ย้อนรอย หอศิลป พีระศรี ที่ถูกทิ้งร้างกว่า 30 ปี และการฟื้นชีวิตหอศิลป์สาธารณชนแห่งแรกในไทย
Arts & Culture

ย้อนรอย หอศิลป พีระศรี ที่ถูกทิ้งร้างกว่า 30 ปี และการฟื้นชีวิตหอศิลป์สาธารณชนแห่งแรกในไทย

Focus
  • หอศิลป พีระศรี ในซอยสาทร 1 กรุงเทพฯ นับว่าเป็นหอศิลป์สำหรับสาธารณชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 14 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2531
  • หอศิลป์เกิดจากวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แต่ท่านเสียชีวิตก่อนที่โครงการจะบรรลุผลสำเร็จในอีก 12 ปีต่อมา
  • หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานมูลนิธิหอศิลป พีระศรี ได้เปิดเผยข่าวดีว่ามีโครงการที่จะรีโนเวตหอศิลป์แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งหลังจากถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2517-2531 หอศิลป พีระศรี ในซอยสาทร 1 กรุงเทพฯ นับว่าเป็นหอศิลป์สำหรับสาธารณชนแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้ขับเคลื่อนวงการศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยให้คึกคักตลอดระยะเวลา 14 ปีของการดำเนินการ แต่ปัจจุบันอาคารที่เคยเฟื่องฟูด้วยนิทรรศการศิลปะ ละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี และกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากว่า 200 กิจกรรมกลายเป็นอาคารร้างในใจกลางเมืองหลวงมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

หอศิลป พีระศรี
ภาพถ่ายบริเวณด้านหน้าหอศิลป พีระศรี ใน พ.ศ.2527

แต่ล่าสุด หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธาน มูลนิธิหอศิลป พีระศรี ได้เปิดเผยข่าวดีว่ามีโครงการที่จะรีโนเวตหอศิลป์แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งหลังจากถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน แม้จะยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารจัดการ

“การซ่อมแซมบูรณะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทำอย่างไรให้ยั่งยืน เราพยายามทำอยู่และขอเวลาวางแผน ต้องมีวิธีให้อยู่ได้ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา เพราะไม่มีหอศิลป์ไหนอยู่ได้ด้วยตัวเอง หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ท่านออกแบบอาคารไว้ดีและโครงสร้างไม่มีปัญหา แต่อยู่ที่การบริหารเดือนต่อเดือน วันต่อวันว่าจะทำอย่างไรภายใต้โครงสร้างเดิมที่บริหารโดยมูลนิธิหอศิลป พีระศรี แต่ตอนนี้ผมอายุ 70 ปีแล้วคงต้องเร่งหน่อย” หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์กล่าว

หอศิลป พีระศรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

หอศิลป พีระศรี (The Bhirasri Institute of Modern Art) เกิดจากวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (พ.ศ. 2435-2505) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” ในการจัดหาสถานที่ถาวรสำหรับเผยแพร่งานศิลปะสมัยใหม่โดยท่านได้พยายามมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และก่อนที่ อาจารย์ศิลป์ จะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ในวัย 70 ปี ท่านกำลังแก้ไขโครงการจัดตั้ง หอศิลป พีระศรี แห่งนี้เพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ

หอศิลป พีระศรี
ภาพถ่ายบริเวณด้านนอกของหอศิลป พีระศรี ใน พ.ศ.2520

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หอศิลป พีระศรี ไม่ใช่สถานที่เดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นห้องทำงานเดิมที่ท่านใช้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ หอศิลป พีระศรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ในซอยสาทร 1 กรุงเทพฯ โดยเช่าในราคาถูกจากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งก่อตั้งโดยหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลป พีระศรี เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใน พ.ศ. 2507 แม้โครงการจัดตั้งหอศิลป์จะไม่บรรลุผลสำเร็จในขณะที่ อาจารย์ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้รับการสานต่อจากผู้ที่เคารพรักและลูกศิษย์ของท่านจนสามารถเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 12 ปีการเสียชีวิตของ อาจารย์ศิลป์

หอศิลป พีระศรี

ย้อนหลังหอศิลป พีระศรี: วาระครบ 100 ปีอาจารย์ศิลป์เยือนสยาม

ประวัติความเป็นมาของหอศิลป พีระศรี บทบาทและความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยได้นำมาเล่าใหม่ผ่านนิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ถึงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าหอศิลปกรุงเทพฯ) ในรูปแบบจดหมายเหตุ (archive) และผลงานศิลปะเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (นามเดิม Corrado Feroci) เดินทางจากอิตาลีมารับราชการที่สยามในฐานะประติมากรเมื่อ พ.ศ. 2466 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

หอศิลป พีระศรี
นิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา”

“เราได้รับประสบการณ์จากหอศิลป พีระศรี ในการนำมาออกแบบการจัดการหอศิลปกรุงเทพฯ ในยุค 70-80 หอศิลป พีระศรี ถือเป็นสถานที่ศิลปะที่แอ็กทิฟเพียงแห่งเดียวในสมัยนั้นโดยมีการจัดแสดงละครและดนตรีเพื่อเพิ่มความคึกคักและดึงดูดผู้คนเข้ามาดูศิลปะในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจศิลปะสมัยใหม่มากนัก โมเดลนี้ประสบความสำเร็จและเราได้นำมาใช้กับหอศิลปกรุงเทพฯ ส่วนบทเรียนที่ทำให้หอศิลป พีระศรี ต้องปิดตัวไปด้วยเรื่องเงินทุนและพันธมิตรน้อย เราก็นำมาปรับใช้โดยการให้หอศิลปกรุงเทพฯ อยู่กับ กทม. เพื่อไม่ให้ล้มได้ง่าย พร้อมกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้มากขึ้นและหลายระดับโดยเฉพาะกับเด็กเจเนอเรชันใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญ” ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ และอดีตผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี กล่าว

หอศิลป พีระศรี
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กับโมเดลสามมิติของหอศิลป พีระศรี

อาจารย์ศิลป์ เดินทางมาสยามในยุคที่มีการว่าจ้างศิลปินชาวตะวันตกเข้ามาทำงานเพื่อปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบอารยประเทศในช่วงการล่าอาณานิคม ความนิยมในการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญเริ่มปรากฏในเมืองไทยตามแบบอย่างชาติตะวันตกหลังจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นผลงานการปั้นหล่อของศิลปินชาวฝรั่งเศสโดยพระองค์เสด็จฯ ไปเป็นแบบปั้นเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป

อนุสาวรีย์ที่สำคัญหลายแห่งในประเทศเกิดจากฝีมือการปั้นหล่อและออกแบบของอาจารย์ศิลป์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ดอนเจดีย์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาจารย์ศิลป์ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาศิลปะขั้นอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยและริเริ่มเขียนบทความและหนังสือศิลปะเป็นจำนวนมาก

“อาจารย์ศิลป์มาในยุคที่ผู้ปกครองมีกุศโลบายในการสร้างภาพความเจริญของรัฐในยุคล่าอาณานิคมจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ สร้างโรงหล่อและสร้างโรงเรียนศิลปะในเวลาต่อมา ท่านยังจัดการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติและก่อตั้งสมาคมศิลปะนานาชาติ จากนั้นจึงพยายามผลักดันให้เกิดหอศิลป์สำหรับสาธารณชนและยกระดับศิลปินให้เป็นวิชาชีพเพื่อเติบโตในเวทีโลกได้ อาจารย์ศิลป์จึงมีบทบาทเป็นผู้เริ่มต้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานศิลปะในเมืองไทย” ฉัตรวิชัยผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี คนสุดท้ายในช่วงพ.ศ.2520-2531 กล่าว

อาจารย์ศิลป์เคยนำเสนอแผนการก่อสร้างหอศิลป์สมัยใหม่แก่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในขณะนั้นและ ดร. ป๋วยเห็นชอบที่จะจัดสรรงบประมาณให้ครึ่งหนึ่งของการก่อสร้าง แต่อาจารย์ศิลป์ถึงแก่กรรมเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ดร. ป๋วยและผู้ที่รักเคารพอาจารย์ศิลป์ได้พยายามสานต่อเจตนารมณ์ของท่านโดยจัดตั้งมูลนิธิหอศิลป พีระศรี ใน 2507 โดยมี หม่อมราชวงศ์ พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ดร. ป๋วยเป็นรองประธาน และคณะกรรมการ เช่น หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และ มีเซียม ยิบอินซอย

หอศิลป พีระศรี
ภาพเหมือนศาสตราจารย์ศิลป์ (2505) โดย เฟื้อ หริพิทักษ์

อาจารย์ศิลป์ได้เขียนถึงความสำคัญในการจัดสร้างหอศิลป์ในสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 12 ในปี 2504 ก่อนท่านจะเสียชีวิตไม่นานว่า

“…ศิลปโบราณของเราได้รับการยกย่องอย่างสูง และชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยที่มุ่งชมความรุ่งเรื่องของอดีต ก็ใคร่จะเห็นความเป็นไปของศิลปปัจจุบันด้วย สิ่งแรกที่ชาวต่างประเทศเหล่านั้นถามคือ หอศิลปสมัยใหม่ เราก็ได้แต่ตอบซ้ำๆ อยู่เสมอว่า ‘เสียใจ เสียใจจริง เรายังไม่มีหอศิลปสมัยใหม่’ …เราอาจใช้เงินสักสองหรือสามล้านบาทสำหรับสร้างหอศิลปอันถาวรขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนของเราได้นิยมชมชอบการแสดงออกของศิลปินร่วมสมัยได้ในที่สุด ในขั้นเริ่มต้นขอเพียงแค่อาคารที่เหมาะสมสักอาคารหนึ่งเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วการที่เราจะแข่งขันกับชาติอื่นๆ เขาในเรื่องเกี่ยวกับศิลปก็มิอาจเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์…”

เมื่อมีการจัดตั้งมูลนิธิจึงมีการจัดแสดงศิลปนานาชาติใน พ.ศ. 2508 เพื่อหารายได้ และใน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ 1 ล้านบาท แต่โครงการจัดสร้างประสบปัญหาลุ่มๆ ดอนๆ โดยเฉพาะการหาเช่าที่ดินที่เหมาะสมในใจกลางกรุงเทพฯ เนื่องจากมีราคาแพง จนกระทั่งหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เสนอให้เช่าที่ดินของท่านในราคาถูกพร้อมทั้งเชิญหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนเปิดดำเนินการได้ใน พ.ศ.2517 นับเป็นเวลา 12 ปีหลังการเสียชีวิตของอาจารย์ศิลป์

หอศิลป พีระศรี
โมเดลแสดงลักษณะอาคารของหอศิลป พีระศรี

ด้วยลักษณะที่ดินที่เป็นรูปทรงยาว หอศิลป์จึงมีหน้าแคบและมีความกว้าง 7 เมตรและแบ่งประโยชน์การใช้สอยประกอบด้วยห้องนิทรรศการจำนวนสองห้อง ห้องออดิทอเรียมสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ  สำนักงานและห้องบริการ ห้องสมุดและห้องพักเจ้าหน้าที่ ห้องเก็บผลงานและห้องปฏิบัติงาน และพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้ง และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของอาคารที่ปัจจุบันปิดร้างไปและไม่สามารถเข้าชมได้ โมเดลสามมิติของหอศิลป พีระศรี และวิดีโอแอนนิเมชันแสดงโครงสร้างภายในและลักษณะพื้นที่ใช้สอยในส่วนต่างๆ ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

“อาจารย์ศิลป์ อาจารย์ป๋วย คุณท่าน (หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) และคุณมีเซียม เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในทางเดียวกันเพื่อผลักดันวงการศิลปะให้ก้าวหน้าจึงเป็นแรงสำคัญทำให้เกิดหอศิลป์ขึ้นมาได้ เราต้องการคนแบบนี้ในบ้านเมือง ทางด้านตระกูลบริพัตรเป็นผู้อุปถัมภ์และมี passion ด้านศิลปะสูงนับตั้งแต่พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (พระสวามีของหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) ดังนั้นทางคุณชาย (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร) แม้ไม่ใช่สายตรง แต่ท่านในฐานะประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ คนปัจจุบัน ท่านย่อมไม่ทิ้งบทบาทของครอบครัว ตอนเป็นผู้ว่า กทม. ท่านเป็นผู้ทำคลอดหอศิลปกรุงเทพฯ และมั่นใจว่าท่านจะสานต่อบทบาทครอบครัวในการรื้อฟื้น หอศิลป พีระศรี ขึ้นมาได้” ฉัตรวิชัยกล่าวอย่างเชื่อมั่น

อาจารย์ศิลป์

14 ปี หอศิลป พีระศรี กับบริบททางสังคมและการเมืองไทย

ไทม์ไลน์ของหอศิลป พีระศรี ตลอดช่วง 14 ปีของการดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2531 ว่ามีกิจกรรมใดเกิดขึ้นบ้างในแต่ละปีได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมกับสูจิบัตรและบัตรเชิญบางส่วน เนื้อหาในสูจิบัตรจำนวนกว่า 60 เล่มได้รับการบันทึกในรูปแบบดิจิทัลและผู้ชมสามารถสืบค้นสูจิบัตรแต่ละเล่มได้ซึ่งจัดเรียงไฟล์ตามไทม์ไลน์

อาจารย์ศิลป์
สูจิบัตรและบัตรเชิญของนิทรรศการบางส่วนที่เคยจัดแสดง ณ หอศิลป พีระศรี
อาจารย์ศิลป์
ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต ภัณฑารักษ์สาธิตการสืบค้นเนื้อหาในสูจิบัตรแบบดิจิทัล

นิทรรศการแรกคือ นิทรรศการผลงานของ อาจารย์ศิลป์ และผลงานที่ท่านสะสมโดยส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ท่านซื้อจากศิลปินที่รู้จัก จากลูกศิษย์ และจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เช่น ประติมากรรม “ขลุ่ยทิพย์” โดยเขียน ยิ้มศิริ ภาพสีน้ำมัน “หญิงสาวอิตาเลียน” โดย เฟื้อ หริพิทักษ์ และประติมากรรม “ลูกวัว” โดย ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ และในปีแรกที่หอศิลป์เปิดทำการนั้นธนาคารกรุงเทพได้จัดงานประกวดจิตรกรรม “บัวหลวง” เป็นครั้งแรกในปีนี้นั้นและจัดแสดงผลงานที่นี่ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2522 ธนาคารกสิกรไทยจัดการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยเป็นครั้งแรกและจัดต่อเนื่องจนยุติเมื่อหอศิลป์ปิดตัวใน พ.ศ. 2531

“หอศิลป พีระศรี เปิดในช่วงที่มีสงครามเวียดนาม บริบทของสังคมในยุค 70-80 มีการเปลี่ยนแปลงเยอะทั้งทางสังคมและการเมือง มีสงคราม มีกบฏ มีปฏิวัติและรัฐประหาร มีการเกิดหมู่บ้านจัดสรร มีการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงและเกิดกระแสการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย การเกิดของหอศิลป์สำหรับสาธารณชนแห่งแรกของไทยยังเอื้อให้เกิดกิจกรรมศิลปะมากมาย เกิดการประกวดศิลปกรรมที่สนับสนุนโดยเอกชน เกิดงานศิลปะหลากหลายรูปแบบทั้ง video art, performance art, installation art, happening art และภาพถ่ายซึ่งเป็นเรื่องใหม่และท้าทายอย่างยิ่ง” ฉัตรวิชัยกล่าว

นิทรรศการจิตรกรรมนามธรรม โดย ชวลิต เสริมปรุงสุข และ ริตี้ เจนเซ่น ไฮท์ไมเยอร์ เมื่อ พ.ศ. 2531
อาจารย์ศิลป์
ตัวอย่างศิลปะแบบนามธรรมและศิลปะเพื่อชีวิตที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการที่หอศิลปกรุงเทพฯ

นอกจากศิลปะแนวประเพณี ศิลปินเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะนามธรรมและศิลปะเพื่อชีวิตเพิ่มมากขึ้นตามบริบทของสังคมและผลงานศิลปะในช่วงเวลานั้นได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เช่น ภาพเขียนแนวนามธรรม “ความสัมพันธ์” (2515) โดย อิทธิ คงคากุล, ภาพพิมพ์แกะไม้บนกระดาษ “กงล้อประวัติศาสตร์” (2516) โดย  ธรรมศักดิ์ บุญเชิด และ “ชุดภาพสะท้อนการต่อต้านเผด็จการทหาร” (2518) โดยกลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของหอศิลป์คือการเปิดนิทรรศการ “ศิลปของประชาชน” ของศิลปินในนามกลุ่มธรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้นิทรรศการที่มีกำหนดจัดแสดงถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ต้องยุติก่อนกำหนดและผลงานหลายชิ้นถูกทำลาย อีกทั้ง ประพันธ์ ศรีสุตา ผู้อำนวยการหอศิลป์ในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง

“จากไทม์ไลน์เราจะเห็นภาพสะท้อนทางสังคมและการเมืองในแต่ละช่วง นิทรรศการต่างๆ ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากการสนับสนุนโดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น บริติช เคานซิล สถานทูตอเมริกาและอิตาลี สถาบันเกอเธ่ และสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ โลกาภิวัตน์กำลังแผ่ขยาย และในปี 2528 ถือเป็นปีที่เห็นตัวตนของหอศิลป์มากที่สุดจากนิทรรศการเชิงทดลองและล้ำยุคทั้งในรูปแบบ installation, video art และ happening art และให้อิสระแก่ศิลปินโดยไม่มีการเซนเซอร์ เช่นนิทรรศการ ‘สอนศิลป์ให้ไก่กรุง’ ของอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ที่เอาไก่จริงๆ มาปล่อยในนิทรรศการพร้อมกับการแสดงสดและฉายวิดีโอซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายในยุคนั้น” ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต ภัณฑารักษ์ของหอศิลปกรุงเทพฯ กล่าว

อาจารย์ศิลป์
คอลลาจและภาพพิมพ์ “โมนาเปลี่ยนโฉม” (2508) ในนิทรรศการ “สอนศิลป์ให้ไก่กรุง” โดย อภินันท์ โปษยานนท์

นิทรรศการ “สอนศิลป์ให้ไก่กรุง” (2528) ของอภินันท์ถือเป็นนิทรรศการที่มีการพูดถึงมากที่สุดในยุคนั้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบและได้รับความสนใจจากคนดูเป็นอย่างมากจนแน่นห้องจัดแสดงซึ่งประกอบไปด้วยงานวิดีโอ ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ สื่อผสม การแสดงสด และไก่กว่า 200 ตัว ในวิดีโอฉายภาพชายสวมหมวกโม่งสีแดงกับแว่นตาดำกำลังสอนประวัติของโมนาลิซาให้ไก่ฟัง ส่วนการแสดงสดมีชายใส่หมวกและสวมแว่นดำสอนศิลปะให้คนดู ผลงานบางส่วนจากนิทรรศการนี้ได้นำมาจัดแสดงใหม่ให้ชมในครั้งนี้ด้วย

ในพ.ศ. 2528 ทางหอศิลป พีระศรี ยังได้จัดโครงการสนับสนุนงานทดลองของศิลปินในแขนงต่างๆ เรียกว่า “เวทีสมั่ย” (อ่านว่า เว-ที-สะ-หมั่ย) นำทีมโดย จุมพล อภิสุข ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันศิลปะเชิงความคิดและการแสดง โดยเปิดเวทีเดือนละครั้งและมีกิจกรรมมากมายทั้งการแสดงสด อ่านบทกวี แสดงดนตรีเพื่อชีวิตและดนตรีพื้นบ้านของภาคต่างๆ

อาจารย์ศิลป์
ห้องแสดงภาพกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในโครงการเวทีสมั่ย
อาจารย์ศิลป์

แม้ หอศิลป พีระศรี มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยและเป็นบ่อเกิดของศิลปินชั้นนำของประเทศในเวลาต่อมา แต่ต้องปิดตัวไปใน พ.ศ. 2531 จากการขาดแรงสนับสนุนและเงินทุน

“ในช่วงนั้นพันธมิตรของเราเช่นสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศก็เริ่มลดบทบาทไป ประกอบกับการเสียชีวิตของคุณท่าน (หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) และคุณมีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเราทำให้ไม่มีแรงที่จะยื้อได้ต่อ เพราะในการดำเนินงานเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เดือนละ 1 แสนบาทและทางหอศิลป์หารายได้เองอีก 1 แสนบาทต่อเดือน เมื่อขาดหัวเรือหลักเราก็ขาดเงินสนับสนุนที่จะดำเนินงานต่อได้ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตและแม้แต่ปัจจุบันทางรัฐไม่ได้สนใจทั้งๆ ที่ศิลปะนั้นเป็นต้นน้ำของ soft power แต่เราต้องดิ้นรนกันเองและพึ่งพาเอกชน เช่น  มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ให้พื้นที่ อาจารย์ป๋วยเอาเงินจากรัฐบางส่วนมาช่วยสร้าง ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยช่วยในการจัดงาน และศิลปินให้ผลงานเพื่อหาเงินระดมทุน” ฉัตรวิชัยกล่าว

นิทรรศการเยือนย้อนหลัง หอศิลป พีระศรี จึงไม่ได้เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของหอศิลป์แห่งนี้ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย แต่ยังเป็นการถอดรหัสบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการต่อไป

Fact File

  • นิทรรศการ “ศิลปะ-ไทย-เวลา” เยือนย้อนหลัง หอศิลป พีระศรี – โครงการ 100 ปี คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป พีระศรี) ถึงสยาม จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม – 20 สิงหาคม พ.ศ.2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8  หอศิลปกรุงเทพฯ
  • หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดให้บริการเวลา 10.00-20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) และรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.bacc.or.th และ Facebook: baccpage

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"