อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ กับการเดินทาง 42 ชุมชนทอผ้าทั่วไทย สร้างงานศิลปะสานสัมพันธ์ไทย-อเมริกา
Arts & Culture

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ กับการเดินทาง 42 ชุมชนทอผ้าทั่วไทย สร้างงานศิลปะสานสัมพันธ์ไทย-อเมริกา

Focus
  • ศิลปินชาวไทย-อเมริกัน อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ด้วยเส้นใยนับล้านเส้นจากการเดินทางไป 42 ชุมชนทั่วไทยเพื่อเรียนรู้ความหลากหลายของชนิดผ้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • เส้นใยถักทอด้วยเทคนิคที่ผสมผสานทั้งแบบไทยและแบบอเมริกันเพื่อสื่อความหมายของนิทรรศการที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 190 ปีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
  • ชาวอเมริกันในย่านบรุกลิน นิวยอร์กและนักศึกษาไทยในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนี้

กว่าจะมาเป็นนิทรรศการ Weaving Our Stories ศิลปินชาวไทย-อเมริกัน อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ (Amanda Phingbodhipakkiya) ได้ใช้เส้นใยนับล้านเส้นจากการเดินทางไปศึกษาเทคนิคการทอผ้าของ 42 ชุมชนทั่วประเทศไทยเป็นเวลาร่วม 2 เดือน และใช้เวลาอีก 4 เดือนในการสร้างสรรค์ผลงานไฮไลต์ในรูปแบบศิลปะจัดวาง (installation art) ขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่บริเวณโถงบันไดเลื่อนชั้น 3 ถึงชั้น 5 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ

ผลงานที่มีชื่อว่า Time Owes Us Remembrance กาลเวลา-คืนค่า-หวนรำลึก ใช้เวลาติดตั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยมีคอนเซปต์เรื่องป่าซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการที่อแมนด้าเดินทางไปพบปะผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าหรือที่เธอเรียกว่า “แม่ๆ” ในแต่ละชุมชน และทำให้เธอรู้สึกว่าการทอผ้านั้นเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว อีกทั้งความหมายของเส้นใยที่ถักทอรวมเป็นชิ้นงานเดียวกันด้วยเทคนิคที่ผสมผสานทั้งแบบไทยและแบบอเมริกันยังสะท้อนความหมายของนิทรรศการที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 190 ปีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

“ถึงแม้จะมีงานที่จัดร่วมกันระหว่างสองประเทศไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือสาธารณสุข แต่งานนี้สามารถแสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศเชื่อมโยงกันอย่างไร เส้นด้ายบนชิ้นงานเปรียบเสมือนความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐอเมริกาที่เชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ทำให้มองเห็นอดีตและอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ”

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดก (Ambassador Robert F. Godec) กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดนิทรรศการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 25 มิถุนายน 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดก (ซ้าย) และศิลปิน อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ เป็นศิลปินชาวไทย-อเมริกัน ที่ทำงานอยู่ในย่านบรุกลิน เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ทางสถานทูตได้ติดต่อให้มาร่วมงานด้วยและให้อิสระอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์งาน เธอได้เดินทางไป 42 ชุมชนทั่วภูมิภาคในไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อศึกษาความหลากหลายของชนิดผ้าและภูมิปัญญาเรื่องการทอผ้าแบบต่างๆ เช่น การทอผ้าฝ้าย การทอผ้าไหม การทอด้วยเส้นใยสับปะรด และการทอผ้าชาวเขา รวมไปถึงการย้อมผ้าคราม การทำผ้าปักชุดโขน การวาดภาพผ้าบาติก และการนำวัสดุพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ

เธอยังได้มีโอกาสร่วมมือและศึกษาเทคนิคต่างๆ กับชุมชนทอผ้าและทำควิลต์ (quilt) ในสหรัฐฯ อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมศิลปะทั้งที่บรุกลินและที่กรุงเทพฯ โดยให้ชาวอเมริกันในย่านบรุกลินและนักเรียนและนักศึกษาไทยในกรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขนาดเล็กและนำงานเหล่านี้มาเย็บติดกันโดยใช้เทคนิคควิลต์แบบอเมริกันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลงานขนาดใหญ่ชิ้นนี้

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ
อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ เรียนการทอผ้าจากช่างทอของบ้านครูช่างสมศรีทางภาคเหนือของไทย
(ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย)

จากการเดินทางไปทั่วภูมิภาคในประเทศไทยในตลอดระยะเวลา 2 เดือน อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการถักทอของแม่ๆ ในจังหวัดต่างๆ และการทอผ้านั้นช่วยทำให้เธอเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้นจึงจุดประกายให้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นนี้ให้ดูเหมือน “ป่า”

“แม่ๆ ในภาคเหนือได้บอกฉันว่า ‘ผ้ามีชีวิต’ และตอนที่ฉันไปถึงร้อยเอ็ด แม่คนหนึ่งชื่อว่าแม่ทองใบได้สอนการทอลวดลายพิเศษซึ่งเป็นลายผ้าที่เธอคิดขึ้นมาเองโดยมีแรงบันดาลใจมาจากสายน้ำ เหล่าแม่ๆ บอกว่าจิตวิญญาณของพวกเขาอยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่า อยู่กับแม่น้ำ อยู่กับท้องทะเล ฉันจึงนำเสนองานชิ้นนี้ให้สะท้อนถึงความเป็น ‘ป่า’ ที่ทำให้เราหวนคิดถึงธรรมชาติและเส้นด้ายที่มาจากจิตวิญญาณของผู้คนในหมู่บ้านต่างๆ”

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ

“Don’t forget me don’t forget us” หรือ “อย่าลืมฉัน อย่าลืมพวกเรา” คือคำพูดที่ศิลปินได้สัมผัสและได้ยินตลอดการเดินทางศึกษาเรื่องการทอผ้าและทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ในไทย นอกจากนี้ความเชื่อ วัฒนธรรม ศิลปะ และประเพณีที่สืบต่อกันมาในชุมชนยังเป็นที่มาของชื่อผลงานว่า “Time Owes Us Remembrance กาลเวลา คืนค่า หวนรำลึก”

“ฉันต้องการยกระดับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือกระบวนการทอผ้าและภูมิปัญญาของชาวบ้าน หวังว่าผู้คนจะใช้เวลากับการดูงานชิ้นนี้ เพราะถ้าคุณใช้เวลากับมันจริงๆ คุณจะเห็นความเพียรพยายามที่พวกเราสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาและจะเห็นว่าชิ้นงานนี้เป็นการให้เกียรติเวลานับพันๆ ชั่วโมงที่เหล่าแม่ๆ ได้ทุ่มเทลงไปกับผ้าผืนหนึ่ง”

อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ

การสร้างสรรค์งานชิ้นนี้เกิดจากการผสมผสานหลากหลายเทคนิคของการทอและการเย็บผ้าและชนิดของผ้าแบบต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งไทยและสหรัฐฯ

“สิ่งที่ฉันชอบที่สุดในชิ้นงานนี้คือวิธีที่มีหลายเทคนิคจากทั่วทุกมุมของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมารวมตัวกันเพื่อทอสร้างอนุสรณ์ที่งดงามนี้”

หนึ่งในเทคนิคที่เธอนำมาใช้เพื่อสร้างส่วนของชิ้นงานให้มีองค์ประกอบคล้ายดอกไม้ทรงกลมขนาดเล็กหลายๆ ดอกเรียกว่า “เทคนิคโยโย่” หรือ “งานผ้าโยโย่ควิลต์” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผู้หญิงในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1920 (ค.ศ. 1920-1929) นิยมใช้เศษผ้าจากในบ้านเพื่อมาเย็บโยโย่ควิลต์และนำแต่ละอันมาเย็บติดกันจนเป็นผืนขนาดใหญ่

Weaving Our Stories

นอกจากนี้ยังมีเทคนิค “การเย็บแบบควิลต์ของอเมริกา” ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผู้คนเริ่มเดินทางมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ และทาสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระต้องใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่าที่สุดเพราะไม่มีเงินมากพอที่จะทิ้งสิ่งของที่ใช้จนเก่าแล้วไปได้ง่ายๆ การเย็บแบบควิลต์จึงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ต้องมีผ้าคลุมเตียงเพื่อให้ความอบอุ่น ดังนั้นเมื่อใช้ผ้าห่มจนเก่าแล้วพวกเขาก็จะปะและนำผ้าไปรวมกับผ้าห่มผืนอื่นๆ หรือใช้เป็นไส้ในของผ้าห่มผืนอื่นต่อไป

สำหรับเทคนิคการทอผ้าแบบไทยเธอเลือกใช้ “ผ้าฝ้ายทอมือ” จากฝ้ายที่ปลูกกันในหมู่บ้านและทอด้วยหูกทอผ้าคานเหยียบแบบดั้งเดิม รวมไปถึง “ผ้ามัดหมี่” ที่มีความซับซ้อนของลวดลายและต้องใช้ความละเอียดและฝีมือของช่างทอ

Weaving Our Stories
ศิลปินขณะติดตั้งผลงาน (ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย)

อแมนด้ายังนำเส้นด้ายที่ไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพจากการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นของโรงงานอุตสาหกรรมรามาเท็กซ์ไทล์ ในจังหวัดสมุทรปราการ มาใช้ในงานนี้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนถึงการสร้างความยั่งยืนอย่างมีคุณค่า

“สำหรับฉันงานนี้เป็นคำเชิญที่ทำให้เราคิดถึงความรับผิดชอบที่มีต่อกัน ทำให้นึกถึงวิธีที่เราจะสามารถดำรงไว้ซึ่งมรดกที่ยังมีชีวิตของเราเพื่อสร้างสะพานเชื่อมต่อกับผู้คน เรื่องราว และประวัติศาสตร์ที่เราอาจไม่คุ้นเคยกับมันมากนัก นอกจากนี้ผู้ที่เข้ามาชมงานยังช่วยให้เราได้รำลึกถึงเรื่องราวของเหล่าแม่ๆ ในชุมชน เทคนิควิธีการทอผ้า และภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาช้านานของพวกเขา”

ผลงาน “I Still Believe in Our City” ของ อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ที่ปรากฏบนปกนิตยสาร Time

อแมนด้าเป็นศิลปนที่สร้างสรรค์ผลงานหลายแขนงทั้งจิตรกรรม ศิลปะจัดวางเพื่อการมีส่วนร่วม สิ่งทอ ประติมากรรม จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเธอขณะเป็นศิลปินในพำนักของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนิวยอร์ก คือแคมเปญศิลปะสาธารณะชื่อ “I Still Believe in Our City” เพื่อยกย่องความเข้มแข็งอดทนของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander หรือ AAPI) และยุติความเกลียดชัง เหยียดผิว และเชื้อชาติ แคมเปญนี้ได้ปรากฏบนป้ายโฆษณา ป้ายรถประจำทาง อุโมงค์รถไฟใต้ดิน และปกนิตยสาร TIME และในปี 2566 เธอยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านศิลปะและมนุษยศาสตร์ของประธานาธิบดีไบเดน เพื่อให้คำแนะนำในการใช้ศิลปะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน

Weaving Our Stories

นอกจากการผสมผสานวัฒนธรรมของไทยและอเมริกาที่ถักทอออกมาอย่างลงตัวแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีความตั้งใจที่จะสื่อถึงมิตรภาพที่มีมายาวนานของทั้งสองประเทศทั้งทางการค้า การลงทุน การศึกษา การพัฒนาด้านสาธารณสุข การรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การคงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความปลอดภัยในภูมิภาค

“ผมหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะทำให้ผู้คนคิดถึงมรดกทางวัฒนธรรมและการเชื่อมโยงไปสู่โลกภายนอก อย่างเช่นแรงงานฝีมือในชุมชนทอผ้าที่สร้างสรรค์งานเบื้องหลังครั้งนี้ เพื่อให้เรามีอนาคตที่ดีขึ้นด้วยกัน ทำให้เราเห็นภาพของอนาคตที่เป็นไปได้และโอกาสที่ไม่มีที่สิ้นสุด งานชิ้นนี้เป็นงานที่ทรงพลังและอยากให้ผู้ชมได้รับแรงบันดาลใจ สร้างแรงขับเคลื่อน และทำให้เรามีความใกล้ชิดกันมากขึ้น” เอกอัครราชทูตโกเดกกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตและศิลปิน แปลจากภาษาอังกฤษโดยผู้เขียน

Fact File

  • นิทรรศการ Weaving Our Stories ในโครงการ “สานสัมพันธ์การทูตสหรัฐฯ-ไทย 190 ปี” โดยศิลปิน อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 25 มิถุนายน 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเวลา 10.00-20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.bacc.or.th และ Facebook: baccpage
  • รายละเอียดนิทรรศการเพิ่มเติม คลิก https://th.usembassy.gov/th/weaving-our-stories-th/

Author

เพชรดาว พัฒนบัณฑิต
ยังคงสนุกที่ได้เรียนรู้ ช่างภาพมือใหม่ที่อยากเดินทางเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านการถ่ายภาพ และกำลังพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานคุณภาพ

Photographer

ศุภกร พรสิริภักดี
จากช่างภาพสมัครเล่น สู่การพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมก้าวเข้าไปในวงการมืออาชีพ