SWAMPED เมื่อขยะท่วมท้นโลก นิทรรศการจาก ขยะ จึงเกิดขึ้น
Arts & Culture

SWAMPED เมื่อขยะท่วมท้นโลก นิทรรศการจาก ขยะ จึงเกิดขึ้น

Focus
  • ขยะ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยหาทางออกกันในทุกวงการไม่เว้นแต่แวดวงศิลปะ เช่นเดียวกับนิทรรศการ SWAMPED : ท่วม โดย วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
  • วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี หอศิลป์แห่งใหม่ย่านเจริญกรุง ตั้งอยู่ในบ้านไม้เก่าอายุกว่า 100 ปี ของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของเมืองไทย

ขยะ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยหาทางออกกันในทุกวงการไม่เว้นแต่แวดวงศิลปะ แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามว่าจริงหรือที่ขยะคือตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม แน่หรือที่พลาสติกเป็นวัสดุก่อพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์ต่างหากที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาขยะ และนั่นจึงเป็นที่มาของนิทรรศการที่ท่วมท้นด้วยขยะ SWAMPED : ท่วม นิทรรศการศิลปะจัดวาง (installation art) ที่จัดขึ้นพร้อมการเปิดตัวของ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี หอศิลป์แห่งใหม่ในย่านเจริญกรุงที่นำบ้านไม้เก่าอายุกว่า 100 ปี ของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของเมืองไทยมาปรับปรุงเป็นศิลปะสถาน เน้นจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยโดยคอนเซ็ปต์ในปีแรก (พ.ศ. 2564) ของการเปิดตัวนี้จะนำเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับประวัติของตัวบ้านหลังนี้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกที่กำลังตกอยู่ในวงล้อมของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยากจะแก้ไขมาสื่อสารผ่านงานศิลปะ

SWAMPED

ทันทีที่เปิดประตูเข้ามาในแกลเลอรี สิ่งที่จะได้เห็นคือความท่วมท้นของขยะที่หลายชิ้นดูเหมือนของใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ บางชิ้นถูกนำไปแปรรูปใหม่เสียจนผู้ชมต้องร้องว้าวว่าขยะสามารถเปลี่ยนสถานะ ขยะมาเป็นงานดีไซน์ล้ำ ๆ ได้เพียงนี้ และนอกจากศิลปะจัดวางแล้ว SWAMPED : ท่วม ยังครบทั้งศิลปะทางเสียงและการแสดง สร้างสรรค์โดย 4 ศิลปิน ได้แก่ธนวัต มณีนาวา, เพลินจันทร์ วิญญรัตน์, ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ และ นท พนายางกูรโดยมี พงษ์พันธ์ สุริยภัทร และผู้บริหารวารินแล็บ คอนเท็มโพรารีอย่าง สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ เป็นภัณฑารักษ์ ซึ่งคนในวงการศิลปะรู้จักกับสุคนธ์ทิพย์กันดีอยู่แล้วในฐานะผู้ก่อตั้งLalanta Fine Art แต่สำหรับการขยับมาเปิด วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี นั้นก็ด้วยวัตถุประสงค์และแนวทางการจัดแสดงงานที่แตกต่างกัน สิ่งที่ชัดเจนที่เราเห็นได้สำหรับ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี คือการนำงานศิลปะมาบอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ของสังคมอย่างเต็มที่แบบที่ไม่ได้เห็นในLalanta Fine Art อย่างแน่นอน

SWAMPED
สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ ภัณฑารักษ์และผู้ก่อตั้วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี

SWAMPED : ท่วม ต้อนรับผู้ชมด้วยความท่วมท้นของขยะกองมหึมาที่ได้รับการบริจาคจากบริษัทเอกชนต่าง ๆ ก่อนจะถูกนำมาเปลี่ยนเป็นผ้าทอขนาดใหญ่ออกแบบโดย เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินสิ่งทอเจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้าทอแบรนด์ MOOK V โดยขยะที่เพลินจันทร์เลือกมาใช้ส่วนใหญ่เป็นขยะจากทะเลที่เธอมักจะเก็บสะสมจากตอนไปเที่ยวชายหาด ขยะบรรจุภัณฑ์ที่มาจากการบริโภคของมนุษย์ รวมทั้งเศษผ้า เศษด้ายจากอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอรวมทั้งมีวัสดุที่เธอเพิ่งทดลองนำมาทอเป็นครั้งแรกได้แก่ กระป๋อง ซึ่งขยะเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นเส้นใยเล็ก ๆ และค่อย ๆ ถูกถักทอด้วยมือไม่ต่างอะไรจากการทอผ้า บางเส้นใยอย่างกระป๋องอาจจะบาดมือ บางเส้นใยเช่นเศษอวนก็อาจจะเคยถูกฝังใต้ทรายมานานเป็นสิบปีรอน้ำซัดลงไปทำร้ายสัตว์ทะเล ส่วนวิธีการเข้าชมชิ้นงานนี้ เพลินจันทร์แนะนำให้แหวกม่านกองขยะเข้าไปยืนกลางชิ้นงานให้รู้สึกว่าขยะกำลังท่วม ทับ มนุษย์ในไม่ช้า

SWAMPED
เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ และงานสิ่งทอจากขยะพลาสติด

ต่อกันด้วยงานศิลปะจากขยะหลากสีสันของ ธนวัต มณีนาวา ที่ชวนย้อนมองว่าก่อนจะเป็น ขยะ สิ่งของเหล่านี้ล้วนเคยเป็นของรัก ของจำเป็นของใครต่อใครมาก่อน ต่อเมื่อสิ่งเหล่านี้หมดประโยชน์แม้อาจจะยังไม่บอบช้ำพังเสียหาย ของสภาพดีก็กลายเป็นขยะได้ในชั่วข้ามคืน

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
ธนวัต มณีนาวา

การนำขยะมาเปลี่ยนเป็นชิ้นงานศิลปะของธนวัต ศิลปินและดีไซเนอร์มากไอเดีย เจ้าของแบรนด์ “ทำดะ” (TAM DA)ไม่ได้สื่อออกมาเป็นขยะที่ไม่น่าหยิบจับ แต่เป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเป็นหน้าคนหลากหลายอารมณ์โดยธนวัตได้นำพลาสติกสารพัดที่คุ้นตาอย่างกล่องข้าว กาน้ำ ถาดน้ำแข็ง โถฉี่เด็กมาประกอบเข้าเป็นหน้าคน บ้างมีการฉาย mappingลงไป บ้างมีเสียงพูดคุยออกมา เช่น เสียงกินอย่างมูมมาม และเสียงบ่นอย่างไม่พอใจซึ่งงานจากขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้ย้ำเพียงว่ามนุษย์ใช้พลาสติกกันอย่างฟุ่มเฟือยเพียงใดแต่วัสดุเหล่านี้ก็แฝงไปด้วยวิวัฒนาการอารยธรรมของมนุษย์ทั้งด้านอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย และก็แน่แหละว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนของบางชิ้นก็กลายเป็นขยะในแทบจะทันที

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
งานเพอร์ฟอร์แมนซ์โดย ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์

เมื่อเดินเข้ามาด้านในสุดของแกลเลอรี จะพบกับชิ้นงานจัดวางที่ทำจากกล่องกระดาษแสนจะธรรมดาแต่ก็ซ่อนความหมายเจ็บ ๆ ของการก่อให้เกิดขยะของมนุษย์ไว้อย่างแสบสัน สร้างสรรค์โดย ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ โดยงานของทวีศักดิ์โดดเด่นด้วยขั้นตอนกว่าจะเป็นชิ้นงาน เช่น กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถาม ทำให้เกิดกระบวนการคิดจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การนำขยะไปให้คนในชุมชนช่วยกันผลิต ผลลัพธ์จึงไม่ได้อยู่แค่ปลายทางว่าชิ้นงานที่นำไปให้ชุมชนทำจะออกมาเป็นอะไร แต่ทวีศักดิ์ย้ำว่าแค่วันหนึ่งคนในชุมชนเริ่มหันมาคุยกันในประเด็นขยะ นั่นแหละศิลปะชิ้นนี้ได้ทำงานแล้ว นอกจากงานจัดวางแล้วทวีศักดิ์ยังมีงานเพอร์ฟอร์แมนซ์จริงและบันทึกวิดีโอให้ได้ชมกันอีกด้วย

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
นท พนายางกูร มาร่วมออกแบบเสียง

นิทรรศการ SWAMPED : ท่วม ไม่ได้จบเพียงแค่ขยะ แต่ยังมีเสียงที่สะท้อนถึงปัญหาขยะออกแบบโดย นท พนายางกูร ศิลปินผู้เป็นกระบอกเสียงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและทำงานเกี่ยวกับขยะมาตลอด เสียงที่นทออกแบบให้นิทรรศการครั้งนี้คือเสียงของบรรยากาศ เช่น การนำเสียงกี่ทอผ้า เสียงกินอย่างมูมมาม มาผสมผสานเป็นท่วงทำนองใหม่

กระเป๋าจากไฟท้ายรถที่ตกรุ่นและกลายเป็นขยะ

บทสนทนาด้านปัญหาสังคมไม่ได้จบลงแค่ในห้องนิทรรศการ ชั้นสองของห้องนิทรรศการยังจำหน่ายเครื่องประดับ งานดีไซน์ที่ทำจากขยะ เช่น ฝาเครื่องดื่มต่าง ๆ บางชิ้นอย่างไฟท้ายรถยนต์ อะไหล่รถยนต์ก็เป็นวัสดุใหม่เอี่ยมที่ยังไม่ทันได้ชำรุดเลยแม้แต่น้อย ทว่าเมื่อรถรุ่นนั้นเลิกผลิต อะไหล่ทั้งหมดจึงกลายเป็นขยะในทันที

ไอเดียของงานดีไซน์เหล่านี้คือการไม่อยากให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับขยะจบลงแค่ในแกลเลอรี แต่อยากให้ผู้เข้าชมงานเป็นเสมือนแกลเลอรีเคลื่อนที่ นำปัญหาขยะไปบอกต่อจากเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ ดังที่ทางแกลเลอรีแห่งนี้ย้ำว่า

“Keep the issues alive with the artists’ products in your daily life.”

Face File

  • วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ศูนย์การค้า โอ. พี. การ์เด้น ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ
  • เปิดบริการ วันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-19.30 น.
  • SWAMPED : ท่วม เปิดให้บริการวันนี้-21 เมษายน 2564

Author

รุ้งตะวัน กาญจนาภิรมย์สุข
หญิงสาวผู้แสวงหาแรงบันดาลใจจากตัวอักษร ชื่นชอบการกินเป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลกลิ่นอายวิถีชีวิตแบบชนบท

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม