ตู้ลายทอง คอลเลคชันใหม่ ครบทั้งป่าหิมพานต์ รามเกียรติ์ ไซอิ๋ว ถึงตู้สังวาส
Arts & Culture

ตู้ลายทอง คอลเลคชันใหม่ ครบทั้งป่าหิมพานต์ รามเกียรติ์ ไซอิ๋ว ถึงตู้สังวาส

Focus
  • กรมศิลปากร โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดแสดงคอลเลกชันใหม่ของตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทอง หรือที่เรียกว่า ตู้ลายทอง ครั้งนี้เน้นที่งานช่างชั้นครูในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
  • ตู้ลายทองส่วนใหญ่ที่นำมาให้ชมนั้นเดิมใช้สำหรับเก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครซึ่งปัจจุบันคืออาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ที่ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ
  • การจัดแสดงแบ่งหัวข้อตามลวดลายของตู้ประกอบด้วย รอยพระพุทธบาท รามเกียรติ์ ทวารบาล พุทธประวัติ ชาดก ป่าและสัตว์หิมพานต์ โดยมีชิ้นงานไฮไลต์เช่น ตู้สังวาส และ ตู้ไซอิ๋ว

หลังจากจัดแสดง ตู้ลายทอง หรือ ตู้พระธรรม ที่ส่วนใหญ่ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทองที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือในสมัยอยุธยา ธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ไปเมื่อปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 และได้รับความสนใจอย่างมาก ล่าสุด กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้จัดแสดงคอลเลกชันใหม่ของตู้ลายทอง โดยในครั้งนี้เน้นไปที่งานประณีตศิลป์ของช่างชั้นครูในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 ตู้ลายทอง

นิทรรศการ ร.ศ.๒๔๒ ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) กรุงเทพฯ นำเสนอคอลเลกชันตู้พระธรรมจำนวนทั้งหมด 47 ตู้ โดยตู้ที่เป็นไฮไลต์ในสมัยอยุธยาและธนบุรีที่เคยจัดแสดงในคอลเลกชันก่อนยังคงนำมาให้ชมบางส่วน เพื่อแสดงให้เห็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของเชิงช่างของแต่ละยุคสมัย พร้อมเพิ่มเติมลวดลายใหม่ โดยในนิทรรศการได้จัดแบ่งเป็นห้องตามหัวข้อต่างๆ เริ่มจากเรื่องรูปทรงของขาตู้แบบต่างๆ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกตามรูปทรง เช่น ตู้ขาหมู ตู้ฐานสิงห์ ฯลฯ และจัดแสดงตามลวดลายของตู้ที่เล่าเรื่องราวในหัวข้อต่างๆประกอบด้วย รอยพระพุทธบาท รามเกียรติ์ ทวารบาล พุทธประวัติ ชาดก ป่าและสัตว์หิมพานต์

 ตู้ลายทอง
ตู้ขาสิงห์มีการจำหลักส่วนล่างของขาตู้ให้เป็นรูปขาสิงห์และมีร่องเป็นรูปเล็บสิงห์เหยียบอยู่บนลูกแก้ว

“ลวดลายกนกในสมัยอยุธยามีความอ่อนช้อยและไม่มีแบบแผนตายตัวแต่เป็นแบบฟรีฟอร์มตามจินตนาการของช่างเขียนโดยตู้ที่ถือเป็นตู้ครูของคนเขียนลายไทยคือตู้ที่วาดโดยสกุลช่างเซิงหวายเป็นรูปลายกนกรวงข้าวที่ซ้อนทับกันอย่างวิจิตรและมีสิงสาราสัตว์แทรกอยู่ตามลายกนก ส่วนงานช่างสมัยธนบุรีเป็นระยะคาบเกี่ยวกับสมัยปลายอยุธยาจึงมีความคล้ายคลึงกันมากแต่ความละเอียดอาจยังไม่เท่ากับสมัยอยุธยา สำหรับลายโดยช่างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความสมมาตรและเป็นแบบแผนมากกว่า ลายกนกมีรูปทรงที่ป้อมกว่าแต่สั้นกว่าและจะวาดเต็มพื้นที่ของตู้ ไม่ค่อยมีช่องว่างเหมือนงานของช่างอยุธยา”

 ตู้ลายทอง
ลายกนกฝีมือชั้นครูโดยสกุลช่างเซิงหวายสมัยอยุธยา

ศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เปรียบเทียบลักษณะที่โดดเด่นของงานช่างแต่ละยุคสมัยและเสริมว่าในคอลเลกชันใหม่ครั้งนี้ได้เพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง หิมพานต์ เนื่องจากมี ตู้ลายทอง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จำนวนมากที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตู้ลายทองฝีมือชั้นครูที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากคอลเลกชันที่เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ซึ่งมีจำนวนกว่า 300 ใบ และบางส่วนมาจากคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยตู้ที่เป็นไฮไลต์คือตู้เขียนเรื่อง รามเกียรติ์ ขนาดความสูง 2.15 เมตร ลึกถึง 1.5 เมตร และบางตู้มาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี

ตู้ลายทองในสมัยรัตนโกสินทร์ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นไปตามรายการที่ปรากฏใน หนังสือตู้ลายทอง ภาค 2 (สมัยรัตนโกสินทร์) เล่ม 1 ที่เคยตีพิมพ์เมื่อปี 2529 และปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำมาจัดพิมพ์และปรับปรุงใหม่แบบปกแข็ง สี่สีทั้งเล่มพร้อมทะเบียน ประวัติการได้มาของ ตู้ลายทอง รายละเอียดต่างๆ ของตู้ อาทิ ขนาด สภาพ ฝีมือช่างตลอดจนเรื่องราวประกอบลวดลายศิลปะไทย

 ตู้ลายทอง

สืบเนื่องจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นคุณค่าของตู้พระธรรมลายรดน้ำหรือตู้ลายทองอันเป็นภูมิปัญญางานช่างไทยสมัยโบราณจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตู้ลายทองจากวัดต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นตู้ใส่หนังสือใน หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ภายในพระบรมมหาราชวังนับตั้งแต่ปี2448 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการย้ายหอพระสมุดฯ มาที่อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) อันเป็นสถานที่ตั้งของ หอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อปี 2459 ตู้ลายทองเหล่านั้นจึงถูกเคลื่อนย้ายออกมาจากพระบรมมหาราชวังและยังคงทำหน้าที่เป็นตู้ใส่หนังสือเช่นเดิม จนกระทั่งมีการจัดตั้ง หอสมุดแห่งชาติ บริเวณท่าวาสุกรี เมื่อปี 2509 ตู้เหล่านี้จึงได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตู้ลายทองส่วนใหญ่ในนิทรรศการนี้จึงเป็นการนำกลับมายังอาคารถาวรวัตถุอันเป็นถิ่นฐานเดิมในฐานะโบราณวัตถุทรงคุณค่า

 ตู้ลายทอง
ตู้ที่ดัดแปลงด้านหลังให้เป็นบานกระจกเพื่อหลีกเลี่ยงสัมผัสลายรดน้ำที่บานตู้ด้านหน้า

ตู้ลายรดน้ำหรือตู้ลายทองเป็นการใช้เทคนิคการปิดทองลงบนพื้นไม้ที่ลงรักสมุกขัดเรียบ และเขียนกั้นส่วนที่ไม่ต้องการให้มีสีทองด้วยน้ำยาหรดาล จากนั้นใช้น้ำรดเพื่อให้หรดาลหลุดออกและเหลือทองอยู่เฉพาะส่วนที่เป็นลวดลาย ทั้งนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าตู้ลายทองมักเขียนลายสามด้านคือด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนด้านหลังที่มักตั้งชิดผนังนิยมลงรักหรือทาสี ดังนั้นบางตู้จึงมีการดัดแปลงเพื่อการอนุรักษ์โดยเปลี่ยนด้านหลังตู้ให้เป็นบานกระจกเพื่อเปิดตู้จากด้านหลังแทนเพื่อหลีกเลี่ยงสัมผัสบานตู้ด้านหน้าที่อาจทำให้ลวดลายลงรักปิดทองลบเลือน และยังสะดวกต่อการใช้งานเพราะสามารถมองเห็นหนังสือในตู้ได้จากบานกระจก

ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ เรื่องตำนานหอพระสมุด ระบุว่า “… อนึ่ง ตู้ไทยของโบราณมักปิดทองแลเขียนลายแต่ ๓ ด้าน ด้านหลังเปนแต่ลงรักฤาทาสี การที่จะใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดฯ ได้คิดแก้ติดบานกระจกเปิดข้างด้านหลังให้แลเห็นสมุดในตู้นั้นได้ แลไม่ต้องจับทางข้างบานตู้ให้ลายหมอง …”

“ตู้ลายทองสมัยรัตนโกสินทร์ในคอลเลกชันส่วนใหญ่ได้มาจากวัดฝั่งธนบุรี ในสมัยนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเห็นว่าตู้พระธรรมเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ที่วัดและไม่ได้ใช้งานเยอะมากจึงขอมาและอนุรักษ์เพื่อไว้ใส่หนังสือสำหรับหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ท่านมีกุศโลบายโดยนิมนต์พระจากวัดต่างๆ มาเทศน์และนำชมให้เห็นว่าตู้เหล่านี้เมื่อนำมาอนุรักษ์และจัดแสดงแล้วสวย ดูดี อาจทำให้ทางวัดอยากนำมามอบให้ดีกว่าทิ้งเปล่าประโยชน์” ศิวพรกล่าว

 ตู้ลายทอง
ห้องตู้ลายทองวาดภาพป่าและสัตว์หิมพานต์

สำหรับห้องที่จัดแสดงหัวข้อใหม่ในครั้งนี้คือ ป่าและสัตว์หิมพานต์  นำเสนอตู้ลายทองในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีลวดลายป่าหิมพานต์ตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิในพุทธศาสนาว่าเป็นป่ากว้างใหญ่อยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุและเป็นที่อยู่ของเหล่าฤาษี นักบวช และอมนุษย์ที่มีวิชากายสิทธิ์ ส่วนลวดลายสัตว์หิมพานต์ในความหมายของช่างไทยไม่ได้หมายถึงเฉพาะสัตว์ที่ตามคัมภีร์ระบุว่าอาศัยในป่าหิมพานต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์พิสดารที่อาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ภายในขอบเขตของจักรวาลโดยมีลักษณะประสมระหว่างสัตว์หลายชนิด หรือมีลักษณะประสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น กินนร-กินรี ซึ่งเป็นอมนุษย์ครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นนก คชสีห์หรือสัตว์ผสมระหว่างช้างกับสิงห์ และเหมราชซึ่งเป็นสัตว์ผสมระหว่างหงส์กับสิงห์

รายละเอียดภาพของตู้สังวาส

โดยทั่วไปในงานจิตรกรรมฝาผนังช่างเขียนมักสอดแทรก ภาพกาก หรือภาพที่เป็นส่วนนอกเหนือจากโครงเรื่องหลักเพื่อสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอารมณ์ขันของช่างโดยเฉพาะฉากการเสพสังวาสที่มักแอบซ่อนไว้ตามมุมเล็กๆในภาพ ดังนั้นตู้ลายทองที่ถือเป็นไฮไลต์ของห้องนี้และหาชมได้ยากคือตู้ที่เรียกว่า ตู้สังวาส ซึ่งตกแต่งทั้งสามด้านด้วยภาพในป่าหิมพานต์และภาพเล้าโลมเชิงสังวาสของสัตว์  มนุษย์  นักสิทธิ์  วิทยาธร และสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ที่อยู่ในป่าหิมพานต์ช่วงฤดูฝนอันเป็นฤดูกาลแห่งการหาคู่เพื่อความหฤหรรษ์ อาทิ ภาพวิทยาธรอุ้มนางนารีผลเหาะไปห้าคู่  เทพนรสิงห์โลมอัปสรสีห์ กินนรโลมนางกินนรี และหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา

อีกหนึ่งตู้ที่โดดเด่นของลวดลายป่าและสัตว์หิมพานต์และมีขนาดสูงถึง 2.45 เมตรจากคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือตู้ที่เรียกว่า ลายกำมะลอ คือการเขียนสีฝุ่นผสมน้ำรักลงบนพื้นไม้ที่ลงรักสมุกขัดเรียบแทนการปิดทองและตัดรายละเอียดด้วยเส้นทองเป็นรูปภาพและลวดลายให้เด่นชัด

ตู้ขนาดใหญ่เขียนภาพจับเรื่องรามเกียรติ์

งานศิลปกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงภาพตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะ “ภาพยกรบ” ที่แสดงกระบวนทัพของทั้งสองฝ่าย อาทิ ศึกมัยราพณ์ (ตอน “จองถนน”) ศึกกุมภกรรณ (ตอน “โมกขศักดิ์”)  ศึกอินทรชิต (ตอน “ศรพรหมาสตร์”) หรือเขียนเป็น “ภาพจับ” คือภาพที่แสดงการต่อสู้ในลักษณะประชิดระหว่างบุคคลต่อบุคคลหรือบุคคลต่อกลุ่มบุคคล การต่อสู้ในลักษณะดังกล่าวมีการยุดจับร่างกาย อาภรณ์ หรือจับอาวุธของอีกฝ่ายหนึ่ง

ตู้ที่ถือเป็นไฮไลต์ของห้องที่จัดแสดงลวดลาย รามเกียรติ์ คือตู้ขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูง 2.15 เมตร ลึก 1.5 เมตร จากคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีการตกแต่งด้วยภาพจับ พระรบยักษ์ ลิงรบยักษ์ และภาพจับหมู่ 5  ด้านหลังของตู้พระธรรมยังมีข้อความจารึกด้วยอักษรขอมภาษาไทย ว่า “ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๓๗ พระวัสสา ปีขาลฉศก สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงพระราชศรัทธาสร้างตู้ไว้ในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ตรัสแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลนั้นเถิด” ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่บ่งบอกถึงยุคสมัยในการสร้างตู้พระธรรมว่าเป็นฝีมือช่างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ภาพการปลงอสุภะ
ขาตู้ตกแต่งภาพท้าวเวสสุวรรณ

“บางตู้เช่นที่ได้มาจากวัดมหาธาตุมีการเขียนลายทั้งสี่ด้าน เช่น ภาพหนุมานและนกสดายุพร้อมกับมีจารึกที่ฐานตู้ระบุชื่อผู้สร้างและจำนวนเงินที่ใช้คือ 14 ตำลึง 2 บาท และตรงขาตู้เป็นรูปท้าวเวสสุวรรณส่วนด้านหลังตู้เป็นรูปชายป่าหิมพานต์และนักบวช ส่วนอีกตู้ได้มาจากวัดจำปาในกรุงเทพฯด้านบนเป็นภาพจับพระรบยักษ์เคล้าภาพสัตว์หิมพานต์ส่วนด้านล่างวาดเป็นภาพการปลงอสุภะเพื่อฝึกกรรมฐานในการพิจารณาซากศพมนุษย์ที่กำลังเน่าเปื่อยให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต” ยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวเสริม

ตู้เขียนภาพทวารบาลด้านล่างเป็นภาพกษัตริย์และยักษ์

บานประตูตู้พระธรรมยังนิยมเขียนรูปทวารบาลซึ่งหมายถึงผู้เฝ้าและรักษาประตูเพื่อเป็นเทพพิทักษ์และป้องกันภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย โดยส่วนใหญ่แล้วภาพของทวารบาลจะเป็นภาพใหญ่เต็มองค์บนบานประตูตู้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ตู้ที่ได้มาจากวัดจันทารามวรวิหาร กรุงเทพฯ มีเส้นแบ่งภาพชัดเจนโดยด้านบนเป็นเรื่องรามเกียรติ์ และด้านล่างเป็นภาพทวารบาลคือภาพกษัตริย์นั่งอยู่สามองค์ทางด้านขวา และรูปยักษ์ถือตะบองนั่งอยู่สามตนทางด้านซ้ายจึงเป็นตู้ที่มีภาพทวารบาลแตกต่างจากทั่วไป

ตู้เล่าเรื่องปฐมสมโพธิและชาดกนอกนิบาตทั้ง 50 เรื่อง

อีกหนึ่งเรื่องราวที่นิยมนำมาเขียนเป็นลวดลายลงบนตู้ลายทอง คือการเล่าเรื่องชาดกซึ่งมีทั้งนิบาตชาดก หรือชาดกที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก 547 เรื่องโดยเรื่องที่นิยมคือเรื่องทศชาติชาดก และชาดกนอกนิบาตอีก 50 เรื่องซึ่งไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ (สุธนชาดก) เรื่อง สังข์ทอง (สุวรรณสังข์ชาดก) และ เสือโคคำฉันท์ (พหลคาวีชาดก) ตู้ที่น่าสนใจคือที่ได้มาจากวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ เล่าเรื่องปฐมสมโพธิและชาดกนอกนิบาตทั้ง 50 เรื่องแบบเต็มบานทั้งสามด้าน

ตู้ลายกำมะลอเขียนเรื่องไซอิ๋ว

อีกหนึ่งตู้พิเศษคือ ตู้ไซอิ๋ว ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางไปยังชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระถังซำจั๋ง เป็นภาพเขียนสีบนพื้นรักสีแดงและมีการลงทองคำเปลวบริเวณหมวกของพระถังซำจั๋งและบริเวณมงคลหรือที่รัดหัวของซุนหงอคง บริเวณขอบบนของตู้ยังมีจารึกเป็นอักษรและภาษาจีน อ่านว่า “เต้าก้วงสือปาเนียนลี่” หมายถึงปีที่ 18 ในรัชสมัยของพระเจ้าเซียนจง ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2381-2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3

ตู้แฝดสี่ใบงานฝีมือช่างกรุงรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ตู้ลายรดน้ำแฝดสี่ใบ ผลงานช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งที่แล้วยังคงจัดแสดงอยู่ในห้องที่มีหลังคาทรงโดม ตู้ทั้งสี่ใบต้องตั้งแบบหลังวางพิงกันซึ่งแต่ละใบมีความสูง 2.45เมตร กว้าง 0.9 เมตร ส่วนลวดลายรดน้ำปิดทองเป็นศิลปะงานช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1-3 จนกระทั่งถึงสมัยพระพุทธโฆษะไปลังกาสืบเนื่องกันทั้งสี่ใบ จากลวดลายของตู้จะเห็นรอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฏในลังกาทวีปซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณโดยมีสัญลักษณ์สำคัญในภาพคือ บันไดโซ่ ที่คนในสมัยโบราณจะปีนสายโซ่นี้เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

ภาพบันไดโซ่เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏในลังกาทวีป

“ในลวดลายประกอบไปด้วยรายละเอียดมากมายที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ อาคารบ้านเรือนและวิถีชีวิตของผู้คน เราจะเห็นภาพคัมภีร์ใบลานเก่าที่ถูกเผาหลังมีการชำระพระไตรปิฎกใหม่ ภาพธงรูปช้างและกล้องดูดาวที่ทำให้เห็นว่ามีการใช้งานตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพคนใช้วัวควายไถนาและแร้วสำหรับดักสัตว์ ภาพคนจีนที่เข้ามาค้าขายและหลังคาวัดที่ได้อิทธิพลจากศิลปะจีน เป็นต้น” ศิวพรกล่าว

Fact File

  • นิทรรศการ “ร.ศ.๒๔๒ ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์” จัดแสดง ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
  • หนังสือ หนังสือตู้ลายทอง ภาค 2 (สมัยรัตนโกสินทร์) เล่ม 1 ฉบับตีพิมพ์และปรับปรุงใหม่จำนวน 224 หน้าในรูปแบบปกแข็งราคา 700 บาท สั่งซื้อออนไลน์ที่ https://bookshop.finearts.go.th
  • ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/FineArtsDept/

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม