Van Gogh Alive ชีวิต ผลงาน และความตาย วินเซนต์ แวนโก๊ะ ผ่านดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟกว่า 3,000 ภาพ
Arts & Culture

Van Gogh Alive ชีวิต ผลงาน และความตาย วินเซนต์ แวนโก๊ะ ผ่านดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟกว่า 3,000 ภาพ

Focus
  • Van Gogh Alive Bangkok นำเสนอผลงานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ กว่า 3,000 ภาพในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบพาโนรามา 360 องศา ด้วยความละเอียดของโปรเจกเตอร์ 60 ตัว
  • นิทรรศการจัดแสดงมาแล้วใน 80 เมืองทั่วโลก แต่ในประเทศไทยถือเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ขนาด 4,000 ตารางเมตร
  • สายถ่ายรูปเพลิดเพลินกับฉากต่างๆ ที่จำลองให้คล้ายกับสถานที่ในภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะ เช่น The Bedroom, The Yellow House และ The Starry Night

ในบรรดาผลงานของศิลปินระดับโลกอาจกล่าวได้ว่าภาพวาดของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh, ค.ศ.1853–1890) เป็นผลงานที่ถูกหยิบยกมานำเสนอใหม่ด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดียและได้รับความนิยมมากที่สุด ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทไม่ต่ำกว่า 5 แห่งที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแวนโก๊ะในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟด้วยชื่อที่คล้ายๆ กัน กระจายการแสดงนิทรรศการไปยังหลายเมืองทั่วโลก และสำหรับนิทรรศการล่าสุดที่จัดขึ้นในประเทศไทยคือ  Van Gogh Alive Bangkok โดยบริษัท Grande Experiences จากประเทศออสเตรเลีย ผู้ผลิตคอนเทนต์และเจ้าของลิขสิทธิ์นิทรรศการ Van Gogh Alive จัดแสดงมาแล้วใน 80 เมืองทั่วโลกและมีผู้เข้าชมกว่า 9 ล้านคน แต่ในประเทศไทยถือเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ขนาด 4,120 ตารางเมตรของ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยามและจัดแสดงเป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566

Van Gogh Alive
แวนโก๊ะเป็นจิตรกรที่ชอบเขียนภาพตัวเองมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเป็นการเขียนจากภาพสะท้อนกระจกเงา

“ชีวิตของแวนโก๊ะมีแง่มุมที่น่าสนใจที่นำมาเล่าเรื่องได้และผลงานของเขาในแต่ละช่วงเวลาสะท้อนสภาวะจิตใจตั้งแต่ผลงานตอนอยู่ที่เนเธอร์แลนด์จนกระทั่งย้ายไปปารีสและเมืองอื่นๆ ในฝรั่งเศส แม้แต่กำลังเผชิญสภาวะป่วยทางจิต เขาก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ภาพวาดของเขามีความพิเศษและมีสีสันหลากหลาย ทั้งภาพเหมือนตัวเอง ภาพผู้คนและภาพธรรมชาติ เมื่อเรานำภาพมาขยายเป็นฟอร์แมทที่ใหญ่ขึ้นและนำเสนอด้วยเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟจึงทำให้งานน่าสนใจ” ร็อบ เคิร์ก (Rob Kirk) หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการของบริษัท Grande Experiences กล่าว

Van Gogh Alive

โปรเจกต์ Van Gogh Alive เริ่มในปี ค.ศ. 2009 เมื่อทาง Grande Experiences เห็นความเป็นไปได้ในการนำภาพวาด 2 มิติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ มานำเสนอด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชม และให้คนได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะมากขึ้น แต่เบื้องหลังนั้นกลับต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เหมาะสมตามสถานที่จัดแสดงที่แตกต่างกัน โดยเริ่มจัด Van Gogh Alive Touring Exhibition ครั้งแรกใน ค.ศ. 2011

Van Gogh Alive

“นอกจากที่กรุงเทพฯ แล้ว นิทรรศการ Van Gogh Alive ในขณะนี้มีการจัดแสดงในอีก 7 ประเทศพร้อมกัน คือ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ที่กรุงเทพฯเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของพื้นที่นับตั้งแต่ที่เราเคยจัดมา และหวังว่าผู้ชมที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ไปดูภาพวาดจริงในพิพิธภัณฑ์จะสนุกกับงานนี้ รวมไปถึงอาจจุดประกายให้กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z สนใจอยากศึกษางานศิลปะมากขึ้น” เคิร์กกล่าว

Van Gogh Alive

ภาพจำของศิลปินไส้แห้งผู้จบชีวิตตัวเองหนีความทุกข์ทรมาน

วินเซนต์ แวนโก๊ะ เป็นจิตรกรชาวดัชต์ผู้สร้างสรรค์ผลงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับศิลปะแบบโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) เขาเริ่มวาดรูปจริงจังในวัย 27 ปี ตลอดเวลาเพียง 10 ปี (ค.ศ.1880-1890) แวนโก๊ะวาดภาพสีน้ำมันมากกว่า 800 ภาพและภาพดรอว์อิงราว 900 ภาพ ไม่นับภาพที่ตกหล่นถูกโยนทิ้งเพราะโดนมองว่าไร้ค่าหรือเลหลังขายแบบเศษผ้าใบ ในจำนวนผลงานมากมายนี้มีเพียงภาพชื่อ The Red Vineyard ที่ขายได้เพียงรูปเดียวในราคาเพียง 400 ฟรังก์ในขณะที่เขามีชีวิตอยู่  

Van Gogh Alive

ชีวิตของแวนโก๊ะเป็นภาพจำของศิลปินไส้แห้งผู้อาภัพรัก ผู้มีอารมณ์รุนแรงราวกับฝีแปรงพู่กันที่เขาวาด ผู้มีอาการทางจิตจนตัดหูซ้ายของตัวเองจนต้องเข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวช และในท้ายที่สุดเขาจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปี โดยทิ้งปริศนาไว้ว่าเขาฆ่าตัวตายเพื่ออยากจบความทุกข์ทรมานจากอาการป่วย หรือถูกฆาตกรรมโดยเด็กวัยรุ่นที่มองว่าเขาเป็นศิลปินวิกลจริต แต่แวนโก๊ะนับเป็นตัวอย่างของศิลปินผู้อุทิศตนสร้างสรรค์งานศิลปะตามแนวทางที่เขามุ่งมั่น

Van Gogh Alive Bangkok นำผลงานของแวนโก๊ะมากกว่า 3,000 ภาพมาฉายแบบพาโนรามา 360 องศาด้วยโปรเจกเตอร์ 60 ตัว สำหรับฉายบนผนังจอสูง 6 เมตร จำนวน 40 จุด และฉายบนพื้นอีก 20 จุด พร้อมกับเพลงประกอบคลาสสิกระบบเซอร์ราวด์ไล่เรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ประวัติชีวิตการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากต่างๆ จำลองให้เป็นสถานที่ตามในภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะ เหมาะกับผู้ชมสายถ่ายรูป เช่น The Yellow House (1888) บ้านสีเหลืองซึ่งเขาตั้งใจให้เป็นสตูดิโอและแหล่งพำนักของเพื่อนศิลปิน หรือฉากท้องฟ้าสีเข้มที่หมุนเป็นเกลียวและต้นไซเปรสสีดำจากภาพ The Starry Night (1889) รวมไปถึงป๊อปอัพคาเฟ่ Van Gogh Café by After You ซึ่งตกแต่งคล้ายกับภาพ The Night Cafe (1888) ที่มีโต๊ะบิลเลียดตั้งอยู่ตรงกลางร้าน

วินเซนต์ แวนโก๊ะ
จำลองฉากจากภาพ The Yellow House เป็นห้องเวิร์คช็อปวาดรูป
วินเซนต์ แวนโก๊ะ
ป๊อปอัพคาเฟ่ตกแต่งคล้ายกับภาพ The Night Cafe

“เราคาดหมายว่าตลอดระยะเวลาจัดแสดง 4 เดือน จะดึงดูดผู้ชมได้ประมาณ 1-2 แสนคน เพราะนอกจาก Gallery Hall ที่ผู้ชมจะเต็มอิ่มกับผลงานกว่า 3,000 ชิ้น เรายังเพิ่มประสาทสัมผัสด้านกลิ่นด้วยกลิ่นอโรมาปรุงเฉพาะสำหรับงานนี้ เช่น กลิ่นไม้สน ส่วนการจำลองสถานที่ต่างๆในภาพวาดที่มีชื่อเสียงของแวนโก๊ะเราให้กลุ่มนักศึกษาศิลปะคนไทยเป็นคนทำและลงสีด้วยมือไม่ได้ใช้อิงค์เจท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวาดรูปและ AI Room ที่เปลี่ยนรูปถ่ายเราให้กลายเป็นเหมือนภาพวาด” เดวิน หม่า (Devin Ma) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Live Impact โปรดิวเซอร์ของงานในครั้งนี้กล่าวและแย้มว่าในปี ค.ศ. 2024  ทางบริษัทวางแผนที่จะนำนิทรรศการอิมเมอร์ซีฟของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) และ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ที่ทาง Grand Experiences ถือลิขสิทธิ์มาจัดแสดงในไทย

วินเซนต์ แวนโก๊ะ

ไทม์ไลม์ชีวิตทำงานตลอด 10 ปีผ่านดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบ 360 องศา

วิธีการนำเสนอของ Van Gogh Alive ไม่ได้เน้นการฉายภาพและใช้ภาพแอนิแมชันในจังหวะรวดเร็วและเร้าใจแต่มีการทิ้งจังหวะให้ผู้ชมได้เห็นรายละเอียดของภาพมากขึ้น พร้อมกับสอดแทรกบางข้อความที่แวนโก๊ะกล่าวถึงสภาพแวดล้อม สภาพจิตใจ และผลงานที่เขาวาดในจดหมายกว่า 800 ฉบับที่เขาเขียนถึง เธโอ (Theo Van Gogh) น้องชายผู้สนับสนุนพี่ชายทั้งแรงใจและการเงินให้ได้เดินบนเส้นทางศิลปะ

วินเซนต์ แวนโก๊ะ
ภาพในยุคแรกเป็นโทนสีหม่นและสะท้อนชีวิตยากไร้ของผู้คน

ใน Gallery Hall ฉายภาพไล่เรียงตามไทม์ไลน์โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที เริ่มจากชุดภาพสเก็ตช์ขาวดำและภาพสีน้ำมันในยุคแรกของแวนโก๊ะที่เรียกว่า Dutch Period ซึ่งเขาใช้สีโทนหม่นและเขียนแนวเรียลลิสติกส์ในขณะพำนักที่เมืองนือเน่น (Nuenun) ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ 2 ปี แสดงถึงความยากจนขัดสนของผู้คน เช่น ภาพคนทอผ้าในงานชื่อ Weaver (1884) และภาพคนกินมันซึ่งเป็นอาหารหลักของคนยากไร้ในภาพ The Potato Eaters (1885) ที่แวนโก๊ะเขียนถึงน้องชายว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเขาแม้จะรู้ดีว่าคงไม่มีใครสนใจที่จะซื้อภาพแนวนี้

วินเซนต์ แวนโก๊ะ
แวนโก๊ะ

จากภาพสีหม่นและท่วงทำนองดนตรีที่เศร้าสร้อยเปลี่ยนเป็นภาพถ่ายเมืองปารีสในช่วงศตวรรษที่ 19 และดนตรีที่สดใสมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังช่วงที่แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่ปารีสในช่วง ค.ศ.1886–1888 และที่ปารีสเป็นช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักกับศิลปินกลุ่มโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ เช่น ตูลูส-ลอเทร็ก (Henri de Toulouse-Lautrec) เดกาส์ (Edgar Degas) ปีซาโร (Camille Pissarro) เซอราท์ (Georges Seurat) ซิกแนค (Paul Signac) และ โกแกง (Paul Gauguin)

แวนโก๊ะ
ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อภาพวาดของแวนโก๊ะอย่างมาก

เขาได้เห็นงานภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่นของศิลปินญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) และ อูตางาวะ ฮิโรชิเงะ (Utagawa Hiroshige) ซึ่งมีอิทธิพลต่องานของเขา ดังเช่นภาพ Bridge in the Rain (after Hiroshige) ในปี ค.ศ. 1887 ที่เขาวาดภาพสีน้ำมันตามแบบภาพพิมพ์ไม้ชื่อ Sudden Shower Over Shin-Ohashi Bridge and Atake (1857) ของฮิโรชิเงะ และภาพ The Bedroom (1888) ซึ่งมีการจัดวางองค์ประกอบสิ่งของต่างๆ ในห้องนอนแบบแบนๆ และไม่มีเงาดังเช่นที่แวนโก๊ะบรรยายในจดหมายถึงน้องชายว่า เพื่อให้เหมือนภาพพิมพ์ญี่ปุ่น

องค์ประกอบของภาพ The Bedroom ได้อิทธิพลจากภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่น
แวนโก๊ะ
ภาพชุดอันโด่งดัง The Sunflowers เขียนขณะพำนักที่เมืองอาร์ล

แม้ผลงานในช่วงที่อยู่ปารีสจะมีสีสันมากขึ้น แต่ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่จากยาสูบและเหล้า ประกอบกับความเบื่อหน่ายความวุ่นวายของมหานคร เขาตัดสินใจออกเดินทางจากปารีสในช่วงต้นปี ค.ศ. 1888 ไปยังตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยจุดพักแห่งแรกคือที่เมืองอาร์ล (Arles) และเกิดความประทับใจกับธรรมชาติที่สดใสยามเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิในขณะที่ไปถึง ขณะอยู่ที่เมืองอาร์ล (ค.ศ.1888-1889) เป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมามากมาย เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, The Langlois Bridge, The Bedroom และ The Yellow House บ้านสีเหลืองที่เขาชวนเพื่อนศิลปินคือโกแกงให้มาอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยทัศนคติที่ขัดแย้งทำให้ทั้งคู่มีปากเสียงกันอย่างรุนแรงและทำให้แวนโก๊ะตัดหูข้างซ้ายของตัวเองซึ่งสะท้อนในภาพชื่อ Self-portrait with Bandaged Ear

แวนโก๊ะ
The Starry Night วาดขณะเข้ารับการบำบัดอาการป่วยทางจิต

สภาพจิตใจย่ำแย่แต่สร้างงานมาสเตอร์พีช The Starry Night

แวนโก๊ะเริ่มมีอาการป่วยทางจิตและมีผู้แนะนำให้เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี (Saint-Rémy) ในช่วงกลางปี 1889 ขณะเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 1 ปี เขาเขียนภาพราว 150 ภาพโดยส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์จากหน้าต่างในโรงพยาบาล และบางครั้งได้รับอนุญาตให้ออกไปเขียนภาพข้างนอกได้บ้าง ดังเช่นภาพ The Starry Night ที่เขาวาดท้องฟ้าสีเข้มลากวนเป็นก้นหอยบิดเบี้ยวพร้อมกับต้นไซเปรสสีดำรูปร่างดั่งเปลวเพลิงบ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่หดหู่ในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องน่ายินดีที่ทำให้แวนโก๊ะสร้างงานที่มีชีวิตชีวาชื่อ Almond Blossoms (1890) เป็นภาพต้นอัลมอนด์ออกดอกผลิบานในฤดูใบไม้ผลิกับพื้นหลังสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เขาตั้งใจวาดเพื่อรับขวัญหลานชายซึ่งเป็นลูกชายของเธโอน้องรักที่ลืมตาดูโลกเมื่อช่วงต้นปี 1890

Almond Blossoms เป็นภาพที่วาดเพื่อรับขวัญหลานและเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ถัดมาเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองโอเวร์-ซูร์-อัวส์ (Auvers-sur-Oise) เมื่ออาการดีขึ้นและได้รับการดูแลจากหมอพอล กาเช่ต์ (Dr Paul Gachet) ซึ่งภาพเหมือนของหมอกาเช่ต์ (Portrait of Dr. Gachet) เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงของแวนโก๊ะและถูกประมูลไปในราคา 82.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 1990 ในช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่อยู่ในเมืองนี้ แวนโก๊ะวาดภาพราว 70 ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพบ้านเรือน ผู้คนและโบสถ์

Wheatfield with Crows คาดว่าเป็นรูปสุดท้ายที่แวนโก๊ะวาด

การนำเสนอจบลงที่เสียงปืนหนึ่งนัดกับภาพ Wheatfield with Crows (1890) ที่คาดว่าเป็นรูปสุดท้ายของแวนโก๊ะที่วาดภาพฝูงนกอีกาบินว่อนเหนือทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัว แวนโก๊ะจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปีตามที่เชื่อกันว่าเขายิงตัวเองในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 บริเวณทุ่งข้าวโดยกระสุนเข้าบริเวณช่องท้องก่อนจะพาตัวเองกลับมาที่พักและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา อย่างไรก็ตามการตายของเขายังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้

จำลองฉากเด่นในภาพเขียนชื่อดังทั้งทานตะวันและบ้านสีเหลือง

โซนถัดไปเป็นจุดที่สร้างขึ้นสำหรับสายถ่ายรูปโดยเฉพาะกับการสร้างฉากต่างๆตามภาพเขียนที่มีชื่อเสียง เช่นห้องกระจกที่เต็มไปด้วยดอกทานตะวัน (พลาสติก) สะพานไม้กับฉากหลังเป็นภาพท้องฟ้าปั่นป่วนและต้นไซเปรสบิดเบี้ยวอย่างในภาพ The Starry Night และกองฟางเหมือนอย่างในภาพ Noon – Rest from Work (after Millet) (1890) ที่แวนโก๊ะวาดตามอย่างภาพ Noonday Rest (1866) ของ Jean-François Millet ซึ่งเป็นภาพคนคู่หนึ่งนอนพักที่กองฟางในช่วงเวลากลางวันหลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน

นอกจากนี้ยังมีการสร้างอาคารทาสีเหลืองเหมือนอย่างบ้านในภาพ The Yellow House เพื่อเป็นห้องสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องที่ให้ผู้เข้าชมวาดภาพ 2 ภาพคือ The Starry Night และ The Bedroom ตามวิดีโอสาธิต และห้องเรียนศิลปะวาดภาพแบบแวนโก๊ะด้วยสีอะคริลิกโดยสตูดิโอสอนศิลปะ Factory Art Center (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม) และปิดท้ายด้วย Van Gogh Shop โซนขายของที่ระลึกที่หลายชิ้นจัดทำเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ เช่น กระเป๋าสานพิมพ์ลายภาพเหมือนของแวนโก๊ะกับภาพสัญลักษณ์ไอคอนิกของประเทศไทยอย่าง วัดพระแก้ว รถตุ๊กตุ๊ก และยักษ์วัดโพธิ์

Fact File

  • Van Gogh Alive Bangkok จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม
  • ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ Thai Ticket Major ราคาบัตร VIP 1,490 บาท (พร้อมของที่ระลึกที่ไม่มีจำหน่าย), บัตรทั่วไป 990 บาท, บัตร Early Bird 690 บาท (ใช้ได้ถึง 30 เม.ย. 2566) และบัตรนักเรียน/นักศึกษา 480 บาท
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.1338 หรือ Facebook: ICONSIAM

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์