BABYMIME กับเรื่องเบื้องหลังความสุขในโลกเงียบของ “ละครใบ้”
Brand Story

BABYMIME กับเรื่องเบื้องหลังความสุขในโลกเงียบของ “ละครใบ้”

Focus
  • BABYMIME คณะละครใบ้อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่เดินทางมายาวนานกว่า 15 ปีเป็นคณะละครใบ้ผู้มาก่อนกาลตั้งแต่เมืองไทยยังไม่ค่อยรู้จักศาสตร์การแสดงที่เรียกว่าละครใบ้
  • BABYMIME ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ องเกลือ ทองแท้ (เกลือ)รัชชัย รุจิวิพัฒนา (งิ่ง) และณัฐพล คุ้มเมธา (ทา)

ตรงหน้าเราคือสามหนุ่มอารมณ์ดี ที่เรามักคุ้นชินกับพวกเขาในลุคยูนิฟอร์มเดียวกันแต่ต่างสี (ฟ้า ชมพู เหลือง) สวมแว่นตาไร้เลนส์กรอบหนา และวิกผมม้าเต่อ ที่ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ได้รับการตัดแต่งทรงจากผมบ๊อบเป็นซอยรับศีรษะแลดูทะมัดทะแมงยิ่งขึ้น เหตุผลในการเปลี่ยนลุคนั้นอาจแฝงซึ่งนัยของการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทว่าโทนสีที่ยังคงเดิมนั้นอาจหมายถึงความสว่างสดใสและความสนุกสนาน หัวใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาก้าวเท้าเข้าสู่โลกละครใบ้ โลกแห่งจินตนาการไร้เสียง ที่แม้ใดๆ ภายนอกจะเปลี่ยนไป แต่ภายในยังคงชัดเจน แจ่มชัด เหมือนวันแรกที่ทั้งสามคนเลือกเดินบนเส้นทางการเป็นนักแสดงละครใบ้ และเกิดเป็นคณะละครใบ้ BABYMIME ก็เป็นได้

BABYMIME คือใคร?

ตอบ: พวกเขาคือคณะละครใบ้อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เป็นคณะละครใบ้ผู้มาก่อนกาลตั้งแต่เมืองไทยยังไม่ค่อยรู้จักศาสตร์การแสดงที่เรียกว่าละครใบ้ อีกทั้งนักแสดงละครใบ้ก็มีไม่มาก และเวทีสำหรับละครใบ้ก็ไม่ได้เปิดมากนักเช่นกัน BABYMIME ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ ทองเกลือ ทองแท้ (เกลือ) รัชชัย รุจิวิพัฒน์ (งิ่ง) และ ณัฐพล คุ้มเมธา (ทา) โดยงิ่งกับทาเป็นเพื่อนสมัยเรียนพาณิชยการพระนคร แผนกการละคร ด้วยความที่ทั้งคู่ได้ทำกิจกรรมด้วยกันบ่อยๆ บ้างแสดงละครเวที บ้างก็แวะไปเป็นฝ่ายศิลป์เมื่อถึงช่วงปิดเทอมและโอกาสประจวบเหมาะที่คลาสละครใบ้คนหน้าขาวเปิดสอน ซึ่งมี อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล ผู้บุกเบิกละครใบ้ของประเทศไทย เป็นครูผู้สอน ทั้งคู่จึงตัดสินใจลงเรียน และที่นี่เองที่งิ่งกับทาได้พบกับเกลือที่ฝากตัวเป็นศิษย์คณะละครคนหน้าขาวมาก่อนหน้าแล้ว

ยุคละครหน้าขาว

เปิดโลกแห่งความเงียบงัน

หลายครั้งที่แรงบันดาลใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักเกิดจากความรู้สึกประทับใจ ทองเกลือ หนึ่งในสมาชิกก็เป็นเช่นนั้น ทว่าความประทับใจครั้งแรกนั้นไม่ใช่ความรู้สึกฉาบฉวยที่ปิ๊งวาบแล้วเลือนหายไป แต่ “ประทับ” ใน “ใจ” หนักแน่น ดังที่เกลือเล่าให้เราฟังถึงความทรงจำในครั้งนั้นก่อนจะมารวมตัวกันเป็น BABYMIME

“เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ที่สนามหลวงจะมีการจัดการแสดง มีบูธขายของ ขายต้นไม้ มีให้ขี่จักรยานเล่นรอบสนามหลวง เราก็ไปเจอคนพอกหน้าขาวกำลังเปิดการแสดง ก็สนใจว่าเขาทำอะไรนะ ยืนคนเดียว อุปกรณ์อะไรก็ไม่มี เขาเรียกให้ไปนั่งดู ด้วยความที่เราเป็นเด็กเราก็ไปนั่งดู แล้วก็เห็น… เห็นภาพในสิ่งที่เขาทำ ทั้งที่ตรงหน้าเป็นความว่างเปล่า ตอนนั้นคนหน้าขาวกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ตู้โทรศัพท์กำลังมีปัญหา เขาพยายามจะหยอดเหรียญ แต่ตู้ก็กินเหรียญ เรารู้สึกว่าน่าสนใจ ทำไมเราเห็น แต่ทำไมบางคนไม่เห็น หลังจากชายหน้าขาวแสดงจบ เราเดินเข้าไปถามเขาว่าจะเรียนได้ที่ไหน ทว่าช่วงนั้นยังไม่ได้มีการเปิดสอนวิชาละครใบ้เหตุการณ์วันนั้นก็จบลง”

เรื่องมันคล้ายจะจบลงแค่นั้น แต่ก็ไม่… จวบจนเกลือได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย วันหนึ่งขณะไปออกบูธทำกิจกรรมเขียนภาพตามตอนปิดถนน ก็ได้เจอชายหน้าขาวคนนั้นอีกครั้ง (นั่งฟังแล้วก็ได้ฟีลบุพเพสันนิวาส คู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน) คราวนี้เขาตั้งใจแล้วว่าต้องขอช่องทางติดต่อกันให้ได้ ซึ่งชายหน้าขาวคนนั้นบอกว่ากำลังจะมีเปิดสอน ระหว่างนี้ให้ไปฝึกพื้นฐานก่อน เอาท่ามือไปฝึก จับจุดในอากาศ ไปๆ มาๆ ตอนหลังๆ เกลือเลยไม่ได้ไปเขียนภาพแล้วแต่เปลี่ยนไปนั่งดู รอชายหน้าขาวเล่นเสร็จก็เข้าไปถามต่อว่าวันนี้มีอะไรจะสอนอีกมั้ย เกลือไปฝึกกับเขาเรื่อย ๆ จนเขาเปิดคอร์ส จากนั้นก็ไปลงเรียนคอร์สที่ 1, 2, 3 แล้วก็ได้เจองิ่งกับทาและแน่นอนว่าชายหน้าขาวคนนั้นก็คือ อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล

เมื่อนักเรียนทั้งสามมาเจอกันในคลาสเรียนละครใบ้ก็ยังไม่ได้ตั้งกลุ่ม BABYMIME ในทันที แต่ใช้เวลาหลายปีเหมือนกันกว่าจะเกิดเป็นโปรเจกต์รวมกลุ่มกันขึ้น

“อาจเพราะจุดเริ่มต้นเราไม่เคยนึกถึงการรวมตัวกันแสดงเลยก็ได้ แต่แค่เราสนุกกับละครใบ้ สนุกกับการที่ได้มาเล่นด้วยกัน ได้เจอกัน ได้คุยกัน ได้แลกเปลี่ยนทักษะและประสบการณ์กัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เราเรียนและอยู่ในคณะคนหน้าขาวราว 3 ปี ครูอั๋นได้พาพวกเราไปแสดงตามงานต่าง ๆ ที่ต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นช่วงการสะสมประสบการณ์ เราไปเป็นตัวตลกบิดลูกโป่งบ้าง เป็นหุ่นยนต์บ้าง เล่นละครใบ้บ้าง ฯลฯ ตอนนั้นก็กระจายตัวกันบ้าง รวมกันบ้าง ทุกคนต่างก็มีความเป็นปัจเจก ต่างก็แยกกันไปค้นหาและสะสมประสบการณ์ แต่ละคนจึงทำได้หลากหลายมาก ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดี และช่วงนั้นเองที่เราเริ่มมองเห็นว่า มันมีอาชีพแบบนี้ด้วยนะ แบบนี้ก็เป็นสิ่งที่หาเลี้ยงชีพได้นะ

“อีกจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันก็คือพี่โจ พี่อีกคนชวนตั้งกลุ่มกัน (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) และมีพี่กั๊ก-วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ที่เป็นนักแสดงโซโล ชวนไปทำเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2545) ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่ได้รวมตัวกันเป็น BABYMIMEให้ลองมาจอยกันดู โดยมีพี่กั๊กเป็นคนเล่าเรื่องนิทานอีสป พวกเราสี่คนแสดงเป็นภาพประกอบเรื่องราวให้กับเขา ซึ่งจุดนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายมาก เพราะตอนนั้นเรายังอยู่ในโลกของคนหน้าขาวอยู่ ปกติเวลาไปแสดงที่ไหนก็จะมีอาจารย์ (พี่อั๋น) ไปด้วย แต่คราวนี้ต่างออกไป ซึ่งในความรู้สึกท้าทายก็เต็มไปด้วยความรู้สึกกังวลกันไม่น้อย เราจะทำได้หรือเปล่า เราไม่ได้แต่งหน้าขาวจะเป็นอะไรมั้ย จะออกจากเซฟโซนยังไง คนจะสนใจมั้ย หลากความคิดหลายความรู้สึกมันตีกันมากมาย แต่พอวันที่ได้ขึ้นไปแสดงและลงจากเวที เราเริ่มรู้สึกว่า “มันก็ได้อยู่นะ” จริงอยู่ที่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด 100% อยู่แล้ว แต่คนก็สนใจนี่ ก็มีคนดูนะ หลังจากนั้น พวกเรายังคงออกเดินทางไปแสดงทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจดใต้ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ด้วยความที่สมาชิกในทีมมีกันเพียง 4 คน ก็จะแบ่งทีมแยกกันไปพี่เกลือไปกับพี่โจ พี่งิ่งไปกับทา”

ทองเกลือยังเล่าเสริมให้เราฟังว่า “ครั้งหนึ่งมีงานแสดงที่เชียงใหม่ พี่โจชวนให้เราออกเดินทางกันก่อน ระหว่างทางจะได้แวะไปตามจังหวัดต่างๆ แนะนำตัว ขอเปิดทำการแสดง เราไม่เอาสตางค์ เล่นให้ดูเฉยๆ เพื่อที่ว่าหลังจากแสดงที่เชียงใหม่เสร็จแล้ว ขากลับจะได้ไม่เสียเที่ยว ตอนนั้นเราสองคนก็วอล์กอินกันไปเลย เอาภาพไปให้เขาดู บางคนเขาก็ไม่เอาเพราะเขาไม่รู้จักเรา แต่ตอนนั้นเราก็ทำเพื่อสะสมประสบการณ์และหาพื้นที่แสดง ส่วนสตางค์ก็ได้จากการเปิดหมวก ซึ่งก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี”

เวทีใหญ่ ไกลเกินฝัน

แม้ประสบการณ์การเล่นละครใบ้จะสั่งสมมาไม่น้อย แต่การแสดงที่เรียกได้ว่าเป็นเวทีใหญ่สำหรับพวกเขา คือการร่วมแสดงในเทศกาล PANTOMIME IN BANGKOK ซึ่งเป็นเทศกาลรวมนักแสดงละครใบ้จากทั่วโลก และมีตัวแทนคนไทยจากประเทศไทยขึ้นแสดงเพียง 1-2 คน เท่านั้น

“จริงๆ แล้ว พวกเราเคยได้ร่วมงาน PANTOMIME IN BANGKOK มาก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นคนเปิดป้ายชุดการแสดงนิดหน่อย แต่ก็ได้อยู่ท่ามกลางนักแสดงละครใบ้ตัวท็อปจากทั่วโลก ซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือครั้งที่พี่เห่า-วิสุทธิ์ กุศลมโนมัยนักแสดงละครใบ้ชาวไทยที่ได้ขึ้นไปแสดงบนเวทีกับนักละครใบ้จากญี่ปุ่น นั่นทำให้ของในตัวพวกเราขึ้น เครื่องมันร้อน อยากเป็นหนึ่งในคณะที่ได้แสดงในงานนี้บ้าง เราก็เลยตัดสินใจ ลุยกันสักตั้ง

“เราเริ่มซ้อมกันเองที่ลานจอดรถสถาบันปรีดีพนมยงค์ ทองหล่อ ซ้อมกันเกือบปีกับโชว์สั้นๆ ซึ่งเมื่อมองกลับไปแล้วก็ถือว่าตอนนั้นพวกเราทรหดอดทนกันมาก เพราะเอาเข้าจริงเรามีความรู้ด้านละครใบ้แค่ 30 ชั่วโมง จากที่เรียนในคลาสกับพี่อั๋น ที่เหลือก็อาศัยลูกมั่ว ลูกถึก และประสบการณ์ที่สั่งสมกันมา แล้วยังต้องซ้อมกันในที่มืดๆ มีไฟแค่ดวงเดียว ยุงก็กัด ผลัดกันเล่น ผลัดกันดู แต่พอเราได้ขึ้นไปเล่นบนเวทีใหญ่สมดังใจฝัน หลังจากการแสดงชุดนั้นจบลง พี่โน้ส-อุดม แต้พานิช เดินเข้ามาหลังเวที พอรู้ว่าพวกเราเป็นคนไทย พี่โน้สเดินเข้ามาพูดประโยคว่า ‘กูรอพวกมึงมานานแล้ว’ ตอนนั้นเป็นอีกโมเมนต์หนึ่งที่ดี ใจฟูมาก”

งิ่งเล่าให้เราฟังต่อว่าหลังจากเวทีใหญ่พวกเขายังคงเดินทางไปแสดงละครใบ้ตลอด ไม่ว่ามีงานที่ไหน งานเล็ก งานใหญ่ งานเปิดหมวก งานขายบัตร BABYMIMEไปหมด ทั้งในประเทศไทย ทั้งต่างประเทศ

“มีอยู่ครั้งหนึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่พวกเราได้ไปแสดงงานต่างประเทศ ครั้งนั้นเป็นเทศกาล Flipsideจัดที่สิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นพวกเราเองก็ไม่ค่อยได้ภาษา จะสื่อสารกันแต่ละทีก็ค่อนข้างตะกุกตะกัก แต่ทางสิงคโปร์เขาก็หาวิธีคุยกันได้ เราก็ไปกันแบบงงๆ แต่ก็ไปได้ของมัน เราก็ใช้ความลูกทุ่ง ค่อยๆ เรียนรู้กับมันไปหลายๆ อย่างจากนั้นพวกเราก็ได้ไปเล่นต่างประเทศอีกหลายครั้ง

“แม้การได้ไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศจะเป็นอะไรที่ฟังดูแล้วเจ๋ง แต่พวกเราก็ไม่ได้รู้สึกว้าวหรือมีเวลาตื่นเต้นมากขนาดนั้น อาจเพราะมีสิ่งที่ต้องทำเยอะมาก ทั้งเรื่องการเตรียมการแสดง การเตรียมตัวเดินทาง การจัดการด้านอื่นๆ ณ ตอนนั้นหน้าที่ของเราไม่ได้เป็นแค่นักแสดงอีกต่อไปแล้ว แต่เราต้องทำและจัดการทุกอย่างกันเองด้วย ซึ่งพาร์ตหลังนั้นเราก็ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ก็ต้องทำกันเองสามคน ใครเก่งด้านไหนก็รับหน้าที่ทำด้านนั้น ใครเก่งประสานงาน เก่งติดต่อ แต่ก็มีบางเรื่องที่ไม่มีใครเก่งเลย ก็อาศัยลูกมั่ว ด้นสด เรียนรู้กันไป เรียกได้ว่าเจ็บมาเยอะ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็สอนให้เราได้รู้ว่า ไม่ได้มีแค่เรื่องละครใบ้นะที่เราจะต้องรู้ มันยังมีอีกหลายเรื่อง อีกร้อยแปดเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการแสดง เรื่องที่จะพรีเซนต์ยังไงให้คนรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร มันเยอะแยะมากมาย พอเราทำไปเรื่อยๆ การแสดงมันเป็นแค่เพียงส่วนเดียว”

นักแสดงละครใบ้ = อาชีพที่เลี้ยงชีพได้

เมื่อถามต่อว่าเดินทางมาถึงตอนนี้ ทุกคนมั่นใจได้หรือไม่ว่าโลกเงียบของละครใบ้จะสามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงชีพได้ ทองเกลือตอบทันทีอย่างมั่นใจว่า

“สำหรับพวกเรา เราว่ามันเลี้ยงชีพได้นะแม้ตอนแรกเราไม่คิดว่าเป็นอาชีพก็ตาม เพราะเราเรียนมาด้านออกแบบนิเทศศิลป์มา เพื่อนเราเรียนจบก็ไปทำโฆษณา ไปทำอะไรกันหมดแล้ว แต่ตอนนี้เราก็ยังทำการแสดงอยู่ เพื่อนเปลี่ยนงานกันไปแล้ว เราก็ยังทำการแสดงอยู่ เราก็เลยรู้สึกว่า เออว่ะ… มันก็เป็นอาชีพแหละ และมันก็เจ๋งดีเหมือนกันนะที่เรายังอยู่บนเส้นทางนี้

“อาจเพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์ เริ่มจากไม่รู้อะไรเลย เราผ่านมาหมดแล้ว ทั้งงานบุญ งานฟรีเราก็ไปเล่นมาหมด จริงอยู่ที่ว่าพอเลือกมาเป็นอาชีพแล้ว มันก็จะมีงานประเภทรายได้มาก รายได้น้อย ไม่ได้รายได้ งานการกุศล แต่ด้วยความที่พวกเราคุ้นเคยกับมันอยู่แล้ว แล้วก็ตั้งต้นที่ความสนุก เราเลยไม่ได้โฟกัสเรื่องเงินเป็นปัจจัยหลัก ตอนนั้นมองแค่ว่า อยากเล่นด้วยกัน อยากสนุกด้วยกัน อยากโชว์ฝีมือ อยากหัวเราะ คือตอนนั้นมันคิดแค่นี้ ซึ่งพอมาได้ทบทวนอีกที สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เรายังแสดงละครใบ้ได้อยู่นาน เพราะเราไม่ได้คิดเรื่องเงินตั้งแต่แรก เราคิดเรื่องสนุกก่อน”

แม้จะเริ่มต้นจากความสุข แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า BABYMIME ก็มีจังหวะหยุดพักเพราะความไม่สนุก หมดแรง หมดไฟ เช่นกัน ซึ่งงิ่งได้เสริมว่า

“ช่วงที่ทำ BABYMIME Vol. 3 กับ Vol. 4 ตอนนั้นเราก็เริ่มเหนื่อยแล้วเหมือนกัน เพราะเราทำกันทุกปี แล้วแต่ละคนก็ยังมีทำโชว์เล็ก ซึ่งการทำละครเรื่องหนึ่ง ๆ มันใช้พลังงานมหาศาล เตรียมตัวนาน ซ้อมหนัก ต้องหาคนมาดู ต้องเชิญใครมาดู สมัยก่อนยังต้องนั่งพิมพ์ข้อความส่งทาง smsหาแฟนๆ เอง ตอนนั้นก็เริ่มคุยๆ กันว่าจะยังไงต่อดีและที่ผ่านมันมาได้ ไม่ใช่เพราะได้คำตอบที่ชัดเจน แต่เพราะเรามีเวลาเพลียไม่นาน เมื่อมันต้องลุยเราก็ลุยไปต่อ ลุยไปลุยมาก็สิบกว่าปี

“หรืออย่างตอนที่ไปยุโรปก็เหมือนกัน ตอนนั้นเราทุ่มกันสุดตัว เรียกได้ว่าแทบจะหมดเลย ประกอบกับช่วงนั้นก็ทุกคนต่างก็มีปัญหาส่วนตัว ตอนนั้นก็ยังคิดว่า เราจะเป็นแบบนี้กันจริงๆ ใช่มั้ย หรือว่าเราจะยังไงดี ชีวิตมันก็ไม่ได้มีเรื่องงานอย่างเดียว มีเรื่องอื่นด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่า ตอนนั้นความฝันของการเล่นละครใบ้ก็สั่นคลอนเหมือนกัน บางทีมันไม่ใช่แค่เรื่องเราได้แสดงแล้ว มันกลายเป็นคำถามที่เราข้องใจ ว่าทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเหรอ แต่สุดท้ายก็ต้องขอบคุณตัวเองด้วยว่า ถ้าปัญหานั้นมันยังแก้ไม่ได้ ก็ปล่อยมันไปก่อนก็ได้ เมื่อมีเวลาได้กลับมาทบทวน และได้หันหน้าเข้าหากัน หาทางออกร่วมกัน เราก็ผ่านมันมาได้”

THE SHOW MUST GO ON

เมื่อได้หันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกัน เส้นทางข้างหน้าของพวกเขาก็ดูจะชัดเจนขึ้น เริ่มมองเห็นและรู้แล้วว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร อย่างไรต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าภาพที่ทั้งสามคนเห็นก็ยังชัดเจนว่าพวกเขาจะยังคงเดินบนเส้นทางการแสดงละครใบ้ต่อไป แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือพวกเขามีสิ่งที่อยากทำมากขึ้น มองละครใบ้ไปไกลกว่าเมื่อตอนเริ่มต้นและที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาอยากทำนั้นได้ปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งก็คือการแสดงชุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในงานเทศกาลละครกรุงเทพ 2020 ที่ได้เด็ก ๆ จากคลาสเรียนเวิร์กชอปการแสดงละครใบ้ และแอ๊ปเปิ้ล เจ้าแม่อูคูเลเล่ อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย มาร่วมแสดงด้วย

BABYMIME JUNIOR SHOW Vol. 2 feat. APPLESHOW โปรเจกต์นี้เป็นครั้งที่สองแล้วที่มีน้องๆ มาร่วมเล่นด้วยกัน ซึ่งน้อง ๆ กว่า 70% เป็นเด็กที่เคยร่วมแสดงเมื่อครั้งแรกแล้ว โปรเจกต์นี้ต่อยอดมาจากตอนที่พวกเราจัดเวิร์กชอปสอนการแสดงละครใบ้ให้น้องๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในคลาสมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เด็ก ๆ ก็หาจากที่อื่นไม่ได้ ในขณะที่เราเองที่เห็นโมเมนต์บางอย่างตอนที่เด็ก ๆ เขาแสดง ก็บอกเลยว่าผู้ใหญ่ก็ทำไม่ได้ เพราะเขาคือเด็ก การมองโลก การถ่ายทอดอะไรต่าง ๆ เขาก็จะแสดงออกมาเป็นเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่ทำออกมาแบบนั้นไม่ได้ อย่างตอนที่เรายื่นโจทย์ไปให้แล้วเขาแสดงออกมา เราก็โอ้… มันใสมากผู้ใหญ่คิดไม่ได้นะ เพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งเหล่านี้เราเองก็ได้รับจากเด็กซึ่งมันยิ่งใหญ่มาก เรารู้สึกว่าตอนเด็กเล่นนั้นน่าสนใจ คนดูจะต้องชอบแน่เลย เราก็เลยคุยกันว่าลองเปิดการแสดงดูมั้ย

BABYMIME

“ทีนี้พอเรามีแก๊งเด็ก ๆ แล้ว เราก็อยากมีแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมด้วย เราก็นึกถึงพี่แอ๊ปเปิ้ล เจ้าแม่อูคูเลเล่แห่ง Apple Show ถือว่าเป็นเบอร์ต้น ๆ ในวงการอูคูเลเล่ในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ พวกเราเคยทาบทามพี่เปิ้ลมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขและเวลาที่ไม่ลงตัวก็เลยยังไม่ได้ร่วมงานกัน คราวนี้ก็เลยมาคุยกันอีกครั้งและด้วยความที่พี่เปิ้ลก็เป็นศิลปินและเป็นนักสื่อสารที่ดีมีความครีเอทีฟ หลาย ๆ อย่างในตัวพี่เปิ้ลน่าจะแมตช์กับเด็กๆ ได้ดี และเข้ากับ BABYMIME ซึ่งก็เป็นอะไรที่ลงตัว เราก็เลยได้มาร่วมงานกัน และเกิดเป็นการแสดงชุดนี้ขึ้น”

ทายังบอกกับเราต่อว่า เด็ก ๆ ในกลุ่มการแสดงนี้ เขาเห็นเพชรหลายเม็ดที่พร้อมจะส่องประกายเลยทีเดียว

“วันนั้นมีเหล่าผู้ปกครองของน้อง ๆ มาชมกัน พอโชว์จบ เราก็ถามผู้ปกครองว่าน้องเป็นยังไงบ้าง ผู้ปกครองบอกว่าน้องชอบมาก และน้องรู้สึกว่าโอเคกับตัวเอง คำตอบที่ได้ยินในวันนั้นคือเหมือนเราได้รางวัลแล้ว การที่เราทำอะไรสักอย่างแล้วผู้ปกครองพูดสิ่งนี้ออกมา ก็เริ่มมั่นใจกันว่า เราน่าจะเดินมาถูกทาง แล้วก็จะเอาสิ่งนี้ไปพัฒนาต่อนำไปต่อยอด” งิ่งเสริม

BABYMIME
BABYMIME JUNIOR SHOW

ก้าวต่อไป และก้าวต่อ ๆ ไป

โปรเจกต์ตัวถัดไป จริง ๆ มันมีอีกพาร์ตหนึ่งที่พวกเราทำกันไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วก็คือ “โครงการละครใบ้สัญจร” โดยได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเราทัวร์ไปประมาณ 60% แล้ว ส่วนที่เป็นรายการกำลังถ่ายทำไปบางส่วนและจะทยอยฉายทาง YouTube ราว ๆ ต้นปีหน้าน่าจะได้ชมกัน โปรเจกต์นี้เป็นองคาพยพที่อยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ที่สนใจกิจกรรม ลองฝึกทักษะผ่านหน้าจอและทำร่วมกันได้ เพราะแบบฝึกหัดที่ทำกันนั้นเราย่อยมาให้แล้ว มีการสอนละครใบ้ด้วย ชื่อรายการ “ลองเล่นเลย”

นอกจากนี้ยังมีอีกรายการที่เป็นรายการหลักชื่อว่า “ละครชวนขยับสื่อสร้างสนุก” คือเป็นการที่พวกเราเดินทางไปแสดงทั่วประเทศแล้วก็มาทำเป็นรายการ บางที่ก็ไปบนภูเขาเลย บางที่ก็ไปอยู่ภาคใต้ แล้วก็ได้สัมภาษณ์น้องๆ ด้วยว่า น้องๆ ที่ได้ฝึกสั้นๆ รู้สึกยังไง เราว่ามันน่าสนใจมาก เพราะว่าน้องๆ บางที่เขายังไม่รู้จักสิ่งนี้เลย แล้ววันหนึ่งที่เขาได้มาทำ ได้มาลอง พวกเราคิดว่ามันน่าจะสนุก และน่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่รู้จักได้เข้ามาลองกัน

BABYMIME

เราถือว่ามาไกลมาก เพราะเริ่มแรกนั้นเราแค่รู้สึกว่าเป็นแค่นักแสดง แล้วก็เล่น เล่นเปิดหมวกบ้าง เล่นบนเวทีบ้าง แล้วก็กลับบ้าน มีความสุข จบละ แต่วันนี้มันมีสิ่งที่เราต้องทำมากขึ้น เราขยับไปเป็นคนสอน ต้องเผยแพร่ ต้องสานต่อ ถ้าเราไม่เล่นแล้วใครจะเล่น รู้สึกว่าเราเดินทางมาไกลแล้ว แต่ก็ยังเป็นการเดินทางที่ต้องไปต่อนะ แต่จะทำอะไรต่ออีกบ้างก็ยังไม่รู้นะ” ทองเกลือกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ เช่นเดียวกับงิ่งที่ย้ำว่า BABYMIME เดินมาไกลกว่าที่คิดไว้เยอะมาก

ถือว่ามาไกลมากเช่นกัน เพราะเริ่มต้นก็เป็นเหมือนพี่เกลือ ตอนนี้ BABYMIME ก็เปิดเป็นบริษัท แล้วก็นอกจากบริษัท ละครใบ้ยังพาเราเดินทางไปมากมาย พาเราไปเรียนรู้ แล้วก็ได้รับสิ่งดีๆ จากคนอื่นมากมายเช่นกัน มีแฟน ๆ ทำอะไรให้ เอาของมาให้ เอาขนมมาให้ ให้กำลังใจ วันที่พี่เกลือไม่สบายทุกคนก็ช่วยกันระดมทุนให้ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้รับ มันเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นกำไรมาก ซึ่งต่อจากนี้ไปก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่ give back คืนกลับไปให้คนอื่น เมื่อก่อนเราอาจะเป็นเรื่องคืนความสุข แต่ตอนนี้จะเป็นเรื่ององค์ความรู้ เพื่อให้เขาได้ไปทำต่อ เปิดพื้นที่ให้กับเขา มันอาจจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้ หรือว่าวันที่พร้อมกันก็อาจจะเป็นเวิร์กชอปก็ได้ รู้สึกว่าละครใบ้มันน่าจะเป็นของทุกคน”

BABYMIME

ก่อนจากกันเราให้ BABYMIME ได้ฝากความในใจถึงแฟนๆ ที่ติดตามกันมาอย่างยาวนาน เริ่มจากทา ทองเกลือ และงิ่ง

“ขอบคุณแฟน ๆ และทุกคนที่ให้การสนับสนุนที่ดีเสมอมา ทั้งรอยยิ้ม คำติชม และกำลังใจ ก่อนหน้านั้นเราเคยคิดว่าเราเป็นฝ่ายสร้างความสุขให้คนดู แต่ความจริงแล้วคนดูต่างหากที่สร้างความสุขให้แก่เรา และทำให้เรายังเดินหน้าต่อจนมีวันนี้ได้”

“ฝาก BABYMIME ไว้ในอ้อมกอด อ้อมใจ ติดตามพวกเราไปเรื่อย ๆ นะครับ สนับสนุนพวกเราได้ทุกช่องทางเลย”

ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่ให้การสนับสนุนเรื่อยมา โดยเฉพาะบริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด (ผลิตภัณฑ์โก๋แก่) ผู้ใหญ่ใจดีที่คอยดูแลเรา (หลายปีหลังมานี้ ดูแลเราตลอด) ซึ่งเรารู้สึกว่า น้อยคนในประเทศนี้ที่เห็นคุณค่าของศิลปะ เราดีใจที่มีผู้ใหญ่ใจดีเขามองเห็นความสำคัญของศิลปะ เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมสำหรับเด็กๆ และครอบครัว พวกเราเชื่อว่าประเทศนี้ยังมีคนแบบนี้อยู่เยอะ ซึ่งก็อยากรบกวนให้ช่วยแสดงตัวนิดหนึ่งแล้วเดี๋ยวพวกเราจะไปหา (หัวเราะ) จริงๆ แล้วศิลปินไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย แต่อยากจะบอกว่า การสนับสนุนจากคุณนั้นช่วยพวกเราทำให้พวกเราเดินต่อได้ และเป็นโอกาสที่ส่งต่อไปสู่วงกว้าง เรารู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้มันสร้างคน คนมาดูเหล่านี้แล้วเอากลับไปคิดต่อ มาทำต่อ ไปเล่าต่อ มันเกิดสังคม อย่างน้อยชั่วโมงกว่าๆ ที่เขามาดู เขาได้เห็นการฝึกซ้อม เห็นกล้ามเนื้อที่มันขยับ เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่เพาะบ่มกันมา เรารู้สึกว่านี่คือเวลาคุณภาพที่มันเกิดขึ้น ท้ายนี้อยากบอกว่าพวกคุณโชคดีมากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพราะบางเรื่องเราก็ไม่เคยเล่าที่อื่น มาเล่าที่นี่เลย อย่างตอนนี้ผมอายุ 41 ปีหน้า 42 ก็อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้แล้ว โมเมนต์ที่คุณได้อ่านมันคือของขวัญที่มีค่า และถ้ามีอะไรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็เชิญได้ที่เพจ BABYMIME SHOW นะครับ”

ช่องทางติดตาม

เว็บไซต์ : www.babymime.com

เฟซบุ๊ก : BabymimeSHOW

ยูทูบ: BABYMIME SHOW

อินสตาแกรม : babymimeshow


Author

ศรัณย์ พิพัฒน์
หญิง (เริ่มจะไม่) สาวผู้ขลุกตัวอยู่กับวงการน้ำหมึกและตัวอักษรตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย รู้ตัวอีกทีก็ผ่านมา 13 ปีแล้ว