เตรียมซ่อม บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น อายุกว่า 156 ปี ในวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์
Arts & Culture

เตรียมซ่อม บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น อายุกว่า 156 ปี ในวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์

Focus
  • พระวิหารหลวง  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม  เป็นพระอารามหลวง  ชั้นเอก  ชนิดราชวรวิหาร  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2407
  • พ.ศ. 2408 มีการสั่งทำบานประตูและบานหน้าต่างไม้ประดับมุกอันเป็นศิลปะของประเทศญี่ปุ่นนำมาประดับไว้ภายในพระวิหารหลวงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชประดิษฐ์ ไม่ได้โดดเด่นเพียงสถาปัตยกรรมเจดีย์ประดับหินอ่อนทั้งองค์ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมที่สวยงามเท่านั้น ในส่วนของวิหารหลวงยังมีบานประตูไม้ และบานหน้าต่างไม้ ที่วิจิตรด้วย งานประดับมุก ศิลปะญี่ปุ่นซ่อนอยู่ เก่าแก่ย้อนหลักฐานไปได้ถึง 156 ปี (พ.ศ. 2408) และนั่นจึงทำให้ปัจจุบันงานบานประดับมุก รวมทั้งแผ่นไม้ประดับรักลายนูนที่มีมากถึง 94 แผ่น ชำรุดเสียหาย

บางบานมีเชื้อรา บ้างถูกแมลงกัดกินพื้นไม้  ผิวหน้าชิ้นงานมีความสกปรกจากยางรักที่เคยมีการพยายามซ่อมแซมมาแล้ว บางบานยางรักที่ถูกทาเคลือบไว้เป็นเวลานานเกิดความหมองคล้ำไม่สดใส ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ร่วมกับทางวัดราชประดิษฐ์ดำเนินการซ่อมแซมบานประตู และบานหน้าต่างประดับมุกอันเป็นศิลปะของประเทศญี่ปุ่นที่ชำรุดเสียหายดังกล่าว

วัดราชประดิษฐ์

ทั้งนี้ตามที่ทางกรมศิลปากรมีข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties :TNRICP) ในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น การบูรณะครั้งนี้จึงต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

วัดราชประดิษฐ์

ระยะที่ 1 เป็นการนำตัวอย่างบานไม้ประดับมุก ไปศึกษารายละเอียดส่วนประกอบของศิลปวัตถุ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties)

ระยะที่ 2 วัดราชประดิษฐ์ ได้ส่งตัวแทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมศิลปากร ประกอบด้วย กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์  สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  และสำนักช่างสิบหมู่ รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง เดินทางไปร่วมดำเนินการโครงการฯ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ระยะที่ 3 ในปี 2564 โครงการได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการอนุรักษ์ โดยตัวแทนจากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาร่วมวางแนวทางและร่วมอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 เป้าหมายอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูน ในส่วนที่ชำรุดและเสื่อมสภาพ จำนวน 94 แผ่น

วัดราชประดิษฐ์

สำหรับแนวทางในการซ่อมแซมอนุรักษ์นั้น ทางรมศิลปากรได้ชี้แจงในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ว่าจะคงรูปแบบลวดลายลักษณะเดิมของบานประตู หน้าต่าง แปลว่าถ้ามีส่วนใดที่หลุดล่วงไปแล้วจะไม่ทำการเติมใหม่ให้เต็ม แต่จะดำเนินงานส่วนของพื้นให้เป็นพื้นรักสีดำอันเกิดจากยางรักพร้อเน้นการเสริมความแข็งแร งเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมด้านงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป

Fact File

พระวิหารหลวง  วัดราชประดิษฐ์  เป็นพระอารามหลวง  ชั้นเอก  ชนิดราชวรวิหาร  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2407  โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุตินิกายโดยเฉพาะ อีกทั้งยังทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อที่ดินแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปี ชวด จุลศักราช 1226 หรือตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 ผูกมหาสีมาเมื่อ พ.ศ. 2408 และได้สั่งทำบานประตูและบานหน้าต่างประดับมุกอันเป็นศิลปะของประเทศญี่ปุ่นนำมาประดับไว้ภายในพระวิหารหลวงนับแต่นั้นเป็นต้นมา