Mystery Tour เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า (เคล้าเกร็ดประวัติศาสตร์)
Arts & Culture

Mystery Tour เล่าเรื่องหลอนในวังหน้า (เคล้าเกร็ดประวัติศาสตร์)

Focus
  • ต้อนรับเทศกาลฮาโลวีนกับเทศกาลผีนานาชาติ “พูด ผี-ปีศาจ” (Ghost Talks) ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566
  • ไฮไลต์คือกิจกรรม Mystery Tour ที่ภัณฑารักษ์จะพาชมมุมลับๆ ในพิพิธภัณฑ์กับที่มาของ “เรื่องหลอนในวังหน้า” ผสมกับเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์
  • ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานยังจัดเต็มทั้งความรู้และความสนุกกับตลาดอาร์ตทอยที่นำเสนอกาชาปองรูปผีไทยและผีเทศต่างๆ

“เคยเจออะไรบ้างไหม” หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับของเก่ามักโดนถามอยู่เสมอ เพราะของโบราณมักมาพร้อมกับเรื่องเล่าชวนขนหัวลุก และแน่นอนว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุของชาติจำนวนมาก ย่อมมาพร้อมกับเรื่องเล่าชวนพิศวงอันเป็นตำนานฉบับ ชาวพิพิธภัณฑ์ หลากหลายเรื่อง เช่น เสียงปี่พาทย์ดังขึ้นในเวลากลางคืน คุณยายนุ่งโจงห่มสไบเดินไปมาในห้อง เสียงคนกวาดใบไม้ช่วงหลังเที่ยงคืน เสียงเด็กวิ่งเล่นยามย่ำค่ำ และสิ่งของบนโต๊ะโดนกวาดตกลงพื้นทั้งที่ไม่มีลมพัดหรือใครอยู่ใกล้บริเวณนั้น

Mystery Tour

เรื่องราวชวนหลอนที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าพบเจอนั้นอาจไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่เลื่องลือกันวงใน เพราะหลายคนเจอเหตุการณ์คล้ายกันอยู่เนืองๆ และนับเป็นครั้งแรกที่เรื่องพิศวงเหล่านี้จะได้ถ่ายทอดสู่วงนอกในรูปแบบ Mystery Tour ที่ภัณฑารักษ์จะพาชมมุมลับๆ ในพิพิธภัณฑ์กับที่มาของ เรื่องหลอนใน วังหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของเทศกาลผีนานาชาติ พูด-ผี-ปีศาจ (Ghost Talks) ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 เพื่อต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน

Mystery Tour
Mystery Tour
ประคำโบราณ และแหวนพิรอด

Mystery Tour จะจัดวันละ 1 รอบในเวลา 13.00 น. โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่หน้างานก่อนเวลาเริ่มและไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม

ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานยังจัดเต็มทั้งความรู้และความสนุกกับตลาดอาร์ตทอยโดยศิลปินกลุ่มศาลาอันเต (Sala Arte) ที่ครั้งนี้นำเสนอกาชาปองรูปผีไทยและผีเทศ นำทัพโดยตำนานผีไทยอย่างแม่นาค ปอบ นางรำ และผีเทศชื่อดัง เช่น ซาดาโกะ จิ้งจอกเก้าหาง ผีแม่ชี และผีตาก้นชิราเมะ พร้อมเวทีทอล์กที่ออกแบบในธีม “ใต้ต้นโพธิ์” ให้ได้พูดคุยกับนักสะสมงานผีของครูเหม เวชกร และทีมศิลปินการ์ตูนผีไทยนำโดย โต๊ด โกสุมพิสัย บรมครูแห่งวงการการ์ตูนผีไทยเล่มละบาท และมุมร้านน้ำชาตกแต่งในธีม “หมอยาไทย” พร้อมเมนูพิเศษสำหรับพรีวันฮาโลวีน

“ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนเราอยากจัดกิจกรรมที่สนุกปนหลอนอย่างมีความรู้โดยนำเสนอเรื่องความเชื่อโลกวิญญาณทั้งเทพ ผี ปีศาจ ผ่านกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประวัติศาสตร์ของสถานที่ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์หรือโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับความเชื่อ เช่น กาชาปองรูปจิ้งจอกเก้าหาง เราสามารถเชื่อมเล่าไปถึงจิตรกรรมฝาผนังในเก๋งนุกิจราชบริหารที่เล่าเรื่องพงศาวดารจีนเรื่อง ห้องสิน เกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมจนต้องมีการเชิญเทพเทวดาและปีศาจมาสู้รบกันและหนึ่งในนั้นคือจิ้งจอกเก้าหาง” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าว

วังหน้า
มีดหมอที่ใช้ในพิธีตัดไม้ข่มนามและเชื่อว่าแก้อาการลมเพลมพัดที่ไม่รู้สาเหตุ

Sarakadee Lite พาไปพรีวิวจุดนำชมบางส่วนในเส้นทาง Mystery Tour บนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ วังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มาพร้อมเรื่องหลอนๆ แต่แฝงด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจเช่น ตำนานโกศผีสิง เรื่องของคุณยายยี่เข่งผู้ออกมาจากรูปปั้น และพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 ที่เด็กหลายคนมักกล่าวว่า “เห็นคุณยายนอนอยู่บนนั้น”

“การเลือกเรื่องมาเล่านั้นต้องไม่สร้างความเสื่อมเสียกับบุคคลนั้นหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือทำให้คนกลัวจนไม่กล้าเข้าพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งเราไม่ได้เล่าเฉพาะเรื่องแปลกที่คนเจอในนี้ แต่มีโบราณวัตถุให้ชมที่เกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ ด้วย เช่น โกศผีสิง ประคำโบราณ และแหวนพิรอดที่ใช้สำหรับประกอบพิธีไหว้ครูโขนและเชื่อว่าใช้ไล่ภูตผีปีศาจได้ด้วย และมีดหมอที่ใช้ในพิธีตัดไม้ข่มนามและเชื่อว่าแก้อาการลมเพลมพัดที่ไม่รู้สาเหตุ” ศุภวรรณ กล่าว

วังหน้า

อาถรรพ์พระโกศของพระเจ้าตาก

Location: โรงราชรถ

Mystery Story : “โดยปกติแล้วโกศทรงโถไม่ใช้สำหรับพระศพของเจ้านายชั้นสูง แต่โกศใบนี้ฝาเป็นทรงพระมหาพิชัยมงกุฎและเชิงโกศเป็นฐานสิงห์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า โกศโถใบนี้เป็นของที่สร้างเมื่อครั้งกรุงธนบุรีสำหรับเจ้านายชั้นสูงสุดคือสมเด็จพระเจ้าตากสิน โกศทำจากไม้ตะเคียนและแยกเป็นสี่ส่วนได้และข้างใต้มีรูสำหรับต่อท่อไม้ไผ่ไปยังโถใส่น้ำเหลือง เหตุที่ไม่ใช้ทองคำอาจเพราะสร้างเร่งด่วนหรือช่วงนั้นสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติและไม่มั่งคั่งพอ นับว่าเป็นโกศที่เก่าแก่ที่สุดที่เก็บรักษาในโรงราชรถและตั้งสูงกว่าใบอื่นตามลำดับศักดิ์

“เรื่องอาถรรพ์คือเมื่อรัชกาลที่ 3 โปรดให้เอาโกศใบนี้ไปใส่ศพเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราชเนื่องจากสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าตากสิน แต่ในพิธีศพนั้นโกศตกลงมาจากเกรินและทับเจ้าพนักงานภูษามาลาตายและตัวโกศแตกร้าวจึงทำให้ลือกันว่าเป็น โกศผีสิง มีอาถรรพ์” ศุภวรรณอธิบาย

วังหน้า

History : โรงราชรถสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2472 และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมกับต่อเติมมุขหน้าเมื่อปี 2536 เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงราชรถสำคัญรวมทั้งเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ เช่น พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย เกริน ส่วนประกอบของพระเมรุมาศ พระโกศ พระยานมาศสามลำคานเป็นอาทิ

วังหน้า

คุณยายยี่เข่งผู้ออกมาจากรูปปั้น

Location : พระที่นั่งวสันตพิมาน, หมู่พระวิมาน

Mystery Story : ภายในตู้ที่จัดแสดงต้นไม้แก้วฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าดำรง ปราโมช ยังจัดแสดงพระรูปพระองค์เจ้ายี่เข่ง หรือที่ชาวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรียกว่า “คุณยายยี่เข่ง” ขนาดความสูง 38 เซนติเมตร โดยตรงฐานพระรูปเขียนระบุว่า นายแววเป็นผู้ปั้นถวาย แต่ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้จัดสร้างและในวาระโอกาสใด

“คุณยายยี่เข่งเป็นพระพี่เลี้ยงของรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้พระรูปเก็บไว้ในคลังและมีเจ้าหน้าที่หลายคนเล่าว่าเมื่อต้องเข้าไปตรวจสอบหรือทำความสะอาดโบราณวัตถุในคลังจะเห็นภาพคุณยายท่านหนึ่งแต่งตัวลักษณะเหมือนอย่างพระรูปเดินผ่านไปมา ต่อมาเมื่อย้ายมาจัดแสดงในตู้ที่พระที่นั่งวสันตพิมานเคยมีนักท่องเที่ยวมาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าเมื่อกี๊ได้คุยกับคุณยายท่านหนึ่งสนุกดีนะ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เห็นคุณยายเลยสักคน หลังจากนั้นทุกๆ วันพระทางเจ้าหน้าที่จะนำหมากพลูมาถวายอยู่เสมอ”

Mystery Tour
พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง

History : พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพชรหึง (พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งเป็น วังหน้า พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1) และได้รับราชการเป็นพนักงานนมัสการ (ผู้ช่วยจัดธูปเทียนดอกไม้และจัดพระแท่นพระพุทธรูป) ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการเข้านอกออกใน (ทำหน้าที่ติดต่อกับเจ้านายและข้าราชการฝ่ายหน้า) อีกตำแหน่งหนึ่งและจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพนักงานพระโอสถ

อ้างอิงจากข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีเกร็ดเล่ากันว่าเมื่อทรงเป็นพนักงานพระโอสถ คราวหนึ่งพระองค์เจ้ายี่เข่งทรงเชิญพระโอสถมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 เพื่อเสวย แต่พระองค์ทรงรีรอไม่รีบเสวย พระองค์เจ้ายี่เข่งฉวยไม้บรรทัดบนโต๊ะทรงพระอักษรขึ้นขู่ว่า ถ้าไม่รีบเสวยพระโอสถจะทรงถวายตี เป็นที่ทรงขบขันของรัชกาลที่ 5 ทรงนำเล่าพระราชทานพวกข้างในว่า “ฉันไม่กินยา เจ้าเข่งแกจะตีฉัน”

Mystery Tour

“เสียงเบาหน่อย คุณยายนอนอยู่”

Location : พระที่นั่งวสันตพิมาน, หมู่พระวิมาน

Mystery Story : พระแท่นบรรทมซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 เดิมนั้นเก็บรักษาและจัดแสดงที่พระตำหนักแดงก่อนจะย้ายมาที่พระที่นั่งวสันตพิมานในปัจจุบัน

“ในสมัยก่อนทางพิพิธภัณฑ์มีกฎว่าเจ้าหน้าที่ผู้ชายต้องสลับกันมานอนเวรและยังไม่มีที่พักจัดให้ต้องหาที่นอนกันเอาเอง มีเรื่องเล่าว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งปูผ้านอนบนตั่งไม้หน้าพระตำหนักแดงและโดนถีบตกตั่งเลย อีกเรื่องคือเจ้าหน้าที่อีกคนเคยพาลูกมาทำงานด้วยขณะทำหน้าที่เฝ้าพระตำหนักแดงแล้วแม่เผลอคุยเสียงดังกับเพื่อนร่วมงาน ลูกก็เดินมาบอกว่า ‘แม่เสียงเบาหน่อย คุณยายนอนอยู่’ แม่ก็ขนลุกซู่เลยทีเดียว”

พระตำหนักแดง สถานที่ตั้งพระแท่นเดิม

History : สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ผู้เป็นทั้ง วังหน้า และพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 4) สำหรับพระแท่นบรรทมนี้เป็นพระแท่นของพระองค์ตั้งแต่ครั้งประทับที่พระตำหนักแดงในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังเมื่อเสด็จพร้อมด้วยพระโอรสองค์เล็กออกไปประทับที่พระราชวังเดิม ธนบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักแดงทั้งหมู่ไปปลูกถวายและคงนำพระแท่นนี้ไปด้วย

ต่อมาเมื่อพระโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้เสด็จบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงส่วนที่เป็นที่ประทับของพระองค์มาปลูกรักษาในพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งภายหลังพื้นที่บางส่วนกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรือนไม้สักของพระตำหนักแดงปัจจุบันจัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตเด็กไทยในอดีตตั้งแต่ธรรมเนียมการขอลูก การเกิด การอยู่ไฟ และการศึกษา

พระที่นั่งบุษบกเกรินสำหรับเสด็จออกขุนนาง

จับขโมยได้ เพราะเสียง (ใคร) เดินเวรตลอดคืน

Location : มุขกระสัน, พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย 

Mystery Story : ศุภวรรณกล่าวว่าบริเวณที่เป็นมุขกระสันในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นห้องเก็บทองคำที่สร้างล้อมรอบด้วยลูกกรงเหล็กและจะมีผ้าม่านผืนใหญ่จากพื้นจดเพดานกั้นระหว่างห้องทองคำกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ผู้ที่ถือกุญแจเปิดห้องนี้ได้คืออธิบดีกรมศิลปากร เรื่องที่เป็นตำนานคลาสสิกของที่นี่สมัยที่ยังไม่มีการติดตั้งกล้อง CCTV คือมีโจรแอบอยู่หลังม่านเพื่อรอเวลากลางคืนจะเข้าไปขโมยของมีค่าในห้อง

“เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งเกษียณไปแล้วเล่าว่าโจรได้ให้การกับตำรวจว่าเขาทำทีเป็นนักท่องเที่ยวมาชมพิพิธภัณฑ์และไปแอบอยู่หลังม่าน พอตกดึกก็เอาเลื่อยออกมาเพื่อจะตัดลูกกรงเหล็ก แต่ในขณะที่กำลังจะเลื่อยได้ยินเสียงคนสวมรองเท้าเดินมาและเห็นเงาชะโงกมองมา โจรก็กลับไปแอบหลังม่านและออกมาใหม่เมื่อเสียงหายไปแล้ว แต่พอจะเริ่มตัดลูกกรงก็จะได้ยินเสียงแบบเดิมอีกเรียกว่าเล่นเอาล่อเอาเถิดกันทั้งคืนจนโจรคนนั้นเหนื่อยและหลับไป จนรุ่งเช้าเจ้าหน้าที่เห็นความผิดปกติจึงแจ้งตำรวจมาจับตัวโจรไว้ได้โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่าเมื่อคืนไม่มีใครเดินไปทางด้านนั้นเลย”

History : มุขกระสันเป็นอาคารที่เชื่อมพระราชมณเฑียรที่ประทับกับท้องพระโรง แต่เดิมคือส่วนหนึ่งของมุขเด็จ ที่ตั้งพระที่นั่งบุษบกเกรินสำหรับเสด็จออกขุนนาง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้าในรัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงเพื่อเสด็จออกรับแขกเมืองและบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ มุขเด็จจึงกลายเป็นมุขกระสันซึ่งเป็นทางเชื่อมหมู่พระวิมานกับท้องพระโรงและปัจจุบันจัดแสดงเรื่องกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับ วังหน้า ในแต่ละรัชกาล

ตัวอย่าง ศาลเพียงตา ที่เคยจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

ศาลเพียงตาและอะไรเอ่ยมาแต่ขาไม่เจอตัว

Location : พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

Mystery Story : ศุภวรรณเล่าว่าขณะกำลังเตรียมจัดงานอาร์ตทอย เมื่อเดือนเมษายน 2566 ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน นักออกแบบคนหนึ่งได้วางของชิ้นใหญ่ไว้บนโต๊ะกลางห้องและรอบๆ ไม่มีใครอยู่และไม่มีลมพัด แต่ปรากฏว่าอยู่ๆ ของชิ้นนั้นก็โดนกวาดลงบนพื้นจนแตก

“เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ท่านหนึ่งซึ่งอยู่ที่นี่มานานจึงถามว่า ‘มาขายของได้บอกเจ้าที่เขาหรือยัง’ เราไม่ได้เอะใจมาก่อน เพราะคิดว่าเป็นงานเล็กๆ ก็เลยไม่ได้ทำพิธีอะไร เพราะปกติถ้าเป็นนิทรรศการใหญ่เราจะมีพิธีบรวงสรวงเซ่นไหว้อยู่แล้ว เราก็เลยต้องทำศาลเพียงตาเซ่นไหว้ของแบบแอบๆ ไม่ให้ผู้เข้าชมเห็น แต่ในนิทรรศการ “พูด ผี-ปีศาจ” ครั้งนี้เราจะจัดศาลเพียงตาให้เห็นกันชัดๆ เลย

“ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ที่มาทำงานใหม่จะเจอเหมือนเขาออกมาทักทาย เช่น เจ้าหน้าที่น้องใหม่คนหนึ่งเขาเข้ามาเปิดกุญแจตู้จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกข์เพื่อเตรียมเปิดไฟ ขณะกำลังก้มไขกุญแจนั้นสายตาเหลือบเห็นขาคู่หนึ่งมายืนข้างๆ แต่เมื่อแหงนหน้ามองก็ไม่เจอใคร”

History : พระที่นั่งศิวโมกขพิมานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยแผนผังได้รับรูปแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนซึ่งเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงตอนท้ายพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้าในรัชกาลที่ 3) โปรดให้รื้อของเดิมซึ่งเป็นอาคารเครื่องไม้โถงไม่มีผนังแล้วทำใหม่ทั้งหลังโดยขยายส่วนให้ใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรงและมีเฉลียงรอบ ปัจจุบันเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ

วังหน้า

เด็กๆ อย่าปีนป่าย เดี๋ยวโดนผลักตกลงมา

Location : พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ 

Mystery Story : พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นแบบตะวันตกเพื่อทรงใช้ประทับและเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะ ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ บริเวณห้องตอนกลางชั้นบนของพระที่นั่งมีตู้จำหลักปิดทองประดิษฐานพระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและเบื้องล่างตู้มีอัฒจันทร์ไม้สลักจำนวนสามชั้น

“บริเวณอัฒจันทร์ที่มีชั้นลดหลั่นนี้เมื่อก่อนเราไม่ได้ติดตั้งเชือกกั้นทำให้เด็กบางคนชอบไปปีนป่ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และมักโดนผลักตกลงมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อไม่นานมานี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้มีการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ดูแลห้องต่างๆ และเจ้าหน้าที่ซึ่งเพิ่งมาประจำที่ห้องนี้เล่าว่าขณะกำลังเช็ดทำความสะอาดรู้สึกเหมือนมีใครมาดึงผมเบาๆ เขาเลยคิดว่าเพราะเขามาใหม่คงจะโดนทักทายแน่เลย” ศุภวรรณกล่าวและเสริมว่าสำหรับตนเองนั้นไม่เคยเจอแบบตัวเป็นๆ นอกจากได้ยินเสียงคนกวาดใบไม้หลังเที่ยงคืนตรงลานลั่นทม

วังหน้า
พระป้าย

History : พระป้าย ภาษาจีนเรียกว่า “เจียเสริน” แปลตามศัพท์ว่า “เทพประจำบ้าน” หมายถึงป้ายชื่อบรรพบุรุษที่ชาวจีนจะจัดทำไว้ประจำบ้านสำหรับให้ลูกหลานเคารพบูชาเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ พระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างบูชาภายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2408 โดยพระโอรสคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตัวพระป้ายทำด้วยไม้แกะสลักซ้อนกันสองชั้น ชั้นนอกจารึกอักษรภาษาจีนปิดทองสองแถวจารึกพระปรมาธิไธยและผู้เซ่นสรวงบูชา ชั้นในหรือลิ้นพระป้าย เขียนอักษรจีนภาษาจีนด้วยหมึกสีดำ มีอักษรสามแถว แถวกลางเป็นพระปรมาธิไธย แถวขวาบอกวันเวลาประสูติ และแถวซ้ายบอกวันเวลาสวรรคต

วังหน้า

เรื่องเล่าลานลั่นทมและชายนุ่งโจงในสวนจีน

Location : หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช / เก๋งนุกิจราชบริหาร

Mystery Story : แจม-จนัญญา ดวงพัตรา นักออกแบบจาก มือกระบี่สตูดิโอ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มศิลปินศาลาอันเต ผู้สร้างสรรค์กาชาปองอาร์ตทอยที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวสุดพิศวงเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์

“แจมชอบมานั่งทำงานที่ห้องชั้นล่างของหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราชซึ่งเป็นห้องกระจกและด้านหนึ่งมองออกไปเห็นลานลั่นทมและเก๋งนุกิจราชบริหาร ปกติแล้วแจมเป็นคนที่ไม่เคยเจอเรื่องลี้ลับหรือวิญญาณมาก่อนเลย จนวันหนึ่งขณะนั่งทำงานในห้องนั้นและมองออกไปตรงลานลั่นทม แจมเห็นผู้ชายคนหนึ่งนุ่งโจงสีแดงและเสื้อสีเหลือง จำได้แม่น เพราะเสื้อเหลืองมากๆ แบบแจ่มติดตา ตอนแรกคิดว่าคงเป็นนักท่องเที่ยวและเราก็จ้องดูเพื่อจะได้เห็นชัดๆ เวลาเขาเดินพ้นเสาอาคาร แต่ก็ไม่เห็นว่าเดินผ่านมาสักที เลยออกไปดูก็ไม่เห็นใครเลย อีกวันหนึ่งในห้องที่เราชอบไปนั่งทำงานและเป็นที่เก็บตู้กาชาปองด้วย แจมเห็นเด็กผู้ชายหัวเกรียนผลุบโผล่อยู่ข้างตู้ แต่พอเดินไปดูใกล้ๆ ก็ไม่เจอตัวเหมือนกัน”

ศุภวรรณเสริมว่า “เมื่อตอนก่อสร้างอาคารหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช ช่างเขาบอกว่าไม่ขอทำโอทีนะ เพราะพอตกเย็นพวกเขาจะได้ยินเสียงเด็กๆ วิ่งเล่นกันรอบๆ”

Mystery Tour
ภายในห้องสิน

History : พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งบวรปริวัติเป็นอาคารทรงจีนสองชั้นเพื่อเป็นที่เสด็จออกประพาสฝ่ายใน แต่เสด็จสวรรคตก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงดำเนินการต่อจนเสร็จ ภายในบริเวณพระที่นั่งบวรบริวัติยังมีสวนและเก๋งแบบจีนอีกด้วย ปัจจุบันได้รื้อถอนพระที่นั่งและสวนจีนไปแล้วคงเหลือแต่เก๋งนุกิจราชบริหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสวนจีน

เก๋งจีนเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนสามด้านหลังคามุงกระเบื้องจีน และที่สำคัญคือภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสามด้านเล่าเรื่องพงศาวดารจีนเรื่อง ห้องสิน ซึ่งพบเพียงที่เดียวในประเทศไทย และสันนิษฐานว่าเขียนโดยฝีมือช่างจีนในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าในรัชกาลที่ 5

ส่วนบริเวณที่เคยเป็นสวนจีนปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) ซึ่งสร้างขึ้นใหม่โดยมีศิลปวัตถุที่สำคัญคือบานเฟี้ยมไม้ชิงชันแกะสลักปิดทองจำนวน 26 บานที่เล่าเรื่องวรรณกรรมจีน สามก๊ก โดยชุดบานเฟี้ยมนี้เดิมติดตั้งอยู่ที่หอนั่งซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการในเคหาสน์ย่านหัวลำโพงของเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาลในสมัยรัชกาลที่ 4

Fact File

  • เทศกาลผีนานาชาติ “พูด ผี-ปีศาจ” (Ghost Talks) จัดขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
  • Mystery Tour จะจัดวันละ 1 รอบในเวลา 13.00 น. ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่หน้างานก่อนเวลาเริ่มและไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ https://www.facebook.com/eduNMB

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์