สร้างชาติด้วย นางระบำโบราณ ผู้ปลุกใจ และดับไฟใน สงครามเขมรแดง
Arts & Culture

สร้างชาติด้วย นางระบำโบราณ ผู้ปลุกใจ และดับไฟใน สงครามเขมรแดง

Focus
  • หลัง สงครามเขมรแดง จบลง เด็กกลุ่มหนึ่งถูกคัดเลือกให้มาสืบต่อระบำโบราณแบบราชสำนัก เพราะกัมพูชาตระหนักว่า การสร้างชาติไม่ใช่แค่การสร้างตึก หรือสันติภาพ แต่จิตใจของผู้คนก็เป็นเรื่องสำคัญ
  • ระบำอัปสรา เป็นอีกระบำโบราณที่คลาสสิกมากของกัมพูชา โดยนางอัปสราเป็นตำนานที่ถูกแกะสลักไว้บนกำแพงปราสาทหินในหลายที่ เช่น รอบปราสาทนครวัด
  • ปัจจุบันระบำโบราณจะสูญหายจากเขมร ครูระบำโบราณจึงจำเป็นจะต้องทำให้ระบำโบราณมีความกลมกลืนกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจมากขึ้น

สงครามเขมรแดง จบลง เธอเป็นเด็กกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มเข้ามาฝึกรำตามแบบราชสำนักโบราณ Sam Sathya ผู้เคยเป็นนางรำในราชสำนักกัมพูชา และตอนนี้เป็นรองคณบดีคณะศิลปะการออกแบบท่านาฏศิลป์ มหาวิทยาลัย Royal University of Fine Arts ประเทศกัมพูชา เธอรู้ดีว่า

การสร้างชาติหลังบอบช้ำด้วยอาวุธนานาชนิดใน สงครามเขมรแดง ไม่ใช่แค่การสร้างตึก หรือเพียงคำพูดแห่งสันติภาพ แต่จิตใจของผู้คนก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นทุกครั้งที่เธอร่ายรำ จึงเสมือนการซับน้ำตาผู้คนให้ร่วมกันกลับมาสร้างชาติอีกครั้ง

Sam Sathyaในวัย 53 ปี ยังคงมีแววตามุ่งมั่นทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่องราวของครูซึ่งต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แอบฝึกรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง ในยุค สงครามเขมรแดง ที่ความโหดร้ายของสงครามก็พรากพวกเขาให้จากไป จนการรำในราชสำนักโบราณเกือบสูญสิ้น และไร้เงาท่วงท่าร่ายรำนางอัปสรา…

จิตวิญญาณนางระบำโบราณ

หลังสิ้นสุดยุค สงครามเขมรแดง การรำในแบบราชสำนักโบราณได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจ บรรดาครูสอนรำและนางรำต่างถูกกวาดต้อนให้ไปเป็นแรงงาน และเสียชีวิตลงหลายคน เนื่องจากต้องทำงานอย่างหนัก แต่ก็มีครูบางคนที่ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ครูที่ถูกเกณฑ์ให้ไปขนขี้ควาย

“แรงงานส่วนใหญ่จะเอาของเทินไว้บนหัว และทำงานอย่างหนัก แต่ครูฉันไม่ยอมเทินสิ่งของใดๆ ไว้บนหัว แกตอบพวกทหารกลับไปว่า ตลอดชีวิตการเป็นนางระบำ บนหัวจะสวมแค่ชฎา จะไม่ยอมเอาของต่ำอย่างขี้ควายมาเทินไว้บนหัวอย่างเด็ดขาด หรือครูบางท่าน จะแอบซ้อมรำเพียงลำพังในคืนพระจันทร์เต็มดวง เพราะเป็นคืนที่มีแสงสว่าง แต่ต้องคอยระวังบรรดาสายสืบเขมรแดงที่จะแอบมาเห็น เพราะถ้าถูกจับได้ ครูทุกคนรู้ว่าจะถูกลงโทษอย่างหนัก”

Sam Sathya เล่าถึงนางรำในช่วง สงครามเขมรแดง “ฉันได้มาหัดเรียนระบำโบราณตอนอายุ 12 ขวบหลังสงครามยุติลง ครูของฉันพยายามปลูกฝังอย่างเข้มงวด เพราะพวกเราคือความหวัง หลังสงครามจบลง รัฐบาลต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้ชมการแสดงที่เดิมไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่งพวกเราต้องแสดงให้ประชาชนได้ชมเพื่อเป็นการปลอบขวัญ และปลุกพลังใจให้ร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”

Sam Sathya กับลูกศิษย์นางระบำรุ่นใหม่ของเธอ

นอกจากรำเพื่อปลุกพลังใจแล้ว นางระบำโบราณหลังยุค สงครามเขมรแดง ยังต้องรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ดังนั้นการคัดเลือกคนที่จะมาแสดงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตัวพระ-นางให้มีหน้าตาที่สวยงาม เช่นเดียวกับการร่ายรำจะต้องมีระเบียบวินัยทั้งบนเวทีและนอกเวที

ในการคัดเลือกเด็กที่จะมาฝึกรำ ครูจะยึดตามแบบโบราณที่ต้องคัดเลือกเด็กตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพื่อฝึกให้มีทักษะการรำอ่อนช้อยในทุกอิริยาบถ

“ครูของฉันคัดเลือกเด็กที่จะมาแสดงเป็นตัวละครเก่งมาก ท่านจะใช้การสังเกตบุคลิกประจำวันของแต่ละคน ถ้าเด็กคนไหนไม่ตั้งใจ ท่านจะไม่คัดให้เป็นตัวเอกในการแสดง บางวันครูของฉันไม่ได้สอนรำ แต่เฝ้าสังเกตพฤติกรรม ครูเคยถามฉันว่าวันนี้พกกระจกมาไหม เพราะกระจกจะสะท้อนรอยยิ้มของเธอ และสะท้อนรอยยิ้มของตัวละครที่เธอกำลังแสดง หลังกลับบ้านวันนั้นฉันก็ฝึกยิ้มให้กับกระจก เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครให้เหมือนจริงมากที่สุด ซึ่งครูพยายามไม่ให้ฉันวอกแวก แต่ให้ตั้งมั่นในการฝึกระบำโบราณเพียงอย่างเดียว”

สงครามเขมรแดง

การที่ครูจะเลือกนักเรียนให้แสดงตัวละครใดสักตัว Sam Sathya เล่าว่าท่านจะต้องพิจารณาแล้วว่า มีบุคลิกท่าทางทั้งภายนอกและภายในเหมือนตัวละครนั้น ๆ เพราะคนที่จะต้องออกมารำในภาวะที่ประเทศชาติมีศึกสงคราม จะต้องถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างดีที่สุด เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้คน

“ฉันต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก ครูเคยให้ฝึกตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง โดยรำแค่ 2 ท่า ซึ่งจะรำซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ พอฉันได้มาเป็นครูสอนเด็ก ๆ ในยุคนี้ จึงพยายามให้เด็กมาสมัครรำพร้อมกันเป็นคู่ ๆ เพื่อง่ายในการสอน และจะได้เป็นเพื่อนกันในการฝึกฝน ถือเป็นการจับคู่ที่รู้ใจในการแสดงด้วย

“หลักในการคัดเลือกตัวละครที่เป็นพระเอก ต้องมีรูปร่างสูง แก้มตอบ กิริยาท่าทางดูดี ส่วนตัวนางต้องมีรูปหน้ากลมรูปไข่ มีกิริยาท่าทางเรียบร้อย นี่ถือเป็นหลักการคัดเลือกตัวละครมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งครูของฉันได้ถ่ายทอดมาตั้งแต่โบราณมาจากในราชสำนัก”

สงครามเขมรแดง
นางอัปสรา ซึ่งถูกสลักไว้รอบปราสาทนครวัด

รอยต่อสืบสานสู่ยุคใหม่

ระบำโบราณในราชสำนักเขมร หลายคนต่างยกย่องและรู้จักตัวละคร เช่น นางอัปสรา ที่มีการแกะสลักไว้บนกำแพงปราสาทหินในหลายที่ ซึ่งระบำอัปสราจะมีตัวนางเยอะมาก แต่ Sam Sathya กลับได้รับเลือกให้แสดงเป็นนางสีดาและนางเมขลามาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ

การรับบทเป็นนางสีดา ไม่ใช่แค่การที่ฉันจะต้องรำให้สวย แต่ Sam Sathya บอกว่าเธอต้องรู้ว่า นางสีดาในเรื่องมีอายุเท่าไรเป็นคนอย่างไร ต้องรู้เรื่องของตัวละครให้ลึกซึ้ง เพราะเวลาขึ้นไปบนเวที จิตวิญญาณของนางรำจะต้องเป็นนางสีดาเท่านั้นถึงจะแสดงได้ดี

“บุคลิกของนางสีดา จะมีความโศกเศร้าอยู่มาก เพราะชีวิตครอบครัวแตกแยก ซึ่งผู้หญิงทั่วไปเมื่อเจอแบบนี้ก็จะมีความทุกข์มากกว่าความสุข ส่วนนางมณีเมขลา แม้เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ แต่มีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ และยิ่งใหญ่ สามารถต่อสู้กับรามสูรได้อย่างไม่กลัวเกรง ซึ่งในชีวิตจริงของฉันก็เหมือนนางเมขลา ที่ไม่ชอบไปเอาของคนอื่น

“จริง ๆ ชีวิตคนก็เหมือนการดำเนินเรื่องในระบำโบราณ ซึ่งบางคนมองว่าศิลปะแบบหนึ่งต่างจากอีกแบบหนึ่ง หรือศิลปะแบบนั้นเก่า หรือแบบนี้ใหม่ แต่จริง ๆ แล้วชีวิตทุกคนดำเนินไปด้วยศิลปะ เพราะชีวิตที่มีศิลปะจะทำให้เราดีใจหรือร้องไห้ เช่นเดียวกับชีวิตที่ต้องมีการเรียนรู้ไม่จบสิ้น เหมือนกับการเรียนระบำ

สงครามเขมรแดง

“ในปี ค.ศ.1994 สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี​ ที่เป็นตำนานระบำนางอัปสรา เรียกให้ฉันไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อที่ท่านจะได้สอนการรำให้กับฉัน หลังจากนั้นก็ได้ตามเสด็จไปแสดงร่วมกับท่านที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสถือเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติอย่างมากที่ได้ตามท่านไปเผยแพร่การรำยังต่างประเทศ

“แม้ฉันเป็นนางระบำโบราณ แต่ต้องฝึกฝนตัวเองจนได้ไปเรียนคอนเทมโพรารีแดนซ์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ตอนสัมภาษณ์มีคนถามฉันว่า ฉันเป็นนางระบำโบราญ จะมาเรียนการเต้นแบบสมัยใหม่ได้อย่างไร ฉันตอบว่าได้ เพราะฉันจะเอาการเต้นแบบใหม่ไปผสมผสานกับแนวทางระบำโบราณ ซึ่งการไปเรียนครั้งนั้นทำให้ฉันได้แนวคิดในการแสดงต่าง ๆ มากมาย พอกลับมาฉันจึงได้แนวทางมาสอนลูกศิษย์ต่อ”

สงครามเขมรแดง

ตอนนี้ในกัมพูชามีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย ครูระบำโบราณจึงจำเป็นจะต้องทำให้ระบำโบราณมีความกลมกลืนกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจ ซึ่งการจะปลูกฝังสิ่งนี้ได้ ก่อนอื่นต้องรู้ว่า อะไรคือวัฒนธรรมของชนชาติ เพื่อสร้างจิตสำนึกพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ ก่อน

“ตัวฉันเองก็กังวลว่าระบำโบราณจะสูญหายจากเขมร จึงพยายามส่งเสริมให้เด็ก ๆ มาเรียนรู้ ขณะเดียวกันพนักงานของหน่วยงานรัฐและข้าราชการก็เริ่มเข้ามาเรียนมากขึ้น เพราะถือเป็นพื้นฐานความรู้ในการทำงานด้วย”           

ก่อนจากกัน… เธอร่ายรำท่าที่สำคัญให้ชม และแนะนำว่าท่ารำตามขนบโบราณมีกว่า 4,500 ท่าการที่ครูรักษาสิ่งเหล่านี้ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือไฟสงคราม จึงเป็นสิ่งที่เธอภูมิใจ และอยากส่งต่อรอยยิ้มแห่งนางรำนี้ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ