สำรวจ ชุดน้ำชาจีน เครื่องถ้วยกระเบื้อง ที่สะท้อนรสนิยมชาวสยามต้นรัตนโกสินทร์
Arts & Culture

สำรวจ ชุดน้ำชาจีน เครื่องถ้วยกระเบื้อง ที่สะท้อนรสนิยมชาวสยามต้นรัตนโกสินทร์

Focus
  • ความนิยมในการเล่น เครื่องถ้วยกระเบื้องจีน ของชาวสยามมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนเข้าสู่ยุคทองในสมัยรัชกาลที่ 5
  • ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมชุดน้ำชาแบบจีนโดยสั่งทำมาจากเมืองจีนแต่การจัดชุดนั้นเป็นไปตามรูปแบบความนิยมอย่างสยาม
  • ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการประกวดการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาด้วยเครื่องกระเบื้องแบบจีนตามความนิยมอย่างสยามจนภายหลังมีการตราพระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะ ร.ศ.119 ซึ่งยังไม่ได้มีการยกเลิกมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่มีการเปิด หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) และ เก๋งนุกิจราชบริหาร ที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณด้านหลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 พื้นที่บริเวณนี้ที่เคยเงียบเหงามานานร่วม 20 ปีกลับมาคึกคักอีกครั้งกับกิจกรรมที่จัดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของจีน เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่อันเคยเป็นที่ตั้งของสวนจีนและพระที่นั่งบวรบริวัติ ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงจีน 2 ชั้นที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและถูกรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.2505 เนื่องจากสภาพทรุดโทรม

ชุดน้ำชาจีน

กิจกรรมล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนคือนิทรรศการ “รูปแบบชุดน้ำชาในสยาม” และเวิร์กชอปเรื่อง “ชงชาจีนอย่างไรให้อร่อย” ถึงแม้จะเป็นนิทรรศการขนาดย่อม แต่วัตถุโบราณจำพวก ชุดน้ำชาจีน และ เครื่องถ้วยกระเบื้อง ที่นำมาจัดแสดงนั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะความนิยมในการเล่นเครื่องถ้วยกระเบื้องจีนของชาวสยามในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนเข้าสู่ยุคทองในสมัยรัชกาลที่ 5

ในนิทรรศการจัดแสดง ชุดน้ำชาจีน ที่เป็นที่นิยมของชาวสยาม ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และเก่าแก่ย้อนไปจนถึงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงชิ้นเดี่ยวอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ปั้นชา ถ้ำชาที่ใช้เก็บใบชา จานลายเครือเถาบัว และถาดสัมฤทธิ์ซึ่งทั้งหมดเป็นฝีมือช่างชาวจีนสมัยราชวงศ์ชิง ราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 โดยศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากคอลเลกชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และบางชิ้นเป็นคอลเลกชันส่วนตัวของ ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ นักสะสมเครื่องกระเบื้องจีนและที่ปรึกษาการจัดนิทรรศการฯ ณ หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

ชุดน้ำชาจีน
ถ้วยชาลายผักกาด

“ชุดน้ำชาแบบจีนเหล่านี้เป็นการตกผลึกและออกแบบโดยชาวสยามเพราะเราจะไม่พบชุดชาลักษณะแบบนี้ในประเทศจีน ทั้งหมดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของสยาม เราสั่งจากเมืองจีนและออกแบบเลยว่าอยากได้ถ้วยแบบนี้ อยากได้ทั้งชุดแบบนี้ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายอย่างจีนแต่จำนวนของชิ้นในชุดและการจัดชุดเป็นรูปแบบตามความนิยมอย่างสยาม

“ในเมืองจีนไม่ใช้ชุดแบบนี้ อย่างมากก็มีปั้นชาโดยชงชาในปั้นรินใส่จอก 3-4 ใบ แต่สยามเน้นชุดที่หรูหราอลังการมากขึ้น มีถ้วยมีฝาใช้สำหรับชงน้ำชา มีอ่างรองและมีถ้วยชาอีก 3-4 ใบ นอกจากนี้ถ้าเป็นชุดชาที่นอกเหนือจากชุดจีนตามตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงแล้วยังมีถ้วยและอุปกรณ์อีกมากมายหลายอย่างซึ่งในเมืองจีนไม่ใช้เพราะมองว่าพะรุงพะรังเกินไป แต่สยามมองว่างามเพราะนำมาทั้งใช้และโชว์ด้วย” ธนพันธุ์ วิทยากรและนักสะสมเครื่องกระเบื้องจีนมากว่า 20 ปี ให้ข้อมูล

ชุดน้ำชาจีน
ชุดน้ำชาเขียนสีลาย 12 นักษัตร

ชุดน้ำชาหายากลาย 12 นักษัตรและผักกาด

การคัดเลือกชุดน้ำชาแบบจีนที่นำมาจัดแสดงนั้น ทางทีมภัณฑารักษ์เลือกชุดที่มีความโดดเด่น สวยงามเป็นพิเศษ ฝีมือประณีต หายาก และที่สำคัญคือมีเรื่องราวและสามารถบอกเล่าที่มาที่ไปของชุดนั้น ๆ ได้ โดยมีชุดที่สมบูรณ์จำนวน 3 ชุด

ชุดแรกเป็น ชุดน้ำชาเขียนสีลาย 12 นักษัตร ประกอบด้วยถ้วยชงมีฝา 1 ใบพร้อมอ่างรอง และถ้วยตวงไม่มีฝา 4 ใบวางบนถาดโลหะสลักลวดลายสวยงาม

“ชุดน้ำชาที่เป็นลายสีและฝีมือประณีตแบบนี้หายากมาก ๆในอดีตก็ราคาแพงมาก และในปัจจุบันนักสะสมซื้อด้วยราคาสูงลิบ อย่างชุดนี้ราคาเกิน 600,000 บาทแน่นอน มีการเขียนลายทั้งนอกและในด้วยจึงมีความพิเศษมาก ข้างนอกเขียนสีบนเคลือบแบบโอเวอร์เกลซ (overglaze) ส่วนด้านในเป็นลายครามคือเขียนลายบนเครื่องปั้นและชุบน้ำเคลือบ เครื่องที่เป็นลายสีและลายน้ำทองอย่างนี้แพงเพราะทำยากและต้องทำ 2 รอบ รอบแรกอย่างใบนี้เขียนลายครามข้างในก่อนแล้วเอาไปเผาให้สุกให้ขาว ๆ วาว ๆจากนั้นเอามาเขียนสีและอบด้วยอุณหภูมิต่ำราว 700-800 องศาเซลเซียสอีกครั้งหนึ่ง”

ธนพันธุ์ ผู้ซึ่งครอบครัวของเขาเก็บสะสมเครื่องกระเบื้องจีนมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดในสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายถึงความสำคัญของศิลปวัตถุและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างมาก สำหรับนักสะสมอย่างธนพันธุ์ เขากล่าวว่าการศึกษาเรื่องเครื่องกระเบื้องนั้นเปรียบเสมือนกุญแจช่วยไขไปสู่ห้องลับของประวัติศาสตร์

ชุดน้ำชาจีน
ชุดน้ำชาลายผักกาด

อีกชุดหนึ่งเป็น ลายผักกาดบนพื้นสีทอง ประกอบด้วยถ้วยชงมีฝา 1 ใบพร้อมอ่างรอง และถ้วยตวงไม่มีฝา 4 ใบวางบนถาดโลหะสลักลวดลายสวยงาม ลายผักกาดถือเป็นลายมงคลของจีนเพราะในสำเนียงจีนกลางคำว่าผักกาดพ้องเสียงกับคำที่แปลว่า ความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองเป็นร้อยเท่าพันเท่า

“ชุดนี้เป็นของทำยาก ต้องเผาเครื่องกระเบื้องให้สุกก่อน แล้วเขียนลายสีและเอาไปอบและลงสีทองและอบอีกครั้งหนึ่ง ต้องทำหลายทอดมากทำให้ต้นทุนสูง”

ชุดน้ำชาจีน
ชุดน้ำชาลายสุริยเทพ

ชุดน้ำชาลายตราประจำตัวของขุนนางคนสำคัญในยุครัชกาลที่ 5

ชุดที่สำคัญอีกชุดคือชุดน้ำชาลายครามมีลวดลายเป็นรูปใบหน้าบุคคลที่มีรัศมีเปล่งประกายโดยรอบ เรียกว่า ลายสุริยเทพ หรือ สุริยมณฑล ซึ่งเป็นชุดน้ำชาที่ออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของสยามโดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 ซึ่งในเวลานั้นพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ

“ราชทินนามของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คือ มหาศรีสุริยะ ท่านเลยใช้ตราสุริยมณฑลเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวท่าน ชุดน้ำชานี้จัดทำเพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านโดยทำเป็นลายตราประจำตัว ถือว่าเป็นกลุ่มเครื่องกระเบื้องที่เป็นตราประจำตัวหรือประจำตระกูลหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่ปรากฏในวัฒนธรรมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย ชุดน้ำชานี้เดิมเป็นเครื่องบริขารของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 ก่อนที่จะมีการมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษาดูแล”

ชุดน้ำชาจีน

มรดกเครื่องกระเบื้องจีนของเศรษฐีนีในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนชุดน้ำชาลาย 12 นักษัตร และลายผักกาดเป็นของสะสมของ นางล้อม เหมชะญาติ ซึ่งเป็นสตรีสามัญชนที่ร่ำรวยมากคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีความใกล้ชิดกับทางราชสำนัก โดย นายถนั่น พิศาลบุตร ผู้เป็นหลานชายและเป็นทายาทกองมรดกของนางล้อมมอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.2492 นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกหลายรายการที่ได้มอบให้พิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะผ้าและเครื่องกระเบื้องจีน

นางล้อมเป็นลูกสาวของเจ้าสัวกอม้าหัวซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงสีขนาดใหญ่ร่วมกับตระกูลพิศาลบุตรตรงบริเวณที่เรียกว่าล้งในปัจจุบัน ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของนายถนั่น พิศาลบุตร เมื่อ พ.ศ. 2527 กล่าวถึงความร่ำรวยของนางล้อมว่า ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งถามคุณนายล้อมว่ามีเงินเท่าไร คุณนายล้อมกราบบังคมทูลว่า ถ้าเอาเงินใส่ถังน้ำเรียงตั้งแต่บ้านง่วนฮวดเส็งที่คลองสานไปจนถึงพระบรมมหาราชวังก็ยังไม่หมด

ชุดน้ำชาจีน
ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ วิทยากรและนักสะสมเครื่องกระเบื้องจีน

“คุณนายล้อมเป็นเศรษฐีนีที่ใจบุญ ไม่หวงสมบัติ บริจาคเพื่อสาธารณะเต็มที่ ในงานวัดเบญจมบพิตรที่รัชกาลที่ 5 มักโปรดเกล้าฯ ให้จัดและมีงานประมูลสิ่งของต่าง ๆก็โปรดฯให้คุณนายล้อมเป็นผู้ประเดิมไม้แรกในการเสนอราคาของเพราะเห็นว่าคุณนายล้อมมักให้ราคาสูงลิบ และทำให้เจ้านายอื่นน้อยหน้าไม่ได้ เมื่อได้เงินมากประโยชน์ก็จะเพิ่มพูนทวีแก่วัด

“นอกจากนี้คุณนายล้อมยังเป็นสุภาพสตรีสามัญชนเพียงคนเดียวที่ได้รับพระราชทานของฝากจากรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประพาสยุโรปเป็นกระเป๋าหนังดุนลายเป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 ในหนังสือที่ระลึกงานศพของคุณถนั่นยังระบุว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะพระราชทานยศคุณนายล้อมให้เป็นท่านผู้หญิง แต่ติดที่คุณนายล้อมเป็นสัปเยก (มาจากคำว่า subject หมายถึงคนในบังคับ) ของฝรั่งเศสตามสามีคือเจ้าสัวเฮียบหยู คุณนายล้อมจึงเป็นสุภาพสตรีสามัญชนที่โดดเด่นและมีเรื่องราวที่น่าจดจำหลายเรื่องในประวัติศาสตร์”

ชุดน้ำชาจึงไม่ได้เพียงบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และรสนิยมของผู้คนในยุคนั้น ๆ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงบุคคลต่าง ๆ ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองการปกครองและทางสังคมอีกด้วย

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ถ้ำชาลายกนก

ชุดน้ำชาจีน ลวดลายแบบไทย   

ส่วนงานชิ้นเดี่ยวที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ถ้ำชาลายครามลวดลายกนก ซึ่งเป็นภาชนะบรรจุใบชาและเดิมเป็นสมบัติของพระยาดำรงธรรมสารและมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์

“ชิ้นนี้พิเศษมากเพราะเป็นงานสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ลายแบบนี้เรียกว่า ลายอย่าง คือลายไทยที่เราออกแบบและสั่งทางเมืองจีนผลิตตามความต้องการของเรา ใบนี้สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระลงมา เป็นของที่เหลือน้อยมากเพียงแค่หลักหน่วยหรือหลักสิบใบในปัจจุบัน เป็นของที่หาชมได้ยากมาก ๆลายเป็นกนกแบบอยุธยา มีความคมคายและพลิ้วไหวถือว่าช่างจีนเขียนงานชิ้นนี้ได้สุดยอดมาก มีความผิดเพี้ยนน้อยมาก”

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ถ้วยชาลายกินรี

ถ้วยชาลายกินรี เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ธนพันธุ์กล่าวว่า เป็นชิ้นที่ดังมากเพราะปรากฏรูปอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับตำนานเรื่องเครื่องกระเบื้องของไทย

“เราเจอใบนี้ใบเดียวไม่เคยเจอเต็มชุด ผมเล่นเครื่องกระเบื้องมา 20 ปี ไม่เคยเจอลายแบบนี้ที่ไหนเลย เป็นของพิเศษมากๆ ราวสมัยรัชกาลที่ 4 ขึ้นไป เป็นช่างจีนเขียนตามแบบลายไทย”

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ปั้นชาขนาดใหญ่ลายสิงโต

ในนิทรรศการยังจัดแสดง ปั้นชาใบขนาดใหญ่ลายสิงโต ซึ่งใช้งานจริงเวลามีงานเลี้ยงรับรองแขกจำนวนมาก โดยปกติจะมีถังไม้หรือถังโลหะบุนวมข้างในและใส่ปั้นชานี้ไว้ เวลารินก็ใช้วิธีโยกถังเพื่อเทน้ำชา ธนพันธุ์ให้ข้อมูลว่าปั้นชาใบนี้มีประทับตรา กิมตึ๋งฮกกี่ ซึ่งเป็นชื่อสำเภาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ตรงบริเวณฐาน ทำให้กำหนดอายุได้ว่าราวปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่สำเภาของเจ้าสัวพุกยังทำการค้าอยู่

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ถ้ำชาลายนกไม้และปั้นชาอี๋ซิง

ยุคทองและการเสื่อมความนิยมของเครื่องกระเบื้องจีน                                

การเล่นเครื่องกระเบื้องและเครื่องถ้วยจีนสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและมีการเก็บสะสมเรื่อยมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เป็นยุคที่การค้าสำเภากับจีนเฟื่องฟูทำให้มีเครื่องกระเบื้องชั้นดีจากจีนเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งทางราชสำนัก ขุนนาง คหบดีและพ่อค้ามีการสั่งทำเครื่องกระเบื้องจากจีนเพื่อมาใช้ส่วนตัวและขายตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ถาดสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ชิงในพุทธศตวรรษที่ 25

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคทองในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการประกวดเครื่องโต๊ะคือการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาด้วยเครื่องกระเบื้องและเครื่องเรือนของจีนตามความนิยมอย่างไทย โดยเครื่องกระเบื้องที่นำมาตั้งเป็นเครื่องโต๊ะบูชามักเป็นของหายากที่ต้องเสาะแสวงหามาจัดให้เข้าชุดกันจนภายหลังมีการตราพระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะครั้งแรกเมื่อ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) 109 หรือใน พ.ศ.2433 และมีการปรับปรุงในรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) 119 หรือใน พ.ศ.2443

“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จัดให้มีการประกวดอวดเครื่องกระเบื้องที่หอนั่งที่เรือนของท่านในวันแซยิดโดยมีกรรมการตัดสิน นับเป็นยุคเริ่มต้นของการประกวดเครื่องกระเบื้องในสยามอย่างเป็นทางการจนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะ ร.ศ. 119 เพื่อบังคับว่าเครื่องโต๊ะเล่นอย่างไร ตั้งอย่างไร มีอะไรบ้าง เกณฑ์ในการประกวดและตัดสิน ปัจจุบัน พ.ร.บ. ร.ศ. 119 ยังอยู่เพราะไม่มีการประกาศยกเลิก คนเล่นเครื่องกระเบื้องจีนในปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครรู้ ไม่มีใครเล่นเพราะไม่มีการประกวดตั้งแต่สิ้นสมัยรัชกาลที่ 5 หลายคนว่า พ.ร.บ. เคร่งครัดเกินไป แต่ตัวผมเองก็ตั้งตาม พ.ร.บ. เพื่อไว้ดูและเมื่อทางกรมศิลปากรมีงานแสดง ผมก็จะยกของส่วนตัวมาช่วยจัดแสดงในงานเพื่อการศึกษา

เครื่องถ้วยกระเบื้อง
ถ้วยชาลายนกเกาะกิ่งบ๊วย (ชิ้นกลาง)

“ยุคทองของความนิยมเครื่องกระเบื้องจีนกินเวลาครึ่งหลังรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งสิ้นรัชกาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านไม่โปรดวัฒนธรรมแบบจีนแต่โปรดอะไรที่ทันสมัยเช่น การละคร และการแต่งหนังสือ สังคมไทยเป็นแบบ ‘ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครใดเล่าจะไม่งามตามเสด็จ’ หมายถึงว่าพอเจ้าท่านว่างามก็เล่น พอท่านว่าไม่งามก็ไม่มีใครเล่นตาม การเล่น เครื่องถ้วยกระเบื้อง และประกวดก็สิ้นความนิยมไปโดยปริยาย” ธนพันธุ์กล่าว

Fact File

  • ติดตามข่าวสารและกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจีนที่หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ที่ Facebook.com/เรือนชาลีลาวดี
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีห้องเครื่องถ้วยในราชสำนักที่จัดแสดงภาชนะเครื่องถ้วยในสำรับสำหรับราชสำนักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
  • พิพิธภัณฑ์ปกติเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1402 และ 0-2224-1333 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว