ย้อนวิถีเด็กไทยในอดีต ผ่านคอลเล็กชันตุ๊กตาและผู้พิทักษ์เด็กใน พระตำหนักแดง
Arts & Culture

ย้อนวิถีเด็กไทยในอดีต ผ่านคอลเล็กชันตุ๊กตาและผู้พิทักษ์เด็กใน พระตำหนักแดง

Focus
  • พระตำหนักแดง คือต้นแบบของเรือนไทยประเภท เรือนหลวง ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างและพระราชทานแด่สมเด็จพระพี่นางเธอ
  • ปัจจุบันพระตำหนักแดงได้รับการปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงวิถีชีวิตเด็กไทยในอดีต ตั้งแต่ธรรมเนียมการขอลูก การเกิด การอยู่ไฟ การศึกษา

ตุ๊กตาเสียกบาล บ้านตุ๊กตาแบบไทย-ฝรั่ง สมัย ร.5 ยันต์แม่ซื้อ ตุ๊กตาชาววังรุ่นบุกเบิก เทวดาผู้พิทักษ์แม่และเด็ก เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากวัตถุจัดแสดงทั้งหมดภายใน พระตำหนักแดง อาคารทรงไทยทาสีแดงส้มทั้งหลัง ตั้งอยู่ด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นอีกอาคารที่ได้รับการปรับปรุงใหม่และเพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564

พระตำหนักแดง
พระตำหนักแดง

ความสำคัญของ พระตำหนักแดง ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมบ้านไทยแบบ เรือนหลวง ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์อายุกว่า 200 ปีที่ยังคงความสมบูรณ์ของโครงสร้างเท่านั้น ทว่าด้านในอาคารได้รับการปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงเล่าเรื่องวิถีชีวิตเด็กไทยในอดีต ตั้งแต่ธรรมเนียมการขอลูก การเกิด การอยู่ไฟ การศึกษา ซึ่ง Sarakadee Lite ได้รวบรวมชิ้นไฮไลต์มาให้ได้ชมกัน

บ้านตุ๊กตาฝรั่ง

หนึ่งในสิ่งของจัดแสดงที่อยู่คู่กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาเนิ่นนาน และเป็นที่ประทับใจของหลายๆ คนคือ บ้านตุ๊กตาฝรั่ง คอลเล็กชันของสะสมส่วนตัวของ “เจ้าจอมเลียม” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ว่า เจ้าจอมเลียมเป็นทั้งนักสะสม นักประดิษฐ์ และเป็นนักทำโมเดลของจิ๋วที่สร้างงานได้ละเมียดสมจริงมาก โดยบ้านตุ๊กตาฝรั่งชุดนี้แม้จะเป็นของนำเข้าซื้อหามา แต่เจ้าจอมเลียมก็ได้ทำข้าวของเครื่องใช้เพิ่มเติมเข้าไป โดยเฉพาะชุดเครื่องแก้วจิ๋วที่นำหลอดแก้วฉีดยามาดัดแปลง กรอบรูปใส่เรื่องราวในเมืองไทยระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 รวมทั้งยังมีการทำเครื่องเงินเป็นจานชามชุดจิ๋วที่ใส่ลวดลายไม่ต่างจากของจริง

ตุ๊กตาเสียกบาล

ตุ๊กตาสังคโลกสมัยสุโขทัย เป็นรูปผู้หญิงอุ้มเด็กทารก ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าที่คอตุ๊กตาทุกตัวล้วนมีรอยขาดเหมือนคนคอหัก ซึ่งนี่เป็นตุ๊กตาสำหรับพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธีเสียกบาล” สะท้อนถึงการแพทย์ในยุคโบราณที่ยังไม่เจริญก้าวหน้า ทำให้อัตราการตายของแม่และเด็กหลังคลอดค่อนข้างสูง แต่ตามความเชื่อโบราณยุคนั้นกลับเชื่อว่าความตายของแม่และเด็กเป็นการกระทำของ “ผี” ดังนั้นหลังคลอดลูกที่โบราณเรียกว่า “สามวันลูกผีสี่วันลูกคน” ยังไม่รู้ว่าเด็กจะรอดหรือไม่ จึงต้องทำการ ลวงผี ด้วยการปั้นตุ๊กตาดินเผาแม่ลูก จากนั้นนำไปทำพิธีต่อยคอให้หักที่เรียกว่า “พิธีเสียกบาล” และนำตุ๊กตาไปทิ้งที่อื่น คล้ายกับเป็นการสะเดาะเคราะห์ลวงให้ผีคิดว่าแม่ลูกคู่นี้ได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว เพื่อที่ผีจะได้ไม่มาพรากชีวิตไป

บ้านตุ๊กตาไทย

นอกจากบ้านตุ๊กตาแบบฝรั่งแล้ว เจ้าจอมเลียมยังได้สร้างบ้านตุ๊กตาแบบไทยๆ ขึ้นด้วยการสร้างข้าวของเครื่องใช้ชุดใหม่ เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวไทยยุคนั้น เช่น หม้อดินชุดจิ๋ว ห้องพระ หิ้งพระ มาลัยแบบไทย หมากพลู อุบะ เป็นต้น และแม้ว่าจะเป็นของเล่นโมเดลจิ๋ว แต่ของทุกชิ้นใส่รายละเอียดด้านลวดลาย รสนิยมของคนในวังยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจากหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ดีๆ เล่มหนึ่งเลย

ตุ๊กตางาช้าง

เรื่องเล่าของเด็กไทยในอดีตที่จัดแสดงใน พระตำหนักแดง นั้น เริ่มตั้งแต่ธรรมเนียมนิยมในการขอลูก ซึ่งมีตั้งแต่ระฆังขอลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 รอบระฆังมีอักษรจารึกวิธีใช้ระบุว่า ชายหญิงที่ปรารถนาอยากมีลูกให้ถืออุโบสถศีลแล้วอธิษฐานตีระฆังใบนี้ก็จะสมหวัง และอีกธรรมเนียมการขอลูกที่พบในห้องนี้คือการถวายตุ๊กตางาช้างสีขาว แกะสลักเป็นรูปเด็กหัวจุก สันนิษฐานว่าแต่เดิมตุ๊กตางาช้างเหล่านี้น่าจะมีเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายอยู่ครบ สังเกตจากผมจุกที่มีรูเล็กๆ สำหรับปักปิ่นอยู่ด้วย ทั้งนี้ยังมีหลักฐานเรื่องการถวายตุ๊กตางาช้างขอบุตรอยู่ในวัดพระแก้ว ซึ่งพบตุ๊กตางาช้างถวายพระแก้วมรกตหลายตัว ส่วนที่วัดโพธิ์บริเวณวิหารพระยืนก็มีโคลงกลอนเรื่องการขอบุตรติดอยู่บริเวณฐานองค์พระ และสองฝั่งซ้ายขวาของฐานองค์พระยังมีการสร้างตุ๊กตาเป็นหินแกะสลักรูปเด็กประดับไว้ สันนิษฐานว่าเป็นตุ๊กตาที่เจ้าจอมแว่นในรัชกาลที่ 1 สร้างถวายเพื่อขอบุตร

พระตำหนักแดง

ตุ๊กตาพิธีโกนจุก

สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนสถานะจากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นที่เติบโตขึ้นของเด็กไทยในอดีตก็คือ พิธีโกนจุก ในห้องนี้จัดแสดงตุ๊กตาเด็กชั้นเจ้านายที่แต่งชุดเต็มยศในพิธีโกนจุก หรือ พิธีโสกันต์ รวมทั้งยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธีให้ได้ชม เช่น มีดโสกันต์ ปืนใหญ่จำลองขนาดจิ๋วที่ใช้ยิงจริงในพิธีโกนจุก และที่น่าสนใจคือตุ๊กตาตัวน้อยเหล่านี้ต่างถือ “กระบองเพชร” ไว้ในมือ เป็นใบตาลเขียนยันต์ ซึ่งกระบองเพชรนี้เป็นอาวุธของท้าวเวสสุวรรณ เชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้

พระตำหนักแดง

ยันต์แม่ซื้อ

ในอดีตหากเป็นลูกหลานชั้นเจ้านายที่เกิดมาในราชสำนักจะมีธรรมเนียมการเกิดที่เคร่งครัดต่างออกไปจากเด็กสามัญชนอยู่มาก เช่น พิธีร่อนกระด้ง จุดเทียนกลเม็ดตามธรรมเนียมอินเดีย ตามด้วยสมโภชพระอู่ ซึ่งในห้องนี้มี พระอู่ หรือ เปลเด็ก ตั้งอยู่ที่ริมผนังห้อง สิ่งที่หน้าสนใจนอกจากองค์ประกอบในพระอู่ก็คือคานเสาด้านบนที่มี “ยันต์แม่ซื้อ” ติดอยู่ โดยด้านหน้ายันต์แม่ซื้อเขียนเป็นภาพแม่ซื้อประจำวันเกิดของทารก (สังเกตได้จากส่วนศีรษะรูปสัตว์ประจำวันต่างๆ) ทำหน้าที่เป็นเทวดาพิทักษ์คุ้มครองเด็กๆ ส่วนด้านหลังยันต์เป็นรูปท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นเทพผู้เป็นใหญ่ของฝ่ายภูตผี ทำหน้าที่ปกป้องเด็กไม่ให้ภูตผีมาเอาไปตามความเชื่อในยุคนั้น

ผู้พิทักษ์เด็ก

ในเรื่องผู้พิทักษ์เด็กนี้ยังมีรูปปั้นชิ้นเล็กๆ เป็นผู้หญิงอุ้มเด็ก ซึ่งก็คือ “นางหาริตี” ผู้พิทักษ์เด็กตามความเชื่อในคติพุทธศาสนามหายาน เช่นที่ญี่ปุ่นในวัดโฮเมียวจิที่โด่งดังเรื่องการขอลูกและดูแลเด็กๆ ก็มีรูปปั้นลักษณะนี้เรียกว่า “คิชิโมจิน” ทำหน้าเป็นเทพผู้พิทักษ์แม่และเด็กเช่นกัน

ตุ๊กตาชาววัง

ใครที่สนใจชมตุ๊กตาชาววังรุ่นดั้งเดิม ใน พระตำหนักแดง มีจัดแสดงไว้เช่นกัน เป็นตุ๊กตาเด็กหญิงชาววังขนาดเล็กกำลังนั่งล้อมวงกันอยู่บนตั่งไม้ที่จำหลักหลายไม่ต่างจากตั่งจริง

Fact File

  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง พระตำหนักแดง และ พระตำหนักเขียว พระราชทานแด่สมเด็จพระพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์ โดย พระตำหนักเขียว พระราชทานแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ส่วน พระตำหนักแดง พระราชทานแด่สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ สำหรับพระตำหนักเขียวได้รื้อถวายที่วัดราชาธิวาส เหลือเพียงพระตำหนักแดงที่ได้รับการบูรณะและยังคงโครงสร้างเดิมไว้
  • พิพิธภัณฑ์ปกติเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1402 และ 0-2224-1333 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์