คุยกับ โจ้ Rainforest เบื้องหลัง ดอกไม้แรก (ยิ้ม) แย้ม กลางชุมชนเก่า หัวตะเข้
Arts & Culture

คุยกับ โจ้ Rainforest เบื้องหลัง ดอกไม้แรก (ยิ้ม) แย้ม กลางชุมชนเก่า หัวตะเข้

Focus
  • นิทรรศการ ดอกไม้แรก (ยิ้ม) แย้ม จัดแสดงงานศิลปะจากดอกไม้กระจายอยู่ใน ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00-18.00 น.
  • นิทรรศการ ดอกไม้แรก (ยิ้ม) แย้ม ออกแบบโดย โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี ผู้ก่อตั้งเวดดิ้งแพลนเนอร์ชื่อดัง Rainforest the Wedding และคอมมิวนิตี้ รักดอก ที่นำเสนอทุกเรื่องราวแรงบันดาลใจจากดอกไม้

ชุมชนตลาดเก่า หัวตะเข้ ชื่อนี้คือภาพจำของห้องแถวเก่าริมคลองที่ยังคงมีชีวิตชีวาด้วยผู้คน ร้านรวงเก่าๆ ผสมไปกับร้านเก๋ของแขกรับเชิญหน้าใหม่ บางจังหวะชุมชนแห่งนี้ก็คึกคัก แต่บางจังหวะก็ช่างเงียบเหงา แต่ล่าสุดอดีตศูนย์กลางชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ แห่งนี้ กำลังจะถูกเพิ่มเติมด้วยความสดใสของนิทรรศการ ดอกไม้แรก (ยิ้ม) แย้ม โดยมีนักจัดดอกไม้ชื่อดัง โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี เป็นผู้จุดประกายไอเดียเล็กๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะขยายเป็นทางเดินสายดอกไม้ที่มีฉากชีวิตจริงในชุมชนเก่าเข้ามาร่วมเป็นองค์ประกอบ

หัวตะเข้
โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี ผู้ก่อตั้ง Rainforest the Wedding

“เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญมากๆ บังเอิญว่าเราทำคอนเทนต์ลง รักดอก (rakdok.com) ซึ่งเป็นชาแนลที่รวมคอนเทนต์เกี่ยวกับดอกไม้ แรงบันดาลใจทุกอย่างเกี่ยวกับดอกไม้ และก็บังเอิญว่าก็เห็นเพื่อนโพสต์ว่ากำลังจะมีคาเฟ่ชื่อ Cafe aux fleurs ของพี่ที่เรารู้จักมาเปิด เราก็คิดแค่ว่าเดี๋ยวจะมาทำคอนเทนต์ลงดีกว่า ปรากฏว่ามาถึงก็ไม่มีดอกไม้ เราก็เลยบอกพี่โด่งเจ้าของร้านว่าไม่ได้เดี๋ยวจะมาจัดดอกไม้ให้ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้มารู้จักชุมชน หัวตะเข้ ซึ่งน่ารักมาก และสุดท้ายก็เลยได้ขยายมาเป็นนิทรรศการดอกไม้ที่คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างที่เห็น”

หัวตะเข้
บรรยากาศห้องแถวไม้เก่าตลาด หัวตะเข้
ภาพ : Flowersroadstudio

โจ้-ชยวัสส์ผู้ก่อตั้งคอมมิวนิตี้คนรักดอกไม้ที่ชื่อ รักดอก บอกเล่าถึงไอเดียแรกเริ่มที่ตนเองก็ไม่คิดว่าจะขยายกลายมาเป็นนิทรรศการ แต่ขึ้นชื่อว่า โจ้-ชยวัสส์ ซึ่งเป็นเวดดิ้งแพลนเนอร์เบอร์ต้นของไทย ผู้อยู่เบื้องหลังฉากดอกไม้สุดอลังการในงานแต่งงานมานานกว่า 13 ปีในชื่อ Rainforest the Wedding นั่นจึงทำให้เมื่อเขาลงมือทำในสิ่งที่เขาหลงใหลอย่างเรื่องดอกไม้ ผลลัพธ์จึงกลายเป็นความจัดเต็มในทุกงาน เรียกว่าไม่อลังการไม่ใช่ โจ้ Rainforest เลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับนิทรรศการดอกไม้ครั้งนี้ที่โจ้นำดอกไม้ราว 1 ตันจากเกษตรกร พร้อมพนักงาน Rainforest the Wedding กว่า 40 ชีวิต มาร่วมเปลี่ยนชุมชนเก่าให้กลายเป็นแกลเลอรีขนาดย่อมที่ใส่เรื่องราวของชุมชนลงไป

หัวตะเข้
โด่ง-นักรบ สังเกตุ Cafe aux fleurs

“โจทย์ของการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่ว่าให้คนนึกถึงแบรนด์ Rainforest แต่โจทย์คือการนำเรื่องราวของชุมชนมารวมกับงานศิลปะ งานดอกไม้ ซึ่งในเมืองไทยเองแม้จะเป็นแหล่งปลูกดอกไม้ส่งออกรายใหญ่ ทว่าการใช้งานดอกไม้ในประเทศยังจำกัดอยู่ที่ดอกไม้คือดอกไม้ไหว้พระ ดอกไม้ใส่แจกัน ทั้งที่ความจริงแล้วดอกไม้สามารถทำได้ทั้งงานศิลปะและฟังก์ชันที่มากกว่านั้น

หัวตะเข้
อุปกรณ์จับปลาในตลาดถูกนำมาดัดแแปลงเป็นงานศิลปะ
ภาพ : Flowersroadstudio

“สำหรับนิทรรศการดอกไม้แรกยิ้มแย้มที่ชุมชนตลาดเก่า หัวตะเข้ เรานำดอกไม้มาเป็นสื่อกลางเพื่อเล่าถึงเสน่ห์ชุมชน ก่อนที่จะออกแบบเราก็ได้พี่โด่ง เจ้าของ Cafe aux fleurs นำเราเดินไปรู้จักกับคนในชุมชน พูดคุยกับร้านค้าต่างๆ ซึ่งไอเดียหรือวัสดุที่เราใช้ทำนิทรรศการก็ดึงออกมาจากชุมชนทั้งนั้น ดังนั้นอีกโจทย์ที่สำคัญของการทำงานในชุมชนคือ ทำอย่างไรให้เรื่องราวในชุมชนเด่น เป็นความลงตัวอย่างพอดี โดยที่ดอกไม้ไม่ได้บดบังเรื่องราวเหล่านั้น”

เบื้องหลังชิ้นงาน COLORS ที่สื่อถึงสีสันใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนเก่า
ภาพ : Flowersroadstudio

และไอเดียแรกที่โจ้หยิบออกมาจากชุมชนคือ การย้อมสีดอกไม้พลาสติกเก่าในคลังดอกไม้ที่เก็บไว้ให้กลายเป็นชิ้นงานใหม่แถมด้วยความคลาสสิก ซึ่งนี่ได้มาจากตุ๊กตาหมีย้อมสีที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในตลาดนำมาวางขายเป็นของที่ระลึก ต่อมาคืออุปกรณ์จับปลาที่ขายกันอยู่หลายร้านในตลาดและเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บอกให้รู้ว่าตลาดแห่งนี้คือจุดบรรจบของ 3 ลำคลอง ได้แก่ คลองจระเข้ คลองปลาทิว และคลองประเวศ

บางชิ้นงานจัดกลมกลืนอยู่กับบ้านไม้เก่า และบางงานก็เป็นการถมเรือพุ่มพวงขายของชำลำเก่าให้เป็นอุโมงค์ดอกไม้เล็กๆ ที่ถ่ายรูปออกมาแล้วสวยปังมาก ซึ่งนี่ไม่ใช่การทำงานศิลปะดอกไม้ของโจ้ ถ้ายังจำกันได้ถึงอุโมงค์ดอกไม้ที่รวมทุกดวงใจของชาวปากคลองตลาดและชาวไทยถึงพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นแหละคืองานออกแบบที่มีชื่อโจ้ Rainforest อยู่ฉากหลัง

เลือกใช้ดอกไม้สดที่จะค่อยๆ กลายเป็นงานดอกไม้แห้งเพื่อลดปัญหาการใช้โอเอซิส
หัวตะเข้
ดอกไม้ที่อัดแน่นลำเรือ (ภาพ : Flowersroadstudio)

สำหรับ นิทรรศการดอกไม้แรก(ยิ้ม)แย้มได้กระจายศิลปะจากดอกไม้อยู่ทั่วตลาดประมาณ 12 จุด ไฮไลต์คือ โรงระหัด โรงไม้ที่เคยเป็นที่สร้างระหัดวิดน้ำเข้าสวนเข้าไร่ ซึ่งด้านหน้าโรงระหัดได้ถูกแปลงให้เป็น Rakdok Market ตลาดดอกไม้ที่หมุนวนดอกไม้จากเกษตรกรไทยมาจัดจำหน่าย พร้อมนำตะกร้าสานที่หาได้ในชุมชน หัวตะเข้ มาเปลี่ยนเป็นแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ในชิ้นงาน Flower Bubble

หัวตะเข้
งานเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ระหว่างทางเดิน

หลังจากเดินผ่านม่านดอกรักสีพาสเทลเข้าไปจะเจอกับคลองสีม่วงของดอกสแตติส (statice) ในชิ้นงาน How you remind me? ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานนั่งเรือลงไปถ่ายรูปกลางคลองสายดอกไม้ ซึ่งการเลือกใช้ดอกสแตติสก็ด้วยเหตุผลว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการดอกไม้ระยะยาวกินเวลาราว 1 เดือน ดอกไม้ที่เลือกใช้จึงเป็นดอกไม้สดที่สามารถเปลี่ยนเป็นดอกไม้แห้งได้อย่งสวยงาม โดยไม่ต้องใช้ก้อนโอเอซิสซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่กำลังเป็นที่ขบคิดเรื่องการสร้างขยะในแวดวงดอกไม้อยู่ในตอนนี้

หัวตะเข้
เบื้องหลังการทำงาน

ด้านในสุดของโรงระหัดคือชิ้นงาน Fify Shades of Planet นำขยะพลาสติกอย่างพวกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ใส่สี ดีไซน์ ลวดลายลงไปก็กลายแจกันที่สวยจนเราไม่นึกอยากทิ้ง ซึ่งการลดขยะในงานดอกไม้นี้ถือเป็นอีกลายเซ็นของ โจ้ Rainforest เพราะที่ผ่านมาโจ้ได้หันมาจริงจังกับเรื่องนี้จนแตกไลน์ออกมาเป็นแบรนด์ LANE for LESS นำคำว่า Luxury Sustainability มาใช้ในการจัดงานแต่งงาน ไม่ว่าจะจัดงานหรูหรา ดอกไม้จัดเต็มขนาดไหน แต่ก็ยังสามารถใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ เป็นการร่วมหาทางออกให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการจัดงานแต่งงาน

หัวตะเข้

อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มของงานนิทรรศการครั้งนี้มาจาก Cafe aux fleurs ดังนั้นคาเฟ่เล็กๆ ริมคลองแห่งนี้จึงเป็นอีกไฮไลต์ของการจัดงาน ในร้านมีดอกไม้เต็มทั้งชั้นบนและชั้นล่างของร้านเลยทีเดียว ระหว่างสองข้างทางที่เดินไปร้านนี้ถ้าสังเกตดีๆ จะมีงาน Installation art ซ่อนอยู่ตามสองข้างทาง ไปจนจบที่ร้าน สี่แยก หัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์ ซึ่งมีเรือขายของชำลำเก่าแก่ผูกอยู่กลางน้ำ

ในเรือขนดอกไม้ไว้เต็มลำจนกลายเป็นอุโมงค์ดอกไม้ลอยน้ำ ย้อนวันคืนอันรุ่งเรืองของย่านตลาดชุมชนหัวตะเข้ที่มีเรือสินค้าจอดอย่างจอแจจนได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชานเมืองในย่านตะวันออกของกรุงเทพฯ

ขอบคุณภาพเปิด : Artyphoto

ขอบภาพประกอบ : Flowersroadstudio Rainforest the wedding

Fact File

  • ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ มีที่จอดรถในตลาดมีไม่มาก แนะนำให้ใช้บริการถสาธารณะคือ Airport Rail Link สถานีลาดกระบัง จากนั้นสามารถต่อรถสองแถวสาธารณะ (ลง Airport Rail Link สถานีลาดกระบัง เจอคิวรถเลย) มาลงปากซอยลาดกระบัง 17 และเดินเข้ามาสุดซอย
  • นิทรรศการดอกไม้แรก(ยิ้ม)แย้ม จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00-18.00 น.
  • ควรปฏิบัติตามกฎเรื่องการควบคุมจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละจุดอย่างเคร่งครัด เพราะบางจุดเป็นเรือเก่า บ้านเก่า ที่ไม่สามารถรับน้ำหนักผู้เข้าชมได้มากนัก


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว