เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว นิเวศวัฒนธรรมหนึ่งเดียวบนอินทนนท์
Lite

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว นิเวศวัฒนธรรมหนึ่งเดียวบนอินทนนท์

Focus
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ บนระดับความสูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
  • ผาดอกเสี้ยว ชื่อนี้เคยโด่งดังในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยจากสถานที่ถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “รักจัง” (พ.ศ.2549) ซึ่งมีภาพจำเป็นน้ำตกแสนโรแมนติก
  • การท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ต้องมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง เพราะที่นี่คือเส้นทางนิเวศวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับหมู่บ้านแม่กลางหลวง

ป่าแต่ละผืน เส้นทางศึกษาธรรมชาติแต่ละแห่งย่อมมีเสน่ห์ที่จะทำให้นักเดินทางตกหลุมรักแตกต่างกันไป บางเส้นทางท้าทายความอดทน บางเส้นทางมีความชุ่มฉ่ำของสายน้ำ บางเส้นทางก็เป็นเหมือนทุ่งดอกไม้ และสำหรับ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ บนระดับความสูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ที่นี่อาจจะไม่ได้มีทะเลหมอกหนานุ่มเหมือนกิ่วแม่ปาน ไม่ได้มีป่าเมฆสุดพิศวงเหมือนที่อ่างกา แต่ป่าดิบเขาระดับล่างที่มีระยะทางเดิน 2.6 กิโลเมตรผืนนี้กลับมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดแทรกอยู่ในทุกตารางนิ้วของห้องเรียนธรรมชาติจนสามารถเรียกได้เต็มปากว่า ที่นี่คือเส้นทาง “นิเวศวัฒนธรรม” หนึ่งเดียวบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งทำให้การอนุรักษ์ผืนป่าและการท่องเที่ยวกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญา รวมทั้งวัฒนธรรมปกาเกอะญอให้คงอยู่คู่ชุมชนบ้านแม่กลางหลวงอย่างยั่งยืน

 ผาดอกเสี้ยว
น้ำตกผาดอกเสี้ยว

สำหรับ ผาดอกเสี้ยว ชื่อนี้เคยโด่งดังในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยจากสถานที่ถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “รักจัง” (พ.ศ.2549) ซึ่งมีภาพจำเป็นน้ำตกแสนโรแมนติก ทว่าหลายคนมองข้ามเรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่ได้มีการสำรวจจัดทำเส้นทางอย่างเป็นระบบ กระทั่ง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 20 ปี ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ได้เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั่นจึงทำให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นอีกเส้นทางป่าต้นน้ำที่ทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้เข้ามาศึกษาและต่อเนื่องสู่การสร้าง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว

 ผาดอกเสี้ยว
ราวจับที่สร้างขึ้นใหม่ระหว่างทางเดินป่า
 ผาดอกเสี้ยว
นาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวง

“มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด ใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชนเพื่อที่คนในชุมชนจะได้ทำการซ่อมแซมดูแลได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และการมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ถ่ายทอดความรู้ของสรรพชีวิตในผืนป่าที่เกี่ยวโยงกับชุมชนนั่นก็คือบ้านแม่กลางหลวง ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวิดีโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนจะตระหนักและเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน”

 ผาดอกเสี้ยว
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าถึงการออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ซึ่งถือเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งที่ 4 ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ทางมูลนิธิฯ เข้ามาดำเนินการต่อจากยอดดอย (2561) กิ่วแม่ปาน (2562) อ่างกา (2564) และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยวที่เพิ่งส่งมอบให้กับทางชุมชนและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

โดยเส้นทางผาดอกเสี้ยวนั้นอยู่ในระดับไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป ตัดลัดเลาะริมแม่น้ำไปจนค้นพบน้ำตกผาดอกเสี้ยว และมีปลายทางเป็นนาขั้นบันไดที่สวยติดอันดับต้นของไทยในชุมชนบ้านแม่กลางหลวง และนี่ก็คือ 10 เหตุผลที่เราอยากชวนนักท่องเที่ยวและนักเดินป่าได้เข้ามาสัมผัส เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว กันสักครั้ง

 ผาดอกเสี้ยว

01 รู้ลึก รู้จริงด้วยไกด์ชุมชน

ที่ผาดอกเสี้ยวนั้นเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้ลัดเลาะผืนป่าที่เป็นหัวใจของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่กลางหลวง ดังนั้นไกด์ที่ดีที่สุดในการนำทางเข้าสู่ผืนป่าจึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อุทยาน แต่เป็นคนในชุมชนที่รู้จักเสียงแห่งป่ามาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยนักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องไปเริ่มต้นจุดสตาร์ตที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อลงทะเบียนและรอไกด์จากชุมชนที่จะพาเข้าไป โดยที่บ้านแม่กลางหลวงนี้มีไกด์ชุมชนหมุนเวียนอยู่ราว 60 คน แต่ละคนนอกจากจะมีเรื่องเล่า ตำนาน และรู้จักต้นไม้ พืชสมุนไพรในป่าไปจนถึงสัตว์ทุกชนิดแล้ว ก็จะได้รับการฝึกฝนด้านการปฐมพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้นหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ราคาค่านำเที่ยวต่อกรุ๊ป (ไม่เกิน 10 คน) อยู่ที่ 220 บาท โดย 20 บาทจะหักเข้าชุมชนเพื่อใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน ทำแนวกันไฟ และงานอนุรักษ์ป่า ที่เหลือจะเป็นค่าตัวของไกด์ซึ่งนี่เป็นอีกอาชีพที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่แห่งบ้านแม่กลางหลวงเห็นว่าการอยู่ในชุมชนก็สามารถสร้างรายได้ ซึ่ง ยุทธการ เชิญรักษ์ไพร ประธานชมรมท่องเที่ยวบ้านแม่กลางหลวงบอกกับเราว่า เมื่อการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ การอนุรักษ์และการอยากจะรักษาอัตลักษณ์ชุมชนให้คงอยู่ก็จะเกิดขึ้น และก็ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่บ้าน

02 นิทานแห่งผืนป่า

เสน่ห์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยวที่แตกต่างไปจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นอื่น ๆ บนดอยอินทนนท์ก็คือ นิทานแห่งผืนป่า หมายถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ตำนาน ของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่กลางหลวงที่เชื่อมโยงเข้ากับการอนุรักษ์ป่า เช่น จุดที่เราจะได้พบชะนีมือขาวกับความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่ว่า “นกกกตายตัวหนึ่งต้นไทรจะเงียบเหงาไป 7 ต้น ชะนีตายหนึ่งตัวภูเขาจะเงียบเหงาไป 7 ลูก” ซึ่งเป็นความเชื่อที่แฝงด้วยแนวคิดการอนุรักษ์ เพราะชะนีเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์แห่งผืนป่า และความเชื่อนี้ก็ทำให้ชะนีได้รับการอนุรักษ์ หรืออย่างต้นไม้ที่มีเถาวัลย์เลื้อยพัน บางลักษณะก็เชื่อว่าหากตัดไปใช้สร้างบ้านก็จะมีงูเข้ามา หรือส่วนของตาน้ำก็จะมีเรื่องเล่าของงูผู้พิทักษ์ที่คอยปกปักรักษา และแน่นอนว่าการเดินป่าโดยไกด์ชุมชนจะทำให้เราได้ยินเรื่องเล่าแห่งผืนป่าไปตลอดทาง

03 ป้ายสื่อความหมาย 14 จุด

การเข้ามาพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า นั้นนอกจากจะทำเส้นทาง บันได ราวจับในทางที่ลื่นและชัน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวได้อย่างปลอดภัยในทุกฤดูกาลแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือการติดตั้งป้ายสื่อความหมาย 14 จุด ตลอดเส้นทาง เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักผืนป่าที่มีมากกว่าความสวยงาม โดยแต่ละจุดจะเชื่อมโยงผืนป่าเข้ากับเรื่องเล่า วัฒนธรรมของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่กลางหลวงที่รออยู่ปลายทาง รวมทั้งยังสามารถสแกนอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผืนป่าได้ตลอดทางเช่นกัน

04 ต้นน้ำ คือ ชีวิต

นอกจากผืนป่าแล้ว สายน้ำ ยังผูกโยงเป็นหนึ่งเดียวเข้ากับวิถีปกาเกอะญอ นอกจากทางเดินที่ขนานไปกับความสดชื่นของลำธารแล้ว ระหว่างทางยังมีตาน้ำ น้ำผุด บ่อน้ำธรรมชาติเล็ก ๆ ที่ทั้งใช้ดื่มและใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยที่บริเวณน้ำผุดนั้นชาวปกาเกอะญอเชื่อว่ามีเจ้าของ มีผู้ดูแล นั่นก็คือ “นาที” เปรียบเป็นผู้พิทักษ์น้ำ ส่วนที่โถงถ้ำบริเวณตาน้ำเชื่อว่ามีงูเหลือมผู้พิทักษ์ดูแลตาน้ำเป็นผู้ดูแล และในบางครั้งเราก็อาจจะได้เห็นประเพณีการเลี้ยง ผีน้ำ ผีฝาย บริเวณริมน้ำตก ริมลำธาร ขอให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ให้น้ำได้เลี้ยงดูชีวิตลูกหลานบ้านแม่กลางหลวงสืบไป

05 น้ำตกสุดโรแมนติก “ผาดอกเสี้ยว”

ตามเสียงลำธารมาเรื่อย ๆ ก็จะเจอกับความฉ่ำเย็นของ น้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือที่หลายคนเรียกติดปากจากภาพยนตร์ว่า น้ำตกรักจัง ที่นี่คือหนึ่งในน้ำตกที่โรแมนติกติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีทั้งหมด 10 ชั้น แต่ชั้นที่โดดเด่นสวยงามกว่าชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นที่ 7 กับความสูงของสายน้ำประมาณ 20 เมตร มีสะพานไม้ดีไซน์ด้วยสถาปัตยกรรมปกาเกอะญอทอดผ่านด้านหน้าให้ได้ยืนถ่ายรูปคู่ความสวยงามของน้ำตก และถ้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ก็จะได้เห็นดอกเสี้ยวสีขาวอมชมพูผลิบานอยู่เต็มหน้าผา ทำให้น้ำตกกลางป่าแห่งนี้โรแมนติกยิ่งขึ้น

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว

06 สถาปัตย์แห่งปกาเกอะญอ

อย่างที่บอกว่า “นิเวศวัฒนธรรม” คือหัวใจหลักของผืนป่า นอกจากเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อ และวิถีปกาเกอะญอที่เกี่ยวเนื่องกับต้นไม้ สายน้ำ และสัตว์ป่าแล้ว ระหว่างทางเราจะยังได้เห็นสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของปกาเกอะญอที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างราวจับ รวมทั้งสะพานที่ทอดผ่านน้ำตกผาดอกเสี้ยว โดยเฉพาะตัวสะพานนั้นจะถอดดีไซน์มาจากการสร้างบ้าน รวมทั้งใช้การผูก การเข้าสลักไม้แบบปกาเกอะญอดั้งเดิม

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว

07 นาขั้นบันไดที่ลึกซึ้งด้วยประเพณี

ใช้เวลาเดินป่าราว 2 ชั่วโมงเศษ ก็จะออกมาสู่ชุมชนบ้านแม่กลางหลวงที่ต้อนรับด้วยนาขั้นบันไดขนาดใหญ่กลางหุบเขา หากมาในฤดูฝนจะเห็นนาขั้นบันไดเป็นสีเขียวอ่อน แต่หากมาในฤดูเก็บเกี่ยวก็จะได้เห็นนาขั้นบันไดสีเหลืองทอง ที่เราขอการันตีว่าที่นี่เป็นจุดชมนาขั้นบันไดที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ถ้าโชคดีก็จะได้เห็นการเกี่ยวข้าวที่ยังคงใช้แรงงานคนในชุมชนมาช่วยเกี่ยว และถ้าโชคดีกว่านั้นก็จะได้เห็นการทำขวัญนาขวัญข้าวแบบชาวปกาเกอะญอ และถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบศาลาเล็ก ๆ ที่ทำขึ้นสำหรับเลี้ยงผี ตั้งแต่ก่อนทำนาและก่อนเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่าที่นี่เป็นนาขั้นบันไดกลางหุบเขาที่นอกจากจะสวยเบอร์ต้นของประเทศแล้ว ก็ยังเป็นนาขั้นบันไดที่ลึกซึ้งด้วยเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว

08 กาแฟต้นแรกที่พลิกฟื้นชุมชน

นอกจากนาข้าวกลางหุบเขาแล้ว อีกวิถีเกษตรบนภูเขาสูงที่ซ่อนอยู่ในความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ก็คือ กาแฟ โดยกาแฟต้นแรกของดอยเริ่มปลูกลงดินใน พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟที่มาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงส่งเสริมอาชีพและรายได้เสริมบนที่ราบสูงด้วยการสนับสนุนให้ปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา เป็นกาแฟอินทรีย์ที่งอกงามได้ดีด้วยร่มเงาของผืนป่า ยิ่งผืนป่าสมบูรณ์ กาแฟก็จะยิ่งงอกงามจนกลายเป็นที่มาของ “กาแฟรักษ์ป่า” และทำให้โปรแกรมศึกษาธรรมชาติเส้นทางผาดอกเสี้ยวจะจบอย่างสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากไม่ได้เดินตามกลิ่นกาแฟเข้าไปในชุมชนเพื่อลิ้มรสชาติ “กาแฟรักษ์ป่า”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว

09 วิถีปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่กลางหลวง

จากผืนนาขั้นบันไดที่เหมือนเป็นพื้นที่ชายป่ากั้นระหว่างหมู่บ้านและป่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว จะมาสิ้นสุดลงที่ บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนชาวปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิต ประเพณีที่ผูกพันกับผืนป่า โดยปลายทางของเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้จะมาบรรจบที่ศาลาวัฒนธรรม ซึ่งมีประวัติของชุมชนให้ได้ศึกษา บางครั้งก็มีสาธิตทอผ้า มีกาแฟจากป่ามาให้ได้ชิม จากนั้นสามารถเดินลัดเลาะเข้าไปใจกลางชุมชน ชมบ้านชาวปกาเกอะญอดั้งเดิม การทอผ้า อาหาร แปลงดอกไม้เมืองหนาว รวมไปถึงที่พักโฮมสเตย์ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่กลางหลวงได้ยิ่งขึ้น

10 เที่ยวน้ำตกแบบเสมือนจริง 360 องศา

ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูหนาวก็สามารถท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บไซต์เสมือนจริง 360 องศา thairakpa.org/phadoksiao/pds/ ที่ทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้จัดทำขึ้น โดยสามารถคลิกเข้าไปชม พร้อมเปิดเสียงของผืนป่าได้จากทุกที่ และขยายเส้นทางได้ครบ 14 จุดเช็กพอยต์ แต่อย่างไรก็ดีสองตาเห็น ไม่เท่าได้เดินเท้าเข้าป่าไปดูของจริง เมื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นกันแล้วก็อย่าลืมตีตั๋วขึ้นเหนือไปตามหาน้ำตกที่ติดอันดับความโรแมนติกของไทยพร้อมสัมผัสวิถีปกาเกอะญอที่ซ่อนอยู่ในผืนป่าบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว กัน

Fact File

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณทางเข้า
  • เพื่อความปลอดภัย นักท่องเที่ยวทุกคน ทุกกรุ๊ปต้องมีไกด์ชุมชนนำทางเข้าสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว โดยสามารถจองได้ที่ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นส่วนกลาง โทร. 083-014-0901 หรือ สามารถ walk in ได้เลย โดยติดต่อมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่หน้าทางเข้าเส้นทาง (Trail Head) หรือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. 053-286-729
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 8.00-16.00 น.

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม