ในกล่องมีละคร Theatre To Go กล่องมหัศจรรย์ที่ให้คุณชมละครได้ทุกที่ด้วยเทคโนโลยี AR
Arts & Culture

ในกล่องมีละคร Theatre To Go กล่องมหัศจรรย์ที่ให้คุณชมละครได้ทุกที่ด้วยเทคโนโลยี AR

Focus
  • กล่องละคร Theatre To Go คือนวัตกรรมใหม่โดยกลุ่ม performing artist ชาวไทย ที่ให้ผู้ชมเลือกรับชมการแสดงผ่านโทรศัพท์มือถือ ร่วมกับกล่อง setting ผสานเทคโนโลยี AR
  • กล่องละครมอบประสบการณ์รับชมที่แปลกใหม่ ทลายข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ การเดินทาง และเวลา
  • นวัตกรรมกล่องละครมหัศจรรย์นี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งพัฒนาตัวเองของคนทำงานศิลปะการแสดงในบ้านเรา

แม้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 จะเริ่มฟื้นตัวจนดูเหมือนชีวิตของเราทุกคนจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเกิดการ disruption ขึ้นกับทุกแวดวง ทำให้เราได้เห็นถึงนวัตกรรมใหม่ๆ จากการคิดค้นแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่แวดวงศิลปะการแสดงละครเวทีและศิลปะการแสดงซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ theatre หรือ “โรงละคร” เป็นพื้นที่หลักในการรับชม ทว่าในช่วงที่ยังมีการล็อกดาวน์ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม เราได้เห็นคณะละครต่างๆ พยายามหา ทางรอด โดยนำเอาผลงานบันทึกการแสดงสดขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์สตรีมมิงให้ชม หรือกระทั่งทำการแสดงสดผ่านทางออนไลน์ก็มี จนมาถึงเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการวางขายกล่องมหัศจรรย์ที่เรียกว่า Theatre To Go เกิดขึ้นจากกลุ่มศิลปินการแสดงและนักออกแบบชาวไทย นำละครเวที ศิลปะการแสดง มาบรรจุกล่องผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AR (augmented reality) ช่วยให้ผู้ชมสามารถเสพศิลปะการแสดงได้ทุกที่ทุกเวลา เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับนวัตกรรมเพื่อเสพศิลปะที่แปลกใหม่นี้ ที่คิดและสร้างสรรค์ขึ้นโดยคนไทย ซึ่งอาจนำพาทั้งโอกาสและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตามมาได้อีก

Theatre To Go
ในกล่องนี้บรรจุ Live Performance Experience

“ย้อนกลับไปก่อนปลายค.ศ. 2019 คนทำงานศิลปะการแสดงและผู้ชมสามารถทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงละคร เราสามารถส่งต่อเรื่องราวชีวิต ขับเคลื่อนความคิด ด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตา แต่พอเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ชีวิตประจำวันของเรานับจากนั้นก็ถูกจำกัดด้วยมาตรการความปลอดภัย ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ผู้ชมไม่สามารถชมละคร คนทำงานศิลปะการแสดงก็ไม่สามารถทำงานที่ตัวเองรักได้ เราเลยเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้คนดูได้รับประสบการณ์การชมการแสดงโดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องของพื้นที่ การเดินทาง หรือแม้กระทั่งภาษา”

พึ่ง-ณัฐพร เทพรัตน์ คิวเรเตอร์และผู้อำนวยการ​โปรเจกต์

พึ่ง-ณัฐพร เทพรัตน์ คิวเรเตอร์และผู้อำนวยการของโปรเจกต์กล่องการแสดง Theatre To Go เล่าย้อนอดีตให้เราฟังถึงที่มาของ Theatre To Go Live Experience Box ซึ่งก่อนจะมาทำงานนี้เธอมีแบ็กกราวน์ที่เกี่ยวข้องกับ Theatre Design โดยเคยจัดแสดงผลงานในงาน Prague Quadrennial of Performance Design and Space งานนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบสเปซซีนดีไซน์สำหรับการแสดง ณ สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งทำให้เธอมองเห็นว่าในเมืองไทยนั้นยังไม่ค่อยมีการพูดถึงการทำงานเกี่ยวกับเทียร์เตอร์ดีไซน์อย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้กำกับ มักจะทำหน้าที่ทุกอย่าง คนทำสเปซและและซีนก็มักจะทำตามแบบหรือโจทย์ที่ผู้กำกับ วางเอาไว้ ซึ่งไม่ได้เกิดลูปของการทำงานที่เป็นระบบระเบียบสักเท่าไรจนมาเกิดโควิด 19 ขึ้นทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง เธอจึงตั้งคำถามว่าหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกแล้วคนทำงานด้านศิลปะการแสดงจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างไร

Theatre To Go
การถ่ายทำบน green screen เพื่อนำมาผสานกับเทคโนโลยี AR นักแสดง ผู้กำกับการแสดง และ artistic designer ตลอดจน developer ร่วมทำงานกันเพื่อสร้างสรรค์ Theatre To Go
Theatre To Go

“ไอเดียของเราก็เลยมาจบอยู่ที่กล่องโมเดลที่ชื่อว่า Theatre To Go ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับนักแสดง ผู้กำกับการแสดง artistic designer แล้วก็ยังมี developer อย่าง Yay.Lol.Studio ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ช่วยทำให้ภาพการแสดงบรรจุกล่องนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้”

ละครบรรจุกล่องผสานเทคโนโลยี AR จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยณัฐพรได้เชื้อเชิญคณะละครร่วมสมัยทั้ง 5 ที่มีผลงาน active อยู่ในขณะนั้นมาทำงานร่วมกัน ซึ่งละครทั้ง 5 เรื่องได้แก่ เพลงนี้พ่อเคยร้องโดย วิชย อาทมาท The (Un) Governed Body ของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธร The Disappearance of A Dramatist, 2548 B.E. โดย เชษฐพัทธ์ เขื่อนแก้ว ตลาดปลา โดย สุรชัย เพชรแสงโรจน์ และ Single Number โดย ธนัชพร กิตติก้อง

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่ากล่องละครมหัศจรรย์นั้นทำงานอย่างไร เราขอเล่าประสบการณ์จากการเทสต์ให้ฟังกันดังนี้ แรกทีเดียวที่ได้รับกล่องรู้สึกตื่นเต้น สัมผัสได้ถึงความพิเศษ เหมือนกับได้รับกล่องของเล่นของขวัญอย่างไรอย่างนั้น กล่องละครแต่ละกล่องจะบรรจุทั้งกล่อง setting และ prop ที่ต้องนำมาจัดวาง และทำงานร่วมกันกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมี QR code สแกนยิงเข้าเว็บ AR ให้ส่องรับชมร่วมกับกล่อง โดยจะมีหนังสือคู่มือฉบับย่อบอกวิธีให้ผู้ชมทำตามได้อย่างไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีกิมมิกน่ารักอย่างการใส่ขนมถุงสุ่มให้ผู้ชมแกะกินระหว่างรับชมด้วย ทำให้เรานึกถึงในช่วงโควิดล็อกดาวน์ ซึ่งมีการจัดอีเวนต์ปาร์ตี้หรือมื้อไฟน์ไดนิงออนไลน์ส่งปิ่นโตไปให้ผู้ร่วมอีเวนต์แต่ละคนตามบ้าน แล้วเปิด zoom ร่วมรับประทานพร้อมกัน อะไรทำนองนั้น ​

Theatre To Go
เมื่อ UnBox แล้วจะพบกับคู่มือการใช้กล่อง และ prop ให้นำมาจัดวาง ตลอดจนขาตั้งโทรศัพท์มือถือ แถมยังมีขนมให้ชิมระหว่างชมการแสดง
Theatre To Go

ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราค่อนข้างจะขลุกขลักกับการทดลองชมและใช้กล่องนี้อยู่พอสมควร เพราะมีปัญหากับการจัดวางขาตั้งที่แถมมา กับกล่อง setting ให้ได้ระดับซิงก์กันพอดี ซึ่งทำให้รู้สึกหงุดหงิดใจอยู่บ้าง แต่พอลงล็อกแล้วก็เริ่มสนุกไปด้วยได้ การที่ดูละครผ่าน AR ก็เป็นความรู้สีกแปลกใหม่ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นดี โดยเรื่องแรกที่ได้ดูคือ The Disappearance of A Dramatist  ซึ่งเป็นละครพูดสนุกดูง่ายดี แต่กับเรื่องอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนสไตล์การแสดงไป เราก็เริ่มรู้สึกตั้งคำถามกับช่วงความสนใจของตัวเอง และการเอาการแสดงประเภทนี้ลงกล่องแล้วนำเสนอออกมาในลักษณะเป็นอยู่ เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเราเอาไว้ได้เท่าที่ควร (ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะผิดที่ตัวผู้เขียนเองก็เป็นได้ คนอื่นๆ ที่ได้ชมอาจจะไม่รู้สึกเช่นนี้ก็ได้ เพราะการชมละครเป็นเรื่องของปัจเจกอยู่แล้ว)

Theatre To Go
การรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือผสานเว็บ AR
Theatre To Go

โดยรวมแล้วเราคิดว่าการเอาละครมาลงกล่องกับ AR แบบนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี แต่ผู้เขียนคิดว่าอย่างไรเสียก็ยังชอบอารมณ์ความสดและความเชื่อมโยงระหว่างการแสดงและผู้ชมที่สัมผัสได้ในโรงละครมากกว่าอยู่ดี แต่ก็อย่างที่ณัฐพรเองว่าไว้ว่ามันอาจจะดีในกรณีที่ถ้าเกิดมีเหตุการณ์อะไรที่ต้องล็อกดาวน์และรักษาระยะห่างทางสังคมอีก ละครลงกล่องแบบนี้ก็อาจจะเป็นข้อดีสำหรับตอนนั้นก็ได้ ใดๆ เลยก็คิดว่างานนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่คนทำงานศิลปะการแสดงจะได้ลองเรียนรู้การทำงานในรูปแบบใหม่ๆ กัน ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับในอนาคต

“หลังจากที่เราเปิดให้คนสั่งกล่อง Theatre To Go ไปชมกันแล้ว ก็ได้รับผลตอบรับที่หลากหลายมากค่ะ ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างจะเหมือนกันก็คือหลายๆ คนเขาก็บอกกันว่ามันค่อนข้างจะเข้าใจยาก ด้วยประสบการณ์การรับชมตอนแรก ที่ต้องมีการสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วก็ให้กดเล่น หรืออย่างที่ละครบางเรื่องเป็นลักษณะ interactive ที่จะต้องให้เขากรอกนั่นกรอกนี่ลงไปด้วย ทำให้ผู้ชมงงว่าเขาทำถูกแล้วหรือเปล่า มันก็เลยทำให้เราได้รู้ว่า journey ของการรับชมมันยังไม่กระชับและสมูทเท่าที่ควร แต่ในแง่ดีคือทุกคนจะพูดตรงกันว่าแปลกใหม่ดี ไม่เคยดูแบบนี้ที่ไหนมาก่อนเลย เราดูละครแบบนี้กันได้ด้วยเหรอ และไม่คิดว่าคนไทยจะทำอะไรอย่างนี้ได้

ชมละครได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

“จริงๆ แล้วเราไม่คิดอยู่แล้วว่าการรับชมในรูปแบบนี้จะสามารถทดแทนประสบการณ์ในการรับชมในโรงละครได้ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันช่วยมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนดูได้ ช่วยทำให้แก้คิดถึงการชมละครได้อย่างในช่วงโควิดที่คนดูละครกันในโรงละครกันไม่ได้ หรือช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อไปชมละคร ซึ่งหากคุณอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศนี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คุณมีโอกาสรับชม

“นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับศิลปินผู้สร้างงานที่จะพาละครของเขาไปให้คนอื่นเห็น ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใช่ว่าเล่นในโรงละครเพียงไม่กี่รอบแล้วก็จบไป แต่มันอาจจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถขายแล้วนำพางานชิ้นนั้นเดินทางต่อไปได้ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ที่ระยะทางและภาษา ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เป็นคอนเทนต์ที่ส่งไปให้กับเทศกาลศิลปะหรือพิพิธภัณฑ์ที่ไหนในโลกก็ได้ เพื่อให้ศิลปินสามารถขายงานชิ้นนั้นได้ ตรงนี้มันก็เลยอาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เรานำมาใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับคนทำงานทางด้านนี้ หรือแม้กระทั่งในวันหนึ่งเราก็อาจจะมีการนำเสนอศิลปะการแสดงในเมตาเวิร์สก็ได้ ซึ่งเรามองว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถเป็นพื้นที่ให้คนทำงานทางด้านศิลปะการแสดงสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ และได้ลองทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโรงละคร” ณัฐพร กล่าว

Fact File

  • กล่อง Theatre To Go วางจำหน่ายไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 นี้ หนึ่งเรื่อง หนึ่งกล่อง ราคา 600 บาท มีจำหน่ายส่งตรงถึงบ้านทั้งทาง LINE Shop : https://shop.line.me/@604ietvn และ Shopee : https://shopee.co.th/nattapheungthapparat…
  • Theatre To Go มีโครงการจะจัดแสดงนิทรรศการที่ Noble Play เพลินจิต ในเดือนธันวาคม 2565 รวมถึงจัดแสดงใน Thailand Country and Region Exhibition ที่ Prague Quandrennial of Performance DesignSpace (PQ2023) ณกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก 6-16 มิถุนายน 2566
  • ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงลงกล่องแต่ละเรื่องและอัปเดตกิจกรรมได้ที่   https://www.facebook.com/TheatreToGo.th
  • Theatre To Go ได้รับการสนับสนุนโดย Sangsom ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมเพราะมีผู้ประกอบการไม่มากนักหรอกที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนคนทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมในลักษณะนี้

Author

วรัญญู อินทรกำแหง
Content Creator ผู้มีความสนใจแบบจับฉ่าย สมาธิสั้นและมองโลกในแง่ร้าย หวาดกลัวการออกไปข้างนอก แต่ยังคงสนใจสอดส่องความเป็นไปของโลก