10 ประเด็นต้องรู้เกี่ยวกับ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน
Better Living

10 ประเด็นต้องรู้เกี่ยวกับ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน

Focus
  • เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน ที่พบใหม่มีการกลายพันธุ์อยู่กว่า 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างผิดปกติและแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้
  • สายพันธุ์ โอไมครอน เดิมทีมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่จะตั้งชื่อใหม่เรียงตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า Omicron

การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่นักวิจัยโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานคิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กังวลใจมาตลอด เพราะการที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสแต่ละครั้งย่อมส่งผลถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของ S-protein ไปจนแอนติบอดีในร่างกายเราที่อาจไม่สามารถเข้าไปจับทำลายได้ และล่าสุดปลายปี 2564 ทั่วโลกก็กำลังกังวลกับ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน (Omicron)  โดยเฉพาะประเทศไทยที่เพิ่งเปิดประเทศนั้น ประชาชนหลากหลายอาชีพและภาคส่วนเพิ่งเริ่มกลับมาทำงาน เปิดกิจการกันได้อีกครั้ง ถ้าหากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง โอไมครอนก็อาจจะส่งผลกระทบซ้ำซ้อนดึงวิกฤตให้กลับวนมาแบบเดิมกันอีก Sarakadee Lite ขอพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจ และหาแนวทางป้องกันอย่างไม่หวาดวิตก กับ 10 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน

โอไมครอน

1. โควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นในแถบตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีการสุ่มตรวจคนที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูว่าสายพันธุ์มีการเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ จนพบว่ามีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่อย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน และประเทศแอฟริกาใต้รายงานการพบเชื้อนี้ไปยังองค์การอนามัยโลกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 โดยเริ่มแรกได้พบการระบาดในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก ทั้งนี้สายพันธุ์ โอไมครอน เดิมทีมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่จะตั้งชื่อใหม่เรียงตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน

2. เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน ที่พบใหม่มีการกลายพันธุ์อยู่กว่า 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างผิดปกติและแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งมีการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่งซึ่งค่อนข้างมีความสำคัญต่อการเจาะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ และมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (Receptor Binding Domain) ที่ไวรัสจะใช้จับเข้ากับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง โดยตอนนี้อัตราการเจอผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน มีมากกว่าเดิมเป็น 10 เท่าในแอฟริกา จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา

3.  WHO หรือ องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับให้โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern) โดยข้อน่ากังวลคือบางตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ เป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ หรือในกรณีของคนที่ติดเชื้อแล้วและมีภูมิคุ้มกันเมื่อหายแล้วซึ่งปกติทำให้ไม่ติดเชื้อได้ง่าย แต่สายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

4. โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันความรุนแรงในการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า แต่สร้างภูมิเพื่อป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ด้วย ถ้ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากพอ

5. แม้ไวรัสโควิด-19 จะพัฒนาจนทำให้ติดได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันของวัคซีนอยู่ จะทำให้ลดความรุนแรงของโรคได้ นั่นจึงทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน โดยให้ฉีดเข้มกระตุ้นเร็วขึ้น เช่น อังกฤษ จากี่เคยกำหนดให้ฉีดวัคซีนเจ็มกระตุ้นเมื่อครบ 6 เดือน ตอนนี้ขยับเข้ามาเหลือ 3 เดือน เพราะถ้ายิ่งปล่อยไว้นานภูมิคุ้มกันจะตกลง

6. ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้คำแนะนำว่า สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม โดยได้รับแอสตราเซเนกา เมื่อครบ 3 เดือน ควรได้รับเข็มกระตุ้นใหม่ เพราะหลายคนภูมิเริ่มตก ดังนั้นในไทยอาจต้องมองเรื่องการเปลี่ยนมาฉีดกระตุ้นให้เร็วขึ้นเช่นกัน เพราะในภาวะที่สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ แม้ยังไม่มีวัคซีนที่มาป้องกันสายพันธุ์นี้ได้ แต่วัคซีนรุ่นเก่าก็ยังถือว่าสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง หากมีภูมิคุ้มกันที่มากพอ

7. ตอนนี้ต้นเดือนธันวาคม 2564 ยังคงต้องตามดูข้อมูลการระบาดในแอฟริกาและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ปัจจุบันยังไม่พบถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตแต่ก็ไม่ควรประมาท ทั้งนี้ตามปกติถ้าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง จะยังไม่เห็นความรุนแรงหลังการระบาดภายใน 1 หรือ 2 อาทิตย์แรก หรือทันที แต่จะเห็นผลความรุนแรงของโรคได้ชัดเจนใน 3 – 4 อาทิตย์หลังจากนี้

8. แม้สายพันธุ์โอไมครอนจะติดได้ง่ายขึ้น แต่ต้องแลกกับคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยไปจากเดิม ซึ่งอาการของคนที่ติดเชื้อ ยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกว่า จะมีลักษณะอาการแตกต่างจากเดิม ดังนั้นอาการที่มีคือ มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน

9. สำหรับการใช้ชุดตรวจเพื่อหาเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ถ้าเป็นชุดตรวจแบบ PCR (Polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก สามารถตรวจพบโอไมครอนได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ถ้าเป็นชุดตรวจแบบ ATK (Antigen Test Kit) บางยี่ห้ออาจตรวจไม่พบ

10. หลายคนกังวลว่าสายพันธุ์โอไมครอนอาจทำให้มีการทบทวนนโยบายปิดประเทศอีกรอบ ผศ.นพ.โอภาส ให้ความคิดเห็นว่าประเด็นนี้อาจจะต้องมาคิดทบทวน และดูสถานการณ์ในหลายปัจจัย เพราะถ้าประชากรมีการฉีดวัคซีนที่เพียงพอ หรือสายพันธุ์นี้แม้จะติดง่าย แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้หนักขึ้น แต่ก็ต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้เปิดประเทศเดินหน้าเศรษฐกิจต่อได้อย่างปลอดภัย

อ้างอิง

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite