วัดร้าง ฝั่งธนบุรี ที่ซ่อนความงามของงานช่างโบราณไว้อย่างลับๆ
Arts & Culture

วัดร้าง ฝั่งธนบุรี ที่ซ่อนความงามของงานช่างโบราณไว้อย่างลับๆ

Focus
  • กรุงเทพฯ มีวัดมากถึง 452 วัด และมี วัดร้าง ราว 20 วัดที่เป็นทั้งซากปรักหักพัง และวัดที่ยังมีผู้คนในชุมชนเข้าไปกราบไหว้ด้วยแรงศรัทธา
  • วัดร้าง คือ พุทธสถานที่ไม่มีกิจกรรมทางศาสนาใดๆ เกิดขึ้น บางวัดเล็กเกินไปจนต้องยุบรวมกับวัดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กัน บ้างได้รับความเสียหายจากสงครามโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 และบ้างก็ร้างเพราะการโยกย้ายของชุมชน

แม้กรุงเทพฯ จะอัดแน่นไปด้วยตึกสูงทันสมัย แต่กรุงเทพฯ ก็ถือได้ว่าเป็นอีกจังหวัดที่มีจำนวนวัดอยู่มากถึง 452 วัด (จากการสำรวจปี 2555) กระจายอยู่ใน 50 เขต โดยเขตที่มีวัดอยู่มากที่สุดตกเป็นฝากฝั่งเขตชุมชนเก่าย่านธนบุรีลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำลำคลอง ไม่ว่าจะเป็นบางกอกน้อย ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางพลัด และเมื่อเดินซอกแซกเข้าไปตามเขตชุมชนเก่าแก่เหล่านั้นก็ให้ประหลาดใจว่ายังมี วัดร้าง ลับๆ ซ่อนอยู่ และบางวัดก็อยู่ในจุดที่เราเคยผ่าน แต่เรากลับไม่เคยสังเกตเห็น

วัดร้าง คืออะไร?

วัดร้าง ไม่ใช่วัดที่เต็มไปด้วยความน่าขนลุก จุดรวมทุกวิญญาณเร่ร่อนอย่างที่ช่องรายการส่องภูติผีต่างๆ มักตีความ แต่ วัดร้าง คือ พุทธสถานที่เกษียณตัวเองออกจากหน้าที่ของความเป็นวัด คือไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ไม่มีกิจกรรมทางศาสนาใดๆ เกิดขึ้น (ยกเว้นพิธีทางศาสนาเฉพาะในแต่ละชุมชน) บางวัดเล็กเกินไปจนต้องยุบรวมกับวัดขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กัน บ้างได้รับความเสียหายจากสงครามโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการทิ้งระเบิดจนหลายวัดกลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง และท้ายที่สุดก็อาจจะกลายเป็นเพียงโบราณสถาน

วัดร้างบางแห่งก็เกิดจากความทรุดโทรมจนไม่อาจจะบูรณะได้และถูกทิ้งร้าง บางวัดถูกทิ้งร้างเพราะการเติบโตของเมือง ส่งผลให้มีการโยกย้ายออกไปของชุมชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการค้ำจุนวัดต่างๆ ไว้ ทั้งนี้ใจความสำคัญอย่างหนึ่งของการเที่ยววัดร้างไม่ใช่แค่การตามหาร่องรอยความสวยงามทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม หรืองานปูนปั้นในอดีต แต่เส้นทางวัดร้าง ยังเป็นสิ่งที่สามารถย้อนภาพอดีตของเมืองบางกอกให้แจ่มชัดขึ้นได้ด้วย ดังเช่น 4 วัดร้างย่านฝั่งธนบุรี ที่ซ่อนเรื่องราวของอดีต และความงามของงานช่างโบราณไว้อย่างลับๆ

หลวงพ่อดำ พระปรางมารวิชัยสมัยอยุธยา วัดภุมรินทร์ราชปักษี

วัดภุมรินทร์ราชปักษี

ในบรรดาวัดร้างกว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ถือได้ว่าเป็นวัดที่ยังคงความสมบูรณ์ของงานศิลป์ฝีมือช่างหลวง วัดแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ วัดดุสิดาราม ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากคลองบางกอกน้อย องค์พระประธานของวัดดุสิดารามสร้างตามตำราการสร้างพระในสมัยอยุธยาที่องค์พระมีพระพักตร์ใหญ่ ใบหน้าอิ่ม แต่ก็มีศิลปะ จิตรกรรมแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ใส่ลงไปด้วยเพราะได้รับการบูรณะมาในหลายครั้งแต่แสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า วัดดุสิดาราม นี้มีมาก่อนตั้งรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน

มาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงทำการสำรวจวัดฝั่งธนบุรี และพบว่า วัดภุมรินทร์ราชปักษี มีภิกษุจำพรรษาเพียงรูปเดียว พระองค์จึงทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษีเข้ากับวัดดุสิดาราม และนั่นก็ทำให้ วัดภุมรินทร์ราชปักษี เปลี่ยนสถานะเป็นวัดร้างในทันที แม้ตัววัดจะมีวิหารหลังเล็กฐานโค้งแอ่นเป็นเรือสำเภาตั้งอยู่เคียงกัน 2 หลัง แต่เมื่อไม่มีพระสงฆ์ก็เป็นการยากที่จะรักษาหรือบูรณะ

สำหรับวัดภุมรินทร์ราชปักษีนั้นถือเป็นวัดร้างระดับมาสเตอร์พีชที่นอกจากตัวอาคารท้องแอ่นรูปเรือสำเภาจะย้ำชัดว่ามีมาแต่อยุธยาแล้ว ที่นี่ยังโดดเด่นด้วยปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายต่อเนื่องมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นลายปูนปั้นที่สมบูรณ์และคงรายละเอียดความพริ้วไหวไว้ชัดเจนมาก

ด้านในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อดำ พระปรางมารวิชัยสมัยอยุธยา ซ้ายขวามีพระอัครสาวกซึ่งเป็นงานปั้นนูนต่ำออกมาจากกำแพง พร้อมจิตรกรรมฝาผนังรูปนกยูงกับกระต่าย ตัวแทนของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ และด้านข้างของผนังคือภาพเมขลากับรามสูร และแม้ที่นี่จะไม่มีพระภิกษุจำพรรษา แต่ในวันสำคัญทางศาสนายังมีคนในชุมชนจะมาประกอบพิธีต่างๆ ตามศรัทธาที่ยังคงอยู่

วัดร้าง
ความทรุดโทรมของวัดน้อยทองอยู่

วัดน้อยทองอยู่

ในเขตพื้นที่ของวัดดุสิดารามนั้นมี วัดน้อยทองอยู่ เป็นอีกหนึ่ง วัดร้าง ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ แต่ในความเงียบนั้นกลับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าในอดีตชุมชนริมคลองบางกอกน้อยแห่งนี้มีความสำคัญและเป็นชุมชนใหญ่มาแต่อยุธยา เพราะมีวัดตั้งอยู่ใกล้กันมากๆถึง 3 วัด

วัดร้าง
ภาพถ่ายโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ ริง สถาปนิกชาวเยอรมันที่เข้ามาในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5

สำหรับวัดน้อยทองอยู่นั้น ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนวัดภุมรินทร์ราชปักษี ตรงกันข้ามคือที่นี่เหลือเพียงซากมณฑปขนาดเล็กที่หลงเหลือมาจากการทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็แทบจะนึกหน้าตาไม่ออกว่าวัดน้อยทองอยู่ดั้งเดิมเป็นอย่างไร ยกเว้นภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ ที่ทางวัดเก็บไว้ ภาพนี้ถ่ายโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ ริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมันที่เข้ามาในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และภาพนี้ก็เป็นหลักฐานเดียวที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า มณฑป 5 ยอดของวัดน้อยทองอยู่นั้นสวยงามจริงๆ

วัดร้าง
ด้านหน้าวัดสุวรรณคีรี

วัดสุวรรณคีรี

ที่นี่เป็น วัดร้าง เล็กๆ ตั้งอยู่กลางชุมชน (ในโรงเรียนสุธรรมศึกษา) ตัววัดปัจจุบันได้รับการปรับปรุงจนมองเผินๆ จะนึกว่าศาลเจ้าจีนหลังเล็ก แต่จริงๆ แล้วสันนิษฐานว่า วัดสุวรรณคีรี เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย พอมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีการสำรวจวัดครั้งใหญ่เพื่อทำการบูรณะ จึงได้ยุบรวมวัดสุวรรณคีรีเข้ากับวัดคูหาสวรรค์ซึ่งเป็นวัดใหญ่กว่า และแม้วัดนี้จะอยู่ในพื้นที่โรงเรียน แต่ก็ยังเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้สักการะโดยเฉพาะขอพรในเรื่องสุขภาพ และในทุกปีก็ยังมีประเพณีการแห่รูปหลวงพ่อสุวรรณคีรีออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชา

วัดร้าง
ด้านในวัดสวนสวรรค์ที่ไม่มีหน้าต่างด้านข้าง

วัดสวนสวรรค์

วัดสวนสวรรค์ เป็นอีก วัดร้าง ที่ซ่อนอยู่ในสถานที่ลับมากจริงๆ เพราะกว่าจะถึงวัดสวนสรรค์ได้ต้องเดินลัดเลาะเข้าตรอกหลังวัดคฤหบดี ผ่านชุมชนบ้านปูนบางยี่ขัน (สามารถทะลุไปยังถนนอรุณอมรินทร์ ฝั่งเชิงสะพานพระราม 8ได้) มีการสันนิษฐานกันว่าวัดแห่งนี้น่าจะเก่าแก่ และมีมาก่อนการตั้งชุมชนบ้านปูนบางยี่ขัน ในประวัติศาสตร์ของวัดคฤหบดีมีบันทึกไว้ว่า วัดสวนสวรรค์ มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ สร้างโดยราษฎรและร้างไปเมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาได้รวมเข้ากับวัดคฤหบดีใน พ.ศ. 2519

ด้วยความเป็นวัดราษฎร์จึงยากที่จะสืบค้นกลับไปถึงความเป็นมาเป็นไปของวัด ส่วนปัจจุบันสภาพของวัดค่อนข้างทรุดโทรม ประตูทางเข้าโบสถ์เป็นเพิงหลังคายื่นออกมาบ่งบอกได้ว่าสร้างมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังมีทางเข้าทางเดียวไม่มีหน้าต่าง มีเพียงช่องแสงเล็กๆ อยู่ด้านหลังพระประธาน

วัดร้าง

หลังคายังคงมุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ผนังด้านนอกมีเถาวัลย์ขึ้นคลุม แต่ก็ยังดีว่าบนหน้าบันยังหลงเหลือลายปูนปั้นที่พอจะทำให้เรานึกถึงความสวยงามของชื่อ “สวนสวรรค์” ได้ชัดเจนอยู่ โดยชื่อสวนสวรรค์ที่ปรากฏบนหน้าบันนั้นเป็นลายปูนปั้นรูปสวนของพระอินทร์ซึ่งอยู่บนสวรรค์ และอีกจุดที่น่าสนใจคือใบเสมาของวัดแบบพิเศษเป็นแบบหักมุม ซึ่งมีให้เห็นไม่มากนักในปัจุบัน

Fact File

  • หากสนใจเรื่องราววัดร้าง ในกรุงเทพฯ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ วัดร้างในบางกอก โดย ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์