เคาะค้อนประมูลศิลปวัตถุใน RCB อ๊อคชั่นส์เฮาส์ ที่อยู่คู่วงการนักสะสมมา 35 ปี
Arts & Culture

เคาะค้อนประมูลศิลปวัตถุใน RCB อ๊อคชั่นส์เฮาส์ ที่อยู่คู่วงการนักสะสมมา 35 ปี

Focus
  • อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ หรือ RCB Auctions  ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็นบริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่จัดประมูลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 35 ปี
  • ชิ้นงานประมูลที่ อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์มักเป็นของโบราณของไทยและที่ได้รับความนิยมมากคือประเภทเครื่องถมทอง เครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม และเครื่องเงิน
  • ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ทางบริษัทจะนำร่องให้มีการประมูลแบบออนไลน์ขึ้นมานอกเหนือจากการประมูลแบบเปิดในห้องประมูลเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจสะสมของเก่ามากขึ้น

แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ได้มีการปรับโฉมให้ทันสมัยและเปิดพื้นที่ให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์และงานศิลปะร่วมสมัยและมัลติมีเดียมากขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่หัวใจหลักของที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะบริเวณชั้น 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ หรือ RCB Auctions บริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยืนยงในวงการสะสมและแลกเปลี่ยนของเก่ามานานถึง 35 ปี

RCB

ปัจจุบัน อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ มีการจัดประมูลปีละ 6 ครั้ง โดยมีการประมูลครั้งใหญ่ที่เรียกว่า แกรนด์ อ๊อคชั่น (Grand Auction) ในวันเสาร์แรกของเดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคม และในการประมูลที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จะเป็นการประมูลครั้งที่ 402 โดยมีศิลปวัตถุจำนวน 325 รายการ

ในช่วงระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเรียกว่ารอบพรีวิวจึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่สนใจที่สามารถไปชมและสัมผัสชิ้นงานของจริงที่จะเข้าร่วมประมูลได้ที่ อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ ภายใต้การดูแลและการให้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ หรืออยากจะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอก็ไม่หวงห้ามแต่อย่างใด

RCB
บรรยากาศงานวันประมูล (ภาพ: อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์)

“ที่นี่เหมือนโรงเรียนให้ผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ สามารถหยิบจับได้ ดูได้ในระยะใกล้ชิดนานเท่าที่ต้องการ มีมาร์กบอกตำหนิว่ามากน้อยแค่ไหน สอนเทคนิคการดูและราคาตลาด เรามีที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายด้านจึงมั่นใจว่าไม่โดนย้อมแมวแน่นอนจึงง่ายสำหรับคนเริ่มศึกษาของเก่า การดูว่าของแต่ละชิ้นนั้นเก่าจริงไหมจริงๆแล้วดูไม่ยาก ง่ายกว่าดูพระเครื่อง แต่สิ่งที่ยากคือเรื่องราคาว่าราคานี้เหมาะสมหรือเปล่าซึ่งตรงนี้เราจะแนะนำให้ได้” โดมชัย บุตรดาวงษ์ ผู้จัดการแผนกประมูลของอาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ ให้ความมั่นใจ

แรงบันดาลใจจากตลาดของเก่าในปารีสสู่ศูนย์โบราณวัตถุริมแม่น้ำเจ้าพระยา

RCB หรือชื่อเดิมว่า ริเวอร์ไซด์ อ๊อคชั่นเฮ้าส์ เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดศูนย์การค้าใน พ.ศ.2528 ด้วยวิสัยทัศน์ของอดิศร จรณะจิตต์ อดีตซีอีโอแห่งกลุ่มบริษัทอิตัลไทย ที่ได้แรงบันดาลใจจากตลาดของเก่าในกรุงปารีสระหว่างเดินทางไปเยือนยุโรปช่วงพ.ศ. 2523 เขาจึงได้ชักชวนร้านค้าของเก่าแถวย่านเวิ้งนครเกษมให้มารวมตัวกันที่ศูนย์การค้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและจัดการประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2528

RCB
โดมชัย บุตรดาวงษ์

“การจัดการประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแบบที่เราจัดต่อเนื่องมาตลอดเรียกได้ว่าไม่มีคู่แข่ง เพราะมีรายละเอียดในการดำเนินงานเยอะและซับซ้อน ต้องมี know-how มีทักษะความรู้ มีบุคลากรและมีคอนเน็กชันที่ดีซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสั่งสมมาเป็นเวลา 35 ปี นักสะสมจากจีนและชาติอื่นๆในอาเซียนยังต้องบินมาที่นี่” โดมชัยซึ่งทำงานที่นี่มาเป็นเวลา 25 ปี กล่าวและเสริมว่าในประเทศไทยมีอ๊อคชั่นเฮาส์อีกแห่งชื่อ เอื้อเสรีคอลเล็คติ้ง แต่ที่นั่นเน้นการประมูลแสตมป์ เหรียญเงินกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกซึ่งแตกต่างกับอาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์อย่างชัดเจน

ชิ้นงานประมูลที่อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ มักเป็นของโบราณของไทยและที่ได้รับความนิยมมากคือประเภทเครื่องถมทอง เบญจรงค์ เครื่องลายคราม และเครื่องเงิน

อ๊อคชั่นเฮาส์
อ๊อคชั่นเฮาส์

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ของเก่าของไทยฮิตมากทั้งในบ้านเราและตลาดโลก ผมว่าเพราะความมีเอกลักษณ์ของไทยและรากเหง้าทางศิลปะ ของที่ต้องการเป็นระดับฝีมือช่างหลวงหรือชั้นครูที่ทำให้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้าขุนมูลนายใช้ เป็นของที่หายากและมีจำนวนน้อย นักสะสมจึงเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าดีกว่าการฝากเงินในธนาคารตอนนี้เพราะมูลค่าของสะสมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา”

ปลอมไม่ปลอมดูง่าย แต่ที่ยากคือการประเมินราคา 

สินค้าที่จะเข้าร่วมประมูลต้องเป็นศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุ และไม่เป็นสิ่งของต้องห้ามของทางราชการ ทางบริษัทจะมีระยะเวลาเปิดรับสินค้าและตกลงราคาเริ่มต้นประมูลที่พอใจทั้งสองฝ่ายโดยจะคิดค่าคอมมิชชัน 15% บวก Vat เมื่อบริษัทออกใบรับสินค้าแล้วจะรับจดประกันภัยสินค้าให้ (เฉพาะที่อยู่ในห้องประมูล) ถ้าของชิ้นไหนขายไม่ได้ทางลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ต้องรับกลับภายใน7 วันหลังวันเปิดประมูล

อ๊อคชั่นเฮาส์
(ภาพ: อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์)

บริษัทจะจัดทำแค็ตตาล็อกทั้งในแบบรูปเล่มและในเว็บไซต์การประมูลเป็นแบบเปิดและจะแบ่งเป็นหมวด ๆ โดยชิ้นงานที่ราคาเริ่มต้นหลักพันนั้นราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นขั้นต่ำครั้งละ1,000 บาท ส่วนชิ้นงานที่ราคาหลักหมื่นและหลักแสนนั้นราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นขั้นต่ำ 10% ชิ้นงานที่นำมาประมูลแต่ละครั้งได้รับการรับรองจากสมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปวัตถุ

“บ่อยครั้งที่ผมต้องไปบ้านลูกค้าเพราะเขามีของที่ต้องให้เราช่วยประเมินราคา เจ้าของเขาห่วงว่าลูกหลานไม่รู้เรื่องและจะเอาไปขายมั่ว ๆ ถ้าลูกค้าเทรดของกันเองไม่ได้ อ๊อคชั่นเฮาส์คือทางเลือก ของเก่าดูว่าปลอมหรือไม่ปลอมนั้นไม่ยาก แต่ยากที่ราคาซึ่งตรงนี้เรารู้ราคาตลาดและให้คำแนะนำได้ บางช่วงของประเภทไหนที่ไม่ได้รับความนิยมเราก็แนะนำให้เก็บไว้ก่อนอย่าเพิ่งขาย หรืออะไรที่ไม่ตรงกับตลาดลูกค้าเราก็แนะนำให้ไปเสนอขายที่อื่นจะได้ราคาดีกว่า”

จากประสบการณ์ในวงการค้าของเก่า โดมชัยกล่าวว่านักสะสมชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปเมื่อสะสมผลงานและชื่นชมมาสักระยะหนึ่งมักจะเปลี่ยนมือ และจะมีข้อมูลว่าของแต่ละชิ้นนั้นมีประวัติอย่างไรและผ่านมือใครมาบ้างทำให้ของชิ้นนั้นมีเรื่องราว แต่นักสะสมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดเผยว่าใครครอบครองเพราะเกรงคำครหาว่า “ขายของเก่ากิน”

“เท่าที่ผมทำงานมาเคยมีการสู้กันนานสุดเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นการประมูลตั่งถมทองโดยช่างฝีมือชั้นครูซึ่งตามประวัติมีการสร้างเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น ตอนนั้นประมูลไปในราคา 2 ล้านกว่าบาท แต่มูลค่าปัจจุบันน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน หลังการประมูลได้มีการถวายให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เพื่อเป็นต้นแบบให้ช่างของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ”

งานไฮไลต์ที่คนในวงการเรียกว่า “หวานลูกกะตา”

ชิ้นงานที่เป็นไฮไลต์ของการประมูลที่จะจัดในวันที่ 1 สิงหาคมนี้คือ กาน้ำชาถมทองทรงลูกแก้วกลีบมะเฟืองอายุราว 150-170 ปีโดยมีราคาประมูลเริ่มต้นที่ 6 แสนบาท และกาน้ำชาถมทองทรงกระบอกแปดเหลี่ยมลายเครือเถาดอกพุดตานอายุประมาณ 120 ปีโดยมีราคาเริ่มต้นที่ 4 แสนบาท

กาน้ำชาถมทองทรงลูกแก้วกลีบมะเฟือง

“สองชิ้นไฮไลต์เป็นของนักสะสมชาวฝรั่งเศสอายุ 80 กว่าปี ลูกหลานเขาไม่อยากเก็บแล้วเจ้าของจึงนำมาเปลี่ยนมือกับทางเรา 10 กว่าชิ้น ทั้ง 2 ชิ้นนี้เคยร่วมจัดแสดงใน “งานสัมบัติแผ่นดินไทย”เมื่อคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้นำผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ไปจัดแสดงที่หอไอเฟล ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2540 และผมคาดว่าราคาน่าจะขึ้นไปถึงหลักล้าน”

กาน้ำชาถมทองทรงกระบอกแปดเหลี่ยมลายเครือเถาดอกพุดตาน

อีกชิ้นที่น่าสนใจในคอลเล็กชันของนักสะสมชาวฝรั่งเศสคือตู้ไม้ลงรักปิดทองแกะลายดอกพุดตานประดับขาสิงห์อายุราว 100 ปีที่ราคาเริ่มต้น 8 หมื่นบาท

“ชิ้นนี้ภาษาของคนในวงการเรียกว่า ‘หวานลูกกะตา’ เพราะรูปทรงและลายแกะสลักงดงามอ่อนช้อยมาก เป็นตู้ขนาดเล็กคาดว่าน่าจะไว้เก็บของเล่นของลูกหลานเชื้อพระวงศ์ คนที่เล่นงานไทยเสาะแสวงหาตู้เก่าและสภาพดีแบบนี้ กระจกเหมือนวุ้นและมีฟองอากาศบ่งบอกได้เลยว่าเป็นของเก่ารวมไปถึงสีสันและความหดตัวของเนื้อไม้และฝีมือช่างระดับครู”

ตู้ไม้ลงรักปิดทองแกะลายดอกพุดตานประดับขาสิงห์

ในลอตการประมูลนี้มีสินค้าหลายชิ้นที่ราคาเริ่มต้น 2-3 พันบาท เช่น ชุดถ้วยชาลายครามขนาดเล็ก (บิ่นขอบเล็กน้อย) ขันเงินสลักดุนลาย และเต้าปูนเงินถมทอง

“จริงๆแล้วงานในช่วงราคานี้ขายดีที่สุดโดยราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยไม่เกิน 30% จากราคาเริ่มต้น นักสะสมมักซื้องานเหล่านี้เก็บเป็นอะไหล่และเมื่อสามารถเก็บได้ครบเซตก็ราคาหลายแสน”

นำร่องประมูลแบบออนไลน์สำหรับนักสะสมรุ่นใหม่

ในการประมูลแต่ละครั้งที่ผ่านมาจะมีนักสะสมเข้าร่วมแน่นห้องประมูลประมาณ 300 คน แต่การประมูลเดือนสิงหาคมนี้จะมีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างซึ่งคาดว่าจะขยายพื้นที่ไปบริเวณด้านนอกด้วย เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย จำนวนลูกค้าชาวต่างชาติย่อมลดลงแต่โดมชัยกล่าวว่าไม่กระทบมากเพราะ 80% ของลูกค้าเป็นคนไทย

“ลูกค้าหลักอายุ 50 ขึ้นไปเป็นหมอ นักการเมือง นักธุรกิจ แต่ในช่วง 10 ปีนี้มีคนรุ่นใหม่อายุ 30 ต้นๆเข้ามาเยอะ วิธีการเล่นของคนรุ่นใหม่กล้าได้กล้าเสีย ถ้าชอบเขาสู้ยิบตา คนรุ่นเก่ายังมีลิมิตจะไม่ประมูลเกินราคาที่ตั้งใจไว้”

ในเดือนตุลาคมนี้ทางบริษัทจะนำร่องให้มีการประมูลแบบออนไลน์ขึ้นมานอกเหนือจากการประมูลในห้องประมูลที่เรียกว่าแบบ On Floor โดยเบื้องต้นจะเป็นชิ้นงานสำหรับแต่งบ้านจำนวนประมาณ 50 รายการเช่นเครื่องกระเบื้องและตุ๊กตาไม้แกะสลัก และราคาเริ่มต้นหลักพันที่เป็นราคาที่คนรุ่นใหม่หรือคนที่อยากเริ่มลองเล่นของเก่าจับต้องได้

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาว่าจะทำในรูปแบบแอปพลิเคชันหรือแบบเว็บไซต์ สินค้าอาจไม่ได้ระดับพรีเมียมแบบประมูล On Floor แต่เราจัดโชว์ของในห้องแสดงซึ่งคนที่สนใจสามารถเข้ามาดูและสัมผัสของจริงได้ น่าจะเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ๆสนใจศึกษาศิลปวัฒนธรรมต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย”

โดมชัยให้ข้อมูลว่าลูกค้าประจำของเขาที่อายุน้อยที่สุดคือเด็กหนุ่มที่ปัจจุบันเรียนอยู่ระดับชั้น ม.4 ที่สนใจศิลปโบราณวัตถุโดยเฉพาะเครื่องกระเบื้องเคลือบตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.6

“เด็กคนนี้มีความสนใจในศิลปะและประวัติศาสตร์และเป็นคนตาถึงด้วย มีงานดีๆ หลายชิ้นในครอบครองและโชคดีที่ทางบ้านสนับสนุน ของเก่าเลือกคนนะ บางคนรวยมากแต่มีเหตุให้เป็นเจ้าของชิ้นนั้นไม่ได้ บางคนออกแรงเยอะก็ยังไม่ได้”

มุมมองคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลของเก่า

เจษฎา ศิรประภาวรรณ์ นักธุรกิจวัย 40 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของไทยโดยเริ่มจากสะสมโถปริกยอดทองเพราะชอบสีสันและลวดลาย จากนั้นขยายมาเก็บเครื่องเบญจรงค์และเครื่องลายครามและเริ่มเข้าสู่วงการประมูลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

RCB
เจษฎา ศิรประภาวรรณ์

“แรกๆ คิดว่าการประมูลน่ากลัวมาก สู้กันดุเดือดเรื่องราคา แต่เมื่อลองเข้ามาดูของในช่วงเวลาพรีวิว เขาให้เราดูนานแค่ไหนก็ได้ กี่ครั้งก็ได้ หยิบจับได้ ถ่ายรูปได้ และเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลดีมากจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีและก็ไม่ใช่ทุกชิ้นจะราคาแพง เราเลยกล้าที่จะไปนั่งประมูลและพบว่าราคาที่ได้ราคาดีกว่าร้านข้างนอกเสียอีกและเราตัดสินใจหน้างานได้ว่าจะไปต่อหรือพอแค่ราคานี้ อีกทั้งได้เจอของหายากที่ร้านอื่นไม่มี” เจษฎากล่าว

เจษฎาเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสะสมของเก่ามากขึ้นเพราะบางคนมองว่าเป็นการลงทุนที่ราคาเพิ่มขึ้นทุกปี และเมื่อเริ่มมีบ้านเป็นของตัวเองก็อยากแต่งบ้านและส่วนใหญ่นิยมเครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์ และชุดน้ำชา อีกทั้งสื่อโซเชียลที่มีการแชร์ของสะสมทำให้หลายคนเห็นคุณค่าและความงามและเริ่มเก็บสะสมตาม

RCB

หลังจากมาดูของในช่วงพรีวิวเป็นครั้งที่ 5 ในการประมูลวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เจษฎากล่าวว่าเขาเล็งถ้วยน้ำเย็นและถาดรองกระเบื้องลายครามเขียนลายสิบสามห้าง (ราคาเริ่มต้น 6 หมื่นบาท) และแจกันกระเบื้องลายครามเขียนลายสิบสามห้างเช่นกัน (ราคาเริ่มต้น 2 หมื่นบาท)

ลายสิบสามห้างเป็นลายหายากที่ช่างชาวจีนวาดลวดลายบนกระเบื้องเคลือบเป็นตึกแถวริมฝั่งแม่น้ำในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนซึ่งเป็นสถานที่ตั้งห้างจีนที่ค้าขายกับชาวต่างชาติในช่วงศตวรรษที่ 18-19

จากการสะสมสู่การต่อยอดความรู้ทางศิลปะและประวัติศาสตร์

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มสะสมของเก่าและยังไม่มีความรู้มากนัก โดมชัยแนะนำว่าควรหาโอกาสมาดูของจริงในช่วงพรีวิวก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าของประเภทไหนที่ตัวเองชื่นชอบและดูได้ทั้งวันไม่เบื่อ

“ของเก่ามีหลายประเภทต้องลองมาดู มาหยิบจับว่าแบบไหนถูกจริตเรา ไม่แนะนำให้ซื้อแบบสะเปะสะปะเพราะกว่าจะรู้ว่าชอบแบบไหนก็เสียเงินไปเยอะแล้ว ส่วนใหญ่คนที่ซื้อของไปจากที่นี่มักจะซื้อไปเก็บมากกว่าจะซื้อเก็งกำไร จะขายก็เสียดาย แต่ผมมักแนะนำว่าถ้าได้ของชุดใหม่ที่พรีเมียมกว่าก็น่าจะลองปล่อยชุดเก่าไปเรียกว่าเป็นของเก่าผลัดกันชม”

RCB

เจษฎาเสริมว่าคนยุคนี้โชคดีที่มีอินเทอร์เน็ตทำให้หาข้อมูลได้ง่าย และมีคอมมูนิตี้ที่แชร์ความสนใจเฉพาะทางร่วมกัน

“ควรเริ่มจากเก็บของที่เราสนใจจริง ๆ สำหรับผมแล้วนี่คืองานอดิเรกที่ช่วยต่อยอดความรู้ทางศิลปะและประวัติศาสตร์ ตอนนี้ผมเก็บงานกระเบื้องเยอะสุดและเริ่มศึกษาว่าลวดลายแต่ละลายมีความหมายอย่างไร เนื้อกระเบื้องเป็นแบบไหน น้ำหนักมือในการเขียนลายของช่างเป็นอย่างไร และองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมายที่เรียนรู้ได้ไม่มีวันจบ”

Fact File

  • การประมูลครั้งต่อไปจะจัดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2563 ที่ห้องอาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ ชั้น 4 ศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เริ่มเวลา 12.30 น.
  • ผู้สนใจสามารถชมชิ้นงานที่จะเข้าร่วมประมูลในรอบพรีวิวได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.00-18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
  • รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.rcbauctions.com

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ