รู้จัก วัคซีน ChulaCov19 เทคโนโลยี mRNA โดยทีมนักวิจัยไทย
Better Living

รู้จัก วัคซีน ChulaCov19 เทคโนโลยี mRNA โดยทีมนักวิจัยไทย

Focus
  • วัคซีนChulaCov19 (จุฬาคอฟ 19) เป็นอีกชนิดวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย จากโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • วัคซีนChulaCov19 ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิดชนิด mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) เช่นเดียวกับวัคซีนของไฟซอร์ และโมเดอร์นา ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาจากใบยาสูบแล้ว วัคซีน ChulaCov19 (จุฬาคอฟ 19) เป็นอีกชนิดวัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทยจากโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้รับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาวัคซีนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

ChulaCov19 ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิดชนิด mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) เช่นเดียวกับวัคซีนไฟซอร์ ( Pfizer-BioNtech ) และโมเดอร์นา ( Moderna) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลกในแง่ของประสิทธิภาพ และเหตุหนึ่งที่โครงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 เป็นที่จับตามอง เพราะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่พัฒนาวัคซีนขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA

นั่นจึงทำให้ ChulaCov19 เป็นอีกหนึ่งวัคซีนแห่งความหวังของคนไทยที่จะเข้ามาช่วยในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งวัคซีนได้กลายเป็นอาวุธสำคัญของผู้คนทั่วโลกในการต่อสู้กับไวรัส แต่ก่อนที่โครงการนี้จะเดินทางไปสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ Sarakadee Lite ชวนมารู้จักรายละเอียดของ ChulaCov19 อีกความหวังแห่งทีมนักวิจัยไทยแลนด์

ChulaCov19

1. วัคซีนChulaCov19 เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่เรียกว่า mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) เป็นการใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสในการผลิตวัคซีนแบบเดิม ซึ่งแม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทว่าได้รับการรับรองในแง่ของประสิทธิภาพเช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิต และปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

2.ข้อดีของการพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA คือ ไม่ต้องรอการเพาะเลี้ยงเชื้อ แต่สามารถผลิตได้รวดเร็วหากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสขึ้น เช่น ถ้ามีการเก็บข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์หน้าตาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไว้ นักวิจัยจะไม่ต้องรอให้เชื้อกลายพันธุ์จากอินเดีย หรือ บราซิล เข้ามาแพร่ระบาดในไทย แต่สามารถนำพันธุกรรมของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เหล่านั้นมาออกแบบวัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ทันที

3. ด้านความคืบหน้าของการศึกษาวิจัย อัพเดทต้นเดือนมิถุนายน 2564 วัคซีนChulaCov19 ตอนนี้ได้มีการทดลองในสัตว์ทดลองคือลิง ผลคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และได้เริ่มทำการผลิตวัคซีนสำหรับเตรียมฉีดในคนกลุ่มอาสาสมัคร แต่เนื่องจากการทำงานวิจัยบางส่วนต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดังนั้นในขั้นตอนการผลิตวัคซีนเพื่อนำมาทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจึงต้องส่งไปผลิตที่ต่างประเทศ

4. ตอนนี้ทางทีมวิจัยได้มีการจ้างโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตวัคซีนล็อตแรกสำหรับฉีดให้กับกลุ่มอาสาสมัคร และขณะนี้ (อัพเดทต้นเดือนมิถุนายน 2564) อยู่ในขั้นตอนการยื่นเอกสารกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากผ่านจะสามารถนำวัคซีนมาฉีดในอาสาสมัครได้ทันที  (คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอาสาสมัครได้ในเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากได้รับการอนุมัติจาก อย.)

ChulaCov19

5. แม้การทดลองระยะแรกจะมีการศึกษาวิจัยที่ค่อนข้างล่าช้า แต่เมื่อเริ่มผลิตได้จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมายังโรงงานผลิตในไทยที่ชื่อ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งในด้านเทคโนโลยีการผลิต ตอนนี้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมายังโรงงานผลิตในประเทศไทยแล้ว เหลือเพียงแค่การฝึกซ้อมการทำงานของทีมผลิต และทดลองในอาสาสมัครให้ได้ตามเป้าหมาย

6. การผลิตวัคซีนชนิด mRNA  ประกอบด้วย กระบวนการผลิต mRNA ที่เป็นส่วนชั้นใน เปรียบเหมือนลูกอมที่ต้องมีส่วนในสุด และมีส่วนภายนอก ที่จะหุ้มส่วนชั้นใน ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2464 ทีมผลิตในโรงงานประเทศไทยจะเริ่มซ้อมกระบวนการการผลิตวัคซีน เรียกว่าเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการรอผลวิจัย

7. นอกจากผลเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว อีกสิ่งที่การวิจัยต่อจากนี้จะต้องค้นหาคือ วัคซีนที่คิดค้นมาได้นั้นจะต้องฉีดกี่โดสในมนุษย์ ซึ่งสำหรับไฟเซอร์ที่เป็นเทคโนโลยีเดียวกันใช้ในปริมาณ 30 ไมโครกรัม ส่วน โมเดอร์นาใช้ในปริมาณ 100 ไมโครกรัม โดยวัคซีนที่คิดค้นจะต้องนำมาหาสัดส่วนในการฉีดที่เหมาะสมเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเริ่มทดสอบในอาสาสมัคร และติดตามผลในอีก 2 เดือนหลังจากนั้นเพื่อศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน

8. สำหรับขั้นตอนทดสอบในอาสาสมัคร ทางทีมวิจัยได้ประสานกับนักวิจัยในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อมูลกลุ่มอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ทั้งนี้ก็เพื่อนำผลเลือดมาเทียบเคียงกับวัคซีนChulaCov19 ที่จะฉีดให้ในอาสาสมัคร เพื่อดูผลของการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งการมีคู่เปรียบเทียบจะทำให้งานศึกษาวิจัยทำได้รวดเร็วขึ้น

9. ในแผนงานเบื้องต้นนั้นหากการทดลองในมนุษย์ระยะแรกได้ผล จะเริ่มทำการวิจัยในระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 ซึ่งจะเป็นการทดลองในมนุษย์กลุ่มใหญ่ขึ้น ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 แต่หากมีข้อมูลยืนยันได้ว่า วัคซีนที่ผลิตขึ้นสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ อาจไม่ต้องทดลองในระยะนี้แล้ว และถ้าเป็นไปตามแผนการวิจัยนี้ทางโรงงานไทยจะเริ่มเดินเครื่องผลิตวัคซีน ChulaCov19 ได้ในต้นปี 2565 หรืออย่างช้าคือกลางปี  2565

10. แม้การผลิตวัคซีนในไทยตอนนี้จะช้ากว่าบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ แต่ในระหว่างนี้ทางทีมวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนChulaCov19 รุ่น 2 ควบคู่กันไปซึ่งจะใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่คาดว่าจะเป็นการแพร่ระบาดในระยะต่อไปในอนาคต ซึ่งวัคซีนรุ่นนี้ผลิตในไทยทั้งหมด และตอนนี้ได้ทำการทดลองกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้และบราซิล

11. วัคซีนChulaCov19 รุ่น 2 จะเริ่มผลิตในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 โดยในช่วงเวลานั้นคนไทยน่าจะได้ฉีดวัคซีนที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเกินครึ่งของประชากร ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 2 พัฒนาขึ้นก็เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และหวังผลสู่ประสิทธิภาพในต่อต้านกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดได้

12. แม้ ChulaCov19 จะสามารถผลิตในโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศไทยได้ แต่ทางทีมวิจัยก็ยังต้องซื้อวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทเอกชนที่ทำเรื่องเคมีภัณฑ์ในไทย น่าจะต้องหาแนวทางในการผลิตวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิตวัคซีน เพื่อที่ไทยจะสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ในอนาคต

หมายเหตุ: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite