9 ไฮไลต์ห้ามพลาด พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งเดียวในไทยและอาเซียน
Arts & Culture

9 ไฮไลต์ห้ามพลาด พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งเดียวในไทยและอาเซียน

Focus
  • นอกจากหน้าบัน จิตรกรรมฝาหนังของวัดวาอารามแล้ว ครุฑยังถูกใช้ในเอกสารราชการ บ้างก็ประดับตามอาคารสำคัญ ๆ และถูกใช้เป็นตราประจำแผ่นดินไทยมาช้านานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
  • พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านครุฑแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งเดียวในอาเซียน เจาะเรื่องราวเกี่ยวกับครุฑตั้งแต่กำเนิดจากไข่จนกระทั่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประดับอาคารของธนาคารนครหลวงไทย

ในบรรดาสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ณ ดินแดนชมพูทวีป ครุฑ สัตว์ครึ่งนกครึ่งคน มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์ บริเวณวิมานฉิมพลี เชิงเขาพระสุเมรุ คอยจับนาคกินเป็นอาหารถือว่าเป็นตัวเอกและเป็นสัตว์หิมพานต์ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด เพราะนอกจากจะได้เห็นตามหน้าบัน จิตรกรรมฝาหนังของวัดวาอารามแล้ว ครุฑยังถูกใช้ในเอกสารราชการ บ้างก็ประดับตามอาคารสำคัญ ๆ ทั้งยังมีครุฑอีกจำนวนหนึ่งที่ประดับอยู่บนอาคารของเอกชน ที่สำคัญครุฑยังถูกใช้เป็นตราประจำแผ่นดินไทยมาช้านานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา และสำหรับใครที่สนใจในโลกการกำเนิดครุฑ ห้ามพลาด พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านครุฑแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งเดียวในอาเซียน เจาะเรื่องราวเกี่ยวกับครุฑตั้งแต่กำเนิดจากไข่จนกระทั่งกลายมาเป็น ครุฑพ่าห์ สัญลักษณ์ประดับอาคารของธนาคารนครหลวงไทยในอดีตซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 8 หรือก็คือธนาคารทหารไทยธนชาตในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้เกิด พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

นอกจากครุฑพ่าห์กว่า 150 องค์ที่เคยประดับอยู่ตามอาคารสาขาธนาคารนครหลวงไทยในอดีตแล้ว ไฮไลต์ของ พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งนี้คือเรื่องลับ ๆ มากมายเกี่ยวกับครุฑที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน เช่น แม่ของครุฑคือใคร ครุฑกำเนิดเป็นตัวหรือไข่ เหตุใดครุฑจึงไม่ถูกกับนาค และทำไมครุฑจึงกลายมาเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เป็นต้น

ครุฑพ่าห์
ครุฑพ่าห์

นิทรรศการแบ่งการแสดงออกเป็น 6 โซน และแม้เรื่องราวที่เล่าจะเกี่ยวกับตำนาน ความเชื่อ ทว่ากลับใส่เทคโนโลยีมาช่วยให้การเล่าเรื่องสนุกและทันสมัยยิ่งขึ้น และที่ทำให้แฟนพันธุ์แท้ครุฑต้องตาวาวคือโซนจัดแสดง ครุฑพ่าห์ ที่เคยใช้เป็นสัญลักษณ์ประดับอาคารของธนาคารนครหลวงไทยกับประติมากรรมครุฑมากมายที่แต่ละองค์มีหน้าตา เครื่องแต่งกาย อิริยาบถ ท่าร่ายรำแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แอบกระซิบว่าแม้ครุฑเหล่านี้จะเป็นงานปั้นผสมกับงานแกะสลักจากไม้ แต่ในขั้นตอนการปั้นหรือแกะสลักนั้น ช่างจะมีการใส่หัวใจครุฑลงไปเพื่อทำให้ครุฑมีชีวิตและทำหน้าที่ปกป้องอาคารนั้น ๆ อย่างสมจริง และสำหรับใครที่ลงทะเบียนจองรอบเข้าชม พิพิธภัณฑ์ครุฑ กันแล้ว Sarakadee Lite ขอนำไฮไลต์พิพิธภัณฑ์ครุฑหนึ่งเดียวในไทยมาให้ได้เก็บลิสต์ต้องห้ามพลาดชมกัน

ครุฑพ่าห์

01 พญาครุฑ 4 เมตรกับการกำเนิด “ธนาคารนครหลวงไทย”

ลานกลางแจ้งด้านหน้า พิพิธภัณฑ์ครุฑ สะดุดตาด้วย ครุฑพ่าห์กายสีแดงขนาดใหญ่ความสูงประมาณ 4 เมตรองค์ครุฑทำจากไฟเบอร์เดิมทีครุฑองค์นี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประดับอยู่ด้านหน้าธนาคารนครหลวงไทยสำนักงานใหญ่ บนถนนเพชรบุรีซึ่งเปิดกิจการเมื่อพ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานเครื่องหมาย “ครุฑพ่าห์” ซึ่งเป็นตราครุฑพระราชทานมาติดตั้งอยู่เหนือสำนักงานใหญ่และสาขาต่าง ๆ ต่อเมื่อภายหลังธนาคารนครหลวงไทยได้ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต เมื่อพ.ศ.2554จึงมีการเชิญครุฑพ่าห์ลงจากสำนักงานใหญ่และสาขาต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2535ความว่า“บุคคล ห้างร้าน หรือบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง เครื่องหมายครุฑพ่าห์ ต้องคืนตราตั้งให้แก่สำนักพระราชวัง เมื่อบุคคล ห้างร้าน หรือบริษัทนั้น ๆ เลิกประกอบกิจการ หรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น” และหลังจากที่ธนาคารจะเชิญครุฑพ่าห์ลงก็ได้นำมาจัดเก็บ ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารธนชาต บางปู และเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์ครุฑ พร้อมให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา (ก่อนหน้านั้นเปิดให้ชมเฉพาะกลุ่มที่ติดต่อเข้ามาเท่านั้น)

ครุฑพ่าห์

02 ครุฑและเหล่าสัตว์หิมพานต์ AR

อันที่จริง พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งนี้เปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แต่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม การจะเข้าชมต้องติดต่อทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าแบบกลุ่มเท่านั้นจากนั้นก็มีการปรับปรุงส่วนจัดแสดงให้ร่วมสมัยและเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2565 โดยส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่เอี่ยมได้แก่ โถงต้อนรับ ซึ่งเป็นภาพวาดป่าหิมพานต์ขนาดใหญ่ พิเศษกับการเพิ่มเติมนวัตกรรม AR (Augmented Reality) ปลุกตำนานสัตว์หิมพานต์ให้มีชีวิต เพียงสแกน QR Code ที่อยู่บนพื้นบริเวณโถงต้อนรับเหล่าสัตว์หิมพานต์ก็จะออกมาโลดแล่นและมีชีวิตสมจริงครบทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง และสามารถเข้าไปถ่ายรูปกับเหล่าสัตว์หิมพานต์ได้สนุกมาก

โถงต้อนรับแบ่งเรื่องราวเกี่ยวกับครุฑออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ นาคแปลงกาย เป็นตอนที่พญานาคลูกของนางกัทรุได้แปลงกายเป็นขนสีดำแทรกตามขนของม้าอุไฉศรพที่เป็นสีขาว ทำให้นางวินตาที่ทายว่าม้าอุไฉศรพเป็นสีขาวจึงทายผิด และตกเป็นทาสของนางกัทรุไปถึง 500 ปี ศึกชิงน้ำอมฤต เป็นตอนที่ครุฑต้องไปนำน้ำอมฤตมาให้นาค เพื่อไถ่ถอนการเป็นทาสของนางวินตาผู้เป็นมารดา ขณะที่ไปนำน้ำอฤตได้เกิดการต่อสู้กับพระอินทร์จนขนหลุด พระอินทร์เลยประทานชื่อว่า สุบรรณ แปลว่า ผู้มีขนอันงดงาม และตอน ครุฑยุดนาค เป็นตอนที่ครุฑกลายเป็นศัตรูกับนาค เพราะโกรธที่มารดาของตนที่ตกเป็นทาส จึงคอยเฝ้ายังมหานทีสีทันดรที่เป็นที่อยู่ของนาค เพื่อคอยโฉบกินเหล่านาคที่ขึ้นจากน้ำ เหล่านาคเลยกลืนหินเพื่อถ่วงน้ำหนักลงไปในท้องตัวเองไม่ให้ครุฑจับได้ ครุฑจึงหาทางแก้ด้วยการจับหางและหัวของนาคเขย่าเพื่อให้หินหล่นซึ่งท่าการจับนาคของครุฑท่านี้ก็เป็นที่มาของท่า “ครุฑยุดนาค”นั่นเอง

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

03 ย้อนประวัติศาสตร์การกำเนิดครุฑ

ก่อนที่จะเข้าไปรู้จักเรื่องราวของครุฑทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ แนะนำให้แวะมาเข้าคลาส ครุฑ 101 กันก่อนกับห้องฉายหนังสั้นที่จะอธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของครุฑที่มีต่อสังคมไทย ทั้งครุฑบนหน้าบันของศาสนสถาน ธนบัตร ตราราชการ หรือแม้แต่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นอกจากนี้ยังมีแอนิเมชันน่ารัก ๆ เรื่องการกำเนิดของครุฑ และตำนานครุฑตามคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ผสมผสานอยู่กับศาสนาพุทธในไทยผ่านเสียงบรรยายของ “ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม” ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย กรมศิลปากร ที่จะนำพาเราล้วงลึกความลับของครุฑอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

04 ท่องป่าหิมพานต์

เมื่อปูพื้นฐานเกี่ยวกับการกำเนิดครุฑแล้ว ก็ถึงเวลาเดินเข้าป่าหิมพานต์สู่ถิ่นที่อยู่ของครุฑบริเวณวิมานฉิมพลี (ป่างิ้ว) เชิงเขาพระสุเมรุ กับโซน ครุฑพิมาน เป็นการจำลองดินแดนป่าหิมพานต์ที่ตั้งอยู่ใจกลางจักรวาล มีสระอโนดาตตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์ ความพิเศษของโซนนี้คือได้รวบรวมสัตว์หิมพานต์ครบทุกตระกูล นอกจากนี้ยังมีต้นมักกะลีผล และใครที่อยากเห็นไข่ของนางวินตาที่คลอดพญาครุฑออกมาห้ามพลาดโซนนี้ที่สำคัญผู้ชมสามารถเข้าไปถ่ายรูปในไข่ได้อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

05 ครุฑพ่าห์ที่เล็กที่สุด

เมื่อเราผ่านถิ่นที่อยู่อาศัยของครุฑและที่อยู่ของนาคมาแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่ห้องอมตะจ้าวเวหาเล่าถึงตอนที่พญาครุฑจะนำน้ำอมฤตมาให้แก่พญานาคเพื่อไถ่ถอนคำสาปให้แก่นางวินตาผู้เป็นมารดาของตนเรื่อยมาถึงคำตอบที่ว่าทำไมครุฑจึงกลายมาเป็นพาหนะของพระนารายณ์โดยไฮไลต์โซนนี้นอกจากจะเป็นเรื่องเล่าแล้ว ยังมีการจัดแสดงตราครุฑพ่าห์ที่ถอดมาจากธนาคารนครหลวงไทยสาขาต่าง ๆ ซึ่งใต้ครุฑพ่าห์แต่ละองค์ก็จะมีป้ายสาขากำกับไว้ มีทั้งครุฑที่แกะสลักจากไม้ และทำจากไฟเบอร์ และถ้าสังเกตให้ดีจะพบครุฑองค์ที่เล็กที่สุดในพิพิธภัณฑ์ความสูง 15 เซนติเมตรอยู่เหนือประตูทางเข้าทั้งสองด้านของห้องนี้

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

06 ครุฑพ่าห์ไม้ที่สมบูรณ์ที่สุด

ล้นเกล้าจอมราชัน เป็นโซนที่เล่าเรื่องราวของครุฑที่ปรากฏในดินแดนสุวรรณภูมิมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดีที่อยู่ในรูปเคารพ ความสำคัญของตราครุฑพ่าห์ที่ถูกใช้เป็นตราแผ่นดินตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาถึงปัจจุบันและครุฑในมุมมองความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เปรียบดั่งพระนารายณ์อวตารลงมาเพื่อปกครองบ้านเมือง นอกจากเรื่องเล่าแล้วจุดเด่นของห้องนี้คือ ครุฑพ่าห์ของธนาคารนครหลวงไทย สำนักงานใหญ่สาขาหาดใหญ่ แกะสลักจากไม้ ซึ่ง ปรัชญา จับฟั่น ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเป็นครุฑพ่าห์แกะจากไม้ที่ยังคงความสมบูรณ์ของงานแกะไว้ได้มากที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

07 ครุฑพ่าห์หน้าจีนแกะจากไม้รมควันคั่วเกาลัด

โซนสุดท้ายที่ถือเป็นไฮไลต์ของ พิพิธภัณฑ์ครุฑ คือ ห้องจัดแสดงครุฑ เก็บรวบรวมครุฑพ่าห์ของธนาคารนครหลวงไทยในแต่ละสาขามาไว้ให้ชมซึ่งแม้ครุฑพ่าห์จะมีท่าร่ายรำกางปีกที่หลายคนคุ้นตา แต่ถ้าได้เดินชมอย่างช้า ๆ เจาะรายละเอียดดี ๆ จะพบว่าครุฑแต่ละองค์นั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะหน้าที่เหมือนนก บ้างดุดันแบบยักษ์ รูปร่างความกำยำ สีสันเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่โดดเด่นคือ ครุฑพ่าห์ของสาขาเยาวราช ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนจีน ใส่หมวกแบบจีนมีปีกสีดำซึ่งไม่ใช่สีที่ทา แต่เป็นสีที่เกิดจากควันคั่วเกาลัดที่พัดจากถนนเยาวราชด้านล่างขึ้นมารมบริเวณปีก ซึ่งนี่ถือเป็นองค์ครุฑที่มีความสำคัญทั้งในแง่ศิลปะ และสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ย่านได้เป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑ์ครุฑ

08 ครุฑพ่าห์องค์แรกของธนาคารนครหลวงไทย

แม้ครุฑขนาด 4 เมตรด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์จะเป็นครุฑจากสำนักงานใหญ่ แต่ไม่ใช่ครุฑพ่าห์องค์แรกที่ได้รับพระราชทานสำหรับธนาคารนครหลวงไทย แต่ครุฑองค์แรกของธนาคารคือ ครุฑพ่าห์ สาขาราชดำเนิน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของธนาคารนครหลวงไทย แกะสลักจากไม้สัก กายมีแดง ส่วนของแขนและขาชำรุดหักไปตามกาลเวลา

ครุฑพ่าห์

09 สมุดแสตมป์ตามรอยพญาครุฑ

อีกกิมมิกเล็ก ๆ แต่น่ารักมากของที่นี่คือ สมุดแสตมป์ตามรอยพญาครุฑ ที่ให้เราไปค้นหาตราประทับเกี่ยวกับครุฑที่ซ่อนอยู่ในห้องจัดแสดงต่าง ๆ โดยมีทั้งหมด 10 ตราประทับ 10 ลวดลาย ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับครุฑได้ครบตั้งแต่ตำนานไปจนถึงการมาเป็นองค์ครุฑพระราชทาน สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และความดี

ครุฑพ่าห์

ประวัติศาสตร์ครุฑ

ครุฑ เป็นสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อครุฑมีลักษณะส่วนหัวและส่วนขาเป็นนก ส่วนลำตัวเป็นคน มีรูปร่างใหญ่กำยำ ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวไว้ว่าพญาครุฑมีขนาดตัวที่ใหญ่มากจนนับขนาดได้เป็นโยชน์ โดยเรื่องราวของครุฑพบเจอได้หลากหลายประเทศ เช่น ไทย อินเดีย กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งส่งผ่านจากอิทธิพลของศาสนา โดยประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับครุฑมาก มีการนำมาเป็นตราแผ่นดินตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ชื่อว่า ตราครุฑพ่าห์ คำว่า “พ่าห์” มีความหมายว่า พาหนะ ซึ่งตามคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และพระนารายณ์ก็เป็นตัวแทนของกษัตริย์ โดยปางหนึ่ง คือ นารายณ์ทรงสุบรรณ มาจากเหตุกาณ์ที่ครุฑได้พยายามต่อสู้กับพระนารายณ์เพื่อนำน้ำอมฤตมาไถ่ถอนมารดาของตน แต่ก็แพ้พระนารายณ์ ซึ่งพระนารายณ์ก็สรรเสริญในความกตัญญู และให้พรในการเป็นอมตะ และทำให้ครุฑกลายมาเป็นพาหนะของพระนารายณ์

Fact File

  • พิพิธภัณฑ์ครุฑ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 9A จังหวัดสมุทรปราการ
  • เปิดให้เข้าชมเฉพาะศุกร์-เสาร์ วันละ 3 รอบ คือ 10.00 น.,13.00 น. และ 15:00 น. จำกัดรอบละ 50คน โดยมีผู้บรรยายนำชมทุกรอบ
  • เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องจองรอบเข้าชมล่วงหน้า โดยสามารถจองรอบเข้าชมได้ที่https://www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum/
  • สามารถเดินทางโดย BTS ลงปลายทางสถานีเคหะฯ และต่อรถแท็กซี่ หรือสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อใช้บริการรถรับ-ส่งของทางพิพิธภัณฑ์จากสถานี BTS เคหะฯมายังพิพิธภัณฑ์ได้

Author

วาสนา แซ่จั่น
ฉายาเด็กประวัติสายติ่งไม่ได้มาเล่นๆ นิ่งเป็นหลับขยับเป็นติ่ง รักการซอกแซกซอกมุมต่างๆ ของประวัติศาสตร์

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์