เปิดโลก Warbie & Yama คาแรกเตอร์ที่ต่างกันสุดขั้วของ อรุษ ตันตสิรินทร์ ในนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในไทย
Arts & Culture

เปิดโลก Warbie & Yama คาแรกเตอร์ที่ต่างกันสุดขั้วของ อรุษ ตันตสิรินทร์ ในนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในไทย

Focus
  • จากคาแรกเตอร์สุดฮิตในสติกเกอร์ไลน์วอร์บี้ (Warbie) เจ้านกสีเหลืองจอมกวนและคุณลุงยามะ (Yama) ผู้ใจดี ออกมาโลดแล่นในนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทย
  • คาแรกเตอร์ที่ต่างกันสุดขั้วนี้สร้างสรรค์โดย อรุษ ตันตสิรินทร์ และปัจจุบันในสติกเกอร์ไลน์มีมากกว่า 10 เวอร์ชันทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมไปถึงมีการต่อยอดเป็นสินค้าต่างๆ
  • นิทรรศการนี้จะพาย้อนรอยตั้งแต่จุดกำเนิดของวอร์บี้และยามะจนถึงงานแอนิเมชันเรื่องใหม่ล่าสุดที่ยังไม่ได้เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

คาแรกเตอร์ที่ต่างกันสุดขั้วระหว่าง วอร์บี้ (Warbie) เจ้านกสีเหลืองว่องไวจอมกวนกับ คุณลุงยามะ (Yama) ผู้เชื่องช้าใจดีและความผูกพันแบบกวนอารมณ์ผสมความอบอุ่นทำให้สติกเกอร์ไลน์ Warbie & Yama ที่สร้างสรรค์โดยครีเอเตอร์คนไทย อรุษ ตันตสิรินทร์ เป็นหนึ่งในสติกเกอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ที่ออกมาโลดแล่นครั้งแรกจนถึงปัจจุบันที่มีมากกว่า 10 เวอร์ชันทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ทั้งยังมีการต่อยอดเป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา เสื้อยืด หมวก และกระเป๋า

Warbie & Yama

วอร์บี้และคุณลุงยามะพร้อมแล้วที่จะทำให้ทุกคนมีรอยยิ้มมากขึ้นนอกเหนือจากการส่งสติกเกอร์ไลน์กับ It’s Me, Warbie! The Inside World of Warbie Yama นิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทยที่จะพาผู้ชมไปย้อนรอยจุดกำเนิดคาแรกเตอร์สุดฮิตที่เริ่มต้นในสตูดิโอของอรุษที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 พร้อมสนุกกับการถ่ายรูปกับประติมากรรมขนาดใหญ่รูปเจ้านกเหลืองแสนซนและคุณลุงยามะที่ชื่นชอบการถ่ายรูป รวมไปถึงภาพวาด ประติมากรรม การ์ตูนและแอนิเมชันจากการสร้างสรรค์ของอรุษผ่านทั้ง 9 โซนจัดแสดงที่ RCB Galleria 2 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2566

Warbie & Yama

“ผมชอบคาแรกเตอร์ที่มีเซอร์ไพรส์อย่างวอร์บี้ถ้ามองจากข้างหลังดูน่ารัก แต่เมื่อหันหน้ามาทั้งกวนและซนและเจ้าเล่ห์ ที่มาของวอร์บี้และคุณลุงยามะเกิดจากวันหนึ่งผมไปเดินย่านเจแปนทาวน์ ที่ซานฟรานซิสโก และเจอคุณลุงท่าทางใจดีคนหนึ่งถือกล้องเก่าๆตัวหนึ่ง มันเป็นโมเมนต์ที่ดึงดูดผมว่าคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะและยังมีพลังเดินถือกล้องถ่ายรูปและยังยิ้มได้นั้นช่างดูสดชื่น เลยคิดเรื่องที่จะนำมาทำเป็นแอนิเมชันสำหรับธีสิสปริญญาโท (ขณะนั้นเรียนด้านแอนิเมชันที่ Academy of Art University ที่ซานฟรานซิสโก) โดยเป็นเรื่องที่มีสัตว์มาเกี่ยวข้องและไม่มีกำแพงภาษาและวัย ทำให้นึกย้อนไปวัยเด็กที่เคยช่วยลูกนกที่บาดเจ็บและเมื่อรักษาจนหายก็ปล่อยไป” อรุษกล่าวถึงแรงบันดาลใจการสร้างคาแรกเตอร์สุดฮิต

อรุษ ตันตสิรินทร์
อรุษ ตันตสิรินทร์ กับคาแรกเตอร์วอร์บี้และฟีบี้

วอร์บี้และคุณลุงยามะจึงปรากฏตัวครั้งแรกในแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z ซึ่งเล่าเรื่องราวของคุณลุงยามะพร้อมกล้องคู่ใจที่พยายามถ่ายรูปเจ้านกวอร์บี้จอมกวนในสวนสาธารณะโดยใช้ข้าวเกรียบกุ้งที่พกติดตัวเป็นเหยื่อล่อ แต่ด้วยความว่องไวและเจ้าเล่ห์ของนกและความเชื่องช้าของคุณลุงทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเก็บภาพได้ แต่ท้ายที่สุดด้วยความตะกละตะกลามของวอร์บี้ทำให้คุณลุงสามารถถ่ายรูปมันได้ขณะท้องป่องเพราะกินขนมที่โปรยให้จนเกือบหมดถุง

แอนิเมชันเรื่อง Cheez…z ใช้เวลาทำ 2 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึง 2552 และได้รับรางวัลและฉายในเทศกาลหนังและพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งเช่น ION International Film Festival (2011) Burbank International Film Festival (2011) Cody Theatre (2017) และ Kimbell Art Museum, Texas, USA (2018) หลังจากนั้นวอร์บี้และคุณลุงยามะจึงได้มีการพัฒนาเป็นคาแรกเตอร์สำหรับสติกเกอร์ไลน์เมื่อ พ.ศ.2558 และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นมา

Warbie & Yama

ในโซนแรกของนิทรรศการจึงต้อนรับผู้ชมเข้าสู่โลกการ์ตูนของวอร์บี้และคุณลุงยามะด้วยประติมากรรมวอร์บี้ขนาดไซซ์ใหญ่กว่าคนและแนะนำตัวละครอื่นๆ เช่น ฟีบี้ (Phebie) นกน้อยสีชมพูผู้ร่าเริงและซุ่มซ่าม คุณป้ามะลิ (Mali) ผู้หลงใหลการตัดเย็บเสื้อผ้า เด็กชายซูซู (Chuchu) ผู้เป็นคู่ปรับของวอร์บี้ และ สุนัขแบมบู (Bambu) ที่มีหลายบุคลิก ถัดมาเป็นโซนที่จำลองสตูดิโอของอรุษที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะที่สร้างแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z ในช่วงปี 2551-2552 พร้อมข้าวของเครื่องใช้จริงเช่น สมุดบันทึก ภาพสเกตช์ สตอรีบอร์ด หุ่นปั้นโมเดลคาแรกเตอร์วอร์บี้และคุณลุงยามะ

Warbie & Yama
Warbie & Yama
สมุดบันทึก ภาพสเกตช์และสตอรีบอร์ดเกี่ยวกับแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z

“หลังจากแอนิเมชันเรื่องนี้ออกฉายก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีมาก แม้เป็นเรื่องสั้นๆของคุณลุงคนหนึ่งที่แค่อยากถ่ายรูปนกแต่มีเมสเซจบางอย่างที่เราสอดแทรกและทำให้คนยิ้มได้ เช่น ผลของความตะกละตะกลาม หรือในมุมมองของลุงคือการใช้ความอดทนเพื่อให้ได้สิ่งที่หวัง และเมื่อแอปพลิเคชันไลน์เริ่มเข้ามาในไทยและคนเริ่มใช้สติกเกอร์มากขึ้น แม่ของผมอยากใช้คาแรกเตอร์นี้ในโทรศัพท์บ้างทำให้ผมเริ่มวาดเซตแรกโดยไม่ต้องมีคำพูดแต่แสดงอารมณ์ทางสีหน้า ถือเป็นการทดลองอะไรใหม่ๆเพราะในไลน์มี 40 ตัวทำให้คาแรกเตอร์นี้ได้แสดงอารมณ์อื่นๆที่ไม่มีในแอนิเมชัน” อรุษในวัย 41 ปีผู้ที่ทำงานทั้งที่กรุงเทพฯและเปิดสตูดิโอชื่อ Arwama ที่ลอสแอนเจลิสกล่าว

หลังจากเรียนจบ อรุษได้ทำงานในตำแหน่งแอนิเมชันไดเรกเตอร์ที่ Nickelodeon Animation Studio บริษัทแอนิเมชันชั้นนำของโลกที่สหรัฐอเมริกาในปี 2553 โดยมีผลงานเช่นเรื่อง Teenage Mutant Ninja Turtles, Kamp Koral: SpongeBob’s Under Years, Santiago of the Seas และได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลด้านกราฟิกดีไซน์ยอดเยี่ยมของ Daytime Emmy Awards ในปี 2558 จากเรื่อง Wallykazam

ในขณะที่ทำงานประจำอรุษยังคงใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับวอร์บี้ยามะอย่างต่อเนื่องทั้งในเว็บไชต์และเฟซบุ๊กชื่อ WarbieYama โดยการ์ตูนของเขาแทบจะไม่มีบทสนทนาเพราะอยากให้ตัวละครสามารถเข้าถึงใจของคนทั่วโลกได้โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านภาษา

Warbie & Yama
ป้ามะลิและเด็กชายซูซู

อีกโซนในนิทรรศการจึงเป็นการจำลองฉากสวนสาธารณะในแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z ให้ผู้ชมได้ถ่ายรูปกับคาแรกเตอร์ต่างๆ นอกจากนี้ภาพบางส่วนในการ์ตูนได้นำมาขยายให้ใหญ่ติดเต็มผนังทำให้เป็นแบ็กดร็อปสำหรับการถ่ายรูปได้อย่างดี

“ผมเขียนการ์ตูนออกมามากขึ้น อยากให้คนอ่านมีความสุขเหมือนมีวัยเด็กที่สดใสซึ่งเป็น statement ที่สำคัญของผมเพราะได้เรียนรู้ว่าการที่เราได้จับกระดาษและดินสอและวาดอย่างเสรีโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเลยนั้นเป็นความสุขที่สุด เคยมีแอนิเมเตอร์ค่าย Pixar คนหนึ่งที่ผ่านการทำหนังมามากมายกล่าวว่าเขาอยากกลับไปวาดให้ได้เหมือนเด็กอีกครั้ง ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงพูดอย่างนั้นเพราะเมื่อโตขึ้นเราจะมีอะไรมาตีเฟรมมากขึ้นและเหนียวขึ้นเรื่อยๆ จะหยิบจะเขียนอะไรก็ผ่านกระบวนการเยอะ จึงเกิดคำถามว่าทำไมทักษะเรามีมากขึ้นแต่จิตวิญญาณที่เรามีตอนเด็กหายไป เรื่องวอร์บี้ยามะจึงเป็นสิ่งที่ผมสนุกที่จะทำและมีความสุขและพยายามปลดปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องติดกับดัก”

อรุษทำงานประจำที่ Nickelodeon Animation Studio จนถึงปี 2560 จากนั้นจึงออกมาเปิดสตูดิโอของตัวเองและทำงานเกี่ยวกับเรื่องวอร์บี้ยามะเป็นหลัก 

“ช่วงที่ไม่ได้ทำงานประจำทำให้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เช่นที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ได้เจอกับแฟนๆที่ชื่นชอบวอร์บี้และยามะ บางคนบอกว่าในวันที่แย่เขาก็ยังมีคาแรกเตอร์นี้ช่วยเยียวยาใจ หรือมีคนหนึ่งบอกว่าเขาเป็นโรคนอนไม่หลับแต่พอมีตุ๊กตาวอร์บี้มาวางไว้ข้างเตียงก็ช่วยให้หลับได้ สิ่งนี้ช่วยทำให้ผมมีแรงใจในการทำงานต่อไปเพื่อให้คนยิ้มได้”

ในนิทรรศการมีโซนชื่อว่า การผจญภัยใน Inside World จากการ์ตูนตอนล่าสุด “Inside World” ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนโดยเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปว่าจริงๆแล้ววอร์บี้และคุณลุงยามะเจอกันครั้งแรกในป่าลึกลับตั้งแต่คุณลุงยังเป็นเด็ก โซนนี้จึงเซตฉากเป็นป่าที่ทั้งสองได้พบกัน มีบ้านต้นไม้ของวอร์บี้ พร้อมด้วยบ่อน้ำและทุ่งดอกไม้ตามฉากในการ์ตูนที่ทั้งคู่เล่นด้วยกันนำมาทำเป็นแบบ interactive ที่ผู้ชมเข้าไปสัมผัสทำให้เกิดแสง สี เสียง นอกจากนี้ชุดภาพวาดสีน้ำต้นฉบับของตอนใหม่ล่าสุดนี้ยังได้นำมาจัดแสดงประกอบกันด้วย

ภาพวาดสีน้ำต้นฉบับของตอนใหม่ล่าสุด “Inside World”

ถัดมาเป็นโซนที่นำเสนอผลงานศิลปะของอรุษที่วาดด้วยสีน้ำ สีอะคริลิก สีไม้ งานปั้นดินและฟิกเกอร์เรซินของคาแรกเตอร์ต่างๆ ในเรื่องนี้ หนึ่งในภาพไฮไลต์คือภาพพิมพ์ขนาด 5×7 นิ้วรูปวอร์บี้ยืนทำตามองข้างซึ่งเป็นท่าโพสประจำตัวแสดงความยียวนของเจ้านกเหลืองโดยภาพต้นฉบับของงานชิ้นนี้เป็นภาพวาดบนกระดาษที่อรุษวาดเพื่อนำไปร่วมในงานประมูลที่เมืองเบอร์แบงก์ สหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือแอนิเมเตอร์คนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง

“ผมวาดวอร์บี้บนกระดาษสีขาวขนาดเล็กและงานนั้นถูกประมูลโดยผู้หญิงชาวเกาหลีคนหนึ่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้ผมว่าคาแรกเตอร์นี้มีพลังบวกบางอย่างและเป็นจุดเล็กๆที่ช่วยเหลือผู้อื่นได้ คาแรกเตอร์ของเรื่องนี้ไม่ต้องมีคำพูดเยอะทำให้สามารถเชื่อมคนจากหลายๆภาษาได้ ผมก็ใส่เรื่องราว ความทรงจำวัยเด็กและข้อคิดบางอย่างลงไปเพื่ออยากให้เป็นงานที่ทำให้ชีวิตสดใส”

ภาพพิมพ์จากต้นฉบับภาพวาดที่นำไปประมูล

คาแรกเตอร์วอร์บี้และยามะได้รับรางวัล Character Of The Year Award ในเทศกาล Bangkok International Digital Content Festival 2019 และ 2021 นอกจากนี้อรุษยังได้ร่วมงานกับ Facebook ในการสร้างสรรค์สติกเกอร์คาแรกเตอร์เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงชื่อ ซาลาเปาและนุ่มนิ่ม เพื่อถ่ายทอดความน่ารักสดใสของเด็กไทย

สติกเกอร์ซาลาเปาและนุ่มนิ่มใน Facebook

ภาพแฟนอาร์ตจากแฟนวอร์บี้ทั่วโลกและการร่วมงานกับศิลปินท่านอื่นๆได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย เช่น ผลงานสื่อผสมบนปกแผ่นเสียงที่วาดร่วมกันโดยอรุษและ Balloon Boy (ป๊อด โมเดิร์นด็อก) ภาพวาดของศิลปินไทยนาม Jung Yansu ที่แสดงถึงชีวิตราบเรียบแสนธรรมดาของหญิงสาวคนหนึ่งเปลี่ยนไปเมื่อเธอได้เจอกับความแสบซนของวอร์บี้ และภาพศิลปะทรายของศิลปินญี่ปุ่น Naoshi ที่เล่าเรื่องกุ้งสามพี่น้องที่กระโดดออกจากซองข้าวเกรียบกุ้งและพาวอร์บี้และฟีบี้ไปผจญภัยในโลกอาหาร นอกจากนี้เพลงที่ใช้เปิดในนิทรรศการได้ถูกประพันธ์ขึ้นมาใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะโดยร่วมกับนักประพันธ์เพลงนาม ModMan หรือ ภูดินันท์ ดีสวัสดิ์มงคล และบรรเลงโดยวงออร์เคสตรา

ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการเป็นการฉายแอนิเมชันในห้อง RCB Forum บนจอขนาดใหญ่พร้อมที่นั่งจุได้ 100 คนโดยมีการฉายแอนิเมชันเรื่อง Cheez…z ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวอร์บี้ยามะและตอนอื่นๆ เช่น ตอนวอร์บี้เดินทางไปประเทศจีน และไฮไลต์คือการฉายแอนิเมชันเรื่องสั้นใหม่ที่อรุษได้ร่วมงานกับ Balloon Boy ที่นำมาให้ชมในงานนี้เป็นครั้งแรก

Fact File

  • นิทรรศการ It’s Me, Warbie! The Inside World of Warbie Yamaจัดแสดงที่ RCB Galleria 2 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2566
  • ซื้อบัตรเข้าร่วมงานได้ทาง ZipEvent: https://t.ly/Mqaw  และ Ticketmelon: https://t.ly/BAwA บัตรราคา 290 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป และ 190 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
  • ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rivercitybangkok.com  

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ