สมมุติ ว่าเป็น… สีสันในวัย 67 ปีของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ
Arts & Culture

สมมุติ ว่าเป็น… สีสันในวัย 67 ปีของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ

Focus
  • “สมมุติ ว่าเป็น …” นิทรรศการของศิลปินชั้นครู ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ จัดแสดงที่ 333 Gallery ชั้น 3 River City Bangkok
  • ลายเซ็นที่ชัดเจนของศรีวรรณก็คือลายเส้นแนว Semi-Figurative ของรูปโครงร่างคนและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกันด้วยสีสันที่ตัดกันอย่างฉูดฉาด

กว่า 5 ปีแล้วที่นิทรรศการเดี่ยวของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ หรือ อาจารย์ศรีวรรณ ได้จัดแสดง โอกาสที่จะได้ยลผลงานจิตรกรรมสีสันสดใสแนวกึ่งสมจริงของศิลปินหญิงอาวุโสท่านนี้ก็ดูจะห่างหายจากแวดวงศิลปะของกรุงเทพฯ ไปบ้าง ไม่ก็ต้องลงทุนแวะไปที่หอศิลป์ศรีดอนมูล จังหวัดเชียงราย ด้วยตนเอง 

หลังจากที่ผลงานคัดสรรของ ศรีวรรณ จำนวนหนึ่งได้นำมาแสดงในเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale เมื่อสองปีที่แล้ว ได้สร้างแรงกระตุ้นให้คนศิลป์รุ่นใหม่อยากชมผลงานของครูศิลปะท่านนี้มากขึ้น เป็นโอกาสอันดีที่ทาง 333 Gallery ได้ติดต่อนำงานกว่า 70 ชิ้น ขนตรงจากเชียงรายมาให้คอศิลปะให้ชมกันในชื่อนิทรรศการ “สมมุติ ว่าเป็น …” ณ ชั้น 3 River City Bangkok ให้ได้ประจักษ์กันว่าในวัย 67 ปี ศิลปินหญิงคนหนึ่งยังไม่หมดไฟในการสร้างผลงานศิลปะอย่างไรบ้าง 

ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ

ให้ธรรมชาติสอนธรรมะ และสร้างศิลป์

หลังจบทั้งป.ตรี และ โท ด้านภาพพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ศรีวรรณ ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องจนจัดเป็นศิลปินหญิงชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของไทย ที่จัดแสดงผลงานทั้งเดี่ยวและกลุ่มเป็นระยะ ตลอดช่วงทศวรรษ 1980-2000 ด้วยเอกลักษณ์ของการผลิตผลงานหลายสื่อทั้งภาพพิมพ์ จิตรกรรม ประติมากรรม และเซรามิก ลายเซ็นที่ชัดเจนของศรีวรรณก็คือสายเส้นแนว Semi-Figurative ของรูปโครงร่างคนและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกันด้วยสีสันที่ตัดกันอย่างฉูดฉาด

แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนชอบความท้าทายและไม่ติดยึด แม้กระทั่งในวัยเกษียณ ถึงแม้จะมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างแต่ก็ยังตัดสินใจย้ายไปใช้ชีวิตที่เหนือสุดแดนสยามอย่างเชียงรายเพื่อสานฝันการมี Art Space เป็นของตนเอง คือ หอศิลป์ศรีดอนมูล อาร์ตสเปซ ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

“หลังเกษียณ ก็ย้ายไปอยู่บนดอยสะโง้ที่เชียงรายกว่า 12 ปีแล้ว ให้ธรรมชาติเป็นครูสอนธรรมะให้แก่เรา” ครูศิลปะที่ขึ้นชื่อว่าสอนได้สารพัดวิชาแถมปากร้ายแต่ใจดีของลูกศิษย์ 3 สถาบัน (วิทยาลัยช่างศิลปสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มศว ประสานมิตร) กล่าว

ณ เขตชายแดนประเทศ ศรีวรรณ ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันเป็นที่รัก อาศัยใกล้ศาสนสถาน ทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพสลับกันกับการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ถวายให้โบสถ์วัดป่ายางส่งผลให้ภาพบนผืนผ้าใบของเธอปรับจากฉากชีวิตกรุงเทพฯ ไปสู่การถ่ายทอดบทเรียนทางธรรมะผ่านฉากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ศรัทธา

แม้ฝีเท้าและกายาล้า แต่ฝีแปรงยังกำยำ

เป็นที่ทราบกันว่า ศรีวรรณเคยประสบอุบัติเหตุ ทำให้เดินได้ไม่สะดวกนัก ทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการตะลุยเดินทางเก่ง แต่แม้เท้าจะเดินเหินได้ไม่คล่องอย่างแต่ก่อน แต่กำลังแขนยังคงตวัดฝีแปรงได้อย่างที่เรียกว่ามือไม่ตก

“ภาพไหนที่ใหญ่มาก ก็ใช้วิธีวานคนให้ยกแคนวาสให้กลับหัวแล้ว paint เพนต์เอา ไม่ก็ใช้ไม้ด้ามต่อพู่กันเอา เท่านี้เราก็พอจะวาดภาพได้เหมือนเดิมแล้ว ส่วนพวกเซรามิก งานปั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร นั่งทำเอาได้”

แต่กระนั้นศรีวรรณก็อดมิได้ที่จะผลิตงานจิตรกรรมชิ้นใหญ่ ๆ ออกมา อย่างภาพ “เมืองเก่าเชียงแสน”และ “Homage to Manet” ขนาด 200 x 350 ซม. ซึ่งภาพแรกเป็นการประมวลของดีและเรื่องราวต่าง ๆ ของถิ่นพำนักประจำในปัจจุบัน ส่วนภาพหลังอยู่ในกลุ่มงาน Appropriation Art ที่นำงานมาสเตอร์พีซชื่อ The Bath (Le Déjeuner sur l’herbe) ของศิลปินฝรั่งเศสมาล้อ โดยการนำตัวโครงกระดูก ซึ่งเป็นตัวละครโมทีฟประจำของศรีวรรณ ที่แต่งเติมให้สื่อถือบริบททางธรรมะทางพุทธ 

“การทำงานด้วยสภาวะที่ร่างกายมีข้อจำกัดแบบนี้ เท่ากับทำให้เราได้ฝึกปฏิบัติธรรมได้ด้วย แถมที่เคลื่อนไหวไม่คล่อง ก็ทำให้เราไม่ต้องไปเที่ยวตะลอนซ่าไปไหนต่อไหนอย่างแต่ก่อน จนไม่ได้ทำงานอีก”

งานศิลป์จากการสั่งสม

“ความจริงที่อยู่ในภาพอาจารย์ ไม่ได้สะท้อนความจริงอย่างที่ตาเราเห็น แต่สะท้อนความจริงที่อยู่ในความคิด ในประสบการณ์” ศรีวรรณอธิบายถึงแนวคิดที่อยู่ภายใต้ผลงานของเธอ

“งานของเรามีลักษณะของจิตรกรรมไทยแฝงอยู่ ท่ามกลางเนื้อหาที่เป็นสากลร่วมสมัย ที่ความสมจริงไม่ได้เกิดจากอย่างที่ตามอง แต่เกิดจากความรู้สึกภายใน ระยะชัดลึกเกิดจากการเรียงและจัดระนาบของกลุ่มวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพ ตามอย่างช่างเขียนฝาผนังวัดโบราณ” 

ผลงานกว่า 70 ชิ้น ที่กำลังจัดแสดงในนิทรรศการ “สมมุติ ว่าเป็น …” สำแดงคุณลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยถูกแบ่งเป็นกลุ่มและหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้ศึกษางานได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาพแนวพุทธธรรม กลุ่มภาพสะท้อนชีวิตคนกรุงในธีมปาร์ตี้ภาพกลุ่มแนวจิตกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ ภาพกลุ่มโครงกระดูก และภาพที่มีลักษณะเป็นวงกลมกลุ่ม samsara ส่วนในทางเทคนิค ก็มีความหลากหลาย ทั้งภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้สีอะคริลิกบนผ้าใบสี่เหลี่ยมและในกรอบวงกลม งานประติมากรรม รวมไปถึงงานเซรามิก

Fact File

  • นิทรรศการ “สมมุติ ว่าเป็น …Sammati to be …” (โดย ปกรณ์ กล่องเกลี้ยง เป็นภัณฑารักษ์) จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มกราคม 2564 ที่ 333 Gallery ชั้น 3 อาคาร River City Bangkok กรุงเทพฯ
  • 333 Gallery เปิดทุกวัน เวลา 11.00-18.30 น. ไม่เสียค่าเข้าชม

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว