10 เรื่อง (ไม่ลับ) ประติมากรรมสำริด Golden Boy โฉมหน้าราชวงศ์มหิธรปุระ
Arts & Culture

10 เรื่อง (ไม่ลับ) ประติมากรรมสำริด Golden Boy โฉมหน้าราชวงศ์มหิธรปุระ

Focus
  • ในปี 2023 นี้ข่าว The MET เตรียมส่งคืน “Golden Boy” กลับไทยถือเป็นข่าวดังส่งท้ายปลายปีของวงการประวัติศาสตร์ที่มาแรงมากๆ
  • Golden Boy ประติมากรรมสำริดที่ทาง The MET บันทึกข้อมูลไว้ว่าเป็น “พระศิวะ” ทว่านักวิชาการฝั่งไทยต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าคือ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ต้นราชวงศ์มหิธรปุระ

ถือเป็นอีกข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีประจำปีนี้ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังของโลก The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET สหรัฐอเมริกา เตรียมส่งคืน 2 โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมของไทยที่ถูกขบวนการค้าโบราณวัตถุโจรกรรมไปกลับคืน ได้แก่ Golden Boy ประติมากรรมสำริดชิ้นโด่งดังที่เคยถูกจัดแสดงอยู่ที่ The MET และประติมากรรมสตรีชั้นสูง โดยโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น อายุราว 900-1,000 ปี

Golden Boy

สำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดที่ทาง The MET บันทึกข้อมูลไว้ว่าเป็น “พระศิวะ” ทว่านักวิชาการฝั่งไทยต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าคือ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ต้นราชวงศ์มหิธรปุระซึ่งเคยปกครองอยู่ในพื้นที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่าหลังจากที่มีการรับมอบอย่างเป็นทางการแล้วก็จะมีการตรวจสอบข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ต่างๆ อีกครั้ง แต่ที่แน่นอนก็คือ นี่ถือเป็นการส่งมอบคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เพื่อช่วยไขความลับประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์มหิธรปุระในอดีตได้เป็นอย่างดี  Sarakadee Lite ชวนไปย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์กับ 10 เรื่อง (ไม่ลับ) รุ้จักประติมากรรมสำริดชิ้นสำคัญนี้กันอีกครั้ง

Golden Boy

01 “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี สูง 129 เซนติเมตร พบหลักฐานการขุดค้นพบในปราสาทโบราณกลางชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2518  

02 ประติมากรรมสำริดองค์นี้ถูกขายให้พ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติราคา 1 ล้านบาท เมื่อขายได้ในปี พ.ศ. 2518 มีการจัดฉลองใหญ่ 3 วัน 3 คืน เรื่องนี้มีพยานบุคคลในหมู่บ้านที่เกิดทันได้รับรู้เรื่องราว

03 ลูกสาวคนขุดพบเป็นผู้ล้างรูปสำริดหลังขุดเจอยืนยันรอยชำรุดบริเวณเข็มขัดตรงผ้านุ่งด้านหน้าห้อยลงมามีรอยหัก ตรงกับข้อมูลการซ่อมของพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา   

04 มีบุคคลยืนยันว่า นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุคนสำคัญ เช่าบ้านเป็นสำนักงานในพื้นที่บ้านยายแย้ม บริเวณ กรุประโคนชัย เขาปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2508 และรับซื้อวัตถุโบราณจากชาวบ้านเรื่อยมา 

05 หลังถูกขโมยไป สำริดองค์นี้ได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The MET และมีการขึ้นป้ายจัดแสดงว่าพระศิวะในพระอิริยาบถยืน

Golden Boy

06 เมื่อทางพิพิธภัณฑ์จะตีพิมพ์หนังสือโบราณวัตถุที่จัดแสดง นักวิชาได้ระบุว่าเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะถ้าเป็นพระศิวะต้องมีดวงตาที่ 3 บริเวณหน้าผาก ซึ่งความชัดเจนนี้ทางกรมศิลปากรจะทำการตรวจสอบอีกครั้งหลังจากได้รับมอบโบราณวัตถุคืนไทย

07 ส่วนชื่อ “Golden Boy” ใช้ในตลาดซื้อขายวัตถุโบราณ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุใช้ชื่อนี้เพราะทำด้วยกะไหล่ทองทั้งองค์ และหมายถึงศิลปะชิ้นเยี่ยมที่สุด

08 สำหรับความสำคัญของGolden Boy เป็นโบราณวัตถุที่ตอกย้ำข้อสันนิษฐานถึงอาณาจักรสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตั้งอยู่ในไทยแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพุทธศาสนาที่มีมาตั้งแต่อดีต มีการสร้างรูปสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประดิษฐานไว้ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา

09 การออกแบบใช้เทคนิคออกแบบให้บริเวณดวงตามีร่องเพื่อฝังอัญมณีไว้ด้านใน เป็นเทคนิคที่ใช้ในพื้นที่ราบสูงโคราชมาตั้งแต่อดีต 

10 ปัจจุบันทาง The MET ได้ถอดโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นออกจากโบราณวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว คาดว่าจะมีการรับมอบและส่งกลับมาไทยในต้นปี 2567


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite