วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ วังลับหนึ่งเดียวบนถนนบำรุงเมือง ที่กำลังกลับมาเป็นสปอตไลต์เมืองอีกครั้ง
Arts & Culture

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ วังลับหนึ่งเดียวบนถนนบำรุงเมือง ที่กำลังกลับมาเป็นสปอตไลต์เมืองอีกครั้ง

Focus
  • กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 4 ริมถนนบำรุงเมืองฝากเหนือ เดิมทีสร้างตำหนักเป็นเรือนไม้อยู่ชั่วคราว และได้รื้อสร้างเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนแบบตึกฝรั่งใน พ.ศ. 2427
  • วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ วังลับหนึ่งเดียวบนถนนบำรุงเมือง ที่ยังคงหลงเหลือมาเล่าประวัติศาสตร์เมืองพระนครในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5

เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องถนน ชื่อนี้คือ ถนน 3 สายแรกที่เกิดขึ้นในพระนครกรุงเทพฯ พร้อมกับวัฒนธรรมการสร้างผังเมืองแบบใหม่ การเกิดขึ้นของรถราง รวมทั้งอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกรูปแบบใหม่ แม่น้ำถูกลดทอนบทบาททางเศรษฐกิจ ถนนจึงกลายเป็นทำเลทองที่ดึงดูดตึกแถวให้มาสร้างตั้งประชิดอยู่ติดสองฝั่ง ตึกแถวสองชั้นสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกิส ตามอย่างสิงคโปร์เริ่มได้รับความนิยม และหลังตึกแถวเหล่านั้นก็ได้ซ่อนกลุ่มวังขนาดใหญ่ของเจ้านายในยุคนั้นไว้อีกชั้น เช่นเดียวกับ วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ วังลับหนึ่งเดียวบนถนนบำรุงเมือง ที่ยังคงหลงเหลือมาบอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองพระนครในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5 อาคารหลังนี้เป็นวังที่ถูกเปลี่ยนผ่านจากตำหนักที่พักอาศัยสู่โรงเรียนลูกลิงป่า สู่การถูกทิ้งร้าง และสู่การรอรื้อฟื้นประวัติศาสตร์วังและ ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ให้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์ของเมืองอีกครั้ง

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ) พระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ต้นราชสกุล “สวัสดิกุล” เดิมทีบริเวณนี้ประกอบด้วยอาคารตำหนักที่พักอาศัยถึง 2 ตำหนัก คือ ตำหนักใหญ่ของกรมพระสมมตอมรพันธุ์และโอรสองค์โต อีกหลังคือตำหนักเล็กของโอรสองค์รอง รอบตำหนักเป็นที่อยู่สำหรับบริพารเรียกว่า “ตรอกวัง” พร้อมโรงม้า สระน้ำที่ทรงสรง พร้อมทางเข้าออกวังที่ซ่อนอยู่ด้านหลังกลุ่มตึกแถวชิโน-โปรตุกิสอีกชั้น

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 – 3 เมืองพระนครรอบเกาะรัตนโกสินทร์ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่พามาในรัชกาลที่ 4 ถึง 5 เมืองพระนครมีการขยายใหญ่มากขึ้น พร้อมกับมีกลุ่มวังเกิดขึ้นหลายๆ กลุ่ม ซึ่งในยุคนั้นวังไปไหน ข้าราชบริพาลก็ตามไปที่นั่น เหมือนเมืองขยายตัวตามกลุ่มวังก็ว่าได้ และที่น่าสังเกตคือกลุ่มวังเหล่านี้ขยายตัวตามถนนไม่ได้ขยายตัวตามที่นาอีกต่อไป ต่างกับสมัยก่อนที่วังจะสร้างติดกับที่นา มีการเก็บค่าเช่าที่นาเป็นรายได้ พอรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างถนนตามตะวันตก มูลค่าทางเศรษฐกิจของเมืองย้ายไปอยู่สองฟากถนน วังก็ขยายตามถนนเช่นกัน ซึ่งถนนบำรุงเมืองก็เป็นถนนเส้นแรกๆ ที่เกิดขึ้นในพระนคร จึงทำให้เกิดกลุ่มวังริมประตูสำราญราษฎร์ หรือกลุ่มวังประตูผี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ทั้งฝากทิศเหนือและทิศใต้ของถนนบำรุงเมือง เรียกว่าเป็นวังยุคใหม่แห่งพระนคร”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อํานวยการศูนย์ Urban Ally

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อํานวยการศูนย์ Urban Ally ซึ่งได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เพื่อฟื้นคืนชีวิตวังเก่าในโปรเจ็กต์ Living Old Building หนึ่งในซีรีส์ย่อยของโปรเจ็กต์ใหญ่ UNFOLDING BANGKOK ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 ย้อนเล่าความสำคัญของวังที่แม้เป็นวังเก่าที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยและถูกทิ้งร้างอยู่เงียบๆ กลางชุมชนมานาน ทว่าวังแห่งนี้กลับมีความน่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์เมือง ทั้งเรื่องการจัดผังเมืองและเศรษฐกิจของเมืองที่ถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมาผ่านทำเลทองในการสร้างวัง โดยกลุ่มวังริมประตูสำราญราษฎร์มีทั้งหมด 4 วัง ได้แก่ วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ วังกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร และวังกรมขุนสิริธัชสังกาศ ซึ่งต่างก็สร้างอยู่ด้านหลังตึกแถวริมถนนทั้งสิ้น เพราะชัดเจนแล้วว่าการเก็บค่าเช่าตึกแถวในยุคนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าเก็บค่าเช่าที่นา

“ถ้าเราดูแผนที่ทางอากาศในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้มีตำหนักอยู่ 2 ตำหนัก คือ พระตำหนักใหญ่สีขาวหันหน้าออกมายังถนนมีแนวตึกแถวเป็นเหมือนกำแพงวังกั้นอยู่ และมีตำหนักหลังเล็กหลังคาสีเข้มตั้งอยู่ทางตะวันออกหันหน้าเข้าตำหนักใหญ่เพื่อให้เชื่อมทางเดินถึงกัน ซึ่งก็ทำให้ตำหนักเล็กมีการสร้างที่ไม่สมมาตรตาบแบบการสร้างวังไทยที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น เพราะประตูตำหนักเล็กต้องสร้างให้ตรงกับแกนของตำหนักใหญ่”

ตำหนักใหญ่ที่ถูกรื้อถอนและสร้างโรงเรียนขึ้นมาแทน เมื่อโรงเรียนปิดก็กลายมาเป็นโรงหล่อพระ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท ขยายความน่าสนใจของพื้นที่วังที่ปัจจุบันพระตำหนักใหญ่ถูกรื้อถอนสร้างเป็นโรงเรียนกลางชุมชนขึ้นมาแทน (ที่ตั้งเดิมของพระตำหนักใหญ่คือโรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัย ส่วนตำหนักเล็กเป็นโรงเรียนเลิศประสาทวิชา หรือที่ชาวชุมชนเรียก ลิงป่า) และปัจจุบันเมื่อโรงเรียนปิดตัวลง อาคารโรงเรียนก็ได้กลายเป็นโกดังเก็บพระพุทธรูปของโรงหล่อพระซึ่งกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนถนนบำรุงเมืองยุคปัจจุบัน

ช่องลมข้างหน้าต่าง

ในแง่สถาปัตยกรรม ชัดเจนว่า วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ สร้างโดยช่าง สถาปนิกชาวตะวันตกชุดแรกๆ ที่เข้ามาทำงานในสยาม ซึ่งความโมเดิร์นไม่ใช่เพียงแค่ตัวโครงสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนแบบตึกฝรั่ง แต่ยังเป็นแนวคิดของเจ้าของวังที่ค่อนข้างล้ำสมัย กล้าที่จะลดทอนธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัดของวัง เช่นเรื่องการสร้างบันได ซึ่งวังยุคก่อนจะไม่สร้างบันไดไว้ในตัวบ้าน เพราะมีความเชื่อเรื่องการเดินข้ามหัวเจ้านายที่มียศสูงกว่า แต่วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์มีการสร้างบันไดอยู่ในตัวบ้าน แต่ก็มีการแยกระหว่างบันไดกลางของเจ้านาย และบันไดเวียนเล็กๆ ด้านหลังของบ่าวไพร่ที่ทำงานในบ้าน นอกจากนี้ยังมีส่วนของระเบียงแบบบ้านไทยที่ปรับมาใส่ไว้ด้านในตัวบ้านเป็นระเบียงรูปตัว L ด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
ระเบียงทางเดินรูปตัว L สร้างไว้ในบ้าน
วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
บันไดหน้าสำหรับเจ้านาย บันไดวนด้านหลังสำหรับบ่าวไพร่ในบ้าน

เมื่อเป็นอาคารปูนแบบตะวันตกที่สร้างในเมืองร้อนอย่างไทย สถาปนิกจึงมีการปรับโครงสร้างบ้านให้เข้ากับอากาศที่ร้อนอ้าวของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องลมบริเวณหน้าต่าง หรือการสร้างบ้านอยู่เหนือบ่อน้ำ ซึ่งข้อดีคือทำให้บ้านมีความเย็น แต่ข้อเสียคือความชื้นจากบ่อน้ำทำให้บ้านพื้นไม้ของบ้านผุพังได้ง่ายเช่นกัน

วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
ตรอกทางเข้าบริเวณถนนบำรุงเมืองที่มีมาแต่เดิม
วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
ชุมชนที่สร้างล้อมวังไว้

ปัจจุบัน วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ มีเจ้าของใหม่ที่ประมูลวังต่อมาได้ ทว่าก็ยังไม่ได้มีการประกาศแผนที่ชัดเจนออกมาว่าวังเก่าที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2427 (รัชกาลที่ 5) หลังนี้จะปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทว่าสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากคือการเข้ามาเปิดพื้นที่วังร้างที่ถูกลืมของทีม Urban Ally ที่ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโปรแกรมเปิดวังลับ Living Old Building ซึ่งเป็นซีรีส์ของโปรเจ็กต์ใหญ่ UNFOLDING BANGKOK ที่จะจัดทั้ง Projection Mapping การเล่าประวัติศาสตร์วังและประวัติศาสตร์ชุมชนรอบวังไปพร้อมๆ กันระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 ซึ่งนี่เป็นการเปิดบทสนทนาระหว่างพื้นที่ประวัติศาสตร์กับเมือง ชุมชน และผู้มาเยือนต่างถิ่น เป็นงานเชิงทดลองให้เห็นว่าในขณะที่เมืองกำลังพัฒนาก็ยังมีคนอีกลุ่มที่เขาเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์เมือง แม้จะเป็นวังเล็กๆ ที่ทางเข้าก็ยังหาแทบไม่เจออย่าง วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ แห่งนี้

Fact File

UNFOLDING BANGKOK ตอน Living Old Building พาไปเปิด วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 ลงทะเบียนร่วมงานและติดตามทุกกิจกรรมได้ที่  www.facebook.com/UrbanAlly.SU

อ้างอิง


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"