จากฝันคนกรุง สู่ห้องทดลองของนักพัฒนามือ (ไม่) สมัครเล่นที่ชื่อ “เป๊ก-นิว”
Better Living

จากฝันคนกรุง สู่ห้องทดลองของนักพัฒนามือ (ไม่) สมัครเล่นที่ชื่อ “เป๊ก-นิว”

Focus
  • นิว-นภัสสร ภูธรใจ และ เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์ นอกจากจะมีบทบาทในวงการบันเทิงแล้ว เขาทั้งคู่ยังได้ทำร้านอาหารริมแปลงนา ชื่อ Brandnew Field Good และที่พัก ชื่อ บ้านไก่โห่ ที่จังหวัดเชียงใหม่
  • หลังจากเริ่มธุรกิจฝั่งท่องเที่ยว ทั้งคู่เริ่มเห็นว่าชุมชนบ้านปง อำเภอหางดง ยังมีของดีที่หลายคนยังไม่รู้ ทั้งคู่จึงเริ่มสนใจสื่อสารของดีจากชุมชนสู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “ข้าว” และขยายไปถึงการทำวิจัยเมล็ดพันธุ์กับศูนย์พันธุ์ข้าวต่างๆ

หนึ่งในความฝันของคนกรุงที่พอสร้างเนื้อสร้างตัวได้คือที่พักที่ต่างจังหวัดอีกหลังบ้างที่มีทุนก็เพิ่มเติมที่ดินทำไร่ทำสวนด้วยแต่ไหนแต่ไรบุคคลในวงการบันเทิงเป็นกลุ่มตัวอย่างนำร่องที่เห็นชัดคู่รักนอกจอทีวีอย่าง นิว-นภัสสร ภูธรใจ และ เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์ ก็เช่นกัน

ทั้งคู่เดินเส้นทางนี้มากว่าสามปีกับร้านอาหารริมแปลงนา ชื่อ Brandnew Field Good และที่พักแบบบูติกโฮมสเตย์(Boutique Homestay)ชื่อ บ้านไก่โห่ ณ ซอกหลืบของหุบเขาในตำบลบ้านปง อำเภอหางดง ที่ไม่ไกลจากสนามบินเชียงใหม่นัก ความเป็นมาของคนคู่นี้อาจต่างจากดารานักร้องรายอื่นที่หันมาเป็นเจ้าของร้านอาหารและชาวนาสมัครเล่นอยู่บ้างเพราะนักร้องเสียงใสอย่างนิวเป็นคนพื้นที่เชียงใหม่และจริงๆทั้งคู่มีอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะกับบทบาทการเป็นนักพัฒนาชุมชนมือใหม่เรามาฟังทั้งสองแชร์ประสบการณ์และถอดความรู้กัน

จากเรือนหอรอรัก สู่ร้านรวงชุมชน

ราวสี่ปีก่อน หลังจากที่ทั้งคู่วางแผนว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันแน่นอนความคิดที่เข้ามาในหัวเหมือนว่าที่คู่สมรสใหม่ทั่วไปคือการมีที่ทางสักผืนสำหรับทำธุรกิจเล็ก ๆ โดยเคาะกันว่าเป็นที่ “เชียงใหม่” บ้านเกิดของฝ่ายหญิง แทนที่จะเป็นแหล่งธุรกิจในเมืองเพื่อให้พอค้าขายได้ ทั้งคู่กลับมองหาทำเลที่ต่างออกไป โชคชะตาพาทั้งคู่ไปเจอผืนนาสีเขียวที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขานอกเขตตัวเมืองเชียงใหม่ไปไม่ไกลซึ่งมีร้านคาเฟ่เล็ก ๆ พร้อมโรงคั่วประกาศขายกิจการพอดี และจุดเริ่มต้นของความฝันก็เกิดขึ้น

“คิดแต่แรกแล้วว่าน่าจะซื้อที่ที่มีกิจการติดมาก่อนอยู่แล้ว แม้ว่าอาจจะมองว่าเป็นที่ที่อับ ไม่มีโอกาสทางธุรกิจเท่าไรแต่เรามองต่างออกไปว่ามันสามารถพัฒนาได้ และยังทำอะไรร่วมกับชุมชนรอบข้างได้ ซึ่งเป๊กเองก็เห็นด้วย แถมพื้นที่นี้ยังอยู่ในเขตอำเภอหางดง ไม่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เท่าไรด้วย เทียบกับบ้านเกิดนิวเองที่สันป่าตองซึ่งห่างออกไปกว่า 40 นาที และที่นี่ก็ยังสวยไม่แพ้โซนแม่ริมซึ่งไกลออกไปกว่ามาก” นิวเผยถึงที่มาแรกเริ่ม

ส่วนฝ่ายชายอย่างเป๊ก แม้เป็นคนนอกพื้นที่จากกรุงเทพฯ แต่ติดใจในวิวที่มีภูเขาล้อมรอบ เป็นSecret Space ในที่ราบจุดสุดท้ายก่อนไต่เนินเขาขึ้นดอยสะเมิง ซึ่ง ณ เวลนั้นเขาเองก็ยังมีความลังเลอยู่ไม่น้อยก่อนจะซื้อที่ดินผืนนี้

“เราถามหมอดูหลายที่มากและเมื่อตกลงใจจะซื้อที่ผืนนี้ก็ไปหาเจ้าของเดิมที่นอนป่วยอยู่ในบ้าน จากนั้นก็ไปหาพระในชุมชนบ้านปงเพื่อทำความรู้จัก ท่านก็ทักว่าเจ้าของที่เพิ่งเสียไป ก็เลยมองว่าเจ้าของที่คงเลือกเราไว้แล้วละที่จะให้มาดูแลแทนถึงได้ด่วนจากไป

“มันเป็นจุดที่มีครบหมด ทั้งวัด ชุมชน โรงเรียน และยังอยู่ตรงข้ามรีสอร์ตดัง ความเจริญรายล้อมพอควรแล้ว หลังจากเหนื่อยกับชีวิตทำงานในเมือง การได้มาอยู่กับชุมชนแบบนี้ก็รู้สึกดี อยู่กับคนที่เขาคุยกันว่าเย็นนี้จะเก็บผักอะไรกินดี มันเป็นการใช้ชีวิตแบบพักผ่อนอย่างแท้จริงสำหรับผม” หนุ่มผู้รับบทบาททั้งพิธีกร นักแสดง และนักร้อง อย่างเป๊กเล่าต่อ

เริ่มต้นที่ feel good ไปต่อที่ Brandnew Field Good

จากความคิดเริ่มต้นว่าจะใช้เป็นเรือนพักต่างจังหวัดก็ขยับขยายต่อ “ตอนจะแต่งงาน แม่ก็บอกว่าให้แต่งในโรงแรมแต่พวกเราเสนอว่าขอแต่งแบบไม่เหมือนใคร คือแต่งกันที่แปลงนานี้เลย ตั้งปะรำแต่งงานกลางทุ่งนาขึ้นมา แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ซึ่งต่อมาก็ตั้งชื่อว่า สะพานฮอมฮัก และหลังจากนั้นยังใช้งานต่อเป็นทางเข้าร้านอาหารไปด้วย” นิวทบทวนเหตุการณ์ช่วงนั้นให้ฟัง

ด้วยความที่เป็นข่าวดังพอสมควร และทั้งคู่เชิญเพื่อนฝูงที่ทำรายการทีวีมาถ่ายทำอยู่บ้าง ผืนนาแห่งนี้ก็ถูกเปิดตัวด้วยสีสันของงานแต่งงานที่เต็มไปด้วยขบวนเพื่อนฝูงในวงการบันเทิงที่พากันมาอวยพรคู่บ่าวสาวกันเต็มท้องทุ่ง เสริมด้วยหลายต่อหลายปากยุให้ทำอะไรกับสวรรค์บ้านนาแห่งนี้ให้เป็นมากกว่าเรือนหอ ไอเดียที่มากกว่าเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ก็หลั่งไหลเข้าสู่สมองของสองสามีภรรยาข้าวใหม่ปลามัน

“กิจการร้านกาแฟริมนา ชื่อ Brandnew Field Good ตามชื่อของนิวก็เกิดขึ้น แต่ด้วยความที่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นธุรกิจจริงจัง ตอนที่เปิดร้านหลังงานแต่งงานช่วงแรก ๆ คนแห่กันมากมายบริการกันไม่ทัน โดนด่าเละเลยครับ แต่เราก็ปรับปรุงจนตอนนี้ก็ลงตัวดี” ฝ่ายชายอย่างเป๊กเผย

หลังจากนั้นไม่นาน โปรเจกต์บูติกโฮมสเตย์ชื่อ บ้านไก่โห่ ก็ตามมา โดยร่วมมือกับเพื่อนบ้านที่มีบ้านพักวิวสวย“โปรเจกต์นี้มาจากช่วงที่เราต้องแวะมาดูงานก่อสร้างเรือนหอ ช่วงนั้นเราก็ไปนอนบ้านฝั่งตรงข้ามของคุณยายชาวบ้านคนหนึ่งที่เปิดเป็นโฮมสเตย์อยู่แล้ววิวสวยมาก คุณยายคุยให้ฟังว่าถ้าเพิ่มห้องพักกับห้องน้ำอีกสักหน่อยก็น่าจะดี ตอนนั้นก็เลยเจรจาร่วมลงทุนกันเรานอนที่นี่หลายรอบจนชิน ชอบที่ได้นอนพักสบายได้อย่างเต็มที่ จนสามารถตื่นเช้าได้พอๆกับเวลาไก่ตื่นขึ้นมาโห่ขัน ก็เลยตั้งชื่อว่าบ้านไก่โห่” นิวเล่า

“เราทั้งคู่เป็นพิธีกรบ้านและสวนมาได้สักพักและพอมีหัวและหนทางในการตกแต่งให้น่าอยู่ขึ้น แต่จะทำอะไรแค่นี้มันไม่พอ กว่าจะได้ขั้นนี้ มันต้องควบคู่ไปกับความอ่อนน้อม การเข้าหาชุมชน การเดินเข้าไปทักทาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ก็กระโดดเข้ามาทำอะไรโดยไม่สื่อสารกับคนในพื้นที่เลย”

เป๊กเสริมโดยผู้สนับสนุนคนสำคัญของเขาคนหนึ่งก็คือท่านเจ้าอาวาสของวัดอรัญญวาส บ้านปง ที่อยู่ติดกัน ซึ่งท่านเองก็เป็นพระนักพัฒนา

เมื่อดาราผู้แวะพัก สวมบทเพื่อนบ้านนักพัฒนามือใหม่

ด้วยความที่อยากทำธุรกิจที่กลมกลืนและประสานกับวิถีชุมชน นอกจากการนำเมล็ดพันธุ์กาแฟจากภาคเหนือที่ไปช่วยพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นตัวดึงดูดหลักในช่วงแรก นิวกับเป๊กก็พยายามหาอะไรจากเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วม โดยเชิญชวนให้ชาวบ้านเอาของดีในท้องถิ่นมาขายบริเวณปากทางเข้าบ้าง การขยายตัวของผู้มาเยี่ยมเยือนทำให้ทั้งคู่และชาวบ้านเห็นโอกาสที่จะใช้เป็นช่องทางในการทำให้ชุมชนเติบโต และ “ข้าว” ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแม่เหล็กตัวแรก ๆ โดยตั้งต้นจากการนำข้าวมาเป็นเมนูแนะนำของร้านอย่างข้าวเหนียวหมูมะแขว่นจนมาเป็นโครงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งคู่ช่วยกันทบทวนให้ฟังว่า แต่เดิมข้าวของชุมชนบ้านปงที่ชาวบ้านปลูกนั้นไว้สำหรับกินกันเองแต่ไม่ขาย ทั้งคู่จึงได้ทดลองแบ่งปันมาทดลองจำหน่ายให้คนภายนอกได้ชิมรวมทั้งเริ่มนำข้าวสายพันธุ์อื่นมาทดลองปลูกร่วมอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปรึกษากับทางศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ซึ่งข้าวเหล่านี้ก็มีสีสันที่แตกต่างกันเมื่อนำมากองรวมกัน ก็แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าข้าวในที่นาพื้นที่เดียวกันจะมีหลายสีได้ถึงเพียงนี้ แน่นอนว่าการทำนาเองแบบนี้ชาวบ้านก็คงทำเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้รู้มาเป็นพี่เลี้ยง

“การลงทุนทดลองทำอะไรทั้งเก่าใหม่ผสมกันแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงตลาดแบบใหม่และได้เห็นว่าแม้ผลิตผลจะน้อยกว่าเดิม แต่พวกเขาสามารถขายได้ในราคาที่เท่ากันหรือสูงกว่า ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการปลูกแบบเดิมที่เน้นพันธุ์อะไรก็ได้ขอให้ได้ปริมาณเยอะ ๆ แต่เพียงอย่างเดียว”เป๊กอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนเองก็ยังขาดโครงสร้างการจัดการรองรับ ทั้งสองคนจึงสนับสนุนชาวตำบลบ้านปงจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น โดยเน้นการท่องเที่ยวชุมชนเป็นหลัก และด้วยความตระหนักดีว่าลำพังคนสองคนที่มาเดือนละไม่กี่วันอาจพัฒนาชุมชนได้ไม่เต็มที่ จึงดึงน้องที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนามาช่วยปรับให้เป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

โชคดีที่เชียงใหม่ในปัจจุบันมีเครือข่ายจิตอาสากระจายตัวตามจุดต่าง ๆ อยู่ทั่วจังหวัด ด้วยทักษะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การทำอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อกลุ่มนักพัฒนาชุมชนสมัครเล่นและจิตอาสาต่าง ๆ เหล่านี้รับรู้ว่าทั้งนิวและเป๊กมาจับงานตรงนี้ก็ขันอาสาพร้อมมาช่วยเป็นเครือข่ายในระดับจังหวัดให้ ทั้งในแง่การกระจายสินค้าและความช่วยเหลือด้านต่างๆ

ในปีนี้ Brandnew Field Good ได้เริ่มขยายบทบาทสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาชุมชน “เราได้เริ่มทำเวิร์กชอปปลูกข้าว จัดเป็นแพ็กเกจมาดูแปลงเกษตรเพื่อการศึกษา ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิดเช่นนี้ก็ต้องปรับตัวตามจะพึ่งยอดนักท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ก็ต้องพึ่งคนในเชียงใหม่ด้วย เพราะที่นี่ก็ใกล้โรงเรียนนานาชาติ ถิ่นครอบครัวชาวต่างชาติ” นิวบอก

“มีสปอนเซอร์สายการบินแห่งหนึ่งเห็นความตั้งใจจริงของเราเขาเลือกชุมชนบ้านปงเป็นฐานการเรียนรู้หนึ่งในสามโครงการนำร่องชุมชนวิสาหกิจใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันโดยได้มีการแลกเปลี่ยนเวียนกันไปและร่วมทำ เวิร์กชอปด้วยกันบ้างแล้วโดยเชิญนักพัฒนาชุมชนและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาให้ความรู้ จริง ๆ เริ่มจะมีเดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการระหว่างกันและกันให้ครบ แต่มาติดโควิดเสียก่อน” เป๊กเสริมต่อ

นอกจากจะร่วมกันกับชาวบ้านภายในพื้นที่แล้ว ทั้งคู่ยังยินดีต้อนรับคนภายนอกที่อยากตามรอยงานด้านนี้ โดยสามารถเข้ามาทักทายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ จะพักที่บ้านไก่โห่หรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทัวร์เยี่ยมชมการดำเนินงานภายในชุมชน ซึ่งจะมีทีมงานช่วยวางแผนประสานเส้นทาง คอยติดต่อชาวบ้านในแต่ละจุดและเตรียมต้อนรับ ซึ่งอีกหนึ่งไฮไลต์ของบ้านปงก็คือการเป็นศูนย์ฝึกหมอนวดแผนโบราณส่งเข้าไปทำงานตามสปาในตัวเมือง

บทเรียน ณ แปลงนา

“ในการทำธุรกิจร่วมกับชุมชน เราไม่ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนอะไร เราแค่รับฟังเขาและปล่อยให้เขาปลูกอะไรอย่างที่เขาเคยปลูกไปก่อน จากนั้นค่อยนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเราจะไม่เข้าไปยุ่งกับธุรกิจของเขา แค่ไปให้คำปรึกษาคำแนะนำ ให้เขามีวิสาหกิจชุมชนของเขาเองในการจัดการเรื่องนี้จริง ๆ เราสามารถลงทุนร่วมกับเขาก็ได้ แต่เราไม่ทำ เพราะอยากให้ชุมชนได้เรียนรู้การจัดการตนเอง” นิวแจงแผนงานที่ใช้ให้ฟัง

“จริง ๆ มีการทำวิสาหกิจชุมชนอยู่ก่อนแล้ว คือการทำน้ำมันงา แต่ก็มีพลังขับเคลื่อนชุมชนได้จำกัด ซึ่งพอเขามาเจอกับเรา ก็รู้สึกว่าสามารถร่วมมือกันได้ พอช่วย ๆ กันทำก็เห็นพลังออกมา ทั้งตัวนิวและเป๊กเองไม่เคยคิดว่าการเข้าไปในชุมชนของเราจะต้องทำตัวเป็นหัวหอกโดดเด่นแต่เพียงเจ้าเดียวในทางตรงกันข้าม เราพยายามผลักดันให้มีกิจการหลาย ๆ เจ้า เห็นได้ว่าพอเราเข้าไปก็มีร้านอาหารเปิดตามมากขึ้น มีโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นิวออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนเก่งด้านพัฒนาชุมชน แต่มีความตั้งใจเต็มร้อย “จุดแข็งของพวกเราก็คือ พอเห็นเป็นดารามาทำ แถมความที่เป็นคนเชียงใหม่อยู่เดิมก็เป็นตัวช่วยที่ดี ทำให้ได้รับความเอ็นดูจากคนพื้นที่ ที่เชื่อว่าเราทำจริงเอาจริง”

เป๊กสะกิดแทรกมาว่า “ของแบบนี้ ต้องไปถามชาวบ้านเองจะดีที่สุด ว่าเขามองการเข้ามาของเราอย่างไร ลองไปเที่ยวดู สอบถามชาวบ้านดู”

แต่เป๊กก็เผยถึงข้อจำกัดด้วยว่า “เกิดความคาดหวังในตัวเราจากชุมชนว่าน่าจะช่วยเขาได้ในระดับหนึ่งต้องสร้างทุกอย่างได้สำเร็จหมด ซึ่งจริง ๆ เราก็มีงาน มีภาระของเรา เราสองคนเคยคุยกันเหมือนกันว่า เอ… ที่มีร้านอาหารกันนี่ยังไง หรือว่าควรกลับไปเป็นแบบวันแรกที่มานอนเล่นดูวิวท้องนาสบาย ๆ กันดี ถ้าจะถามว่าเราทำไปทำไม ก็ต้องตอบตรง ๆ ว่าเพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ร่วมกัน ถ้าชุมชนดี กิจการของเราก็ดี เป็นความร่วมมือที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน แต่อย่างน้อยการที่เรามาคลุกคลีกับชาวบ้านมากกว่าดาราที่มามีกิจการในพื้นที่พึงมีก็ทำให้ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”

สุดท้ายก็คือ

นักพัฒนาชุมชนมือใหม่และมือสมัครเล่นอย่างนิว นภัสสร และเป๊ก เปรมณัชไม่ได้คาดหวังว่าในท้ายที่สุดแล้วชาวบ้านจะช่วยทั้งคู่สานต่อแบรนด์BrandnewField Good ไปอย่างยาวนานในอนาคต เป๊กเองมองว่ามีหลักในการให้ความร่วมมือกับชาวบ้านในระดับที่ตนเองไม่เจ็บตัว ทำด้วยจิตใจที่อยากช่วยพัฒนา และลองทำเป็นโครงการนำร่องให้ดู สุดท้ายก็คงแล้วแต่ชาวบ้านว่าจะอย่างไรกันต่อ

“เป้าหมายท้ายสุดที่อยากได้มาก ๆ ก็คืออยากให้ชุมชนบ้านปงเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่สังคมรับรู้ เหมือนอย่างที่เป๊กเคยพูดไปว่า หนองมนมีข้าวหลาม และบ้านปงมีอะไร เพราะอย่างกะหรี่ปั๊บสระบุรีก็มีต้นกำเนิดมาจากร้านที่ขายเจ้าหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเกิดชุมชนตั้งใจร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง ก็จะสามารถเริ่มต้นสร้างเรื่องราวว่าด้วยของดีให้กับชุมชนตนเองได้ หน้าที่ของเราคือสร้างแรงบันดาลใจให้เขา” เขยเชียงใหม่และสมาชิกชุมชนบ้านปงที่อาศัยมาได้กว่าสามปีอย่างเป๊กสรุปให้ฟัง

นิวได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “กำลังทำเรื่องปลูกข้าวอย่างจริงจัง อยากขอกำลังใจ อยากให้ติดตามว่าภายในปลายปีนี้ จะปลูกข้าวสายพันธุ์ทางเลือกออกสู่ท้องตลาดได้จริงไหม ตอนนี้เป็นช่วงสนุกสำหรับการเรียนรู้ของเรา เราจะนำข้าวที่ปลูกมานำเสนอให้ดูว่าข้าวดอยที่อาจจะดูแปลก ๆ สำหรับคนกรุงเทพฯ ว่าสามารถกินให้อร่อยได้กับกับข้าวอะไรอย่างไรบ้าง อยากให้ลองสัมผัสกันต่อถัดจากข้าวนาปี ก็มีโครงการข้าวบาร์เลย์ข้าวสาลีปลูกสลับต่อ ซึ่งรวงจะสวยมาก ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มีนาคมปีหน้าจะจัด Chef Table กลางทุ่งรวงข้าวสวย ๆ เหล่านี้ ถ้าได้จัดก็เรียนเชิญนะคะ”

Fact File

  • Brandnew Field Good ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 09-7978-8456
  • บ้านไก่โห่ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 063-229-4466

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ