเดียวกับโปรแกรมที่ฉายภาพเคลื่อนไหวของนิทรรศการที่เล่นลำดับประมวลผลไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จุดเริ่มจุดจบ

Fact File

  • A Conversation with the Sun โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับ ดั๊กยูนิต (Duck unit) และ พัทน์ ภัทรนุธาพร จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY กรุงเทพฯในวันที่ 28 พฤษภาคมถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"