สำรวจ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งใหม่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
Arts & Culture

สำรวจ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งใหม่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

Focus
  • เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้สำรวจแหล่งภาพเขียนสีแหล่งเดิม 6 แห่ง ได้แก่ ต่อเนื่องด้วยการสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีแหล่งใหม่ล่าสุดอีก จำนวนอีก 5 แหล่ง ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
  • สำหรับภาพเขียนสีตามเพิงผาหรือถ้ำบริเวณอ่าวพังงา รวมไปถึงบริเวณฝั่งทะเลอันดามันนั้นทางกรมศิลปากรได้สำรวจพบแล้วกว่า 30 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นภาพที่เขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์

พังงาไม่ได้มีแต่ทะแลและชายหาด แต่พังงายังมีภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่กำลังจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของการเดินทาง โดยการค้นพบภาพเขียนสีโบราณแหล่งใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่ กรมศิลปากร นำโดย ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้ส่งทีมลงสำรวจพื้นที่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา หลังจากที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเพื่อขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ร่วมสำรวจภาพเขียนสีโบราณร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

การสำรวจแหล่งภาพเขียนสีแหล่งเดิม 6 แห่ง ได้แก่ เกาะปันหยีถ้ำนาค เขารายา เขาเขียน 1 เขาเขียน 2 และเขาพระอาดเฒ่า ต่อเนื่องด้วยการสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีแหล่งใหม่ล่าสุดอีก จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่เกาะทะลุนอก เกาะเขาเต่า ถ้ำนกกระเรียน เกาะไข่  และเกาะยางแดงรวมทั้งสิ้น 11 แหล่ง

กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ ซึ่งนับว่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งภาพเขียนสี (ศิลปะถ้ำ) ฝั่งทะเลอันดามันเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพเขียนสีในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงาอย่างเป็นระบบ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาเป็นพื้นฐานต่อยอดในเชิงพัฒนา เช่น การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึก อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ มีการกระจายรายได้ให้กับชุมชนที่ร่วมกันดูแลและเป็นการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมด้วยอีกทางหนึ่งอธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

สำหรับภาพเขียนสีตามเพิงผาหรือถ้ำบริเวณอ่าวพังงา รวมไปถึงบริเวณฝั่งทะเลอันดามันนั้นทางกรมศิลปากรได้สำรวจพบแล้วกว่า 30 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นภาพที่เขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนยังไม่มีตัวอักษรใช้สื่อสาร เรื่องราวภาพเขียนสีที่บันทึกแสดงออกถึงวิถีชีวิตและการใช้พื้นที่ของผู้คนเมื่อราว 3,000-5,000 ปีมาแล้ว เช่น ภาพบุคคล ภาพสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ภาพลวดลายเรขาคณิต

ทั้งนี้จากประวัติการศึกษาที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบและสำรวจแหล่งภาพเขียนสีบริเวณอ่าวพังงา – อ่าวลึก ของนักวิชาการไทยและต่างชาติมาโดยตลอด เช่นในปี พ.ศ. 2530 – 2531 กรมศิลปากรภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) ได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศ และได้พบแหล่งภาพเขียนสีหลายแห่ง

หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา มีการแจ้งพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง จึงดำเนินการสำรวจซ้ำแหล่งเดิมเพื่อตรวจสอบสภาพของแหล่งภาพเขียนสี และสำรวจแหล่งที่พบใหม่เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันที่มีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีโบราณเพิ่มเติมบนหมู่เกาะต่างๆ ของ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

ภาพ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร