ประวัติศาสตร์ วันสงกรานต์ จากดวงดาว ฤดูกาล สู่เทศกาล
Arts & Culture

ประวัติศาสตร์ วันสงกรานต์ จากดวงดาว ฤดูกาล สู่เทศกาล

Focus
  • วันสงกรานต์ ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 13 เมษายน มาแต่แรก เดิมทีไทยเรามีการกำหนด วันสงกรานต์ แบบคำนวณปีต่อปี
  • การกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ และเป็นวันครอบครัว เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ 2491

ทราบหรือไม่ว่าเดิมที วันสงกรานต์ ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 13 เมษายน แต่ไทยเรามีการกำหนด วันสงกรานต์ แบบคำนวณปีต่อปี และต้องคอยฟังประกาศจากทางการว่าปีนี้ ปีใหม่ไทยหรือ สงกรานต์ จะตรงกับวันใด

การกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ และเป็นวันครอบครัว เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ 2491 ด้วยช่วงมหาสงกรานต์ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยว นับว่าเป็นเวลาดีที่จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เหมาะกับช่วงทำบุญใหญ่ในรอบปี ส่วนการใช้น้ำอบมีกลิ่นหอมสรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์นั้นมาจาก “พิธีสนานกาย” ของอินเดีย  เป็นเรื่องของประเพณี ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เป็นความเชื่อของอินเดียว่าด้วยเรื่องการชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไป

ทั้งนี้คำว่า “เคลื่อนย้ายเข้าไป” หรือ “ผ่าน” คือความหมายที่แท้จริงของ สงกรานต์ โดยในสมัยที่ยังมีชุดความเชื่อกันว่าโลกเป็นแกนตั้งของจักรวาล มนุษย์กลุ่มหนึ่งสังเกตหมู่ดาว 12 ราศีบนท้องฟ้าที่หมุนเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา พวกเขาพบว่าการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่ราศีหนึ่งนั้นกินเวลา 1 เดือน และเรียกช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มเคลื่อนเข้าสู่หมู่ดาวว่าเป็นช่วง “สงกรานต์เดือน”

ตามปกติ กลางวัน-กลางคืนของทุกวันกินเวลาไม่เท่ากัน ในหน้าร้อนช่วงเวลากลางวันยาวนาน ส่วนหน้าหนาวกลางวันนั้นสั้นกว่ากลางคืน แต่ในทุกปีจะมีอยู่วันหนึ่งที่ความมืดและความสว่างมีเวลาเท่ากันนั่นก็คือ ช่วงกลางเดือนเมษายน ได้แก่ “วันมหาสงกรานต์” เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่กลุ่มดาวแกะ หรือ ราศีเมษ เป็นช่วงที่พื้นที่ที่อยู่เหนือเขตร้อนของโลก  กำลังเปลี่ยนจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้ใบหญ้าและสัตว์ต่างๆ ที่เคยจำศีลก็กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ชาวอินเดียจึงถือเอาช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ดินแดนอุษาคเนย์รวมทั้งประเทศไทยก็ยึดถือตาม แม้ภายหลังวันขึ้นปีใหม่ของไทยจะปรับเปลี่ยนตามปีใหม่สากลให้เป็นวันที่ 1 มกราคม แต่คนไทยก็ยังจัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นการเริ่มต้นปีอย่างสมบูรณ์

วันสงกรานต์

ตำนาน 7 นางสงกรานต์

สำหรับ นางสงกรานต์ ทั้ง 7 นั้น มีบันทึกไว้บนที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ โดย นางสงกรานต์ ตามตำนานคือธิดาทั้ง 7 ของ ท้าวกบิลพรหม โดยเรื่องราวของท้าวกบิลพรหมนั้นเป็นปริศนาธรรมที่ถูกเล่าต่อๆ กันมา ยิ่งถ้าได้ไปทำบุญตักบาตรที่วัดในวันสงกรานต์ก็จะได้ยินได้ฟังเทศน์เรื่องตำนานท้าวกบิลพรหมอย่างแน่นอน

เรื่องมีอยู่ว่า ท้าวกบิลพรหม ได้ทายปัญหากับ ธรรมบาลกุมาร โดยมีข้อตกลงว่าถ้าธรรมบาลกุมารตอบปริศนาไม่ได้จะต้องยอมถูกตัดหัว ปริศนาที่ท้าวกบิลพรหมตั้งขึ้นเพื่อถามธรรมบาลกุมาร คือ ราศีของมนุษย์อยู่แห่งไหน แบ่งเป็น 3 คำถาม คือ

  • ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน
  • ตอนกลางวันราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน
  • ตอนค่ำราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน

ธรรมบาลกุมารขอเวลา 7 วัน แต่จนแล้วจนเล่าเข้าสู่วันที่ 6 ก็ยังขบคิดปริศนานี้ไม่ได้ ธรรมบาลกุมารจึงหลีกหนีเข้าไปขบคิดในป่า ครั้นเมื่ออยู่ใต้ต้นไม้ก็ได้ยินเสียงนกอินทรีผัวเมียคุยกันว่า พรุ่งนี้จะออกไปหากินที่ไหน ฝ่ายอินทรีตัวผู้ตอบว่าไม่ต้องไปไหนไกล เพราะพรุ่งนี้ธรรมบาลกุมารก็จะถูกตัดศีรษะเพราะไม่สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้

ด้วยความที่ธรรมบาลกุมารร่ำเรียนจนสามารถฟังภาษานกได้ จึงหยุดฟังบทสนทนาซึ่งอินทรีตัวผู้ก็ตอบนางนกไปว่า คำถามนี้จะไปยากอะไร ยามเช้าตื่นนอนราศีของมนุษย์จับอยู่บนใบหน้า มนุษย์จึงนำน้ำมาล้างหน้าทุกครั้งหลังตื่นนอน ส่วนกลางวันอากาศร้อน ราศีของมนุษย์อยู่ที่อกจึงมีการเอาน้ำและเครื่องหอมประพรมที่อกให้สดชื่น ส่วนตอนค่ำราศีของมนุษย์อยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็เห็นตามเหตุผลที่พญาอินทรีกล่าว จึงนำคำตอบไปแจ้งแก่ท้าวกบิลพรหม และท้าวกบิลพรหมจึงต้องยอมทำตามคำที่ให้ไว้คือการตัดศีรษะตัวเอง แต่ปัญหาคือ เศียรของท้าวกบิลพรหมนั้นหากตกลงบนพื้นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หรือหากทิ้งลงมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง

ท้าวกบิลพรหมจึงให้ธิดาทั้ง 7 ของตนมาพบและเอาพานมารองรับเศียรของตนไว้ จากนั้นแห่เวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วจึนำไปประดิษฐานในมณฑป ณ ถ้ำคันธุลี เขาไกรลาส โดยในทุกปีธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมก็จะผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญเศียรของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่มาของนางสงกรานต์ในแต่ละปีที่มีชื่อ พาหนะ และอาวุธ แตกต่างกันไป

วันสงกรานต์
ภาพนางสงกรานต์ในปีต่างๆ (ภาพ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

ฉลองสงกรานต์แบบไทยในถนนที่ชื่อว่า “ข้าว”

การฉลองสงกรานต์แบบไทยๆ นั้นไม่ได้มีแค่ทำบุญ ตักบาตร รดน้ำดำหัว หรือสรงน้ำพระ ทว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ กิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ซึ่งในแต่ละภาค แต่ละจังหวัดก็จะมีถนนสายหลักที่จัดสำหรับการเล่นน้ำสงกรานต์โดยเฉพาะ น่าแปลกใจว่า ถนนเหล่านั้นล้วนตั้งชื่อว่า “ข้าว” ด้วยกันทั้งสิ้น

ถนนข้าวสาร ไอโคนิกของการเล่นน้ำสงกรานต์ในไทย ได้แก่ ถนนข้าวสาร ซึ่งมีความยาวเพียง 400 เมตร แต่ได้กลายเป็นศูนย์กลางความมันต้นฉบับวันสงกรานต์ ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ จากความสำเร็จในการจัดงานสงกรานต์บนถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ  ทำให้การท่องเที่ยวในหลายจังหวัดจัดงานฉลองสงกรานต์แบบปิดถนนกลางเมืองเช่นกัน โดยใช้ “ข้าว” มาตั้งเป็นชื่อถนนเฉพาะกิจ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมอ้างอิงกับสินค้าหรือผลผลิตท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อในจังหวัดนั้นๆ

ถนนข้าวแช่ จังหวัดปทุมธานี หรือเดิมชื่อ ถนนเทศปทุม อยู่ใกล้กับบริเวณศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเก่า ได้ชื่อมาจากข้าวแช่ของกินชาวมอญที่เป็นชุมชนใหญ่ในย่านนั้น

ถนนข้าวแช่ จังหวัดเพชรบุรี เป็นถนนริมน้ำข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเพื่อโปรโมตสงกรานต์และอาหารว่างประจำถิ่นเพชรบุรีนั่นก็คือ ข้าวแช่ ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี ชื่อนี้มาจากของฝากขึ้นชื่อของตลาดหนองมนซึ่งก็คือ ข้าวหลาม

ถนนข้าวทิพย์ จังหวัดจันทบุรี เดิมชื่อ ถนนท่าแฉลบ ส่วนที่มาของชื่อ ถนนข้าวทิพย์ เพราะถนนเส้นนี้มีประเพณีกวนข้าวทิพย์ในวันสงกรานต์ที่วัดใหม่ ซึ่งถนนตัดผ่านหน้าวัดพอดี

ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี ถนนเส้นนี้เดิมชื่อ ถนนมะกรูด แต่ตั้งชื่อตามข้าวยำซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นปักษ์ใต้

วันสงกรานต์

ถนนข้าวปุ้น จังหวัดนครพนม เดิมชื่อ ถนนสุนทรวิจิตร ส่วนชื่อข้าวปุ้นมาจาก ขนมจีน ที่ทางอีสานเรียก ข้าวปุ้น อาหารงานประเพณีอันเลื่องชื่อของนครพนม โดยข้าวปุ้นอีสานจะกินคู่น้ำแจ่ว หรือ น้ำปลาร้า และตลอดถนนข้าวปุ้นในช่วงสงกรานต์ก็จะมีเมนูอาหารจากข้าวปุ้นให้ได้เลือกกินเยอะมาก

ถนนข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด เดิมชื่อ ถนนเพลินจิต อยู่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งตามจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมคุณภาพดีชื่อเสียงระดับโลก

ถนนข้าวก่ำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมชื่อ ถนนอนรรฆนาค ส่วนชื่อ “ข้าวก่ำ” มาจากชื่อข้าวก่ำผลผลิตขึ้นชื่อของกาฬสินธุ์

ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น เดิมชื่อ ถนนศรีจันทร์ มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งทางจังหวัดได้จัดงานสงกรานต์ใหญ่โตตลอดทั้งสัปดาห์ มีทั้งงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปคู่เมือง มีงานดนตรีหมอลำ รำวงย้อนยุค ถนนข้าวเหนียวจัดงานสงกรานต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546  และโด่งดังสุดๆในปี พ.ศ. 2553  ด้วยคลื่นมหาชนมาร่วมงานล้นหลาม จนได้รับการบันทึกจากพิพิธภัณฑ์ริบลีส์เชื่อหรือไม่ในประเทศไทย ว่ามีคลื่นมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดรวมตัวกันในวันเดียว

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มีนาคม 2554


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป