ศิลปะ (อาจไม่) ยืนยาว เช็คชีพจร หอศิลปกรุงเทพฯ กับปัญหาพื้นที่ศิลปะในเมืองไทย
Arts & Culture

ศิลปะ (อาจไม่) ยืนยาว เช็คชีพจร หอศิลปกรุงเทพฯ กับปัญหาพื้นที่ศิลปะในเมืองไทย

Focus
  • สิงหาคม 2564 เป็นเส้นตายที่ กรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจว่า จะให้ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการ อศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลปกรุงเทพฯ ต่อหรือไม่
  • มีนาคม 2564 จึงต่อด้วยเแคมเปญระดมทุน ผ่านโครงการ Art in Postcards โดยเชิญศิลปิน 12 คน มาร่วมออกแบบโปสการ์ดจำหน่ายหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายของหอศิลป์
  • ปัจจุบันมีการอนุมัติเงินอุดหนุนหอศิลปกรุงเทพฯ ในปี 2564 เพียงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมแล้ว 8 ล้านบาทต่อปี

ความไม่ชัดเจนบีบรัดด้วยข้อจำกัดเวลา และเส้นตายขีดไว้ที่เดือนสิงหาคม 2564 ที่กรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจว่า จะให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลปกรุงเทพฯ ต่อหรือไม่ ทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวเริ่มวิตกกังวล ถึงอนาคตชีพจรของหอศิลป์ใจกลางเมืองแห่งนี้ว่าจะเดินต่อ หรือถอยหลัง หรือจะเปลี่ยนถ่ายไปสู่พื้นที่ศิลปะในรูปแบบใดต่อจากนี้ไป

ทั้งนี้อนาคตของ หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้มีความสำคัญแค่ว่าใครจะเข้ามานั่งแท่นบริหาร แต่อนาคตของ หอศิลปกรุงเทพฯ ยังเป็นคำตอบสำคัญของการจัดการพื้นที่ศิลปะในเมืองไทย รวมทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่า ศิลปะนั้นยืนยาวกว่าชีวิตดังวลีคลาสสิกจริงหรือไม่

กิจกรรม WORKSHOP ONE DAY @BACC

ความไม่ชัดเจนก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ

ภาพคนหนุ่มสาวที่เดินไหล่เบียดไหล่ในงานระดมทุนเพื่อช่วยเหลือ หอศิลปกรุงเทพฯ หลังไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น

“การบริหารหอศิลป์ของมูลนิธิตอนนี้แม้ไม่มีหนี้สิน แต่ถ้าต่อจากนี้อีก 6 เดือน กทม.ไม่มีความชัดเจนเรื่องการต่อสัญญา จะทำให้มูลนิธิเดินหน้าหาผู้สนับสนุนค่อนข้างลำบาก เพราะผู้สนับสนุนก็ยังไม่มั่นใจว่าถ้าให้เงินมาแล้วมูลนิธิยังรับหน้าที่ในการบริหารจัดการต่อหรือไม่ นี่เป็นความติดขัดที่มาจากความไม่ชัดเจน”

ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการบริหารและปฎิบัติการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นอธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

พฤศจิกายน 2544 เดินขบวนศิลปะที่ยาวที่สุดในโลก

หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สันทนาการของเมืองโดยมีจุดเริ่มต้นจากการรณรงค์โดยเครือข่ายภาคประชาชนและศิลปินเป็นเวลากว่า 15 ปีกว่าจะได้รับการตอบรับจากภาครัฐในการสนับสนุนงบประมาณและเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ.2551 กับประโยคที่หลายคนยังจำได้ ในการรณรงค์สร้างหอศิลป์ “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” 

ที่ดินและอาคารถือเป็นทรัพย์สินของ กทม.โดยให้ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เนื่องจากมีการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าในเรื่องระเบียบการและสามารถว่าจ้างคนทำงานที่มีประสบการณ์โดยตรงได้คล่องตัวกว่า ช่วงแรก กทม. จึงมีเงินอุดหนุนการบริหารจัดการมาเป็นรายปี ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ทางหอศิลปกรุงเทพฯ จะหารายได้เลี้ยงตัวเอง

พฤศจิกายน 2544 เดินขบวนศิลปะที่ยาวที่สุดในโลก

แต่ปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ในการพิจารณางบอุดหนุนในปี พ.ศ.2561 โดยสภา กทม. มีการตีความใหม่ว่า กทม. ไม่สามารถให้งบสนับสนุนมูลนิธิได้เพราะขัดต่อ พรบ.กทม.ทั้งที่ในปีก่อนสภาชุดเดียวกันอนุมัติเงินสนับสนุนให้และมีการอุดหนุนเงินมาตลอดปีละ 40 ล้านบาท

ปี พ.ศ.2561 มีการต่อสู้ในสภา กทม. จนได้งบมา 40 ล้านบาท แต่การใช้งบประมาณรอบนั้นไม่ได้เหมือนเดิม เป็นการทำงานแบบที่ทาง กทม.ให้งบมาแล้วให้มูลนิธิจัดการงบประมาณตามแผนที่เสนอต่อสภา โดยงบประมาณจะไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เมื่อหอศิลป์จะใช้ต้องทำการเบิกเงินตามกระบวนการราชการ ซึ่งกระบวนการทำงานแบบนี้เหมือนกลับไปยังกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหอศิลป์ ที่ไม่มีความคล่องตัว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป้าหมายการตั้งมูลนิธิเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้การทำงานของหอศิลป์ ในปี พ.ศ.2561 แม้มีงบประมาณ แต่พอทำการเบิกจริง กลับไม่สามารถเบิกงบมาใช้ได้ สุดท้ายงบที่ค้างอยู่กับ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครต้องส่งคืนไปทั้งหมด

ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการบริหารและปฎิบัติการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ.2562 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จึงไม่ตั้งเรื่องของบประมาณของหอศิลป์เข้าสภา กทม. โดยมีการอ้างว่า การตีความเรื่องให้เงินอุดหนุนยังไม่มีการตีความใหม่ ซึ่งสภา กทม.ยังยึดแนวทางเดิมว่า ไม่มีสิทธิที่จะให้เงินอุดหนุน เลยเป็นภาวะสุญญากาศมาถึงปี 2563 ที่คณะกรรมการมูลนิธิได้เข้าไปเจรจากับทาง กทม. จนสุดท้ายมีการแก้สัญญาโดยระบุใหม่ว่า กทม. สามารถให้เงินอุดหนุนมูลนิธิได้ แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้งบประมาณที่จะอุดหนุนค่อนข้างมีปัญหา จึงมีการอนุมัติเงินอุดหนุนในปี 2564 เพียงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพียง 8 ล้านบาทต่อปี

“ทั้งที่จริงถ้าเราทำงานเต็มที่ ตามแผนงานจะต้องใช้งบเกือบ 70 ล้านบาทต่อปี ทุกปีที่ผ่านมามูลนิธิก็มีการหารายได้มาเสริมเกือบปีละ 30 ล้านบาท ดังนั้นถ้าให้มูลนิธิหางบประมาณมาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เราอาจไม่สามารถคงสถานะองค์กรที่ไม่เป็นศูนย์การค้าได้ ซึ่งตอนนี้พยายามเอื้อให้หอศิลป์มีสถานะที่ให้ประโยชน์แก่สังคมโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆ จะไม่เก็บค่าเข้าชม”

ลักขณากล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาโอกาสในการคุยกับผู้บริหารของ กทม. ยังมีไม่มากนัก เพราะไม่มีพื้นที่ให้ได้มาพูดคุยกัน และระบบราชการก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอยู่เรื่อยๆ ทำให้การบริหารจัดการขาดความต่อเนื่อง อย่างสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ก็มีการเปลี่ยนผู้บริหารอยู่บ่อยๆ ทำให้การเรียนรู้และเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานไม่มีการเชื่อมต่อ สิ่งนี่ทำให้การทำงานสะดุด

แม้มีหลายกระแสข่าวออกมา แต่ในความเป็นจริงทีมงานหอศิลป์ ไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของ กทม. เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา แม้ในปีที่แล้วจะมีการคุยกันจนมีการแก้สัญญา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ในเดือนสิงหาคมปีนี้ สัญญาเกี่ยวกับสถานที่ของหอศิลป์จะหมดลง

หอศิลปกรุงเทพฯ

ขีดเส้นตายสิงหาคม 2564

ท่ามกลางความไม่ชัดเจน ลักขณายังหวังว่ามูลนิธิหอศิลป์ที่จะหมดสัญญาในการดูแลพื้นที่กับทาง กทม. ในเดือนสิงหาคมนี้จะได้รับหน้าที่ในการบริหารพื้นที่ต่อไป เนื่องจากหากมีการประเมินจากผลงานที่ผ่านมา 12 ปี จะเห็นถึงการเติบโตในทุกด้าน เช่นจากการทำวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงผลที่ได้จากการมีหอศิลป์ตั้งอยู่บนพื้นที่นี้ทำให้เห็นถึงการรับรู้ของคนทั่วโลก การสร้างศักดิ์ศรีให้กับเมือง หรือการสร้างพื้นที่ในการสร้างสรรค์ที่มีผลดีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ยอดผู้เข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ที่เริ่มให้มูลนิธิหอศิลป์เข้ามาบริหารมียอดผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนคน เป็น 2 ล้านคน ซึ่งการที่จะตั้งหน่วยงานใหม่ให้มาจัดการกับพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีความหวังลึกๆ ว่า ผู้บริหาร กทม. น่าจะเห็นถึงความสำเร็จเหล่านี้

“เพื่อไม่ให้การบริหารหอศิลป์สะดุด ควรจะให้มูลนิธิบริหารต่อไป เพราะเอาเข้าจริง กทม.ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ ดังนั้นถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนอะไรควรใช้โครงสร้างที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่จะปรับเปลี่ยนโดยยุบองค์กรเก่าที่ทำงานอยู่ทั้งหมด โดยเอาคนใหม่เข้ามาทำงานแทนทั้งระบบ ซึ่งในกระบวนการทำงานจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใหม่ที่เข้ามา มีประสบการณ์ในด้านศิลปะที่เพียงพอ เพราะเรื่องศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะที่มีบุคลากรในประเทศไม่มากนัก ที่จะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง

“หอศิลป์ในเมืองไทยจะมีสักกี่ที่ที่มีการบริหารและประสบความสำเร็จแบบนี้ ขณะที่หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ที่ดูแลโดยรัฐก็บริหารจัดการไม่ได้แบบนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับงบประมาณที่เราไม่ได้รับ เราก็พยายามยื้อมาได้ถึง 3 ปี ทั้งๆ ที่ กทม.ไม่ได้ให้เงินอุดหนุนมาเป็นก้อนเหมือนแต่ก่อน แต่ก็พยายามบาลานซ์ในการจัดการ ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมก็ไม่ได้ลดลงมากจากแต่ก่อน”

หอศิลปกรุงเทพฯ

แม้ กทม. จะยังไม่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าคนทุกวัยต้องการศิลปะ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมามีการจัด นิทรรศการ POSTCARD FROM A STRANGER เปิดให้ชมและแลกโปสการ์ด โดยเริ่มแรกทำเพื่อส่งต่อความหวังให้กันหลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องปิดให้บริการมานาน  แต่เมื่อมีข่าวว่าหอศิลป์อาจจะปิดตัวลงหลายคนจึงมาเขียนโปสการ์ดเพื่อให้กำลังใจกับทางหอศิลป์ สิ่งนี้ทำให้ยอดผู้เข้าชมช่วงนั้นนับหลายหมื่นคนโดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง

ในเดือนมีนาคม 2564 จึงต่อด้วยเแคมเปญระดมทุน ผ่านโครงการ Art in Postcards โดยเชิญศิลปิน 12 คน มาร่วมออกแบบโปสการ์ด โดยแต่ละเดือนระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 ทางโครงการจะคัดสรรโปสการ์ดจาก 2 ศิลปินมาจำหน่าย ซึ่งทุกการบริจาค 50 บาท จะได้รับโปสการ์ด 1 ใบ โดยเพียงเดือนแรกหลังเปิดจองก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจนโปสการ์ดถูกจองเต็มหมดแล้ว

หอศิลปกรุงเทพฯ
กิจกรรม WORKSHOP ONE DAY @BACC

“ทางทีมงานหอศิลป์อยากให้คนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่นี้ ออกมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ศิลปะตรงนี้ และจะต้องมีองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารพื้นที่ โดยหวังว่าผู้บริหารของ กทม.จะเห็นถึงผลงานที่มูลนิธิบริหารจัดการพื้นที่จนเป็นที่จดจำของผู้คนมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา” ลักขณากล่าวทิ้งท้าย

ชีพจรของ หอศิลป์กรุงเทพฯ ต่อจากนี้ ยังคงต้องจับตามองว่าจะออกมาในรูปแบบใด และศิลปะในเมืองไทยจะยืนยาวอย่างคำนิยามหรือไม่ ทุกคนอาจต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ในไม่ช้า…


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ