ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ฝรั่งผู้อุทิศชีวิตให้ศิลปะจนไม่มีคำว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว
Faces

ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ฝรั่งผู้อุทิศชีวิตให้ศิลปะจนไม่มีคำว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว

Focus
  • 15 กันยายน เป็นวันศิลป์ พีระศรี เพื่อรำลึกถึงคุณูปการที่ ศิลป์ พีระศรี (นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี) ศาสตราจารย์ชาวอิตาลี ผู้อุทิศตนในการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”
  • ผลงานสำคัญของอาจารย์ศิลป์คือการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นสถาบันศิลปะระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ ส่วนงานปั้นหล่อและออกแบบอนุสาวรีย์ที่สำคัญ อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” ศิลป์ พีระศรี หรือ อาจารย์ศิลป์ หรือ อาจารย์ฝรั่ง ของชาวศิลปากรมักจะเรียกลูกศิษย์ทุกคนว่า “นาย” และสั่งสอนลูกศิษย์ให้ขยันขันแข็งด้วยประโยคดังกล่าวข้างต้น

วันที่ 15 กันยายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของ อาจารย์ศิลป์ (พ.ศ. 2435-2505) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย และถือเป็น วันศิลป์ พีระศรี ที่บุคคลในแวดวงศิลปะร่วมรำลึกถึงศาสตราจารย์ชาวอิตาลี ผู้สร้างคุณูปการแก่วงการศิลปะของไทย

ศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์ที่สำคัญหลายแห่งในประเทศเกิดจากฝีมือการปั้นหล่อและออกแบบของ อาจารย์ศิลป์ (นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี) เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อาจารย์ศิลป์ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาศิลปะขั้นอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยและริเริ่มเขียนบทความและหนังสือศิลปะเป็นจำนวนมากเพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยตลอดการใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยนานเกือบ 40 ปีในฐานะคนไทยคนหนึ่งโดยสมบูรณ์ตราบจนสิ้นชีวิต อาจารย์ศิลป์ทุ่มเทชีวิตให้กับงานอย่างสม่ำเสมอดังเช่นสุภาษิตที่ท่านมักกล่าวกับลูกศิษย์เสมอว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” และ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

อาจารย์ศิลป์

“สอบตก” กับการทดลองงานครั้งแรก

ศาสตราจารย์หนุ่มชาวอิตาลีเดินทางมาสยามพร้อมครอบครัวเมื่อ พ.ศ.2466  ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น ในยุคที่มีการว่าจ้างช่างชาวตะวันตกเข้ามาทำงานในสยามเพื่อปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบอารยประเทศในช่วงการล่าอาณานิคม

ความนิยมในการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญเริ่มปรากฏในเมืองไทย หลังจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2450 ซึ่งเป็นผลงานการปั้นหล่อของศิลปินชาวฝรั่งเศสโดยพระองค์ทรงเสด็จไปเป็นแบบปั้นเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป

อาจารย์ศิลป์
ปั้นหุ่นต้นแบบพระรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร

งานแรกที่เป็น “บททดสอบ” ของโปรเฟสเซอร์หนุ่มคือการปั้นพระรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีแบบเป็นเพียงพระบรมฉายาลักษณ์การปั้นรูปจากรูปถ่ายเป็นงานยากที่จะทำให้ได้สมจริงและผลปรากฏว่าท่าน “สอบไม่ผ่าน”

อาจารย์ศิลป์จึงได้กราบทูลขอคำปรึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับเชิดชูว่าเป็น นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม สมเด็จฯ จึงได้ทรงกรุณาเป็นแบบให้จนฝีมือของอาจารย์ศิลป์เป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าข้าราชการ ภายหลังท่านจึงได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและถวายงานปั้นโดยทรงเสด็จมาเป็นแบบด้วยพระองค์เอง

อาจารย์ศิลป์

งานใหญ่ชิ้นแรกก่อนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากถวายการปั้นพระรูปได้ไม่นาน สยามเกิดการผลัดแผ่นดินใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขึ้นเสวยราชย์สมบัติมีพระราชดำริจัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี โดยให้มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและทางขึ้นสะพานด้านฝั่งพระนครให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยให้สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงรับหน้าที่ดูแลการออกแบบก่อสร้างทั้งหมด และอาจารย์ศิลป์รับผิดชอบการปั้นดินและหล่อพระบรมรูป

โปรเจกต์นี้เป็นงานอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของท่านครั้งแรกในแผ่นดินสยาม แม้เบื้องต้นแบบร่างของท่านถูกวิพากษ์วิจาณ์ให้ต้องแก้ไขตามโบราณราชประเพณีซึ่งค้านกับการทำงานศิลปะอย่างตะวันตกอยู่พอสมควร แต่ในที่สุดท่านก็สามารถปรับงานแบบตะวันตกให้ผสานความเป็นตะวันออกได้จนเป็นที่พอใจทุกฝ่าย จนสามารถเปิดได้ทันงานเฉลิมฉลองพระนคร ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 6 เมษายนพ.ศ. 2475 แต่อีกเพียง 2 เดือนต่อมาเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ศิลป์ พีระศรี

กำเนิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทย

โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2477 เป็นโรงเรียนศิลปะแห่งแรกของไทยที่มีชื่อ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ดูแลการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยมีนักเรียนรุ่นแรก อาทิ นายแช่ม แดงชมพู, นายพิมาน มูลประมุข,นายเฟื้อ ทองอยู่ (ภายหลังเปลี่ยนเป็น เฟื้อ หริพิทักษ์), นายสนั่น ศิลากรณ์ และ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่อมากลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม และครูที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะไทย

ห้องเรียนในช่วงแรกเป็นห้องบริเวณตึกชั้นล่างของกรมศิลปากรในขณะนั้นและห้องทำงานของอาจารย์ศิลป์เอง หลักสูตรเป็นแบบ 4 ปีตามแบบอะคาเดมีของฟลอเรนซ์บ้านเกิดของท่าน

“นายไม่รู้ นายมาเรียนแล้วนายต้องรู้ เป็นหน้าที่ของฉัน”

คำพูดของอาจารย์ศิลป์แสดงถึงการเป็นครูที่เอาจริงเอาจังในการสอนลูกศิษย์ เป็นที่รู้กันดีว่าท่านจะมาทำงานแต่เช้า เมื่อว่างเว้นจากการสอนท่านจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องทำงานเพื่อเตรียมการสอน เขียนบทความทางวิชาการ และให้คำปรึกษาแก่ลูกศิษย์ แม้จนหมดเวลางานอาจารย์ศิลป์ทำงานต่อในห้องปั้นไปจนพลบค่ำ

ศิลป์ พีระศรี
แบบร่างงานของอาจารย์ศิลป์

นอกจากการเรียนในห้องเรียน อาจารย์ศิลป์ยังส่งเสริมให้ลูกศิษย์เรียนเพิ่มเติมจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นตำราศิลปะจากต่างประเทศที่ท่านสั่งเข้ามา ดูหนังและฟังเพลง เมื่อไรที่มีหนังต่างประเทศดีๆเข้ามาฉายท่านจะแนะนำให้ลูกศิษย์ไปดูและลงท้ายว่า “ใครไม่มีสตางค์มาเอาที่ฉัน”

อนันต์ ปาณินท์ ศิลปินแห่งชาติและลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ครบ 5 ปีการศึกษาก่อนท่านจะสิ้น เคยกล่าวไว้ว่าอาจารย์ศิลป์มักสั่งสอนลูกศิษย์เสมอว่า

“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน… แล้วจึงเรียนศิลปะ”

ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงาน ศิลป์ พีระศรี ได้รับการปรับตำแหน่งจากอาจารย์เอกกองสถาปัตยกรรม เป็น ประติมากรชั้นพิเศษซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่เทียบเท่าอธิบดีกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2485 โดยการผลักดันของพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น

ในปีถัดมาจึงได้มีการยกฐานะโรงเรียนประณีตศิลปกรรมเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นสถาบันศิลปะระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศโดยเปิดสอนเพียงคณะเดียวในขณะนั้นคือ คณะจิตรกรรมและประติมากรรม และก่อตั้งขึ้นในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุขึ้นทั่วโลก

อาจารย์ฝรั่ง
พิมพ์ดีดประจำตัวที่ยังคงเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

ภาวะสงครามกับชื่อ ศิลป์ พีระศรี

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิตาลีเป็นหนึ่งในกลุ่มอักษะซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีและญี่ปุ่น ได้ประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ชาวอิตาลีในประเทศไทยถูกญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมแพ้จับเป็นเชลยไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ฝรั่งของลูกศิษย์

ทางฝ่ายรัฐบาลไทยได้พยายามหาหนทางช่วยโดยเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ทางการไทยเป็นผู้ควบคุมตัว และเพื่อเป็นการตัดปัญหาทั้งหมดทางกรมศิลปากรจึงจัดการให้อาจารย์ฝรั่งโอนสัญชาติมาเป็นไทย และเปลี่ยนชื่อจาก “คอร์ราโด เฟโรจี” เป็น ศิลป์ พีระศรี ในปี พ.ศ. 2487

สภาพเศรษฐกิจหลังสงครามที่ค่าครองชีพสูงขึ้น อาจารย์ศิลป์ตัดสินใจส่งภรรยาและลูกสาวกลับไปอิตาลี และท่านยื่นเรื่องขอปรับเงินเดือนซึ่งได้รับค่าจ้างเดือนละ 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท นับตั้งแต่ พ.ศ.2466 แต่อัตราใหม่ที่ทางการปรับให้ก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจนทำให้ท่านต้องจากเมืองไทยที่ท่านผูกพันและใช้ชีวิตมาเกือบ 30 ปีกลับไปบ้านเกิดที่อิตาลีในปี พ.ศ. 2492

วันที่ท่านออกเดินทางมีลูกศิษย์ไปส่งคับคั่ง อาจารย์ศิลป์บอกลากับลูกศิษย์ว่า

“ฉันจะไปทำงานปั้นเหรียญ เขาจ้างฉันที่เมืองนอกแล้ว คงต้องไปแล้วเพราะไม่พอใช้ที่เมืองไทย ฉันหวังว่าทุกคนคงได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้ให้ไว้แล้วอย่างเต็มที่ ช่วยประเทศชาติของเราได้”

ในปีเดียวกันนั้นเอง กรมศิลปากรโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ทำเรื่องขอให้ทางรัฐบาลเห็นชอบและอนุมัติปรับอัตราค่าจ้างชาวต่างประเทศใหม่เพื่อให้อาจารย์ศิลป์ได้กลับมาทำงานที่ไทยอีกครั้ง

อาจารย์ฝรั่ง

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

อาจารย์ศิลป์กลับมาทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาวงการศิลปะของไทยโดยริเริ่มให้มีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่  1 ในปี พ.ศ. 2492 เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะในวงกว้างและส่งเสริมศิลปินพร้อมกับการเติบโตของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ท่านก่อตั้ง

“Ars longa, vita brevis” (ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น) เป็นสุภาษิตละตินที่ อาจารย์ศิลป์ มักหยิบยกมาสอนลูกศิษย์อยู่เสมอจนกลายเป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อให้ตระหนักว่าชีวิตเราแสนสั้นแต่การศึกษาหาความรู้ไม่มีวันจบ

อาจารย์ฝรั่ง
โต๊ะทำงานของอาจารย์ศิลป์ยังคงเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

“ท่านชื่นใจที่เห็นพวกเราตั้งใจเรียนและทำงาน วันไหนไม่เห็นผมทำงานก็ฝากด่าไว้ว่า ‘เป็นโปรเฟสเซไปแล้วเหรอ’ ไม่ได้เป็นอาจารย์แบบสั่ง ลงมือทำด้วย อะไรไม่ดีก็แก้ให้เดี๋ยวนั้นพร้อมกับอธิบายให้เข้าใจ เมื่อผิดก็ยอมรับผิด ท่านเคยพูดว่า ‘แม้แต่พระเจ้าก็อาจทำผิดได้นาย’ ท่านไม่ซ่องสุมสมัครพรรคพวก ถือหางศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใด”

ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรผู้ล่วงลับเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2531

อาจารย์ศิลป์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ด้วยโรคมะเร็งในวัย 70 ปี พร้อมคำสั่งสอนที่ให้ลูกศิษย์ตั้งมั่นในการทำงานเพื่อพัฒนาวงการศิลปะว่า “ถ้าฉันตาย นายคิดถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน”

ต้นเรื่อง

นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2535 และ เดือนกันยายน พ.ศ.2531

ภาพประกอบ

  • ฝ่ายภาพและฝ่ายข้อมูลนิตยสารคดี
  • หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร www.facebook.com/SilpakornUniversity.Archives

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ