สกาลา ราชาโรงหนังแห่งสยาม อดีตความเฟื่องฟูของโรงหนังสแตนด์อโลนในไทย
Arts & Culture

สกาลา ราชาโรงหนังแห่งสยาม อดีตความเฟื่องฟูของโรงหนังสแตนด์อโลนในไทย

Focus
  • โรงภาพยนตร์สกาลา ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวโรงภาพยนตร์ ออกแบบโดย พันเอกจิระ ศิลปะกนก
  • สกาลา เคยเป็นหนึ่งในสามทหารเสือโรงภาพยนตร์ดังย่านสยามสแควร์ ได้แก่ โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และ โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเปิดฉายครั้งแรกวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512
  • ในช่วงหลังคงครามโลกเรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2520 โรงหนังสแตนด์อโลนแบบสกาลากระจายอยู่แทบทุกชุมชน และทุกภาคของประเทศซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 700 โรงเลยทีเดียว

สกาลา ชื่อนี้ติดหู และติดใจคนรักภาพยนตร์มาตั้งแต่ พ.ศ.2512 หลังจากที่ศูนย์กลางความบันเทิงของกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนจากย่านวังบูรพาซึ่งเป็นย่านโรงหนัง ร้านอาหาร มายังย่านสยามสแควร์ พร้อมกับการเปิดตัว โรงภาพยนตร์สยาม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2509 ตามมาด้วย โรงภาพยนตร์ลิโด ที่เปิดฉายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 และ โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเปิดฉายครั้งแรกวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 กลายเป็นสามทหารเสือแห่งย่านสยามสแควร์เลยก็ว่าได้

การเปลี่ยนขั้วความบันเทิงครั้งใหญ่นี้เกิดจากโปรเจ็กต์การพัฒนาที่ดิน 63 ไร่ ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ชื่อ “ศูนย์การค้าสยามสแควร์” โดยเริ่มเปิดบริการในปี พ.ศ. 2507 ทำให้ร้านค้าต่างๆ ได้ย้าย บ้างก็ขยายสาขาเข้ามาเปิดในทำเลทองแห่งใหม่ ที่เชื่อมต่อกับความเจริญของศูนย์การค้าราชประสงค์ ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าขายของแบรนด์เนมจากนานาประเทศ  

สกาลา
ภาพ : กันต์ สันตินุตานนท์ (ค่ายสารคดีครั้งที่ 10)

ในครั้งนั้นได้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้น 3 โรงใหญ่เป็นไฮไลต์ของย่านสยามสแควร์ ซึ่งโรงภาพยนตร์สยาม ขนาด 800 ที่นั่งได้ปิดตัวไปพร้อมกับเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 2553 ส่วนลิโดนั้นก็มีการปรับโฉมครั้งใหญ่กลายเป็น Lido Connect พื้นที่สร้างสรรค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ของโรงภาพยนตร์เป็นเวทีทอล์กโชว์ คอนเสิร์ต สัมมนาได้หลากหลายฟังก์ชัน และล่าสุดก็ถึงคราวที่สกาลา จะปิดม่านการฉายภาพยนตร์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563

สกาลา เป็นโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยว หรือ สแตนด์อโลน (stand-alone cinema) ก่อตั้งโดย พิสิฐ ตันสัจจา ผู้เริ่มธุรกิจเครือเอเพ็กซ์ และอดีตผู้บริหารศาลาเฉลิมไทย โรงมหรสพผสมละครเวทีและโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในยุคสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอบรับนโยบายสร้างวิถีชีวิตคนไทยให้ทันสมัย (ศาลาเฉลิมไทย เปิดฉายภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2495 และปิดกิจการถาวรพร้อมถูกรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ. 2532 )

ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของโรงภาพยนตร์สแตนด์ อโลน ไม่เพียง สกาลา ลิโด และโรงภาพยนตร์สยามเท่านั้นที่มีคนรอดูหนังรอบปฐมทัศน์กันจนล้นหน้าโรง  ในช่วงหลังคงครามโลกเรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2520 โรงหนังสแตนด์ อโลนแบบนี้กระจายอยู่แทบทุกชุมชน และทุกภาคของประเทศซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 700 โรงเลยทีเดียว

กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ได้เกิดโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ขึ้นในห้างสรรพสินค้า เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีระบบเสียงและการขายตั๋วที่ทันสมัย ส่งผลกระทบให้ความนิยมต่อโรงภาพยนตร์สแตนด์ อโลน ซึ่งปรับปรุงเทคโนโลยีด้านภาพและเสียงไม่ทันสมัย บวกด้วยสื่อวิดิโอที่เข้ามา ทำให้โรงภาพยนตร์สแตนด์ อโลน ต้องทยอยปิดกิจการลง

สกาลา
ภาพ : กันต์ สันตินุตานนท์ (ค่ายสารคดีครั้งที่ 10)

นอกจากตำนานความยิ่งใหญ่ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทยแล้ว โรงภาพยนตร์สกาลายังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวโรงภาพยนตร์ ออกแบบโดย พันเอก จิระ ศิลปะกนก สร้างโดยบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด

ในด้านดีไซน์ สกาลาโดดเด่นด้วยงานแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ด้านหน้าอาคารยกพื้นขึ้นสูงเปิดเป็นทางเข้า โดยใช้ลักษณะของซุ้มโค้ง ชั้นบนที่เป็นทางเข้าชมภาพยนตร์มีลักษณะเป็นโครงสร้างทรงโค้งมีเสารองรับตามจุดต่างๆ

เพดานระหว่างเสาประดับเป็นรูปคล้ายเฟืองขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของโรงภาพยนตร์นี้ เช่นเดียวกับโคมไฟระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็ง 5 ชั้น ขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือบันไดทางขึ้นลงภาพยนตร์ เป็นโคมไฟระย้านำเข้าจากอิตาลี ส่วนชื่อโรงภาพยนตร์  สกาลา มีที่มาจากชื่อ ตีอาโตร อัลลา สกาลา (Teatro alla Scala) โรงอุปรากรคลาสสิกที่ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เช่นกัน

สกาลา ปิดฉากลงในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 โดยมีภาพยนตร์ “Cinema Paradiso” ผลงานของ จูเซปเป ทอร์นาทอเร เป็นดั่งบทส่งท้ายให้แก่สกาลาในฐานะสรวงสวรรค์ของคนรักหนังหลายต่อหลายคน

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี ฉบับ มกราคม 2555 และ ตุลาคม 2556
  • www.apexsiam-square.com
  • สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (www.asaconservationaward.com)

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป